ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม มีนาคม 2554 |
---|---|
ผู้เขียน | ส.สีมา |
เผยแพร่ |
คราวที่แล้วได้พูดถึงการบำบัดจิตแบบอริสโตเติล (คลิกอ่านเพิ่มเติม: โรคจิตสมัยกรีก-โรมัน (ตอน 1)) ที่เน้นการระบายความอัดอั้นตันใจออกไปที่เรียกว่าคาธาร์สิส (catharsis) ซึ่งสืบต่อมาเป็นแบบการเยียวยาทางจิตในศตวรรษที่ 20 ให้แก่ โจเซฟ บรูเออร์ (Joseph Bruer) จิตแพทย์ชาวเวียนนา ได้ใช้บำบัดจิตผู้ป่วยที่มีปัญหาทางจิต โดยเฉพาะผู้ป่วยสาวสวยคนหนึ่งชื่อ แอนนา โอ. (Anna O.) อันเป็นที่ร่ำลือกันมาก
ต่อมา ซิกมันด์ ฟรอยด์ ได้พัฒนามาเป็นการบำบัดจิตแบบเชื่อมโยงโดยอิสระ-ฟรี แอสโซซิเอชั่น (Free association) คือให้ผู้ป่วยรู้สึกสบายๆ ครึ่งนั่งครึ่งนอนบนอาร์มแชร์ โดยผู้รักษานั่งฟังอยู่ด้านหลัง ให้ผู้ป่วยพูดหรือเล่าเรื่องอะไรก็ได้ที่แวบผ่านเข้ามาในจิตใจและเล่าไปเรื่อยๆ ตามสบาย การเล่าในบางตอนอาจติดขัด ตะกุกตะกัก และบางตอนอาจเล่าได้ราบรื่นดี และบางทีก็ถึงขั้นเล่าได้น้ำไหลไฟดับ
ผู้บำบัดจิตหรือจิตแพทย์จะคอยสังเกตกิริยาท่าทางต่างๆ ของผู้ป่วย ประกอบกับเรื่องที่เล่าโดยอิสระนั้นตลอดเวลา อันทำให้เห็น “ปมใจ” ของผู้ป่วย และบอกให้ผู้ป่วยได้รับรู้รายละเอียดในปมใจนั้นซึ่งผู้ป่วยไม่เคยรู้มาก่อน ก็จะเกิดอาการเห็นแจ้ง (insight) หรือซาโตริ และทำความเข้าใจแก้ไข ความไม่สบายใจก็จะคลี่คลายได้ในที่สุด การรักษาจิตแบบนี้ เป็นรากฐานของการรักษาจิตในปัจจุบันด้วยเช่นกัน แท้จริงแล้วการบำบัดจิตดังกล่าวนี้มีรายละเอียดปลีกย่อยอีกเยอะ เพราะจิตมนุษย์นี้ไซร้ ยากแท้หยั่งถึงไงเล่าครับ
การรักษาจิตของกรีกชนิดต้นแบบอีกอย่างหนึ่งเรียกว่า อินคิวเบชั่น (incubation) หมายถึงการหลับในห้องอันศักดิ์สิทธิ์ คือเชื่อว่าเทพองค์ใด ทำให้เขาหรือเธอเป็นบ้าไป เทพองค์นั้นก็จะคืนมารักษาเขาหรือเธอให้กลับเป็นปกติ เชื่อกันว่าเทพองค์นั้นคือ เอสเคลปิออส (Asklepios) นั่นเอง เทพองค์นี้ เดิมเป็นแพทย์ที่เก่งมาก หลังจากถูกสายฟ้าฟาดจนถึงสิ้นชีวิตแล้ว ได้รับการสถาปนาให้เป็นเทพองค์หนึ่ง คือเทพแห่งการบำบัดเยียวยา (เทพองค์นี้ในตำนาน เป็นบุตรของเทพอพอลโล ซึ่งเกิดกับหญิงสามัญผู้หนึ่ง และเธอหาชีวิตไม่แล้ว)
วิธีรักษาตามแบบของเทพเอสเคลปิออสมี 4 ขั้นตอน โดยลำดับ ขั้นตอนที่ 1 ผู้ป่วยจะต้องเข้าพิธีชำระล้างบาปเสียก่อนจะเข้าไปนอนในใต้ถุนพระวิหาร โดยไต่บันไดเวียนลงไปอันเป็นขั้นตอนที่ 2 ส่วนขั้นตอนที่ 3 ผู้ป่วยจะหลับอยู่ใต้วิหารนั้นและจะฝันเห็นผู้ชาย หรือเด็ก งู หรือสุนัขมาสัมผัสผู้ป่วยแล้วก็หายไป ขั้นตอนที่ 4 ผู้ป่วยจะตื่นขึ้นและจะรู้สึกว่าตนเป็นปกติแล้ว เมื่อกลับไปบ้านก็ไม่ลืมที่จะกลับมาพร้อมเครื่องถวาย เพื่อเป็นการตอบแทนเทพเจ้า
ส่วนการบำบัดแบบโรมัน โดยทั่วไปก็มักจะเหมือนกับแบบกรีกนั่นเอง คือเชื่อว่าการเจ็บป่วยทางจิตเนื่องมาจากอำนาจเหนือธรรมชาติ ซึ่งก็คือป่วยเพราะเทพทำ หรือผีทำ
ซีเซอโร (Cecero 106-43 ก่อนคริสตกาล) นักปรัชญาชาวโรมัน เป็นผู้ใช้คำว่า ลิบิโด (Libido) ก่อนใคร ซึ่งนักจิตวิทยากลุ่มจิตวิเคราะห์ นำมาใช้ต่อ อันหมายถึงกามตัณหา หรือพลังสัญชาตญาณมืด ซึ่งเป็นคำที่นิยมใช้อยู่ในปัจจุบัน
ส่วนเซลซุส (Celsus) ผู้เป็นนักปราชญ์โรมันอีกผู้หนึ่ง ได้เขียนตำราโรคจิตชื่อ De re Mediga ไว้หลายเล่ม ในเล่มหนึ่งนั้นเขากล่าวถึงการสนทนาระหว่างผู้บำบัดกับผู้ป่วยไว้ชัดเจน อันบ่งชี้ไปยังการบำบัดแบบบุคคล (individual psychotherapy) ซึ่งใกล้เคียงกับวิธีบำบัดจิตในปัจจุบันมาก
กาเลน (Galen 200-130 ก่อนคริสตกาล) เป็นนักปราชญ์อีกผู้หนึ่งของโรมัน เขาเชื่อว่าคนเรามีสุขภาพวิญญาน (health of the soul) อันขึ้นอยู่กับการทำงานผสมผสานอย่างลงตัวของการมีเหตุผล (สมอง) ความหิว ความอยาก (ตับ) กับความกล้า-ความโกรธ (หัวใจ)
แพทย์และนักปรัชญาโรมันอีกท่านหนึ่งที่สมควรกล่าวถึงก็คือ อารเตอุส (Areteus) เป็นผู้อธิบายว่า ผู้มีอารมณ์ผันแปรนั้น จะเริ่มจากอารมณ์ครึกครื้นก่อน (manic) แล้วคืนกลับไปสู่อารมณ์เศร้า (melancholy) สลับกันไปมา นั่นคืออาการของผู้ป่วยโรคจิตทางอารมณ์ (Affective Psychosis) หรือ แมนิค ดีเพรสซิฟ ดิสออร์เดอร์ (Manic Depressive Disorder) หรือ ไบโพลาร์ส ดิสออร์เดอร์ (Bipolars Disorder) และเขาเป็นผู้เรียกโรคประสาทชนิดหนึ่งอันมีความวิตก กังวลจัด และขาดความรัก ว่า ฮิสทีเรีย (Hysteria) อันหมายถึง มดลูก (Hysteros) เคลื่อนไปที่นั่นที่นี่จนทั่วร่างกาย
ส่วนโซรานัส (Soranus) ได้ชื่อว่าเป็นแพทย์ผู้ดูแลผู้ป่วย ด้วยความเมตตาเป็นคนแรก ห้องพักหรือหอพักผู้ป่วยจะต้องดี สะอาดสะอ้านและน่าอยู่และโซรานัสผู้นี้ เป็นผู้เน้นการรักษาแบบไซโคดรามา (Psychodrama) หรือละครจิตด้วย
สำหรับ เซ็นต์ ออกัสติน (Saint Augastin) นั้น เป็นคนแรกที่ริเริ่มการวิเคราะห์ความจำ และจิตไร้สำนึกของผู้ป่วย ได้รับการยกย่องว่าเป็นนักวิเคราะห์จิตคนแรก ก่อนพวกจิตวิเคราะห์เสียอีก
หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “โรคจิตสมัยกรีก-โรมัน (๒)” เขียนโดย ส.สีมา เผยแพร่ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม มีนาคม 2554
เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 8 สิงหาคม พ.ศ.2561