ผู้เขียน | วิภา จิรภาไพศาล |
---|---|
เผยแพร่ |
หากกล่าวถึงการทอผ้า โดยเฉพาะ ผ้าไหม เรามักนึกถึงแหล่งผลิตในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ โดยมักลืมนึกถึง “บ้านครัว” กรุงเทพฯ แหล่งทอผ้าไหมที่ขึ้นชื่อมาแต่อดีต และอาจเป็นแหล่งผลิตผ้าไหมกลางกรุงเพียงหนึ่งเดียวในปัจจุบัน
บ้านครัว คือชุมชนพื้นที่ริมคลองแสนแสบใต้ มีพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตปทุมวัน และราชเทวี ซึ่งกิจการทอผ้าที่ บ้านครัว เกิดขึ้นโดย “ชาวจาม”
“จาม” เป็นชนชาติอารยธรรมดั้งเดิมในพื้นที่ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ที่เปลี่ยนผ่านจากความเป็นฮินดูศาสนิกชนเป็นอิสลามิกชนเมื่อราวพันปีก่อน รวมทั้งตกอยู่ใต้อำนาจของชาวเวียดนามอีกหลายร้อยปีต่อมา บางส่วนถูกกวาดต้อน “เทครัว” เข้ามายังแผ่นดินไทยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา อันเป็นผลมาจากสงครามทั้งสิ้น ทำให้เกิดการอพยพเทครัวเข้ามาในหลายช่วงด้วยกัน
สำหรับชาวจามที่ชุมชนบ้านครัว เกิดขึ้นสมัยรัชกาลที่ 1 เมื่อครั้งที่โปรดให้แขกจามเข้าร่วมรบในสงครามเก้าทัพ เมื่อ พ.ศ. 2328 เมื่อกองทัพไทยมีชัยเหนือพม่า ด้วยความดีความชอบในการศึกในครั้งนั้น จึงโปรดพระราชทานที่ดินริมคลองมหานาคและคลองแสนแสบนอกเขตพระนครให้ชาวจามตั้งถิ่นฐานทำมาหากินอยู่รวมกัน เป็นชุมชนบ้านครัวในปัจจุบัน
ชาวจามมีความสามารถในการทอผ้าติดตัวมา เมื่อมาตั้งถิ่นในไทยก็ยังคงทำหน้าที่ทอผ้าไหมชั้นดีส่งเข้าไปยังราชสำนักสำหรับองค์พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ของไทยมาตลอดทุกรัชกาล แต่จุดเริ่มต้นของชุมชนบ้านครัวในฐานะชุมชนทอผ้าไหมซึ่งเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก เกิดจาก จิม ทอมป์สัน สถาปนิกชาวอเมริกัน และทหารเจ้าหน้าที่สอบสวนกลาง (CIA) ในกองทัพอเมริกันเมื่อสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ผู้เดินทางเข้าประเทศไทยด้วยภารกิจที่น่าเชื่อกันว่าทำหน้าที่ “หน่วยข่าวกรอง”
จิม ทอมป์สัน สร้างบ้านเรือนไทยขึ้นที่ริมคลองแสนแสบ ฝั่งตรงข้ามกับชุมชนบ้านครัว และเกิดประทับใจในผืนผ้าไหมทอมือของชุมชนบ้านครัวที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ต่างจากผ้าที่ทอด้วยเครื่องจักร จึงได้ร่วมกับชุมชนในการพัฒนากรรมวิธีการผลิตเส้นไหม ตลอดจนสีสันลวดลายผ้า และการประยุกต์ดัดแปลงเป็นเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ก่อนนำออกสู่สายตาชาวโลก
หลังการหายสาบสูญไปของจิม ทอมป์สัน กิจการค้าผ้าไหมได้ย้ายไปสร้างฐานการผลิตยังภาคอีสาน ซึ่งเป็นแหล่งเลี้ยงไหม และทอผ้าไหมขนาดใหญ่ของไทย ปัจจุบันจึงเหลือเพียงไม่กี่ครอบครัวที่ยังสืบทอดการทอผ้าในชุมชนบ้านครัว
นายนิพนธ์ มนูทัศน์ ลูกหลานชาวจามในชุมชนดั้งเดิม ที่ยังคงอาชีพทอผ้าไหมของบ้านครัว โดยรับช่วงทอผ้าไหมเป็นรุ่นที่ 3 ต่อจากคุณยายและมารดา นับระยะเวลาได้ราว 130 กว่าปี ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 และส่วนใหญ่เป็นการทอสำหรับส่งเข้าไปถวายในราชสำนัก โดยลวดลายที่ครอบครัวของนายนิพนธ์ยังคงทอสืบทอดต่อกันมา และเป็นลายโบราณของชาวจามในเมืองไทย คือ ลายเกล็ดเต่า ที่ได้รับการอนุรักษ์อยู่ด้วยเช่นกัน รวมทั้งได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในปัจจุบัน
ในอดีตที่ชาวจามส่วนใหญ่จะเน้นการทอโสร่งและผ้าขาวม้าเป็นหลัก จนกระทั่ง จิม ทอมป์สัน ได้เข้ามาปรับเปลี่ยนวิธีการทอผ้าขึ้นใหม่ มีการใช้สีวิทยาศาสตร์ เพื่อให้สีผ้ามีความสม่ำเสมอทั่วทั้งผืนและในการย้อมทุกครั้ง โดยมีการเพิ่มสีสัน ลวดลาย และลูกเล่นต่างๆ ลงไป ต่อมา จิม ทอมป์สัน ได้ก่อตั้งบริษัท อุตสาหกรรมไหมไทย จำกัด เป็นจุดเริ่มต้นของการส่งออกผ้าไหมไทยภายใต้เครื่องหมายการค้า Jim Thompson ทำให้ตลาดโลกรู้จักและยอมรับในผ้าไหมไทย
นายนิพนธ์เล่าต่อว่า ช่วงที่ชาวชุมชนบ้านครัวผลิตผ้าไหมส่งให้กับทาง จิม ทอมป์สัน นั้น แต่ละครอบครัวเป็นเจ้าของกี่ทอผ้าจำนวนมาก และมีรายได้นับแสนบาทต่อเดือน เฉพาะครอบครัวนายนิพนธ์เวลานั้นมีกี่ทอผ้ามากถึง 70 กี่ ผู้คนที่สัญจรผ่านไปมายังชุมชนแห่งนี้จะได้ยินเสียงกี่ทอผ้ากระทบดังติดต่อกันตั้งแต่หัวบ้านยันท้ายบ้าน และดังต่อเนื่องตลอดแทบทั้งวันทั้งคืน
แต่ภายหลังจิม ทอมป์สัน หายสาบสูญ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นหลายประการ กระทั่งขาดจากการเป็นคู่ค้ากันไปในที่สุด เริ่มจาก บริษัท อุตสาหกรรมไหมไทย จำกัด ได้ก่อสร้างโรงงานทอผ้าด้วยมือขึ้นเองที่อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา ช่วงแรกนั้นโรงงานแห่งนี้มีกี่ทอมือเพียง 20 กี่ หลังจากนั้นไม่นานก็ได้เพิ่มจำนวนขึ้นกว่า 1,000 กี่ และกลายเป็นโรงงานทอผ้าไหมด้วยมือที่ใหญ่ที่สุดในโลก
จุดเปลี่ยนสำคัญคือ ใน พ.ศ. 2539 ทางบริษัทได้สั่งซื้อเครื่องทอที่มีการควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้บรรดาผู้ทอผ้าไหมชุมชนบ้านครัวต้องปรับเปลี่ยนตัวเอง จากการเป็นผู้ผลิตส่งให้บริษัทจิม ทอมป์สัน ซึ่งเป็นพ่อค้าคนกลาง มาเป็นการผลิตและจำหน่ายด้วยตนเอง และไม่สามารถทำตลาดได้ดีนัก ทำให้ชุมชนบ้านครัวปัจจุบันมีครอบครัวที่ยังคงยึดอาชีพทอผ้าเพียง 2 ครอบครัว
นอกจากการทอผ้าแล้ว นายนิพนธ์ยังคิดค้นโดยการผสมพันธุ์ระหว่างไหมพันธุ์ดอกบัว เข้ากับไหมที่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงนำพันธุ์มาจากประเทศจีน และโปรดให้ศูนย์หม่อนไหมที่จังหวัดอุบลราชธานีนำมาผสมกับไหมพันธุ์ไทย ซึ่งนายนิพนธ์ได้นำไหมไปเข้ากระบวนการผลิตแบบพิเศษ จนทำให้เส้นไหมมีความนุ่ม และมีความบางเช่นเดียวกับผ้าแก้ว รวมทั้งมีสีเหลืองใสสวยงามตามธรรมชาติ
เมื่อสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ มาเยี่ยมชมการทอผ้าไหมของครอบครัวนายนิพนธ์เป็นการส่วนพระองค์เมื่อ พ.ศ. 2553 นายนิพนธ์จึงนำผ้าไหมที่ตนคิดค้นขึ้นใหม่นี้ทูลเกล้าฯ ถวาย รวมทั้งขอพระราชทานชื่อ พระองค์ได้มีหนังสือตอบกลับ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อ “ผ้าไหมเหลืองสิรินธร”
อ่านเพิ่มเติม :
- พบหลักฐาน “ผ้าไหม” ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก อายุกว่า 8,500 ปี ในเหอหนาน
- ครูช่างทอ ผู้ได้ชื่อว่า “4 ทหารเสือราชินี” แห่งวงการผ้าไหมไทย
- โอกาสที่มาหลังวิกฤต พัฒนาการผ้าไหมไทย
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
หมายเหตุ : บทความนี้คัดย่อจาก องค์ บรรจุน. “ผ้าไหมจามบ้านครัวกลางกรุง” ใน, ศิลปวัฒนธรรม พฤศจิกายน 2561.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 ตุลาคม 2566