ครูช่างทอ ผู้ได้ชื่อว่า “4 ทหารเสือราชินี” แห่งวงการผ้าไหมไทย

ช่างทอ ผู้หญิง
(จากซ้าย) สุนา ศรีบุตรโคตร, คำสอน สระทอง, ประจวบ จันทร์นวล และวงเดือน อุดมเดชาเวทย์ ช่างทอชั้นครู

วันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2489 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดําเนินไปทรงเยี่ยมเยียนราษฎรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นครั้งแรก สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงตามเสด็จด้วย ได้ทอดพระเนตรเห็นราษฎรนุ่งซิ่นไหมมัดหมี่กันเป็นส่วนใหญ่ จึงมีพระราชดําริว่าควรจะมีการนําภูมิปัญญาการทอผ้าที่ใช้กันอยู่ มาพัฒนาเป็นอาชีพให้เกิดรายได้แก่ราษฎร

ทำให้การใช้ผ้าไทยแพร่หลาย และมีการสะสมผ้าเหมือนกับงานศิลป์อื่นๆ ครูช่างทอผ้าก็คือศิลปินผู้สร้างผลงาน

Advertisement

ในแวดวงช่างทอผ้ามีครูช่างคนสำคัญที่ความสามารถ และเรียกอย่างยกย่องว่า “4 ทหารเสือราชินี” เพราะทอผ้าและถวายงานแก่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ  ซึ่งส่วนหนึ่งในหนังสือ “สืบสานอนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผนดิน” ที่ กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย เป็นผู้จัดทำ กล่าวถึงครูช่างทั้ง 4 ท่าน ไว้ดังนี้

คําสอน สระทอง ครูช่างผู้มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์งานทอผ้าแพรวา จนกระทั่งเชี่ยวชาญสามารถประดิษฐ์ลวดลายและพัฒนารูปแบบลวดลายให้สวยงามทั้งแบบดั้งเดิมและแบบสมัยนิยม ได้อย่างประณีตงดงาม

แม่คำสอนยังเป็นผู้นํากลุ่มทอผ้าไหมแพรวาที่ยาวที่สุดในโลก ขนาด 99 เมตร 60 ลาย ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และผ้าไหมแพรวาขนาดหน้ากว้างพิเศษ 80 เซนติเมตร ยาว 9 เมตร จํานวน 10 ลาย รวม 43 แถว ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทําให้ผ้าไหมแพรวาเป็นที่รู้จักแพร่หลาย

แม่คำสอนยังเป็นครูสอนการทอผ้าที่ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพบ้านกุดนาขาม อําเภอเจริญศิลป์ จังหวัดสกลนคร, เป็นครูภูมิปัญญาให้แก่ชาวบ้านบ้านโพน อําเภอคําม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ และวิทยากรที่ปรึกษาให้แก่กลุ่มพัฒนาผ้าไหมแพรวาของบ้านโพน จนทําให้กลุ่มได้รับรางวัลชนะเลิศกลุ่มทอผ้าไหมดีเด่น ประเภทผ้าไหมทอ 4-8 เส้น จากคณะกรรมการส่งเสริมสินค้าไหมไทย

พ.ศ. 2533 แม่คำสอนได้รับรางวัลผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม สาขาทัศนศิลป์ (ทอผ้าแพรวา) จาก คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ และ พ.ศ. 2535 ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์

ประจวบ จันทร์นวล ครูช่างและสมาชิกศูนย์ศิลปาชีพทอผ้าไหมมัดหมี่บ้านนาโพธิ์ จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งเคยเป็นพื้นที่แห้งที่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถทรงสนับสนุนให้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม และทอผ้า ครูประจวบมีความสามารถในการทอผ้าตามภูปัญญาท้องถิ่นเท่านั้น

หากยังสร้างสรรค์ลายผ้าโดยนำลายดั้งเดิมมาดัดแปลงเป็นลวดลายใหม่ที่เรียกกว่า “ลายขอสาม” จนได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ของจังหวัดสกลนคร เมื่อ พ.ศ. 2542 ได้รับรางวัลสร้อยคอพระราชทานจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และได้รับคัดเลือกให้เป็นตัวแทนตามเสด็จฯ ไปเผยแพร่วัฒนธรรมการทอผ้าไหม ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา

วงเดือน อุดมเดชาเวทย์ ครูช่างที่มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ และถวายผ้าไหมแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เมื่อ พ.ศ. 2515 หลังจากทอดพระเนตร พระองค์ท่านตรัสว่า “สวยมาก ทอเองหรือจ๊ะ”  ทําให้ครูวงเดือนปลาบปลื้มเป็นที่สุด หลังจากนั้นได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ อีกครั้ง เพื่อรับพระราชทาน รางวัลประกวดผ้าไหม ที่ครูวงเดือนภาคภูมิใจมาก

ท่านผู้หญิงสุประภาดา เกษมสันต์ [อดีตผู้อำนวยการกองเลขานุการในพระองค์ฯ] เคยบอกกับครูวงเดือนว่า “วงเดือนช่วยดูราษฎร ดูต่างพระเนตรพระกรรณ” ซึ่งครูภูมิใจมากที่ได้ทำงานรับใช้พระองค์

พ.ศ. 2516 ครูวงเดือนได้เป็นเจ้าหน้าที่ประสานงานกองราชเลขานุการในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ สวนจิตรลดา และตั้งแต่ พ.ศ. 2556 จนถึงปัจจุบัน ครูวงเดือนยังเป็น “ครูศิลปาชีพการทอผ้าไหมมัดหมี่” มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ บ้านนาหว้า อําเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม

สุนา ศรีบุตรโคตร ครูช่างทอจังหวัดอุดรธานี เมื่อ พ.ศ. 2525 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ แปรพระราชฐานมาประทับ ณ พระตําหนักภูพานราชนิเวศน์ จังหวัดสกลนคร และพระองค์เสด็จฯ ไปนมัสการหลวงปู่ขาว วัดถ้ำกองเพล อําเภอหนองบัวลําภู จังหวัดอุดรธานี (ในขณะนั้น) ทรงคัดเลือกผ้าไหมลายขิดของครูสุนา ที่มีลวดลายสวยงามเป็นที่พอพระราชหฤทัย และรับสั่งให้เข้าเฝ้าฯ และพระราชทานรางวัล อีกทั้งทรงรับกลุ่มทอผ้าของครู สุนาเข้าร่วมโครงการส่งเสริมศิลปาชีพการทอผ้าขิดไหมบ้านหนองอ้อ และทรงแต่งตั้งครูสุนาเป็น “ครูหลวง” ตามเสด็จฯ ไปสอนเด็กกําพร้าในวัง

เมื่อครูสุนาได้กลับมายังชุมชน ก็ได้ถ่ายทอดความรู้เรื่องการทอผ้าให้แก่คนในชุมชนที่สนใจ ร่วมกับพัฒนาการทอ “ผ้าฝ้ายลายขิด” เป็น “ผ้าไหมลายขิด” จนมีชื่อเสียงและเป็นที่เคารพนับถือของลูกศิษย์ และในปี พ.ศ. 2547 ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ จากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

ที่กล่าวมานี่ก็แค่ประวัติ และผลงานบางส่วนของครูช่างที่ยกย่องกันว่าเป็น “4 ทหารเสือราชินี แห่งวงการผ้าไหมไทย”


เผยแพร่ข้อมูลระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 พฤษภาคม 2564