ผู้เขียน | ธงชัย อัชฌายกชาติ |
---|---|
เผยแพร่ |
ในไอร์แลนด์เหนือ มีสถานที่ท่องเที่ยวเรียกว่า “ทางเดินแห่งยักษ์” (Giant’s Causeway) เป็นพื้นที่ของหินบะซอลต์จำนวนมหาศาลที่เกิดจากการแปรสภาพการปะทุของภูเขาไฟในสมัยก่อน จนกลายเป็นแนวเสาหินเรียงรายกันเป็นเหมือนทางเดิน
นี่เป็นคำอธิบายที่สมเหตุสมผลในทางวิทยาศาสตร์อย่างไม่ต้องสงสัย แต่ชาวเคลท์โบราณมีคำอธิบายที่แตกต่างออกไป เรื่องเกิดขึ้นจากยักษ์สองตนที่ไม่กินเส้นกัน
ตำนานมีอยู่ว่า มียักษ์ไอริชนามว่า ฟิน แมกคูล (Finn MacCool) อยู่กินกับ อูนา (Oonagh) และมียักษ์ชาวสก็อตนามว่า เบนนันดอนเนอร์ (Benandonner) อาศัยอยู่อีกฟากทะเล คอยตะโกนด่าและหาเรื่องทะเลาะทุกวัน ยักษ์ทั้งสองตนคำรามด่าทอและเขวี้ยงหินใหญ่ใส่กันเป็นประจำ
ในที่สุด ต่างฝ่ายต่างก็ทนไม่ไหว เบนนันดอนเนอร์ท้าฟินต่อสู้กันตาต่อตา แน่นอนว่าฟินย่อมตอบรับคำท้า จึงขว้างก้อนหินขนาดยักษ์ไปถมทะเล เพื่อให้เป็นสะพานข้ามทะเลไปสู่ชายฝั่งสก็อต ด้วยความโกรธ ฟินก็เร่งรัดข้ามสะพานหินเพื่อไปสำแดงฤทธิ์แก่ยักษ์แห่งสก็อต
อย่างไรก็ตาม เมื่อฟินมองไปไกลก็พบว่าเบนนันดอนเนอร์ตัวใหญ่และบึกบึนมากกว่าตน ไม่มีทางที่จะต่อสู้ชนะได้เลย จึงรีบวิ่งหนีกลับไปหาภรรยาและปรึกษา อูนาจึงนำเสนอไอเดียบรรเจิด ในเมื่อไม่แข็งแกร่งพอจะสู้กันซึ่ง ๆ หน้าได้ ก็ต้องมีอุบายสักหน่อย!
อูนาเอาผ้าผืนใหญ่หลายผืนมาห่มสามีให้เหมือนเด็กทารกขนาดยักษ์ เมื่อยักษ์เบนนันดอนเนอร์ข้ามสะพานมาถึง ก็เข้าบ้านมาอย่างเกรี้ยวกราด อูนาให้การต้อนรับอย่างดี และบอกว่าสามีของตนไม่อยู่บ้าน ให้มาพักกินของว่างก่อน ยักษ์แห่งสก็อตก็ยินดีกินเค้กที่อูนาเตรียมไว้ แต่แล้วก็ต้องร้องลั่นด้วยความเจ็บปวด เพราะในเค้กมีเหล็กซ่อนอยู่ ทำให้ฟันของเขาหัก
อูนาจึงกล่าวว่านั่นเป็นเค้กที่ฟินกินเป็นประจำ ทำให้เบนนันดอนเนอร์เริ่มกังวลถึงความแข็งแกร่งของศัตรู ช่วงเวลานั้นฟินก็ร้องดังลั่นเหมือนทารกร้องไห้งอแง เมื่อยักษ์แห่งสก็อตเหลือบไปเห็นทารกขนาดใหญ่โตเท่ากับยักษ์โตเต็มวัย เบนนันดอนเนอร์ก็เริ่มหวาดกลัวเพราะคิดว่า หากทารกยังตัวใหญ่ขนาดนี้ แล้วตัวพ่อมันจะตัวใหญ่ขนาดไหน?
เบนนันดอนเนอร์จึงรีบหนีกลับไปด้วยความหวาดกลัว และพยายามทำลายสะพานหินระหว่างทางเพื่อไม่ให้ยักษ์ฟินข้ามสะพานมาหาตนได้ เศษซากสะพานหินที่เหลือจึงกลาเป็นทางเดินแห่งยักษ์ที่มีให้เห็นถึงทุกวันนี้
อย่างไรก็ตาม มีคำกลอนแต่งโดย แมรี่ แอน (Mary Anne) ในปี 1830 ที่พูดถึงการทำสะพานของยักษ์ฟินในอีกเวอร์ชัน
ยักษ์ฟินตกหลุมรักกับหญิงสาวชาวสก็อต จึงทำสะพานหินเพื่อข้ามฝั่งไป แต่คุณยายของเขาไม่พอใจ เพราะกังวลที่จะเสียฟินไป นางจึงใช้เวทมนตร์เรียกพายุและสายฟ้ามาทำลายสะพานให้พังเสีย
กระนั้นก็มิอาจหยุดแรงรักของฟินได้
เขายังมุมานะสร้างสะพานต่อไป แต่ก็โดนพายุทำลายทุกครั้ง ด้วยความพยายามอย่างไม่ลดละ ท้ายที่สุดก็สามารถข้ามสะพานไปจนถึงชายฝั่งสก็อต แต่ด้วยความเหนื่อยล้าและอ่อนแรงจากพายุและสายฟ้าฟาด ฟินก็สิ้นลมตายที่ชายหาดนั้น และเศษซากสะพานหินก็กลายเป็น “ทางเดินแห่งยักษ์” ที่มีให้เห็นในปัจจุบัน
ปัจจุบัน นอกจากจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแสนโด่งดัง มีนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมหลายแสนคนในแต่ละปีแล้ว ในปี 2022 ยูเนสโกก็ขึ้นทะเบียนให้ “ทางเดินแห่งยักษ์” เป็นมรดกโลกอีกด้วย
อ่านเพิ่มเติม :
- ตามรอย “สะพานช้าง-คลองประตูข้าวเปลือก” ฉากหลังครั้งสงครามกลางเมืองอยุธยา
- สะพานพระราม 8 ทัศนะอุจาด ทำลาย “ประวัติศาสตร์” ของ “เมือง”-กรุงเทพฯ
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
https://ed.ted.com/lessons/the-irish-myth-of-the-giant-s-causeway-iseult-gillespie
https://www.nationaltrust.org.uk/visit/northern-ireland/giants-causeway/history-of-giants-causeway
https://www.statista.com/statistics/1143369/giant-s-causeway-visitor-numbers-northern-ireland/#:~:text=The%20number%20of%20visitors%20to,around%20422%20thousand%20in%202022.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 กรกฎาคม 2566