โรคจิตสมัยกรีก-โรมัน (ตอน 1) ยุคเชื่อว่า “เป็นบ้า” เพราะวิญญาณร้าย จนถูกไล่ผีด้วยวิธีโหด

ภาพประกอบเนื้อหา - ภาพถ่าย รูปปั้น Greco-Roman จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ Cyrene Museum ในลิเบีย ถ่ายเมื่อ 10 มีนาคม 2021 ภาพจาก ABDULLAH DOMA / AFP

คนเป็นบ้าสมัยโบราณ ยุคก่อนคริสตกาลสมัยกรีก-โรมันนั้น เชื่อว่ามีที่มาและสาเหตุ 2 อย่าง ทำนองนี้ครับ

เชื่อว่าเป็นบ้าเพราะถูกกระทำจากวิญญาณชั่วร้าย 2 ตัวด้วยกัน คือ มาเนีย (Mania) และลิซซ่า (Lyssa) มาเนียทำให้เกิดอาการวุ่นวาย เอะอะ คึกคะนอง ทะลึ่งตึงตังสุดขีด

ส่วนลิซซ่านั้น ทำให้เกิดอารมณ์ตรอมตรม เศร้าโศกสาหัส ความเชื่อเช่นนี้มีอยู่ในสังคมมนุษย์มาช้านาน แม้ในปัจจุบัน คล้าย ๆ กับความเชื่อเรื่องเป็นบ้าในบาน เราที่เชื่อกันว่าบ้า เพราะผีทำ และเรียกกันว่าโรคผีบ้า ดังในภาคอีสานเป็นต้น

ความเชื่อเรื่องเป็นบ้าเช่นนี้ไม่ดีเลย เพราะผู้ที่เป็นบ้าหรือผู้ป่วยจะถูกตั้งข้อรังเกียจ ถูกทุบถองตบตีให้ทุกข์ทรมานด้วยประการต่าง ๆ โดยอ้างว่าเพื่อขับไล่ผีออกไป พวกฝรั่งจะมีวิธีการขับไล่ผีหรือวิญญาณร้าย ด้วยวิธีการขับไล่ผีหรือวิญญาณร้าย ด้วยวิธีการอันโหดเหี้ยมน่ากลัว เช่น กักขัง ล่ามโซ่ ให้อดอาหาร กดให้จมน้ำ เจาะกะโหลก (เพื่อให้ผีร้ายออกไป) กับจับให้เข้ากองไฟจนผู้ป่วยถูกเผาใหม้ถึงตายซึ่งร้ายกว่าแบบไทยๆ มาก ของเราก็แค่ชกต่อย ตบตีและเฆี่ยนแรงๆ ถึงหลั่งเลือดเท่านั้น

ส่วนความเชื่ออย่างที่ 2 คือ เชื่อว่าเป็นบ้า เพราะฟ้าบันดาล หรือเทพทำ ลงโทษให้เป็นไป เมื่อเชื่อเช่นนี้คนบ้ามักจะถูกละเลย ทิ้งขว้างเพราะเชื่อว่าเมื่อเทพทำหรือพระเจ้าทำให้เป็นบ้า ก็เป็นภารกิจของท่านลงมาทำให้หายเอง ช้าหรือเร็วก็แล้วแต่ท่านเหล่านั้น เพียงแต่รอให้ถึงเวลาเท่านั้น ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อผู้ป่วยหรือผู้เป็นบ้าเช่นกัน

ถึงแม้ว่าผู้ป่วยจะไม่ถูกทุบถองเฆี่ยนตี แต่ก็มักถูกล้อเลียน เยาะเย้ย ถากถางให้เป็นตัวตลกต่างๆ กรณีอาการบ้าไม่มากนัก หากมีอาการบ้ามากถึงขั้นก้าวร้าวเป็นอันตราย ผู้คนก็จะหวาดกลัวหลบหนี ไม่พูดสนทนาด้วย ผู้ป่วยก็จะถูกโดดเดี่ยวมากขึ้น เจ็บปวดทางใจมากขึ้น แม้ไม่ถูกทำร้ายร่างกาย แต่ก็ถูกทำอันตรายทางใจซึ่งเจ็บปวดมากกว่า

ต่อมาความเชื่อเรื่องผีทำหรือเทพทำ ก็คลี่คลายลงไปบ้างเมื่อนักปราชญ์ชื่อ ฮิปโปเครติส (Hippocratis 450-350 ก่อนคริสตกาล) ผู้ได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่งการแพทย์คนแรกประกาศว่า “สมอง เป็นที่ตั้งของจิต” คือความเป็นบ้า หรือวิกลจริตนั้น สัมพันธ์เชื่อมโยงกับร่างกาย คือสมอง อย่างไม่ต้องสงสัย ซึ่งไม่ใช่เรื่องผีหรือเทพทำแต่อย่างใดเลย

ฮิปโปเครติส แบ่งความเป็นบ้าออกเป็น 3 อย่าง คือ มาเนีย (Mania) เมอแลงโคเลีย Melancholia และพรีนิติส (Phrenitis) ฮิปโปเครติสยังเชื่อว่า ความเป็นบ้าเกิดจากความผิดปกติของของเหลวอย่างหนึ่งในร่างกายเรียกว่าฮิวเมอร์ (humour) มี 4 อย่าง ได้แก่ เลือดน้ำดีดำ น้ำดีเหลือง และเสมหะ สิ่งเหล่านี้ผิดปกติไปเพราะความร้อน ความเย็น ความชื้น และความแห้งจากสภาพแวดล้อม ทำให้เสียสมดุลในร่างกายและเกิดพฤติกรรมแปรปรวนหรือเป็นโรคจิตขึ้น

การบำบัดรักษาก็เน้นไปที่สมุนไพรต่างๆ เพื่อให้เกิดการระบายถ่ายเทออกไป และก็ให้อาหารดีๆ ให้ได้อยู่สบายๆ ได้อบไอน้ำ ชำระล้างความสกปรกต่างๆ เสร็จแล้วจึงบำบัดใจให้เข้มแข็งโดยไปสวดมนต์ที่โบสถ์เอสเคลปิออส (Asklepios) เพื่อขอพร

เอสเคลปิออสเป็นชื่อของแพทย์ผู้หนึ่งที่มีความสามารถมากในด้านการบำบัดโรคต่างๆ ทั้งโรคทางกายและทางจิต มีความสามารถสูงสุดคือสามารถชุบชีวิตคนที่ตายแล้วให้กลับฟื้นคืนดีเป็นปกติได้ ความสามารถเช่นนี้ ย่อมเหนือกว่าเทพทั้งหลายซึ่งเทพเหล่านั้นยอมไม่ได้ เอสเคลปิออสจึงถึงตายด้วยสายฟ้าของมหาเทพในที่สุด

พลาโต (Plato 420-๓340 ก่อนคริสตกาล) เป็นนักปรัชญา ผู้มีความคิดว่าคนเรามีจิตวิญญาณหรือไซคี (Psyche) ซึ่งมีความหมายว่าลมหายใจ (breath) อันเป็นลมหายใจของชีวิต หากไม่มีลมหายใจก็ย่อมจะถึงตายแน่นอน พลาโตเชื่อว่าเสียงดนตรีอันไพเราะอ่อนหวานเพลงกล่อมเด็กที่นุ่มนวลชวนฟัง และพิธีกรรมต่างๆ สามารถช่วยบำบัดจิตได้อย่างดี ทำให้ใจสงบได้พักผ่อนหย่อนคลาย กับได้ความรู้สึกดื่มด่ำดุจได้ยากล่อมประสาท

อริสโตเติล (Aristotle 380-320 ก่อนคริสตกาล) เป็นนักปราชญ์อีกผู้หนึ่งที่เชื่อว่าวิญญาณเป็นศูนย์กลางของชีวิต นัยหนึ่งก็คือจิตที่มีฐานอยู่ที่หัวใจ ก็ด้วยเหตุผลนี้แหละสัญลักษณ์ของจิตจึงมีรูปเป็นหัวใจ คือคล้ายใบโพธิ์และมีสีแดง หัวใจจะได้รับพลังความร้อนจากธรรมชาติ และพร้อมจะแปรเปลี่ยนไปตามอุณหภูมิ อารมณ์และน้ำดีดำในร่างกาย

น้ำดีดำเย็น ทำให้ชา กลัว ท้อแท้ และหดหู่ น้ำดีดำร้อน ทำให้ร่าเริง คึกคัก สนุกสนาน ครื้นเครง

ความเป็นบ้าทั้งหลายนั้น เชื่อว่าเกิดจากการสะวิงกลับไปกลับมาของน้ำดีร้อนและเย็น แบบเกินพอดีหรือต่ำกว่าพอดีนั่นเอง (ปัจจุบันอธิบายคล้ายๆ กัน เช่นนั้นว่าเป็นเรื่องของสารชีวเคมีในร่างกายเปลี่ยนแปลง)

อริสโตเติลผู้นี้นี่แหละ อธิบาย “อารมณ์มนุษย์แบบต่างๆ” ซึ่งไม่เคยมีใครทำมาก่อน เขาอธิบายอารมณ์เหล่านั้นในมิติความต้องการ (desire) ความกลัว (fear) ความกล้า (courage) ความเกลียด (hatred) ความสงสาร (pity) และความอิจฉา (envy) อันเป็นส่วนหนึ่งในคำอธิบายของวิชาจิตวิทยามนุษย์ในปัจจุบัน

สรุปว่าการบำบัดรักษาผู้ป่วยโรคจิตหรือโรคบ้า ตามแนวของอริสโตเติลนั้น เน้นให้ผู้ป่วยนอนหลับพักผ่อน สวดมนต์ อธิษฐานอ้อนวอน ใช้ดนตรีบำบัด ขับกล่อมเพื่อผ่อนคลายความรู้สึกที่เก็บกดไว้ออกไป อันเป็นต้นตอของการบำบัดจิตในเวลาต่อมาที่เรียกว่า คาธาร์ซิส (catharsis) 

คลิกอ่านเพิ่มเติม : แนวการรักษาโรคจิตสมัยกรีก-โรมัน (ตอน 2)


หมายเหตุ : บทความนี้เขียนโดย ส.สีมา เผยแพร่ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2554

เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 สิงหาคม พ.ศ.2561 จัดย่อหน้าใหม่และเน้นคำใหม่โดยกองบรรณาธิการ