ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 32, ฉบับที่ 2 (ธ.ค. 2554) |
---|---|
ผู้เขียน | ส.สีมา |
เผยแพร่ |
ความยุ่งยากในการบำบัดเยียวยาพฤติกรรมอปกติหรืออาการทางจิตของผู้ป่วยโรคจิตประการหนึ่งก็คือไม่ทราบชัดว่าพฤติกรรมหรืออาการนั้นๆ มีสาเหตุมาจากอะไรแน่ อาจเพราะพยาธิสภาพทางกาย เช่น ความบกพร่องทางสมอง การสืบต่อทางกรรมพันธุ์หรือความบกพร่องในยีน (ยีนลิขิต) ทำให้พฤติกรรมอปกติไป หรือเพราะพยาธิสภาพทางจิต เช่น การเลี้ยงดูที่บกพร่อง ก็อาจนำไปสู่พฤติกรรมอปกติหรือมีอาการทางจิตได้เหมือนกัน
ในที่นี้จะพูดถึงที่มาและเหตุของพฤติกรรมหรืออาการที่น่าจะมาจากหรือมีความเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม เรียกกันว่า กลุ่มอาการเชิงวัฒนธรรม หรือ คัลเจอร์ เบาน์ด ซินโดรม (Culture-Bound Syndrome) ซึ่งมีหลายชนิด จะพูดถึงที่ปรากฏชุกชุม 2 ชนิด ชนิดหนึ่งอยู่ประเทศตะวันตกโดยเฉพาะอเมริกา เรียกว่า อะนอเร็กเซีย เนอร์โวซา (Anorexia Nervosa) กับอีกชนิดหนึ่งอยู่ในเอเซียย่านอุษาอาคเณย์ ได้แก่มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ รวมทั้งไทย (โดยเฉพาะภาคใต้) ด้วย เรียกว่า อะม้อก หรือ รันนิ่ง อะม้อก (Running Amok) ไทยทางใต้เรียกว่า แล่นทุ่ง
อะนอเร็กเซีย มาจากภาษากรีก อะนา (An) มีความหมายว่า หมดหรือไม่มี กับคำว่า ออเรซิส (Orasis) มีความหมายว่าต้องการ อยากได้ จึงอะนอเร็กเซีย (Anorexia) คือ ไม่ต้องการหรือหมดความอยากได้ (อาหาร) ผู้ป่วยจะผอมลงเรื่อยๆ (แต่เจ้าตัวก็ยังเห็นว่าสวยอยู่นั่นเอง) และถึงตายในที่สุด
มักเกิดกับหญิงสาววัยรุ่นตอนปลาย หรือสาววัยต้นๆ โดยประมาณร้อยละ 2 (วัยรุ่นชายก็มีเหมือนกันแต่น้อยมาก) ผู้ป่วยจะหมกมุ่นอยู่กับความคิด “ผอมแล้วสวย” หรือ “อ้วนแล้วน่าอาย” จึงปฏิเสธการกิน โดยกินน้อยและน้อยเกินไป จนขาดสารอาหารจำเป็นและขาดเนื้อเยื่อไขมัน ทรวงอกแบนและสะโพกแฟบ
นี่เป็นตัวอย่างของผู้ป่วยรายหนึ่ง
เธอชื่อคาเรน (เป็นชื่อสมมุติ เผอิญไปพ้องกับคาเร็น คาร์เพ็นเตอร์ นักร้องสาวเสียงดี เธอถึงแก่ความตายด้วยโรคนี้เมื่ออายุ 36ปี) บุตรสาวของท่านศาสตราจารย์ทางภาษาผู้มีชื่อเสียง เมื่ออายุ 17 เธอเข้าเรียนในวิทยาลัยแต่เกิดปัญหาเล็กน้อยต้องย้ายไปวิทยาลัยใกล้บ้าน เธอไม่เคยมีน้ำหนักเกินและเพียงปีเศษๆ ผ่านไป มารดาสังเกตว่าเธอผอมลงมาก จึงเข้าช่วยจัดการเกี่ยวกับการกินของเธอ แต่ก็ไม่ดีขึ้น จึงจำให้เป็นคนไข้นอก ณ โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง
รูปทรงสาวรุ่นของเธอเปลี่ยนไป กลายเป็นเด็กหญิง 11 ขวบไปอย่างไม่น่าเชื่อ แต่นั่นแหละรสนิยมการสวมใส่เสื้อผ้าที่ออกไปทางสีอ่อนและตัดเย็บดีทำให้เธอซ่อนร่างผอมบางไว้พ้นสายตาใครๆได้สนิท และคาเรนก็บอกกับใครๆ ว่าเธอมิได้มีปัญหาอะไร เธอเฝ้าบอกใครๆ ว่า “ฉันก็มีรูปทรงประมาณนี้แหละ” แถมเธอลงทะเบียนไปแอโรบิกออกกำลังกายทุกๆวัน
ในฐานะคนไข้นอกของโรงพยาบาลทำให้เธอทำน้ำหนักที่ตกลงไปเหลือ 78 ปอนด์ ขึ้นมาเป็น 90 ปอนด์ เธอต้องเข้ากลุ่มจิตบำบัดรับประทานอาหารวันละ 2 มื้อ แต่จะเล่นกับอาหารเสียมากกว่ากินอาหาร ตัดมันเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ตักขึ้นมาเลียแทนที่จะกิน ในเวลา 3 สัปดาห์ต่อมาน้ำหนักก็ลดลงไปอีก นี่เป็นเหตุให้ทั้งพ่อและแม่ต้องบังคับให้เข้ารับการบำบัดรักษาดูแลอย่างเต็มๆ
นักวิจัยตั้งข้อสมมุติพฤติกรรมการกินน้อย(ประดุจนก)ของผู้ป่วยไปต่างๆ เช่น
- อยากคืนกลับไปสู่ระยะแรกรุ่น (puberty) อีก เพราะไม่อยากให้ครอบครัวเข้ามายุ่งกับชีวิตของตน (เช่น มารดาจะเฝ้าวุ่นวายเรื่องการแต่งตัว การวางตัว อาหารสุขภาพและการออกเดท)
- ไม่อยากแบกรับผิดชอบแบบผู้ใหญ่ พอใจจะเป็นเด็ก
- มีเซ็กซ์เฟียร์ (sex fear) มากเกินไป(กลัวตั้งครรภ์)
- ใช้การอดอาหารเป็นอาวุธต่อต้านกฏของบ้านที่เคร่งครัด
- สอดรับกับความนิยม “ผอมสวยน่าชม อ้วนกลมน่าเกลียด”
มีพฤติกรรมอปกติคล้ายกับอะนอเร็กเซีย แบบหนึ่งชื่อ บูลิเมีย (Bulimia) แต่ต่างกันตรงบูลิเมีย กินแล้วอ้วกออก ส่วนอะนอเร็กเซียกินน้อยมาก ซึ่งทั้งคู่ต่างผอมและขาดสารอาหารเหมือนกัน
คาเร็น คาร์เพนเตอร์ นักร้องสาวชาวอเมริกันเชื้อสายสวีดิช เจ้าของเพลงป๊อบยอดนิยม ตายด้วยอะนอเร็กเซีย เนอร์โวซ่า เมื่อปี 1983 อายุได้ 36 ปี หลังจากต่อสู้โรคนี้มานาน
คริสตี้ ไฮน์ริช แชมป์ยิมนาสติก ชาวเยอรมัน ตายด้วยอะนอเร็กเซีย เนอร์โวซาเหมือนกันเมื่อปี 1994 อายุได้ 23 ปี
เล่ากันว่าเจ้าหญิงไดอาน่า ปรินเซส ออฟ เวลส์ เคยประชวรด้วย บูลิเมีย เนอร์โวซา อยู่ครั้งหนึ่ง !?
สำหรับคัลเจอร์ เบานด์ ซินโดรม ที่เรียกว่า อะม้อก หรือรันนิ่ง อะม้อก นั้นมีพฤติกรรมหรืออาการที่แตกต่างโดยสิ้นเชิงกับสองกลุ่มอาการแรกที่กล่าวมาแล้ว
อะม้อก จะปรากฏในอุษอาคเนย์หรือเอเซียตะวันออกเฉียงใต้(อินโดนิเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และไทย-ภาคใต้) เกิดในกลุ่มผู้ชายวัยหนุ่มผู้เงียบขรึม เก็บตัวและสงบเสงี่ยมเรียบร้อย
ลักษณะอาการจะเกิดขึ้นโดยทันที ดุร้าย ก้าวร้าว ทำอันตรายผู้อื่นที่อยู่ใกล้ๆหรือขวางหน้า
สาเหตุมักสืบเนื่องมาจากอารมณ์เครียดจัด นอนไม่หลับ หรืออดนอนมานาน มีไข้สูง และดื่มสุรา โดยจะมีลำดับของพฤติกรรมหรืออาการเป็นระยะๆ คือ ระยะแรก ผู้ป่วยจะถอยหนีจากใครๆ และสังคม ระยะถัดมา จะซึมจัด อารมณ์หงุดหงิด รำพึงรำพันถึงอะไรที่ไม่อยู่ในโลกของความจริงชัดแจ้งก่อนจะออกอาการมุ่งร้ายทำลายคนอื่น ส่วนระยะสุดท้ายก็จะเกิดอาการพลุ่งพล่านเข้าครอบงำ (อะม้อก) ผู้ป่วยจะกระโดดโลดเต้นกับร้องคำรามสุดเสียง คว้ามีดใกล้มือฟันแทงใครๆ ที่ขวางหน้าแล้ววิ่งออกท้องทุ่งอย่างเต็มกำลัง ลงท้ายด้วยอาการเหน็ดเหนื่อยหมดแรงอย่างที่สุด กับมีอารมณ์เศร้าตามมาโดยจดจำพฤติกรรมร้ายๆที่ผ่านมาไม่ได้เลย
หลายปีก่อนมีภาพยนตร์ตะวันตกที่น่าสนใจเรื่องหนึ่งชื่อ ฟอเรสท์ กัมพ์ (หรืออะไรคล้ายอย่างนี้) ตัวเอกของเรื่อง โดยดารา ทอม แฮงค์ มีพฤติกรรมหรืออาการใกล้เคียงอะม้อก เพียงแต่ผู้กำกับการแสดงเจือจางพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงลงจนเกือบกลายเป็นบวก!
คลิกอ่านเพิ่มเติม : กลุ่มอาการโรคจิตเชิงวัฒนธรรม (อีกครั้ง) ว่าด้วยพฤติกรรม “แล่นทุ่ง” ถึง “โรคหำหด”
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก 18 พฤษภาคม 2565