ผู้เขียน | ธนกฤต ก้องเวหา |
---|---|
เผยแพร่ |
เกาะเซรัม (Seram) เกาะใหญ่อันดับ 2 ในหมู่เกาะโมลุกกะ ประเทศอินโดนีเซีย อยู่ระหว่างเกาะสุลาเวสีกับนิวกินี ผู้คนในเกาะเล็กเกาะน้อยรอบ ๆ เรียกเกาะเซรัมว่า “นูซาอินา” (Nusa Ina) แปลว่าเกาะพระมารดา หรือเกาะแม่ เพราะชาวโมลุกะเชื่อว่าบรรพบุรุษของพวกเขาถือกำเนิดที่เกาะแห่งนี้ ตอนกลางของเกาะเซรัมเป็นภูเขาสูง พื้นที่ตอนในมีสภาพอากาศแบบป่าดิบชื้น ป่าฝนเมืองร้อน ส่วนชุมชนและหมู่บ้านจะอยู่ตามชายฝั่ง เกาะแห่งนี้มีตำนานสัตว์ประหลาด ที่เป็นมนุษย์ค้างคาว เรียกว่า “โอรัง-บาตี”
โอรัง-บาตี (Orang-Bati)
ผู้คนบนเกาะเซรัมเล่าลือกันถึง โอรัง-บาตี (Orang-Bati) กันมานานแล้ว อาจจะตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 15 พวกเขาพูดกันถึงสิ่งมีชีวิตประหลาดที่อาศัยอยู่ตอนในของเกาะ ตามตำนานพื้นเมือง มันมีรูปร่างคล้าย ค้างคาว กับ ลิง และมักจะโฉบเอาเด็ก ๆ ไปกินเป็นอาหาร
คำว่า “โอรัง” (Orang) ในภาษาอินโดนีเซียแปลว่า “คน” ไม่ใช่ลิง ส่วน “บาตี” (Bati) คือ มีปีก หรือติดปีก แต่คำบรรยายเกี่ยวกับลักษณะของสัตว์ประหลาดตัวนี้ ทำให้เชื่อได้ว่าคงคล้ายลิงมากกว่าคน
ลักษณะของโอรัง-บาตี จากคำบอกเล่าของชาวบ้าน ระบุคล้าย ๆ กันว่า โอรัง-บาตี เป็นสัตว์ตัวใหญ่ สูงราว 1.5 เมตร ผิวสีน้ำตาลแดง ปีกดำทมึน หางเรียวเล็กและยาว ถิ่นอาศัยคือเขาไกราตู (Kairatu) ภูเขาไฟดับสนิทตอนกลางของเกาะ มันจะออกหากินยามค่ำคืน บินข้ามผืนป่ามายังชุมชน จับสัตว์เลี้ยงของชาวบ้านหรือแม้แต่คนตัวเล็ก ๆ (เด็ก) ไปกิน บางครั้งมีผู้พบเห็นและได้ยินมันส่งเสียงร้องโหยหวนก้องไปทั่วป่า
ตำนานสัตว์ยักษ์คล้ายมนุษย์และลิงแต่บินได้ ยังพบได้ในพื้นที่ใกล้เคียงเกาะเซรัม คือในปาปัวนิวกินี มีเรื่องเล่าถึงสิ่งมีชีวิตบินได้เรียกว่า “อินดาวา” (Indava) ใกล้กับหมู่บ้านทาวา ลึกเข้าไปในผืนป่าของปาปัวนิวกินี ว่ากันว่า พวกมันมักจับเด็ก ๆ และหมูของชาวบ้านไป วิธีป้องกันตัวจากอินดาวาคือต้องกรีดร้องสุดเสียงหากรู้สึกว่ากำลังจะถูกอินดาวาโจมตี เพราะสัตว์ประหลาดตัวนี้มักตกใจกลัวเสียงดัง
เกาะนิวกินียังมีตำนานสัตว์ประหลาดคล้าย ๆ กันอีกในชื่อ “คอร์” (Kor) สัตว์ร้ายทางตอนเหนือของเกาะ ซึ่งมักจู่โจมผู้คนในอดีต สิ่งมีชีวิตนี้บินอยู่บนท้องฟ้าในเวลากลางคืนและเรืองแสงด้วย อีกตำนานหนึ่งคือ “โรเพน” (Ropen) แห่งเกาะอุมโบอิ แต่ข้อมูลที่บรรยายถึงลักษณะของสัตว์ตัวนี้ทำให้นึก เทอโรซอร์ (Pterosaur) ไดโนเสาร์บินได้สายพันธุ์หนึ่ง ถึงขั้นมีทฤษฎีว่า ดินแดนแถบนี้อาจเป็นถิ่นฐานของสัตว์ยักษ์บินได้ชนิดนี้ เพราะพวกมันรอดพ้นจากการสูญพันธุ์เมื่อหลายล้านปีก่อน
สัตว์ประหลาดเหล่านี้มีหลายอย่างเชื่อมโยงกับโอรัง-บาตี ทั้งลักษณะ รูปร่าง อุปนิสัย แต่โอรัง-บาตีมีอยู่จริงไหม หรือเป็นตัวอะไรกันแน่?
ปลายศตวรรษที่ 20 คือเมื่อปี 1987 มิชชันนารีชาวอังกฤษสัญชาติอเมริกันคนหนึ่ง ชื่อว่า ไทสัน ฮิวจ์ส (Tyson Hughes) เดินทางมายังเซรัม เสียงเล่าลือเกี่ยวกับโอรัง-บาตีทำให้เขาเกิดความสนใจแล้วเดินทางเข้าไปสำรวจบริเวณภูเขาไฟไกราตู กลายเป็นชาวตะวันตกคนแรก ๆ ที่มีโอกาสสำรวจผืนป่าแห่งเกาะเซรัม แต่เขาก็ไม่พบโอรัง-บาตีแต่อย่างใด
ในศตวรรษที่ 21 นักสำรวจและนักสัตววิทยาพยายามหาข้อมูลจากชาวบ้านผู้เคยพบเห็นโอรัง-บาตีด้วยตนเองจริง ๆ ทั้งนี้เพื่อเก็บข้อมูลเกี่ยวกับสัตว์ประหลาดตัวนี้ให้มากขึ้น แต่ต้องพบกับความล้มเหลว เพราะมีแต่เรื่องเล่าปากต่อปาก ไม่มีใครมีประสบการณ์พบเจอโอรัง-บาตีจริง ๆ เลย เรื่องเล่าของคนพื้นที่เองไม่ใช่ข้อมูลที่น่าเชื่อถือเท่าใดนัก เพราะเกาะเซรัมมีตำนานท้องถิ่นเต็มไปหมด ชาวบ้านยังชอบเอาใจคนนอกพื้นที่หรือนักท่องเที่ยวด้วยการเล่าเรื่องสัตว์แปลก ๆ ให้ฟัง โดยไม่สนว่าเรื่องที่ตนเองเล่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่
ดร.คาร์ล ชูเกอร์ (Karl Shuker) นักเขียนชาวอังกฤษ ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตววิทยา และสิ่งมีชีวิตลึกลับ ให้ความเห็นว่า โอรัง-บาตี อาจเป็นค้างคาวยักษ์สายพันธุ์หนึ่ง เพราะเกาะเซรัมเป็นถิ่นที่อยู่ของค้างคาวหลากหลายสายพันธุ์ จึงอาจมีชนิดที่ยังไม่ถูกค้นพบอย่างเป็นทางการหลงเหลืออยู่ในป่าลึกของเกาะ อนึ่ง การที่ค้างคาวหากินตอนกลางคืน ทำให้ยากแก่การถูกพบเจอ มีเพียงชาวบ้านที่มีโอกาสพบเห็น แล้วเล่าเรื่องเสริมจินตนาการจนเกิดเป็นตำนานสัตว์ประหลาดขึ้นมา
ทั้งนี้ ปัจจุบันสายพันธุ์ค้างคาวตัวใหญ่ที่สุดคือ ค้างคาวแม่ไก่ป่าฝน (Large Flying-fox) หรือ Vespertilio vampyrus จัดเป็นค้างคาวกินผลไม้ที่พบในหลายประเทศทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และพบมากในหมู่เกาะทั่วอินโดนีเซีย รวมถึงเกาะเซรัมด้วย ค้างคาวแม่ไก่ป่าฝนมีขนาดตัวใหญ่กว่าค้างคาวสายพันธุ์อื่น ๆ มาก มีหัวคล้ายหมาจิ้งจอก (ที่มาของชื่อ Flying-fox) ตาโต จมูกและใบหูเล็ก ขนสีน้ำตาลแกมแดง ปีกดำสนิท พวกมันมีน้ำหนักได้ถึง 1 กิโลกรัม และกางปีกได้ยาวกว่า 2 เมตร
ลองจินตนาการว่าหากได้เห็น “ค้างคาว” พวกนี้บินโฉบไปมาเหนือหัวตอนกลางคืน พร้อมดวงตาสะท้อนแสงจันทร์สลัวกลางป่ารกทึบ การเกิดเรื่องราวของมนุษย์ค้างคาวหรือตำนานพื้นเมืองโอรัง-บาตี ก็มีความเป็นไปได้ในระดับหนึ่งเลยทีเดียว
ชาวดัตช์ที่เคยพักอาศัยอยู่ในหมู่เกาะโมลุกกะยกอีกทฤษฎีว่า โอรัง-บาตี อาจหมายถึง เผ่าบาตี (Bati) ชนพื้นเมืองดั้งเดิมของเกาะเซรัม พวกเขาอยู่ทางตะวันออกสุดของเกาะและติดต่อกับโลกภายนอกน้อยมาก จึงดูลึกลับ จนเกิดเป็นเรื่องเล่าว่าชนกลุ่มนี้สามารถบินได้ และมักลักเอาลูกหลานของคนในหมู่บ้านไปเลี้ยงดูเป็นส่วนหนึ่งของเผ่า
หรือทั้งหมดนี้อาจเป็นเพียงกุศโลบายให้เด็ก ๆ แห่งเกาะเซรัม หรือพื้นที่ใกล้เคียงระมัดระวังตัวเอง ไม่เตร็ดเตร่ไปไหนมาไหนกลางพงไพรจนอาจเป็นอันตราย…
อ่านเพิ่มเติม :
- ตำนานกำเนิด “การ์กอยล์” อสุรกายแห่งรูออง จากผู้คุกคาม สู่ผู้คุ้มครอง
- เรื่องจริงของ “เนสซี” สัตว์ประหลาดแห่งล็อกเนสส์ กับการตบตาครั้งใหญ่ของโลก
- “Godzilla” ภาพสะท้อน “นิวเคลียร์” กับความขื่นขมของญี่ปุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
อ้างอิง :
https://itsmth.fandom.com/wiki/Orang_Bati
https://cryptidz.fandom.com/wiki/Orang_Bati
https://www.streetdirectory.com/etoday/-wecjlu.html
https://discover.hubpages.com/education/Orang-Bati-Indonesias-Flying-Primate
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 สิงหาคม 2566