“คินทาโร” เด็กน้อยจอมพลัง จากตำนานพื้นบ้านสู่ยอดนักรบ

คินทาโร ซากาตะ คินโทกิ
คินทาโรถอนต้นไม้, ผลงานของ Utagawa Kunisada (ภาพจาก Wikimedia Commons)

“คินทาโร” เด็กน้อยจอมพลัง เป็นที่รู้จักมักคุ้นจากภาพการ์ตูนเด็กน้อยใส่ชุดสีแดง มีตัวอักษรสีทองที่เขียนว่า “ทอง” อยู่กลางหน้าอก และถือขวานที่ดูเทอะทะ มีที่มาจากตำนานพื้นบ้านชื่อดังของญี่ปุ่น เรื่องราวของคินทาโรไม่ได้จบลงแค่เป็นหนุ่มน้อยจอมพลังบนภูเขา เพราะเมื่อเติบใหญ่เขาได้กลายเป็นนักรบในตำนาน ใช้ชื่อว่า ซากาตะ คินโทกิ

เรื่องราวของ “คินทาโร”

เรื่องราวของคินทาโรเริ่มจากซามูไรนามว่า ซากาตะ แต่งงานกับหญิงสาวนามว่า ยาเอะกิริ มีบุตรคือ คินทาโร แต่ไม่นานซากาตะก็เสียชีวิตด้วยเหตุจากการเมืองในราชสำนัก ทำให้ยาเอะกิริต้องหอบคินทาโรหนีไปภูเขาอาชิการะ หรืออีกชื่อคือภูเขาคินโทกิ

Advertisement

รายละเอียดตรงนี้ตำนานบางฉบับกล่าวว่านางสิ้นใจตาย แล้วฝากคินทาโรให้แม่มดภูเขาเลี้ยงดู บ้างก็กล่าวว่า ยาเอะกิริเป็นแม่มดภูเขา หรือกลายเป็นแม่มดภูเขาเสียเอง ส่วนบางฉบับก็เล่าว่าชาวบ้านและคนตัดไม้ที่ผ่านไปผ่านมาบนภูเขาเรียกนางว่าแม่หมอแห่งขุนเขา

คำบอกเล่าอีกแบบที่ไม่ค่อยโด่งดังนัก มาจากภาพวาดที่คินทาโรต่อสู้และจับเขาของเทพสายฟ้า “ไรจิน” ว่า คินทาโรเป็นลูกของเทพสายฟ้ากับแม่มดภูเขา เรื่องมีอยู่ว่าคืนหนึ่งแม่มดภูเขาสะดุ้งตื่นจากเสียงสายฟ้าฟาด ขณะกำลังฝันถึงการเสพสังวาสกับเทพมังกรแดง นางจึงตั้งท้องเป็นคินทาโร ซึ่งก็สามารถตีความได้จากภาพวาดที่มักลงสีคินทาโรเป็นตัวสีแดง ซึ่งเป็นสีที่มักใช้เพื่อแสดงถึงเทพสายฟ้าไรจินที่มีผิวสีแดง สื่อถึงการสืบเชื้อสายเทพสายฟ้า และสามารถอธิบายการมีพลังเหนือธรรมชาติได้

คินทาโร มีกำลังวังชามหาศาลตั้งแต่ยังเด็ก สามารถตัดต้นไม้ได้เร็วเท่าๆ กับคนตัดไม้เก่งๆ แม่ของเขาจึงมอบขวานเล่มยักษ์ให้เป็นของขวัญ คินทาโรจึงไปช่วยคนตัดไม้ตัดต้นไม้เสียเลย ส่วนกิจกรรมยามว่างของเจ้าหนูคือการทุบทำลายก้อนหินเล่น แสดงให้เห็นถึงพลังที่เหนือมนุษย์ของเขา

เนื่องจากอยู่ในป่า คินทาโรจึงไม่มีเพื่อนเป็นมนุษย์ แต่เขาก็มีเพื่อนเล่นเป็นหมี กวาง ลิง กระต่าย ฯลฯ บ่อยครั้งก็จะประลองพลังผ่านมวยปล้ำในหมู่เพื่อน ซึ่งคินทาโรก็มักเป็นผู้ชนะเสมอๆ ตำนานบางฉบับจะถ่ายทอดรายละเอียดเล่ห์เหลี่ยมของเพื่อน เช่น ลิง ขณะประลองกับคินทาโร แต่เขาก็ไม่เคยจับสังเกตได้เลย ทำให้บางครั้งตัวละครคินทาโรมักถูกนำเสนอในฐานะเด็กที่ซื่อตรงและจิตใจดี

วันหนึ่งคินทาโรและเหล่าสรรพสัตว์เพื่อนๆ ของเขาเที่ยวเล่นลึกเข้าไปในป่า แต่ไม่สามารถข้ามไปอีกฝั่งของภูเขา เพราะมีแม่น้ำสายใหญ่ขวางกั้นอยู่ ในขณะที่ทุกคน (ตัว) กำลังจะล้มเลิก คินทาโรก็หาต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่งมาวางพาดแม่น้ำให้กลายเป็นสะพานข้ามฝั่ง จุดนี้บางตำนานเล่าว่าครั้งหนึ่งมีแผ่นดินไหวเกิดขึ้น ทำให้สะพานเดิมที่มีอยู่แล้วพังลง สัตว์ป่าไม่สามารถข้ามไปมาหาสู่กันได้ คินทาโรจึงโค่นต้นไม้ยักษ์แล้วไปทำเป็นสะพาน

เหตุการณ์ดังกล่าวมีผู้พบเห็นคือซามูไรผู้หนึ่งที่ปลอมตัวเป็นคนตัดไม้ เขาตกใจกับพละกำลังของเด็กน้อยคนนี้มาก จึงท้าคินทาโรเล่นมวยปล้ำเพื่อประลองพลัง ในขณะที่เรื่องราวบางฉบับบอกว่า เขาตามคินทาโรไปถึงบ้าน แล้วท้าคินทาโรแข่งงัดข้อ

แต่ไม่ว่าจะเวอร์ชันไหน คนตัดไม้ปลอมก็ไม่สามารถชนะคินทาโรได้ แต่คินทาโรก็ไม่สามารถชนะเขาได้เช่นกัน ซามูไรยอมรับความสามารถของคินทาโร และมั่นใจอย่างมากว่าเมื่อเติบใหญ่ขึ้นจะไม่มีผู้ใดในแผ่นดินญี่ปุ่นที่แข็งแกร่งเทียบเทียมคินทาโรได้

ซามูไรเปิดเผยตัวตนต่อคินทาโรและแม่ โดยบอกว่า ตนเองคือ ซาดะมิทซึ (Sadamitsu) ซามูไรที่รับใช้ยอดขุนพลที่โด่งดังนามว่า มินาโมโตะ โนะ โยริมิทซึ (Minamoto no Yorimitsu) หรือ “ไรโค” (Raikou) โยริมิทซึมีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น และอยู่ในตระกูลที่มีอิทธิพลทางการเมืองในญี่ปุ่นสูงมากในยุคนั้น

ซาดะมิทซึอยู่ระหว่างการเดินทางเพื่อตามหายอดคน เพื่อนำไปเข้ารับราชการใต้ไรโค เมื่อเห็นฝีมือของคินทาโรแล้วก็เลยชักชวนให้เข้าเมืองหลวงไปกับเขา

แม่ของคินทาโรเคยวาดฝันไว้ว่าอยากเห็นลูกชายเป็นซามูไร ได้พกดาบสองเล่มเช่นเดียวกับครั้งหนึ่งที่พ่อเขาเป็น นางจึงอนุญาตให้คินทาโรไปเมืองหลวงกับซาดะมิทซึ และเปลี่ยนชื่อเป็น ซากาตะ คินโทกิ

คินโทกิมีโอกาสฝึกปรือฝีมือจนเติบโตเป็นนักรบที่แข็งแกร่งเหนือผู้ใดในแผ่นดิน ไรโคจึงแต่งตั้งให้คินโทกิเป็นหัวหน้าของ “สี่จตุรเทพ” ซึ่งเป็นกลุ่มซามูไรที่แข็งแกร่งและกล้าหาญมากที่สุด ด้วยพลังของสี่จตุรเทพทำให้ไรโคสามารถปราบปีศาจนามว่า ชูเท็น โดจิ (Shuten Douji) ที่อยู่ในภูเขาโอเอะลงได้

เมื่อคินโทกิเริ่มโด่งดังและมีเงินทองมากขึ้น เขาก็สร้างบ้านในเมืองหลวงแล้วอยู่กับแม่ของเขาอย่างมีความสุข เป็นอันสิ้นสุดตำนานของพ่อหนุ่มจอมพลัง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

“Folklore and Art of Japan: Kintaro the Mysterious and Powerful Golden Boy – Modern Tokyo Times”. Access 21 July 2023. https://moderntokyotimes.com/folklore-and-art-of-japan-kintaro-the-mysterious-and-powerful-golden-boy/.

Google Arts & Culture. “Kintaro: The Legendary Folk Hero”. Access 21 July 2023. https://artsandculture.google.com/story/kintaro-the-legendary-folk-hero/xAWBpJ-5kIfCLw.

Iwaya Sazanami. The Japanese Fairy Book. Yei Theodora Ozaki, translated, 1908.

Juliet Piggott. Japanese Mythology. The Hamlyn Publishing Group, 1978.

Kimball, Donny. “The Myth Shuten Doji”. Medium, Access 21 July 2023. https://donnykimball.com/shuten-doji-mt-oe-8334ec2dd479.

Yasuka. “Kintarou: Folk Hero and Golden Boy”. KCP International. Access 21 July 2023. https://www.kcpinternational.com/2012/09/kintaro/.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 กรกฎาคม 2566