ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤศจิกายน 2542 |
---|---|
ผู้เขียน | กิติกร มีทรัพย์ |
เผยแพร่ |
บทความนี้มีเป้าหมายเพื่อชี้ให้เห็น ประวัติการตีตราทางสังคม หรือการวินิจฉัย โรคจิตโรคประสาทของไทยที่เรียกง่ายๆ ว่า บ้าหรือโรคบ้า ตั้งแต่ครั้งโบราณจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ซึ่งถูกกลืนหายไปกับวิถีการตีตราทางสังคม หรือวินิจฉัยโรคแบบฝรั่งตะวันตกหลังจากการดูแลผู้ป่วยจิตเวช (คนเสียจริต) แบบพื้นบ้าน (Traditional Care) และแบบกักขัง (Custodial Care) มาเป็นการดูแลแบบโรงพยาบาล (Hospital Care) ในสมัยรัชกาลที่ 5 ปี พ.ศ. 2432
บทความจะเริ่มเรื่อการวินิจฉัยโรคบ้าแบบไทยก่อน และแบบฝรั่งในภายหลัง ผู้อ่านจะได้เห็นความแตกต่างการตีตราทางสังคมได้ชัดเจนขึ้น ผู้เขียนเรียนว่าการวินิจฉัยโรค หรือการตีตราทางสังคมมาด้วยกันกับการให้บริการดูแลบำบัดรักษาผู้มีปัญหาทางจิตใจ อันมีหลักฐานว่ามีมาแต่ครั้งสุโขทัย อยุธยา รัตนโกสินทร์ตอนต้น และปัจจุบัน การวินิจฉัยการบำบัด เยียวยา หรือการตีตรานั้น กระทำทั้งโดยราษฎรทั่วไป หมอราษฎร์ และหมอหลวง
สมัยสุโขทัย
ตามหลักศิลาจารึกหลักที่ 1 แม้ความหมายจะไม่ได้ระบุชัดเจนเชิงวินิจฉัย แต่ก็ได้ความหมายว่า ราษฎรคนใดมีปัญหาทางใจ (เจ็บท้องข้องใจ) ก็ให้หาพ่อเมือง จะบำบัดคลี่คลายให้ได้ ความในศิลาจารึกมีตอนหนึ่งว่า
“ในปากประตูมีกระดิ่งอันหนึ่งแขวนไว้หั้น ไพร่ฟ้าหน้าปกกลางบ้านกลางเมือง มีถ้อยมีความเจ็บท้องข้องใจ มักจักกล่าวถึงเจ้าเมืองขุนบ่ไร้ ไปสั่นกระดิ่งอันท่านแขวนไว้ พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองได้ยินเรียก เมื่อสวนถามความแก่มันด้วยซื่อไพร่ในเมืองสุโขทัยนี้จึ่งชม…”
ไพร่ฟ้าหน้าปกคือคนที่มีทุกข์ อันตรงข้ามกับคนที่มีสุขคือไพร่ฟ้าหน้าใส
ภาวะอันเจ็บท้องข้องใจ เป็นทุกข์เป็นความข้องคับใจ (Frustration) เป็นอาการไซโคโซมาติก (Psychosomatic) ใจไม่สบาย ทำให้ร่างกายไม่สบายตาม จึงน่าจะเป็นการวินิจฉัยหรือตีตราความไม่สบายใจของราษฎรโดยหมอหลวงสมัยนั้นว่าเป็น (อาการ) เจ็บท้องข้องใจก็ได้ ยังไม่พบหลักฐานอื่นที่บอกถึงหรือชวนให้เข้าใจว่า เป็นการวินิจฉัยหรือตีตรามากไปกว่านี้
สมัยอยุธยา
มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในจดหมายเหตุของเดอ ลาลูแบร์ ทูตฝรั่งในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชระบุว่า พบคนเสียจริตในหมู่ราษฎรจำนวนมาก รวมทั้งบอกเหตุของการเสียจริตด้วยว่า เพราะอำนาจไสยศาสตร์ ดังความในจดหมายเหตุตอนหนึ่ง
“…บางคนตามเนื้อตัว ตั้งสองในสามส่วนผื่นไปด้วยแผล โรคโลหิตไหลทางเหงือก ไม่มีใครเป็น โรคขี้เรื้อนกุดถังก็ไม่เห็นค่อยมี แต่คนเสียจริตมีชุม พลเมืองหลงเชื่อกันว่า เป็นด้วยถูกกระทำยำเยียเชิงกฤติคุณ…”
กฤติคุณน่าจะหมายถึงอำนาจอันผิดธรรมชาติ (Preternatural) ทำให้เป็นบ้า เสียสติหรือตายได้ การตรวจวินิจฉัยของหมอ ไม่มีอะไรมากไปกว่าบอกว่า ผู้ป่วยป่วยเพราะอำนาจไสยศาสตร์ ภูตผีปีศาจหรือผีสางต่างๆ ซึ่งคนไม่อาจสู้ได้ ผู้ป่วยจึงถูกทิ้งตามยถากรรมหรือสู้ไปตามมีตามเกิด
“หมอสยามไม่พักตรวจสมุหฐานของโรคว่าอะไรเป็นตัวสำคัญ ที่ก่อให้เกิดโรคที่ป่วยนั้น วางยาไปตามบุญตามกรรม…หมอสยามไม่เว้นจะพูดว่าเป็นเพราะถูกคุณไสย ถูกกระทำยำเยียหรือเพราะฤทธิ์ผีสาง สุดวิสัยมนุษย์จะสู้ได้…” และความในจดหมายเหตุอีกตอนหนึ่ง
“…เมื่อเผอิญถูกโรคร้ายเหลือกำลังจะวางยาแล้ว หมอสยามไม่เว้นจะพูดว่าถูกคุณไสย จึงไม่สามารถรักษาด้วยโอสถขนานใดๆ ได้…”
คำว่า “คนเสียจริต” จึงเป็นคำวินิจฉัยหรือตีตราแทนคำว่า “บ้า หรือคนบ้า” ในสมัยอยุธยา
คำว่า “คุ้มดีคุ้มร้าย” น่าจะเป็นอีกคำหนึ่งที่เรียกแทนคำว่า บ้า ซึ่งระบุในบันทึกของนิโกลาส์ แชร์แวส ตอนหนึ่ง
“พระอนุชาอีกพระองค์หนึ่งทรงเป็นง่อย ดำรงพระชนม์อยู่อย่างเงียบๆ และทรมาน…เมื่อปรากฏพระองค์ทรงแสร้งทำเป็นตรัสติดอ่าง และพระสติคุ้มดีคุ้มร้าย…”
สมัยอยุธยา คำว่า บ้า พบว่ามีสองคำ คือคำว่า “เสียจริต” หรือ “คนเสียจริต” คำหนึ่ง กับคำว่า “สติคุ้มดีคุ้มร้าย” อีกคำหนึ่ง คำๆ นี้อาจพูดสั้นๆ ว่า “คุ้มดีคุ้มร้าย” หรือเพียงแค่ “คนเสียสติ” ก็เป็นได้
อนึ่ง คำว่า “คนเสียจริต” น่าจะเป็นคำนิยมที่ใช้มาถึงรัชกาลที่ 5 สมัยรัตนโกสินทร์ เมื่อมีโรงพยาบาลรักษาคนบ้าหรือโรงบ้าขึ้นแล้ว โดยเรียกเป็นทางการว่า โรงพยาบาลคนเสียจริต ต่อมาเมื่อตราว่าความเสียจริตเป็นโรค จึงเรียกว่า โรงพยาบาลโรคจิต และในปัจจุบันเชื่อว่าโรคจิตจะกำจัดบำบัดเยียวยาได้ด้วยหลักวิชาจิตเวชศาสตร์ จึงเรียกว่า โรงพยาบาลจิตเวช
เห็นสมควรกล่าวถึงคำว่า บ้า อีกคำหนึ่งน่าจะอยู่ระหว่างสมัยอยุธยาตอนปลาย คือคำว่า “ฟั่นเฟือน” คือความที่ระบุไว้ในพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขาที่ว่า พระเจ้ากรุงธนบุรี “เสียพระจริตฟั่นเฟือนไป” อันเป็นคำของหมอหลวง จากคำนี้มีคำที่สอดคล้องกันอีกสองคำคือ “เสียจริต” กับ จิตฟั่นเฟือน หรือ สติฟั่นเฟือน ได้ด้วย
สมัยรัตนโกสินทร์
โดยเฉพาะในรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 5 การวินิจฉัยคนบ้า หรืออาการบ้า ยังคงใช้เป็นทางการว่า คนเสียจริต อย่างสมัยอยุธยา และเมื่อมีโรงพยาบาลให้การบำบัดรักษาอย่างเป็นระบบแบบตะวันตกเรียกว่า โรงพยาบาลคนเสียจริต จะมีอยู่บ้างที่เรียกว่า โรงบ้า และโรงเสียจริตพยาบาลบ้าง
ต่อมาก็เรียกเป็นทางการว่า โรงพยาบาลคนเสียจริตทั้งหมด แต่คนไข้หรือผู้ป่วยยังคงเรียกว่า คนเสียจริต เช่น เรียกผู้ป่วยรายหนึ่งชื่อนายเล็บว่า นายเล็บเสียจริต หรือคนไข้เป็นคนจีนชื่อเส็งก็เรียกว่า จีนเส็งเสียจริต เป็นต้น
คำวินิจฉัยว่า “นอกรีตนอกรอย” ก็มีนัยไปทางเสียจริตด้วยเช่นเดียวกัน ดังกรณีของสามเณรเทียนวัน ถูกวินิจฉัยว่าเป็นคนนอกรีตนอกรอย กล่าวคือ สมเด็จพระสังฆราชทรงเมตตาสามเณรเทียนวัน ให้ตามเสด็จไปอยู่กับพระองค์ที่วัดราชประดิษฐ์ แต่เทียนวันไม่ตามไป พอใจจะอยู่ที่เดิม จึงถูกว่านอกรีตนอกรอย คือเป็นบ้า ไม่รู้ว่าอะไรควรไม่ควร การตามเสด็จไปคือความก้าวหน้ารุ่งเรือง
ในสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงมีพระบรมราชโองการประกาศแก่ขุนนางและราษฎรให้ดูแลผู้ป่วยโรคจิตมิให้ล่วงเข้าไปในเขตพระราชฐาน ทรงเรียกผู้ป่วยว่า คนเสียจริตปนบ้าคลุ้มคลั่ง หรือคลุ้มดีคลุ้มร้าย และเรียกญาติหรือผู้เป็นเจ้าของรับผิดชอบดูแลว่า เจ้าของบ้า ด้วยพระบรมราชโองการ ตอนหนึ่ง
“…ให้ประกาศแก่ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ผู้น้อย แก่ราษฎรทั้งปวงให้รู้ทั่วกันว่า บรรดาคนซึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่ในกำแพงพระนครและนอกกำแพงพระนครโดยรอบ และที่วัดทุกพระอาราม…ถ้าญาติพี่น้อง บุตร หลาน บ่าว ทาส ของผู้ใด แลลูกวัด คฤหัสถ์สามเณรของพระองค์ใด เสียจริตเป็นบ้าคลุ้มคลัง หรือคลุ้มดีคลุ้มร้ายเป็นคราวๆ มีอยู่ ก็ให้ผู้นั้นเอาใจใส่ รักษา พยายามกักขัง ระวังให้หนักหนามั่น คงอย่าปล่อยให้เที่ยวไปตามลำพังได้…”
กรณีที่ผู้ป่วยหนีออกจากบ้าน ให้ญาติหรือผู้ปกครองแจ้งตำรวจนครบาลช่วยตามจับโดยทันที
“..แล้วจึงให้เจ้าของบ้าไปบอกต่อกรมพระนครบาลให้ช่วยตามจับ แลให้เจ้าของบ้าเร่งติดตามจับเสียให้ได้ตัวโดยเร็ว…”
กระนั้นก็ดี ปรากฏว่า กรมพระนครบาลได้จับคนบ้ามาได้จำนวนมาก นำมากักขังไว้รอญาติมารับตัว ตรงนี้นำไปสู่การเป็นที่กักขังในสถานที่ ที่เรียกว่า อะไซลัม (Asylum) และดูแลแบบกักขัง (Custodial Care) เพราะกลัวว่าจะเป็นที่วุ่นวายและเกรงจะทำร้ายผู้อื่น
การดูแลแบบกักขังดูประหนึ่งกักขังสัตว์ แท้จริงเป็นมนุษย์ นำไปสู่การบำบัดรักษาแบบมนุษยธรรม (Moral Treatment) เกิดเป็นโรงพยาบาลคนเสียจริตในเวลาต่อมา ซึ่งเริ่มต้นในปี 2532 แรกๆ ก็ยังเป็นที่กักขังดูแลค่อนข้างกำจัด แถมทุบตีทรมาน แต่ก็พัฒนาเป็นโรงพยาบาลได้ในที่สุด
โรงพยาบาลคนเสียจริตโรงแรกในประวัติศาสตร์คือ โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา ในปัจจุบันถูกจัดการตามแบบฝรั่ง ได้แบบมาจากสิงคโปร์ และปัตตาเวีย (อินโดนีเซีย) ผู้อำนวยการคนแรกเป็นฝรั่งชื่อ ดร.แคมป์เบล ไฮเอต (Campbell Hightet) ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงจ้างมาวางรากฐานสาธารณสุขไทยทั้งหมด
การมีโรงพยาบาลแบบฝรั่งดังกล่าวนั้นเกิดขึ้นหลังจากเรามีโรงพยาบาลกึ่งไทยกึ่งฝรั่งตั้งที่ “ปากคลองสาร” (บริเวณสถานีตำรวจสมเด็จเจ้าพระยาในปัจจุบัน) มานาน 23 ปีแล้ว ตลอดเวลาสองทศวรรษเศษๆนั้น เรามีการวินิจฉัยโรคจิตตามแบบแพทย์แผนไทย ระบุชื่อโรค อาการ และที่มาของอาการทำนองนี้
การวินิจฉัยหรือตีตราว่าบ้า ตามแนวแพทย์แผนไทย
เมื่อปี พ.ศ. 2446 นายคล้อย แพทย์ใหญ่โรงพยาบาลคนเสียจริต ได้ทำรายงานเสนอพระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์ ปลัดกระทรวงธรรมการ ถึงการวินิจฉัยอาการคนเสียจริตโดยพิสดาร ตามแนวแพทย์แผนไทยสมัยนั้น พอสรุปได้ดังนี้
1. บ้าเพราะลมบาทจิตร์ นอนไม่หลับ กินไม่ได้ประมาณ 14-15 วัน อุจจาระผูกจัดลมในกองหัทยา ฟุ้งซ่านพัดขึ้นตลอดถึงเส้นประสาท เข้าเวลาไหนทำให้ตามัวใสเวลานั้น เพ้อคลั่งดุร้าย
2. บ้าเพราะลมกระทบดวง มีอาการไข้เช้าเย็น นอนไม่หลับ รับประทานอาหารได้ แต่อุจจาระผูกเป็นพรรดึก 3 วัน 4 วัน ตาขุ่นมัว ลมอุททังคะ มาวาตะ พัดขึ้นจับหัวใจ ทำให้ใจลอย สติเผลอ เพ้อคลั่ง ที่เคยกลัวก็กล้า ที่เคยกล้าก็กลัว
3. บ้าเพราะลมสมุนา และอำมะพฤก เกิดเพราะลมเดินตามเส้น นอนไม่หลับ กินไม่ใคร่ได้ ตาขุ่นมัว เท้าเย็นถึงศรีษะ ลมซู่ขึ้นตามเส้น ปัตฆาตถึงศรีษะจับเส้นประสาท ถ้าลมออกหูก็ได้ยินเสียงคนมาร้องเรียกหรือได้ยินเสียงต่างๆ ถ้าลมออกทางตาก็เห็นเป็นเทวดาผีสางรักษาให้หายได้เป็นครั้งคราว
4. บ้าเพราะดีซ่าน ตัวเหลือง ตาขาวแต่ลูกตาเขียวใส ตัวร้อนจัดเหงื่อมากและเหนียวเป็นยางมะตูม อุจจาระผูกเป็นพรรดึก ปัสสาวะเหลืองหรือแดง เพ้อคลั่ง 9-10 วัน ดีแตกตายถ้าตัวไม่ร้อน เหงื่อมีเล็กน้อย เพ้อ คลั่งไม่มากพอรักษาหาย
5. บ้าเพราะโลหิต มี 3 อย่าง โลหิตตกหมด โลหิตแห้ง ฤดูมาก็ไม่มา 3-4 เดือน ลมอุททังคะ มาวาตะ ตีขึ้นเบื้องบนตึงเส้นประสาท ทำให้หน้าดำ ขอบตาเขียว เพ้อคลั่งไม่กินอาหาร เป็นไม่กี่ปีรักษาหาย
จวนมีฤดูขอบตาเขียว เพ้อคลั่งฤดูมาก็หาย แต่เพราะโลหิตจับขั้วหัวใจ หายยาก
จวนมีฤดูขอบตาเขียว หัวเราะ ร้องไห้ ร้องเพลงวุ่นวาย เกิดจากขั้วดีรักษาหาย
6. บ้าเพราะสูบกัญชา เพ้อคลั่งไม่มี สติรักษาหายได้ สูบแล้วเป็นอีก
7. บ้าเพราะสันนิบาต ตัวร้อนปวดศรีษะ ผิวซีด ตาแดง เพ้อคลังไม่มีสติประกอบยาถอนพิษหายได้
8. บ้าเพราะลําโพง ร้อน ฟุ้งซ่าน กระหายน้ำ
ครั้นเมื่อใช้ระบบโรงพยาบาลแบบฝรั่งเต็มรูปแล้ว ราวๆ ต้นสมัยรัชกาลที่ 6 ระบบการวินิจฉัยและกระบวนการบำบัดรักษาก็ค่อยๆ ปรับเป็นแบบตะวันตก และเป็นสากลถึงปัจจุบัน
อย่างไรก็ดี การบำบัดเยียวยาและการวินิจฉัยแบบชาวบ้านยังคงอยู่ คือการบำบัดเยียวยาที่หนักไปทางไสยศาสตร์และวินิจฉัยว่าใครเป็นบ้าบ้าง โดยระบุดีกรีของความบ้าไว้ด้วย ตามคำและความคิดชาวบ้านจากดีกรีเล็กๆ จนถึงดีกรีใหญ่ๆ ชนิดสมบูรณ์แบบ
คำว่า บ้า ตีตราโดยชาวบ้าน
แต่ละคำมักจะบ่งชี้หรือกําหนดดีกรีความแปรปรวนไว้ในคำของมัน
ป้อง พล่าม เพี้ยน ฟุ้ง สติเฟื่อง ไม่เต็มเต็ง ติงต้อง ไม่เต็มบาท ร้อนวิชา บอ (บ้าๆ บอ ๆ) ป.ส.ด. ประสาท (แดก) สติแตก ดีแตก หลังคาแดง หัวกะลา พิกล วิกล วิกลจริต จิตฟั่นเฟือน วิปลาส ทึ่ม (มีกระแสของความโง่เขลาอยู่ด้วย) และคำว่า ไอ้โรคจิต
คำไทยตรงไปตรงมา ใช้เมื่อไรก็ชัดเจนเมื่อนั้นก็คือคำว่า บ้า นี่เอง ต้องการจะด่าชายหรือหญิงก็ระบุเพศลงไปว่า ไอ้หรืออี นำหน้าคำว่า บ้า เท่านั้นก็เรียบร้อย
คำว่า บ้าห้าร้อยจำพวก แม้จะระบุจำนวนลงไปด้วยก็น่าจะมิได้หมายถึงว่าชนิดของความบ้าต้องเท่านั้นเสมอไป แต่หมายถึงมากมายเหลือจะนับ ยิ่งกว่าร้อยแปดที่ชอบพูดกันอันมีนัยว่ามากมาย ด้านหนึ่งทำให้เห็นว่า อาการเจ็บป่วยแปรปรวนมันซับซ้อนมาก เปลี่ยนเป็นนั้นเป็นที่อยู่เสมอ การเป็นบ้าไม่ใช่ว่าจะเป็นกันง่ายๆ!
การวินิจฉัย ตีตราหรือจำแนกความแปรปรวนทางจิตในปัจจุบัน
การวินิจฉัยความแปรปรวนทางจิต (Mental Disorders) ถือตามคู่มือจําแนกโรค-ไอซีดี (ICD-International Classification of Discase) ขององค์การอนามัยโลกเป็นหลัก ซึ่งพอสรุปเฉพาะกลุ่มโรคจิต (Psychosis) ได้ดังนี้
1. ความแปรปรวนทางจิตเพราะความผิดปกติของเนื้อสมองหรือร่างกาย เมื่อสมองผิดปกติ การทำงาน (Function) ของสมองก็ผิดปกติไปด้วย ยังผลให้ความสามารถในการรับรู้ อารมณ์และการกระำผิดปกติไป นัยหนึ่งก็คือทำให้กระบวนการทางจิตผิดปกติไปด้วย เช่น
สมองเสื่อมในวัยชราและก่อนวัยชรา, สมองเสื่อมเพราะสุราและเหล้า, สมองเสื่อมเพราะติดเชื้อต่างๆ เชื้อซิฟิลิส มาลาเรีย (ขึ้นสมอง), สมองผิดปกติเพราะความผิดปกติอื่นๆ เช่น หลอดเลือดในสมองแข็ง ตีบ ตกเลือดในสมอง ลมชัก ถูกกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงจากอุตบัติเหตุ หรือการชกมวย หรือ ฯลฯ, สมองสับสนเพราะความผิดปกติทางร่างกายส่วนอื่นๆ เช่น ความผิดปกติของต่อมไร้ท่อ หรือการเผาผลาญอาหารแปรปรวน หรือเพราะฤทธิ์สารเสพติด หรือสารพิษ (จากโรงงานอุตสาหกรรม ลำโพง กัญชา)
2. ความแปรปรวนทางจิตเพราะความผิดปกติของการทำงานของสมองหรือร่างกาย ทั้งๆ ที่เนื้อสมองหรือร่างกายเป็นปกติ แต่เพราะการทำงานแปรปรวนไป ทำให้กระบวนการของจิตผิดปกติ กลายเป็นความแปรปรวนทางจิตชนิดต่างๆ เช่น
จิตเภท (จิตใจแตกแยก) ความคิดหรือพุทธภาวะแปรปรวนเป็นหลัก, ความแปรปรวนทางอารมณ์ อารมณ์เช่น เศร้า ฟุ้งซ่านหรือทั้งเศร้าและฟุ้งซ่านสลับกัน, จิตระแวง หลงผิดคิดว่า คนกล่าวหาหรือคอยทำร้ายเป็นหลัก, ความแปรปรวนทางจิตอื่นๆ เนื่องเพราะประสบการณ์ชีวิต เช่น สูญเสียอย่างยิ่ง คับใจอย่างรุนแรง ถูกกดดันอย่างหนัก ถูกขู่คุกคามจนเกิดระแวงสุดขีดและเข้าใจผิดคิดว่าจะถูกทำร้าย มักเกิดแก่นักโทษหรือผู้ อพยพย้ายถิ่น
จากสถิติผู้ป่วยหรือมีความแปรปรวนทางจิต พบว่า ตามข้อ 1 มี ประมาณร้อยละ 10 ส่วนที่เหลือร้อยละ 90 เป็นข้อ 2
สำนักวินิจฉัย ตีตราหรือจำแนกความแปรปรวนทางจิตที่สำคัญอีกแห่งคือ สมาคมจิตเวชศาสตร์อเมริกัน หรือเอพีเอ (American Psychiatric Association) ใช้คู่มือจำแนกความแปรปรวนทางจิตที่เรียก ดีเอสเอม (Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders) แบ่งการจำแนกออกเป็น 5 มิติโดยสรุป (ในที่นี้หมายถึง ดีเอสเอ็ม 3-DSM III) ดังนี้
1. กลุ่มที่มีอาการทางจิตเวชชัดเจน เช่น ความแปรปรวนทางจิตที่เรียกว่า จิตเภท (Schizophrenia) เป็นต้น
2. กลุ่มที่มีปัญหาด้านบุคลิกภาพยาวนาน (กลุ่มผู้ใหญ่) หรือกลุ่มที่มีปัญหาพัฒนาการโดยเฉพาะ (เด็กวัยรุ่น)
3. กลุ่มที่มีอาการแปรปรวนทางกายร่วมด้วย (Physical Disorders and Conditions)
4. กลุ่มที่มีความรุนแรงของตัวทำให้เครียดด้านจิต-สังคม (Severity of Psychocial Stressors) เช่น ธุรกิจล้มละลาย หรือการหย่าร้าง ถือว่าเป็นตัวทำให้จิตใจปั่นป่วน รุนแรง หรือความตายของคนรัก คนใกล้ชิดถือว่ารุนแรงที่สุด
5. กลุ่มที่ต้องปรับตัวรุนแรงต่อสถานการณ์ (Highest Level of Adaptive Functioning) เช่น ไม่อาจทำงานบ้านได้ ระเบิดอารมณ์ใส่ครอบครัว และเพื่อนบ้านถือว่าจิตใจอยู่ในระดับที่แย่มาก และหญิงหม้ายวัย 65 สามารถช่วยงานอาสาสมัคร มีงานอดิเรกและเยี่ยมเยือนเพื่อน ๆ ได้ถือว่าจิตใจอยู่ในระดับดีมาก เป็นต้น
การวินิจฉัยตีตราหรือจำแนกความแปรปรวนทางจิตทั้งโดยไอซีดี และดีเอสเอ็ม เป็น Competence ของนักวิชาการ หรือผู้เชี่ยวชาญโดยมุ่งหวังจะให้เป็นเข็มมุ่งในการให้บริการ (บำบัดรักษา ป้องกัน-ส่งเสริม และฟื้นฟู) แก่ผู้มีความแปรปรวนทางจิตใจอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นการแพทย์สมัยใหม่หรือการแพทย์แผนไทยก็ตาม
ส่วนการวินิจฉัยตีตราและจำแนกความแปรปรวน โดยวิธีของราษฎรทั่วไป น่าจะมีข้อจำกัดในเชิงของการให้บริการ แต่อาจเป็นผลดีในส่วนบุคคลที่จะรู้ว่าเพื่อนบ้านและชุมชนได้สะท้อนการกระทำของตน ให้ได้รู้ว่าพฤติกรรมหรือการกระทำนั้นแตกต่างออกไปจากคนอื่น จะได้ปรับปรุงให้สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนต่อไป
- โรคจิตสมัยกรีก-โรมัน (ตอน 1) ยุคเชื่อว่า “เป็นบ้า” เพราะวิญญาณร้าย จนถูกไล่ผีด้วยวิธีโหด
- ต้นกำเนิดโรงพยาบาลโรคจิตแห่งแรกในไทย บันทึกฝรั่งชี้ สภาพน่าอับอายหลังเปิดมานาน
หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความ “”บ้าก็บ้าวะ” ตำนานการตีตราทางสังคมหรือวินิจฉัยโรคจิตโรคประสาท” เขียนโดย กิติกร มีทรัพย์ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤศจิกายน 2542
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2565