เจริญพันธุ์ หรือ “ชิงสุกก่อนห่าม” การมีผัววัยแตกเนื้อสาวของ “นางในวรรณคดี”

พลายแก้ว นางพิม ไร่ฝ้าย เซ็กส์ เพศสัมพันธ์ ชิงสุกก่อนห่าม นางในวรรณคดี
“พลายแก้วมาหานางพิมที่ไร่ฝ้าย” จิตรกรรมฝาผนังเล่าเรื่อง ขุนช้างขุนแผน ที่ระเบียงคดรอบวิหารหลวงพ่อโต วัดป่าเลไลยก์ จังหวัดสุพรรณบุรี จิตรกรผู้วาดภาพ เมืองสิงห์ จันทร์ฉาย เมื่อ พ.ศ. 2546

สุจิตต์ วงษ์เทศ กล่าวว่า บรรดาวัยรุ่นหญิงชายของไทยในอดีต มีเพศสัมพันธ์กันตั้งแต่อายุ 15 ปี (โดยเฉลี่ย) สิ่งนี้สะท้อนผ่าน “นางในวรรณคดี” ทั้งการแต่งงานเป็นผัวเมียอย่างถูกต้องตามประเพณี และการลักลอบได้เสีย นี่คือปกติธรรมดาเช่นเดียวกับวัยรุ่นทั่วโลก ก่อนสังคมยุคต้นกรุงเทพฯ จะรับวัฒนธรรมแบบวิกตอเรียน ซึ่งมอง “เซ็กซ์” เป็นเรื่องลามก หรือแม้กระทั่งมองการมีเพศสัมพันธ์ในวัยรุ่นคือการ “ชิงสุกก่อนห่าม”

เรื่องนี้เห็นจะจริงดังว่า เพราะค่านิยมเรื่องเพศหรือการได้เสียเป็นเมียผัว ตามที่ปรากฏในวรรณคดีไทย ล้วนบ่งชี้ว่า “นางในวรรณคดี” มีเพศสัมพันธ์ (ได้ผัว) เฉลี่ยระหว่างอายุ 14-16 ปี

Advertisement

นางพิมพิลาไลย (วันทอง) มีเพศสัมพันธ์กับพลายแก้ว (ขุนแผน) ครั้งแรกขณะอายุ 16 ปี ตอนหนึ่งของกลอนเสภา นางพิมบอกอายุตนเองชัดเจนว่า “ฉันฤาปีชวดนะหม่อมพี่  สิบหกปีปีนี้พึ่งปริปริ่ม” ส่วนพลายแก้วขณะนั้นอายุ 18 ปี ด้านขุนช้างเองมีเมียคนแรกตั้งแต่อายุ 15 ปี ชื่อว่า นางแก่นแก้ว ไม่ทราบว่าขณะนั้นอายุเท่าใด แต่คงไล่เลี่ยกับผัว

นางลาวทอง สตรีอีกคนที่พลายแก้วได้เป็นเมีย เมื่อครั้งยกทัพตีเมืองเชียงใหม่ มีเพศสัมพันธ์กับพลายแก้วตอนอายุ 15 ปี ดังว่า “เจริญรุ่นละมุนทั้งกายา  อายุได้สิบห้าปีปลาย”  หรืออย่าง นางสร้อยทอง ธิดาเจ้าล้านช้าง ผู้ถูกยกให้สมเด็จพระพันวษา ก็มีอายุ 15 ปี เช่นกัน ดังนี้ “ถึงโฉมงามสร้อยทองต้องพระทัย  พึ่งรุ่นจำเริญวัยสิบห้าปี”

อันที่จริง สตรีนางอื่น ๆ ที่ปรากฏในเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ต่างมีผัวตั้งแต่อายุสิบกลาง ๆ ทั้งนั้น ที่อายุมากหน่อยเห็นจะเป็น “นางสายทอง” พี่เลี้ยงของนางพิม ผู้เป็นชู้รักสู่สมกับพลายแก้ว ขณะที่นางอายุ 22 ปีแล้ว

หากจะบอกว่า ขุนช้างขุนแผนเป็นนิทานชาวบ้าน เล่าเรื่องของชาวบ้าน การมีผัววัยแรกแย้มของสตรีในขุนช้างขุนแผนจะบอกค่านิยมในอดีตได้อย่างไร ขอให้ดู นางสีดา ที่พออายุ 16 ปี ก็เข้า “พิธียกศิลป์” แล้วแต่งงานกับพระราม ตามพระราชนิพนธ์รามเกียรติ์ รัชกาลที่ 1 กล่าวไว้ชัดเจนว่า

“จึ่งดำริถวิลในวิญญาณ์   ด้วยพระธิดาโฉมศรี

ชันษาก็ได้สิบหกปี  ควรมีคู่ภิรมย์รัก

จำจะตั้งพิธียกศิลป์  บอกกษัตริย์ให้สิ้นทั้งไตรจักร

ใครยกได้จะให้นงลักษณ์  เป็นอัครชายายาใจ ฯ”

อีกตัวอย่าง คือ นางเกษรา ธิดาท้าวทศวงศา แห่งเมืองรมจักร คนรักของศรีสุวรรณ (น้องพระอภัยมณี) สุนทรภู่บรรยายให้คู่นี้มีเพศสัมพันธ์กันขณะฝ่ายหญิงอายุ 14 ปี ดังความว่า “ทั้งกายกรอ่อนละมุนพึ่งรุ่นสาว  อายุราวสักสิบสี่ปีมะเส็ง” ส่วนศรีสุวรรณ ขณะนั้นมีอายุ 15 ปี

มโนห์รา นางเอกในละครชาวบ้านยอดนิยมสมัยอยุธยา ก็อยากมีผัวตั้งแต่อายุราว 14-15 ปี เพราะปรากฏในกลอนเป็นบทตัดพ้อว่า แม่หวงลูกสาว (ตนเอง) ไม่ให้มีผัวเหมือนลูกสาวบ้านอื่น ๆ จนบานปลายทะเลาะกันอย่างรุนแรง

สิ่งหนึ่งที่อาจสะท้อนค่านิยมนี้ คือ คนในแดนสุวรรณภูมิราว พ.ศ. 1800 ร่วมยุคอโยธยา, สุโขทัย, นครธม (กัมพูชา) จะมีพิธี “สู่ขวัญ” เด็กหญิงอายุ 11 อย่างเข้า 12 ปี ซึ่งถือเป็นช่วงอายุโดยเฉลี่ยของการเริ่มมีระดู (ประจำเดือน) แปลว่า เริ่มมีความกำหนัด หรือเริ่มแตกเนื้อสาวแล้ว เท่ากับว่า นี่คือ พิธีเพื่อบอกให้เตรียมตัวมีเพศสัมพันธ์อย่างมีสติ และรู้เท่าทัน โดยก่อนวันพิธี มารดา และเด็กหญิง จะนอนด้วยกัน แต่หลังวันพิธีจะให้เด็กหญิงออกนอกห้องไปไหนมาไหนได้ตามใจ ไม่คอยบังคับหรือระแวดระวังกันอีกต่อไป [1]

ยิ่งไปกว่านั้น ชาวบาหลี ในเกาะบาหลี อินโดนีเซีย ก่อนเป็นอาณานิคมของดัตช์ เด็กหญิงบาหลีสามารถแต่งงานได้ตั้งแต่อายุ 9 ขวบ ส่วนเด็กชายอายุ 12 ขวบ [2]

ข้อมูลจากกรมอนามัยระบุว่า วัยรุ่นยุคปัจจุบันจะมีเพศสัมพันธ์ช่วงอายุ 15-19 ปี จึงอยู่ในเกณฑ์ปกติของคนไทยสมัยก่อน วัยรุ่นไทยจึงไม่ได้กระทำการ “ชิงสุกก่อนห่าม” ตามที่ผู้ใหญ่กล่าวหา และไม่ได้ผิดปกติไปจากความเป็นมนุษย์แต่โบราณของภูมิภาคนี้เสียทีเดียว ขอเพียงรู้จักป้องกันการตั้งครรภ์อย่างไม่ตั้งใจ หรือมีลูกแบบยังไม่พร้อม ซึ่งสำคัญอย่างยิ่งในบริบทสังคมในปัจจุบัน 

ทั้งนี้ นี่ไม่ใช่การส่งเสริมการมี เพศสัมพันธ์ หรือ เซ็กซ์ ตั้งแต่อายุยังน้อย หากแต่นำเสนอสิ่งที่สะท้อนผ่านงานวรรณคดีไทย หากผู้อ่านนึกถึง “นางในวรรณคดี” ที่มีผัวตั้งแต่ “เจริญวัย” คนใดได้อีก ลองมาแลกเปลี่ยนกัน…

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ : 

[1] โจวต้ากวาน; แปลโดย เฉลิม ยงบุญเกิด. (2543). บันทึกว่าด้วยขนบธรรมเนียมประเพณีของเจินละ. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : มติชน.

[2] แอนโทนี รีด; แปลโดย พงษ์ศรี เลขะวัฒนะ. (2548). เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในยุคการค้า ค.ศ. 1450-1680 เล่ม 1 ดินแดนใต้ลม. เชียงใหม่ : ชิลค์เวอร์ม.


อ้างอิง :

สุนทรภู่. พระอภัยมณี. ใน ห้องสมุดดิจิทัลวัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ 24 สิงหาคม 2566. (ออนไลน์)

สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. บทละครเรื่องรามเกียรติ์. ใน ห้องสมุดดิจิทัลวัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ 24 สิงหาคม 2566. (ออนไลน์)

เสภาเรื่องขุนข้างขุนแผน ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ. ใน ห้องสมุดดิจิทัลวัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ 24 สิงหาคม 2566. (ออนไลน์)

สุจิตต์ วงษ์เทศ. (2560). เซ็กซ์ดึกดำพรรพ์ ของบรรพชนไทย. กรุงเทพฯ : นาตาแฮก.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 สิงหาคม 2566