พวกยิวแห่งบูรพาทิศ-พระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 6 ทำไมเปรียบ “ชาวจีน” เสมือน “ชาวยิว”

พระบาทสมเด็จ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ฉลองพระองค์ ชุดทหาร
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงฉลองพระองค์ชุดพลเอกแห่งกรมทหารราบเบาเดอรัม (ภาพจาก หอจดหมายเหตุแห่งชาติ รหัสภาพ 22 M00032)

“ชาวยิว” คือ ชนชาติหนึ่งในประเทศอิสราเอล ขณะเดียวกัน “ยิว” คำนี้ยังมีความหมายอื่นๆ อีก เช่น หน้าเลือด, งก, ขี้เหนียว, เห็นแก่ได้, เห็นแก่ตัว ดังนั้น เมื่อเห็นบทความ “พวกยิวแห่งบูรพาทิศ” ผู้คนส่วนใหญ่รวมถึงนักวิชาการบางคน จึงคิดกันไปว่า นี่คือ บทความเพื่อต่อต้านชาวจีนโพ้นทะเลที่อยู่ในประเทศไทย

“พวกยิวแห่งบูรพาทิศ” เป็นผลงานพระราชิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี  2457 โดยทรงใช้นามปากกาว่า “อัศวาพาหุ” เมื่อ “พวกยิวแห่งบูรพาทิศ” เผยแพร่สู่สาธารณะ ก็เป็นประเด็นร้อนแรงในสังคมว่า พระราชนิพนธ์ขึ้นเพื่อวิพากษ์วิจารณ์ชาวจีนโพ้นทะเลในไทย และเพื่อให้คนไทยตระหนักถึงอันตรายของชาวจีน ว่าเป็นเสมือน “ชาวยิว” 

อัศวพาหุ หรือรัชกาลที่ 6 ทรงวิพากษ์อุปนิสัยของ “ชาวจีน” โดยการเปรียบเทียบกับ “ชาวยิว” เรื่องที่ชนชาติทั้งสองต่างเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน ไม่สนใจและให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในประเทศที่ตนอาศัยอยู่ เพราะทั้ง ชาวยิว และชาวจีน นั้นต่างให้ความสำคัญแก่การหารายได้เหนือสิ่งอื่นใด

หากข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์เวลานั้น ชาวจีนเป็นกลุ่มคนที่ขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศกล่าวได้ว่า เศรษฐกิจของไทยก็ต้อง “พึ่งพา” ชาวจีนเป็นกำลังสำคัญ รัฐบาลก็ตระหนักว่า รายได้จำนวนมากของประเทศนั้นมาจากชาวจีน ตัวอย่าง เช่น รายได้เดือนละ 4,000 บาทของพระคลังข้างที่ มาจากค่าเช่าที่ของพ่อค้าผักชาวจีนในตลาดจังหวัดนครปฐม

หรือเมื่อปี 2453 เมื่อรัฐบาลไทยมีนโยบายจะเก็บภาษีชาวจีนเพิ่มเติม ชาวจีนส่วนหนึ่งไม่พอใจและเรียกร้องให้ชาวจีนทั้งหมดหยุดงาน (รวมถึงร้านค้าต่างๆ) ประท้วงนโยบายของรัฐบาล เป็นเวลา 3 วัน ส่งผลกระทบ เกิดการขาดแคลนสินค้าอุปโภคบริโภค จนทางการต้องใช้กำลังทหารและตำรวจจับกุมผู้ก่อการ

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไทยยังเลือก “สนับสนุน” ชาวจีนให้เป็นฝ่ายเข้ามาดำเนินธุรกิจในสยาม มากกว่าชาวญี่ปุ่นและชาวอินเดีย ที่ทำธุรกิจอยู่ในไทยขณะนั้นเช่นกัน เพราะชาวจีนจำนวนมากที่อยู่ในสยามนั้นไม่มี “สิทธิสภาพนอกอาณาเขต” ด้วยรัฐบาลไทยไม่ได้ทำสัญญาดังกล่าวกับจีน ชาวจีนจึงอยู่ภายใต้กฎหมายไทย ส่วนชาวญี่ปุ่นหรือชาวอินเดียเป็นคนในบังคับอังกฤษ จึงมีสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ไม่จำเป็นต้องอยู่ภายใต้ของกฎหมายไทย

สถานการณ์ดังที่กล่าวไปข้างต้น จึงมีความเป็นไปได้น้อยมากที่ “พวกยิวแห่งบูรพาทิศ” จะเกิดขึ้นเพื่อปลุกระดมให้คนไทยลุกขึ้นมาต่อต้านชาวจีน หรือเลิกคบค้าสมาคม เพราะคนจีนโพ้นทะเลในไทยคือ ตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ เพราะหากทำเช่นนั้นจริง อาจมีผลกระทบกับเศรษฐกิจของชาติ จึงไม่น่าจะใช้พระราชประสงค์ในงานพระราชนิพนธ์นี้

เจตนารมย์ของ “พวกยิวแห่งบูรพาทิศ” จึงน่าจะเป็นการปลุกจิตสำนึกคนจีนโพ้นทะเลไทย ให้ตระหนักถึงหน้าที่ของตนในฐานะพลเมืองของชาติไทย, จงรักภักดีต่อพระองค์ โดยควรเชื่อฟังคำสั่งของรัฐบาล มีความเสียสละเพื่อปกป้องบ้านเมือง

คนจีนโพ้นทะเลในสยามเองก็พยายามแสดงให้รัฐบาลเห็นว่า ตนเองไม่ได้มุ่งหวังที่จะเข้ามาอยู่ในสยามเพื่อกอบโกยหาผลประโยชน์ของตน หากมีความจงรักภักดี และมีสำนึกในฐานะพลเมืองคนหนึ่งเช่นกัน

เพื่อให้พ้นจากภาพเสมือน “ชาวยิว” ทางออกที่ดีที่สุดของชาวจีนโพ้นทะเลในไทย ที่สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้ตนเอง สร้างความพอใจให้กับทางการก็คือ “การบริจาคเงิน” โดยเฉพาะการบริจาคให้กับกิจการที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงต่างๆ เช่น บริจาคเงินสนับสนุนกิจการเสือป่า, บริจาคซื้อเครื่องบินของกองทัพบก, บริจาคเงินสนับสนุนการซื้อเรือหลวงพระร่วง ฯลฯ

จนรัชกาลที่ 6 ทรงพระราชนิพนธ์บทความเรื่อง “ขอบใจเพื่อนจีน” ลงใน วารสารสมุทสาร ฉบับปฐมฤกษ์ความตอนหนึ่งว่า

“การที่เพื่อนจีนได้แสดงไมตรีจิตร์ต่อไทย จะช่วยทารั้วบ้านด้วยครั้งนี้ ไทยขอบใจชั้น 1 แล้ว และถ้าจะให้ดีเพื่อนจีนแสดงไมตรีจิตรต่อไปให้เปนการสม่ำเสมอ ก็คงจะได้รับความขอบใจอย่างยิ่งขึ้นอีกเปนแน่

ข้าพเจ้าขอให้ท่านเอดิเตอร ได้โปรดช่วยนำจดหมายนี้ ลงในหนังสือของท่านด้วย เพื่อข้อความเหล่านี้จะได้ประสบตาเพื่อนจีนซึ่งข้าพเจ้าอยากให้ได้รับความขอบใจนั้นด้วย” 

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : บทความนี้เขียนเก็บความจาก เทพ บุญตานนท์. “พวกยิวแห่งบูรพาทิศ: ประวัติศาสตร์ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวกับชาวจีนโพ้นทะเล” ใน, วารสารมนุษยศาสตร์ ปีที่ 24 ฉบับที่ 1 (มกราคม-มิถุนายน 2560)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 ตุลาคม 2566