วิธีรักษา “คนบ้า” สมัยโบราณ เจาะกะโหลก กรอกเลือด 

ภาพเขียน เจาะกะโหลก กาารักษา คนบ้า
วิธีการรักษา คนบ้า ด้วยการเจาะกะโหลก ภาพเขียนแสดงของเฮียโรนิมัส บอช

คนบ้า หรือ คนเสียสติ ในปัจจุบัน ถือว่าเป็นอาการป่วยอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นกับร่างกายของมนุษย์ ใช้การอธิบายและรักษากันด้วยความรู้ด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์

หากในอดีต เรื่องของ คนบ้า ถูกอธิบายในเชิงจิตวิญญาณ ความลี้ลับ คนบ้าบางคนอาจถูกมองว่ามีวิญญาณชั่วสิง หรือเป็นปีศาจร้ายเสียเองก็มี ด้วยความเชื่อเช่นนี้ วิธีการรักษาจึงเป็นการปลดปล่อยความชั่วร้ายออกไป

นักโบราณคดีค้นพบร่องรอยการรักษาคนบ้าเมื่อ 10,000 ปีที่แล้ว ด้วยวิธีการที่น่าสะพรึงกลัว นั่นคือการ “เจาะกะโหลก” (Trepanning) ซึ่งมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ทำเพื่อรักษาอาการเจ็บป่วย อันรวมถึงอาการผีเข้าหรือความวิกลจริต โดยการใช้ของแข็งเจาะลงไปในกะโหลก ด้วยความเชื่อว่าเป็นการปลดปล่อยความกดดันหรือความชั่วร้าย

การขุดค้นของนักโบราณคดี พบหัวกะโหลกจำนวนหนึ่งของมนุษย์โบราณในหลายภูมิภาคของโลก ต่างมีร่องรอยการเจาะรูบนกะโหลก แสดงให้เห็นว่า วิธีเจาะกะโหลกเพื่อการรักษาแพร่หลายพอสมควรทีเดียว ในประเทศไทยมีการขุดค้นพบหัวกะโหลกที่ถูกเจาะในลักษณะคล้ายๆ กันที่แหล่งโบราณคดีบ้านธาตุ อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี

การรักษา คนบ้า อีกวิธีหนึ่งที่แพร่หลายอีกวิธีหนึ่งคือ “การกรอกเลือด” (Bloodletting)  ที่เริ่มมีใช้ตั้งแต่ยุคอียิปต์โบราณ ด้วยแนวคิดคล้ายๆ กันว่า โรคภัยต่าง ๆ รวมถึงโรคจิตเวช เกิดจากเลือดเสียคั่งค้างอยู่ในร่างกาย เช่นนี้แม้จะเรียกว่า “กรอก” ที่ความเข้าใจทั่วไปคือ การเติมหรือเพิ่มเข้าไป แต่ในที่นี้ “การกรอกเลือด” คือ การถ่ายเลือดเสียออกจากร่างกายเพื่อหวังจะทํำให้อาการดีขึ้น

นักเดินทางต่างชาติที่เข้ามายังอยุธยาได้บันทึกไว้ว่า ในอยุธยาก็มีการรักษาโดยการใช้ปลิงดูดเลือดผู้ป่วยออกด้วย สุนทรภู่เคยกล่าวถึงวิธีการรักษาแบบนี้ไว้ในนิราศพระประธม ดังท่อนที่ว่า “ถึงบางกอกกรอกเลือดให้เดือดโรค แต่ความโศกจะกรอกออกที่ไหน”

การกรอกเลือดเป็นวิธีการรักษาคนบ้าที่นิยมกันทั่วไป จนมาเสื่อมความนิยมในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ศาสตราจารย์ นายแพทย์ฝน แสงสิงแก้ว ผู้ได้รับยกย่องว่าเป็นบิดาของจิตเวชศาสตร์ไทย เล่าเรื่องวิธีการกรอกเลือดรักษาในโลกตะวันตกสมัยก่อนว่า

“ถ้าผู้ป่วยหนุ่มแน่น ให้กรอกเลือดออกขนาด 9 ออนซ์ 3 ครั้ง โดยมีระยะห่าง 3 วัน จะช่วยลดความเพ้อคลั่งได้ ถ้ายังไม่หาย ให้จองจำ ล่ามโซ่ หรือชกต่อยกันหนัก ๆ ต่อไป”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : บทความนี้เขียนเก็บความจาก นักรบ มูลมานัส. เล่นแร่ แปลภาพ ประวัติศาสตร์จากเบื้องหลังภาพถ่าย. สำนักพิมพ์ มติชน, พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม 2565


เผแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 สิงหาคม 2566