กลุ่มอาการโรคจิตเชิงวัฒนธรรม (อีกครั้ง) ว่าด้วยพฤติกรรม “แล่นทุ่ง” ถึง “โรคหำหด”

(ภาพแทนกลุ่มวัฒนธรรมวูดู) ชาวเฮติร้อง-เต้นฉลองเทศกาลอีสเตอร์ด้วยบรรยากาศที่มีกลิ่นอายของวูดูผสมผสาน (AFP PHOTO / THONY BELIZAIRE)

เคยเล่าเรื่องนี้ไปครั้งหนึ่งแล้วโดยใช้ชื่อวา พฤติกรรมอปกติหรือกลุ่มอาการโรคจิตเชิงวัฒนธรรม-คัลเจอร์เบาน์ด ซินโดรม (Culture-Bound Syndrome) ว่ามีหลายประเภท ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมของชาตินั้นๆ คราวที่แล้วพูดถึง อะนอเร็กเซีย เนอร์โวซา (Anorexia Nervosa) หรือเรียกกันเล่นๆ ว่า โรคนางงาม ซึ่งเกิดกับนักร้องเพลงป๊อปยอดนิยม คาเร็น คาร์เพ็นเตอร์ และ ไดอาน่า ปรินเซส ออฟเวลส์ ได้อย่างไม่น่าเชื่อ!

ส่วนกลุ่มอาการฯ อีกประเภทหนึ่ง เรียกแบบพื้นบ้านไทยว่า แล่นทุ่ง สากลเรียก รันนิ่ง อะม้อก (Running Amok) เป็นการวิ่งแบบตื่นตระหนกอาจเป็นภัยกับใครๆ ที่ขวางทางวิ่ง

วันนี้จะพูดถึงอีก 5 ประเภทเกิดในเอเชีย 3 ประเภท และในแอฟริกาอีก 2 ประเภท เรียนไว้เป็นเบื้องต้นว่ากลุ่มอาการหรือพฤติกรรมอปกติเหล่านี้ชุมชนหรือท้องถิ่นเหล่านั้นไม่ถือว่า เป็นโรค หรือเป็นบ้า แต่อย่างใด คล้ายๆ เห็นว่าผิดธรรมดาไปหน่อยเท่านั้นเอง

อย่างแรกคือ ลาตาห์ (Latah) เรียกเป็นภาษามาเลย์ บ้านเราเรียกบ้าจี้ (แม้จะมีคำว่าบ้า ก็มิได้ส่อว่าเป็นบ้า หรือวิกลจริต) เกิดชุมชุนในมาเลเซียเฉพาะกับสตรีและมักเป็นสตรีในชนบท โดยประมาณวัยกลางคน ค่อนข้างจะไม่สู้ฉลาดเฉลียว มีอารมณ์กลัวและทำตามสั่งจากใครที่บอกให้ทำอย่างว่าง่ายและหยุดไม่ได้ เช่น เมื่อใครจี้และพูดว่า “งู” ก็จะพูดว่า “งู” ใครจี้และพูดว่า “นก” ก็จะพูดว่า “นก” ตาม

เป็นลักษณะล้อตาม (echolalia) ทั้งที่เป็นคำเดี่ยวๆ หรือเป็นประโยค สุดแต่จะถูกพูดนำและจี้ให้พูดตามว่าอย่างไร ทั้งนี้อาจนำแล้วจี้ให้ทำตามได้ด้วย (echopraxia)ประดาคนบ้าจี้เหล่านี้ จะถูกจี้ให้พูดหรือทำ แสดงท่าทาง ไปในทางตลกขบขันต่างๆ โดยเฉพาะคำหยาบที่โน้มเอียงไปทางเพศเสมอ

อย่างที่ 2 คือ โคโร (Koro) ปรากฏชุกชุมในอุษาคเนย์ หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งบ้านเราด้วยแต่มักชุกชุมในมาเลเซียและชาวเกาะใกล้เคียง

โคโร เคยปรากฏในบ้านเราโดยประมาณปี 2520-21 ในจังหวัดภาคอีสาน ซึ่งเรียกกันว่าโรคหำหด กล่าวคือคนโคโรผู้เป็นเพศชาย จะมีความหวาดกลัวรุนแรง หรือวิตกกังวลสุดๆ ว่าอวัยวะเพศของตนจะหดหายเข้าไปในท้องและทำให้ตนถึงแก่ความตาย ความหวาดกลัวเช่นนี้จะเกิดขึ้นหลังจากร่วมเพศหรือสำเร็จความใคร่ด้วยตนเองมากเกินไป เป็นความกลัวชนิดลนลาน เกิดขึ้นโดยพลันจนต้องคอยจับอวัยวะเพศไว้ตลอดเวลาด้วยตัวเขาเอง หรือต้องขอแรงเพื่อนฝูงช่วยจับ หรือหนีบไว้ด้วยไม้หนีบด้วย เชื่อแน่ๆ ว่าถ้าไม่หนีบหรือจับไว้มันจะหลุดเข้าท้องและตนถึงตายในทันที!

อย่างที่ 3 คือ กิสุเนสุกิ (Kitsunetsuki) ผู้มีกลุ่มอาการนี้มีความเชื่ออย่างมั่นคงว่าตนถูกวิญญาณสุนัขป่าเข้าสิง และทำให้ใบหน้าของเขาเปลี่ยนแปลงไปเป็นแบบสุนัขป่าทันที แล้วผู้คนในชุมชนจะตั้งข้อรังเกียจและขับไล่ออกไปจากหมู่บ้าน กลุ่มอาการนี้มักเกิดในชนบทที่ชาวบ้านยังเชื่อเรื่องราวเหนือธรรมชาติ และมักเกิดกับกลุ่มที่ไม่มีการศึกษา

อย่างที่ 4 คือ วินดิโก (Windigo) เกิดชุกชุมในหมู่ชาวอินเดียนแดงบางเผ่าผู้เป็นนักล่าสัตว์ พวกเขามีความกลัวอย่างรุนแรงว่าจะถูกสาปด้วยพลังของภูตผีปีศาจ ทำให้กลายเป็นพวกกินเนื้อมนุษย์ด้วยกันเองหรือตนเองกลายเป็นสัตว์ที่กินเนื้อมนุษย์ไปได้

อย่างสุดท้าย คือ วูดู (Voodo) รู้จักกันทั่วไปว่า วูดู เดธ (Voodo death) ที่นักสร้างภาพยนตร์แถบตะวันตกนิยม อันทำให้เกิดอาการสยองขวัญเสมอ คือว่าผู้มีกลุ่มอาการวูดู จะมีพฤติกรรมผีเข้าโดยพรํ่าบ่นว่าตนโชคร้ายถูกคำสาปให้ต้องถึงตาย ซึ่งยังไม่ชัดเจนว่าคำสาปนั้นมาจากไหนและมาได้อย่างไร

นักวิจัยเชื่อว่ามาจากใจของชาววูดูเอง เช่น เพราะมีความรู้สึกสิ้นหวังท่วมท้น มีความกลัว และรู้สึกว่าถูกทอดทิ้งเดียวดายไร้ค่า มีอารมณ์เศร้าโศกลึกซึ้งเรื้อรัง เหล่านี้น่าจะเป็นมูลเหตุผูกโยงกับความโชคร้ายความตายของเขาได้ นักวิจัยยังเพิ่มเติมด้วยว่ามีการตายบางอย่างที่อธิบายสืบหาที่มาและสาเหตุได้ยากเป็น apathy death – คือเฉาตาย หรือตายไปด้วยความรู้สึกเบื่อหน่ายสุดขีด มีการตายบางอย่างเกิดขึ้นอย่างลึกลับไร้ร่องรอยที่เรียกว่า “ไหลตาย” อาจเข้าข่าย วูดูเดธ ก็ได้

ใช่ครับ พฤติกรรมอปกติ หรือการเจ็บป่วยทางจิตบางอย่างไม่เด่นชัดว่ามีที่มาทางชีวภาพหรือทางจิตภาพอย่างชัดเจน มักถูกตั้งข้อสงสัยว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับที่มาทางวัฒนธรรมได้


เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ 26 ธันวาคม 2559