“พระพุทธรูปสุลตานคัญช์” พระพุทธรูปโลหะศิลปะคุปตะ ใหญ่ที่สุดและมีองค์เดียวในโลก

พระพุทธรูป สุลตานคัญช์

พระพุทธรูปสุลตานคัญช์ (Sultanganj Buddha) พุทธปฏิมาศิลปะคุปตะ-ปาละ ราว ค.ศ. 500-700 ถือเป็นประติมากรรมโลหะ ศิลปะคุปตะ องค์ใหญ่ที่สุด และมีชิ้นเดียวที่หลงเหลือหรือมีการค้นพบ

ประวัติพระพุทธรูปสุลตานคัญช์

พระพุทธรูปสุลตานคัญช์เป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่กว่ามนุษย์ สูง 2.3 เมตร กว้าง 1 เมตร สร้างจากทองแดงบริสุทธิ์ ภายในเป็นดินเหนียวผสมซังข้าว มีน้ำหนักมากถึง 500 กิโลกรัม ท่วงท่าขององค์พระอยู่ในลักษณะปาง “วีระ” หรือปางกล้าหาญ หัตถ์ขวาแสดง “อภัยมุทรา” หรือมุทราที่แสดงการประทานอภัยและปกป้อง หัตถ์ซ้ายวางแนบลำตัวเปิดออก แสดงการประทานพร ปลายจีวรจีบอยู่ระหว่างนิ้วโป้งกับนิ้วชี้ของหัตถ์ซ้าย

มีการประเมินอายุของพระพุทธรูปว่าอยู่ในยุคคุปตะ ในหนังสือ “A history of fine art in India and Ceylon” วินเซนต์ อาเทอร์ สมิธ (Vincent Arthur Smith) นักประวัติศาสตร์ศิลปะชาวไอริช ซึ่งตีพิมพ์เมื่อปี 1911 ระบุว่า พระพุทธรูปถูกสร้างราวปี 400 แต่ต่อมานักวิชาการพิจารณาอายุกันใหม่ ประเมินว่าน่าจะสร้างราวปี 800 ขณะที่ผลจากการตรวจอายุด้วยคาร์บอนพบว่าพระพุทธรูปมีอายุราวปี 600-650

พระพุทธรูปสุลตานคัญช์ ปางวีระ ปางกล้าหาญ ศิลปะคุปตะ อินเดีย
พระพุทธรูปสุลตานคัญช์ (The Sultanganj Buddha) (ภาพจาก Birmingham Museums)

ปัจจุบัน พระพุทธรูปสุลตานคัญช์ จัดแสดงอยู่ในโซนจัดแสดงที่เรียกว่า “Faith in Birmingham” ในพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์เบอร์มิงแฮม (Birmingham Museum & Art Gallery) ประเทศอังกฤษ โดยระบุอายุไว้ที่ปี 500-700

พระพุทธรูปสุลต่านคัญช์คือตัวอย่างสำคัญของานศิลปกรรมแบบ ศิลปะคุปตะ ที่มีความงดงามและมีชื่อเสียง ศิลปะแบบคุปตะได้รับอิทธิพลจากกรีกและเปอร์เซียที่แผ่เข้ามาในอินเดียผ่านเส้นทางการค้าและอิทธิพลของชาวตะวันตก ตั้งแต่ยุคสมัยแห่งการพิชิตของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช

สำหรับพุทธลักษณะในทางพุทธศิลป์ องค์พระพุทธรูปสื่อถึงความสงบและการหลุดพ้นทางจิตวิญญาณจากทางโลกเช่นเดียวกับพระพุทธรูปศิลปะแบบอื่น ๆ ความโดดเด่นของพระพุทธรูปสุลต่านคัญช์คือ ผ้าสังฆาฏิ (ผ้าไตรจีวร) ที่แนบกับพระวรกายจนแทบมองไม่เห็น แต่มีรอยผ้าพับเป็นริ้วคล้ายเชือก ประกอบกับวัสดุที่เป็นทองแดง มีความมันวาว ทำให้พระวรกายขององค์พระดูชุ่มฉ่ำตลอดเวลา

พระพุทธรูปสุลตานคัญช์ ถูกค้นพบเมื่อปี 1862 ระหว่างการก่อสร้างรถไฟสายตะวันออกของอินเดีย ที่เมืองสุลตานคัญช์ รัฐพิหาร อี. บี. แฮร์ริส (E. B. Harris) วิศวกรทางรถไฟคือผู้ค้นพบพระพุทธรูปดังกล่าว ระหว่างสำรวจซากปรักหักพังของโบราณสถานใกล้ ๆ สถานีรถไฟสุลตานคัญช์ บริเวณนั้นเคยเป็นพุทธสถานขนาดใหญ่มาก่อน เขาตีพิมพ์รายละเอียดเกี่ยวกับการค้นพบนี้พร้อมภาพถ่ายและแบบแปลนของโบราณสถาน-โบราณวัตถุบริเวณนั้น เขาบรรยายว่า พบพระบาทขวาของพระพุทธรูป ณ ความลึก 10 ฟุตจากผิวดิน

อี. บี. แฮริส ถ่ายคู่ พระพุทธรูปสุลตานคัญช์ ศิลปะคุปตะ อินเดีย
อี. บี. แฮริส ถ่ายคู่กับพระพุทธรูปสุลตานคัญช์, ราวปี 1861-1862 (ภาพจาก Wikimedia Commons)

หลังทำการขุดพระพุทธรูปขึ้นมาจากดิน พระพุทธรูปสุลตานคัญช์เกือบถูกส่งไปหลอมเอาทองแดงในโรงหลอมโลหะที่อยู่ใกล้เคียงแล้ว แต่ปลายทางถูกเปลี่ยนไปยังเมืองเบอร์มิงแฮม ประเทศอังกฤษ เพราะมีผู้ผลิตโลหะและอดีตนายกเทศมนตรีเมืองเบอร์มิงแฮมชื่อ ซามูเอล ธอร์นทัน (Samuel Thornton) ทราบข่าวการค้นพบ และขอซื้อพระพุทธรูปด้วยราคา 200 ปอนด์ พร้อมรับผิดชอบค่าขนส่งทั้งหมด

ซามูเอล ธอร์นทัน เสนอพระพุทธรูปนี้กับสภาเมืองเพื่อนำไปจัดแสดงในหอศิลป์ ซึ่งขณะนั้นเพิ่งมีการเสนอแผนก่อสร้างภายในปี 1864 พระพุทธรูปสุลตานคัญช์จึงกลายเป็นงานชิ้นแรกของหอศิลป์ตั้งแต่อาคารจัดแสดงยังไม่สร้างด้วยซ้ำ

พิพิธภัณฑ์และหอศิลป์เบอร์มิงแฮมยังเป็นสถานที่จัดแสดงประติมากรรมทางศาสนาทั้ง พุทธ เชน และพราหมณ์-ฮินดู 3 ศาสนาสำคัญของโลกที่มีถิ่นกำเนิดในอินเดีย โดยมี พระพุทธูปสุลตานคัญช์ จัดแสดงในฐานะพระเอกของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้อย่างเป็นทางการเมื่อปี 1867 และนับเป็นเป็นสมบัติชิ้นสำคัญที่สุดของพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์เบอร์มิงแฮมเลยก็ว่าได้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

BBC. The Sultanganj Buddha. Retrieved August 18, 2023. From https://www.bbc.co.uk/birmingham/content/articles/2006/05/10/sultanganj_buddha_feature.shtml

MAP Academy. Sultanganj Buddha. Retrieved August 18, 2023. From https://mapacademy.io/article/sultanganj-buddha/

Smith, Vincent Arthur, Archive.org. A history of fine art in India and Ceylon, from the earliest times to the present day. Retrieved August 18, 2023. From https://archive.org/details/historyoffineart00smit/mode/2up


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 สิงหาคม 2566