“พระยม” เทพประจำทิศทักษิณ เจ้าแห่งนรกและความตาย ผู้ทรง “กระบือ” เป็นพาหนะ

พระยม ยมราช พระธรรมเทพ

พระยม (Yama) เทพประจำทิศ “ทักษิณ” (ทิศใต้) เป็นที่รู้จักในหลายพระนาม ทั้งพญายม พระยมราช มัจจุราช และ ธรรมเทพ พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 อธิบายความหมายของ “ยม” ว่า “เทพเจ้าผู้เป็นใหญ่ประจำโลกของคนตาย” และอธิบายความหมายของ “มัจจุราช” ไว้ว่า “เจ้าแห่งความตาย คือ พญายม”

ส่วนคำว่า “ยมทูต” หมายถึง “ผู้นำคนตายไปยังบัลลังก์พระยมเพื่อรอคำตัดสิน” ว่าง่าย ๆ คือเป็นบริวารของพระยมนั่นเอง

ในคติพราหมณ์-ฮินดู พระยมเป็นหนึ่งในเทพประจำทิศทั้ง 8 ซึ่งจะต่างจากพุทธศาสนาที่มีท้าวมหาราชทั้ง 4 หรือจตุโลกบาล โดยทิศใต้มีท้าววิรุฬหกเป็นผู้ปกครอง ขณะที่ฝ่ายฮินดูเป็นพระยม ทั้งนี้ พระยมเป็น “เทพแห่งความตาย” และ “เจ้าแห่งนรก” ดำรงอยู่ฐานะผู้ตัดสินคดีคนที่สิ้นชีพไปแล้ว

ตำนานประวัติของ พระยม มีหลายกระแส บ้างว่าเป็นกษัตริย์ครองเมืองเวศาลี ผู้ตั้งจิตอธิษฐานอย่างแน่วแน่ว่า หากตายแล้วขอไปจุติเป็นเจ้าแห่งนรกภูมิ ปรากฏว่าสิ้นชีพแล้วได้เป็นพระยมเจ้าแห่งนรกจริงอย่างที่ตั้งใจไว้ ทั้งมีข้าทาสบริวารแวดล้อมในแดนนรกเป็นจำนวนมาก

อีกตำนานระบุว่า พระยมเป็นโอรสของพระวิวัสวัต หรือสุริยาทิตย์ (พระอาทิตย์) กับพระนางสัญญา (บางเอกสารเรียกว่านางศรันยา) มีฝาแฝดนามว่า ยมุนา พระยมครองเมืองยมปุระ (ยมโลก) ซึ่งอยู่ขอบจักรวาลด้านทิศ ทักษิณ เป็นเทพเจ้าผู้มีรูปร่างใหญ่โต มี 4 กร พระพักตร์ดุร้าย ผิวพรรณเลื่อมประภัสสรเหมือนแก้ว พระวรกายสีดำ บางตำราว่ามีพระวรกายสีเขียวเข้ม ทรงพระภูษาสีแดง ทรงถือยมทัณฑ์ (คทาใหญ่) ชื่อ “กาลทัณฑ์” และยมบาส (บ่วงบาศ) เป็นเชือกสำหรับมัดจับสัตว์บาปทั้งหลาย มีชายา 13 นาง ทั้งหมดเป็นธิดาของพระทักษะประชาบดี

พระยมมีกระบือเป็นพาหนะ นามว่า “ทุณพี” พร้อมสัตว์เลี้ยงเป็นสุนัข 2 ตัวชื่อ “สามะ” (ดำ) และ “สวละ” (ด่าง) เป็นสุนัข 4 ตา รูจมูกกว้างผิดแผกไปจากสุนัขทั่วไป มีบริวารคือ “ยมทูต” ทำหน้าที่เป็นคนเดินสาร นำดวงวิญญาณคนตายมายังยมโลก มี “ยมบาล” เป็นผู้คุมนักโทษในนรก มี “จิตรคุปต์” เป็นผู้ทำหน้าที่นายทะเบียนและที่ปรึกษา คอยบันทึกกรรมดีกรรมชั่วไว้ในสมุดอัครสันธานี มี “ฉันทะ” กับ “กาลบุรุษ” เป็นผู้รับใช้ใกล้ชิด และมี “ไวธยต” เป็นคนเฝ้าประตูปราสาทแห่งยมโลก

พระยม ยมราช พระธรรมเทพ
พระยม ในคติอินเดีย ทรงกระบองยมทัณฑ์ บ่วงยมบาศ ทรงกระบือเป็นพาหนะ มียมทูตเป็นบริวาร (ภาพจาก British Museum)

พระยมถูกกล่าวถึงในวรรณคดีของอินเดียในเชิงเทพเจ้าผู้เปี่ยมด้วยคุณธรรม อย่างใน มหาภารตะ พระยมคือ “ธรรมเทพ” หรือธรรมราช ผู้ประทานโอรสแก่พระนางกุนตี พระมเหสีของท้าวปาณฑุ นามว่า “ยุธิษฐิระ” บุตรคนแรกของกลุ่มพี่น้องปาณฑพ ยุธิษฐิระมีอุปนิสัยสำคัญคือ เป็นผู้รักคุณธรรมและรู้หลักธรรม ตอนวณบรรพ เมื่อพี่น้องปาณฑพถูกเนรเทศไปอยู่ในป่า มีพระฤๅษีเล่าเรื่อง สาวิตรี ให้เหล่าปาณฑพฟัง โดยเป็นเรื่องราวของนางสาวิตรี ชายาของพระสัตยวาน ผู้สามารถเอาชนะใจพระธรรมเทพด้วยหลักธรรม นางจึงขอพรพระธรรมเทพให้ช่วยพระสัตยวานฟื้นคืนพระชนม์ชีพ

ตอนสวรรคโรหณบรรพ ภายหลังมหาสงครามทุ่งราบกุรุเกษตรระหว่างฝ่ายปาณฑพกับเการพสิ้นสุด พี่น้องปาณฑพพากันเดินทางไปสู่เขาหิมาลัย ระหว่างทางน้อง ๆ ของยุธิษฐิระทยอยสิ้นชีพไปทีละพระองค์  นี้เอง พระธรรมเทพแปลงเป็นสุนัขมาทดสอบคุณธรรมของพระโอรส ปรากฏว่ายุธิษฐิระผ่านบททดสอบทั้งหมด จึงสามารถเดินทางไปถึงสวรรค์เป็นผลสำเร็จ

พระยมยังมีอีกนามหนึ่งว่า “ศิรณบาท” แปลว่า “ผู้มีเท้าเน่า” เรื่องเล่าเบื้องหลังพระนามนี้มีอยู่ว่า ครั้งหนึ่งพระยมใช้พระบาทเตะนางฉายา ผู้ที่นางสัญญา (มารดา) ให้อยู่แทนตนเมื่อคราวพระนางหนีไปจากพระสุริยาทิตย์ เพระทนรัศมีอันร้อนแรงของพระสวามี (พระอาทิตย์) ไม่ไหว การกระทำดังกล่าวของพระยมทำให้นางฉายาพิโรธ จึงสาปให้พระยมมีแผลและหนอนกัดกินขา ได้รับความทุกข์ทรมานแสนสาหัส พระสุริยาทิตย์นึกสงสารพระโอรส จึงประทานไก่ตัวผู้ให้ 1 ตัว คอยจิกหนอนบนแผลจนหายเป็นปกติ

แม้พระยมจะเป็นเทพฮินดู แต่หลักฐานการเคารพนับถือเทพองค์นี้ในพื้นที่ต่าง ๆ ของไทยและภูมิภาคอุษาคเนย์ ทั้งในฐานะเทพเจ้าประจำทิศใต้ และเจ้าแห่งโลกหลังความตาย ดังจะพบโบราณวัตถุที่เกี่ยวกับพระยมในศาสนาพราหมณ์หลายแห่ง เช่น กลีบขนุนสลักภาพพระยมทรงกระบือ ที่ปราสาทพนมรุ้ง บุรีรัมย์, ปราสาทหินพิมาย นครราชสีมา, ปราสาทศรีขรภูมิ สุรินทร์ และพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ ทุกชิ้นมีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 17 ตรงกับศิลปะเขมร แบบนครวัด

นอกจากนี้ ศานสถานที่เรียกว่า “สุคตาลัย” (ส่วนหนึ่งของอโรคยศาล) ตามคติพุทธนิกายมหายาน ยังพบประติมากรรมลอยตัวรูปพระยมทรงกระบือ เช่น กู่พันนา สกลนคร กู่แก้ว ขอนแก่น อายุช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 ตรงกับศิลปะบายน สะท้อนคติการนับถือพระยมในฐานะเทพเจ้าแห่งความตายและนรกภูมิ มากกว่าการเป็นเทพเจ้าประจำทิศใต้ เพราะไม่พบเทพประจำทิศองค์อื่น ๆ

ในจารึกปราสาทพระขรรค์ เมืองพระนคร ยังมีข้อความกล่าวถึงพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 กษัตริย์เขมรโบราณว่า ทรงส่งรูปประติมากรรม “พระยม” ไปทั่วราชอาณาจักรของพระองค์

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

มาลัย (จุฆารัตน์). (2562). กำเนิดเทวดา. กรุงเทพฯ : สถาพรบุ๊ค.

สุรศักดิ์ ทอง. (2553). สยามเทวะ . กรุงเทพฯ : มติชน.

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์. บันแถลงพระยมทรงกระบือ. สืบค้นเมื่อ 22 สิงหาคม 2566. (ออนไลน์)

พิพิธภัณสถานแห่งชาติ พระนคร, กรมศิลปากร. พระยม’เทพประจำทิศใต้ ที่ปรากฏบนทับหลังปราสาทหนองหงส์. สืบค้นเมื่อ 22 สิงหาคม 2566. (ออนไลน์)

สำรวย นักการเรียน, สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. พระยม. 4 กรกฎาคม 2551. (ออนไลน์)

เสฐียรโกเศศ. (2497). เรื่องเมืองสวรรค์. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร. พิมพ์อุทิศในงานฌาปนกิจศพ นางล้วน คุ้มรอด. (ออนไลน์)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 สิงหาคม 2566