จินตะหราอาลัย เสียงครวญจากหญิงผู้เป็น “ทาสรัก” ของอิเหนา

อิเหนา ลา นางจินตะหรา
“อิเหนาลานางจินตะหรา” ภาพเขียนโดย อาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต จากหนังสืออิเหนา ลักษณวงศ์ สมุทรโฆษ โดยนายตำรา ณ เมืองใต้, พ.ศ. 2545

บทละครเรื่อง “อิเหนา” พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2 เราจะเห็นภาพของเจ้าชายหนุ่มนักรักแห่งวงศ์อสัญแดหวา ผู้มีคุณสมบัติพร้อมพรั่งทั้งชาติตระกูล รูปลักษณ์ วาทศิลป์ สติปัญญา และฝีมือการรบอันเก่งกาจ โดยเฉพาะเสน่ห์ครองใจสตรี อิเหนาจึงมีหญิงงามมากหน้าหลายตามาเป็นคู่รักตลอดทั้งเรื่อง นับแล้วมีร่วม 10 คน แต่ในบรรดาชายาทั้งหลาย “นางจินตะหรา” หรือ จินตะหราวาตี คือ “รักแรก” ของอิเหนา เป็นรักมั่นที่มอบให้แก่ตัวละครชายผู้นับว่า “เจ้าชู้” ที่สุดผู้หนึ่งในโลกวรรณคดี

นางจินตะหรา อายุรุ่นราวคราวเดียวและเป็นลูกพี่ลูกน้องกับอิเหนา ทั้งสองพัฒนาความรักจนเกิดความเสน่หาเมื่อครั้งอิเหนาไปช่วยงานศพระอัยกีที่เมืองหมันหยา แม้อิเหนาจะมีคู่ตุนาหงัน (คู่หมั้น) อยู่แล้วคือ “นางบุษบา” แต่ความรักความหลงใหลที่นางจินตะหรามีต่ออิเหนา เป็นต้นเหตุที่ทำให้อิเหนาก่อเรื่องวุ่นวายท่ามกลางหมู่พระประยูรญาติ และอิเหนาต้องคอยตามแก้ไขปัญหาจนแทบจะเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินเรื่องทั้งหมด

กระนั้นก็ดี บทจากลาระหว่างนางจินตะหรากับอิเหนา เพราะอิเหนาต้องเดินทางไปกรุงดาหา ถูกยกย่องว่าหากได้อ่านแล้วจะอดสงสารนางจินตหราไม่ได้ เพราะนางจต้องอยู่ห่างไกลสามี ซ้ำจุดหมายของคู่รักยังเป็นที่อยู่ของคู่ตุนาหงัน คือเมืองของนางบุษบา นางย่อมกริ่งเกรงกลัวว่าจะสูญเสียความรักจากอิเหนา เกิดเป็นบทเปรียบเปรยความรักกับสายน้ำอันโด่งดังว่า

“แล้วว่าอนิจจาความรัก
พึ่งประจักษ์ดั่งสายน้ำไหล
ตั้งแต่จะเชี่ยวเป็นเกลียวไป
ที่ไหนเลยจะไหลคืนมา”

นางจินตะหราจึงเป็นตัวละครที่มี “มิติ” ในความเป็นมนุษย์อันประกอบด้วย รัก โภ โกรธ หลง ที่โดดเด่นที่สุดในบรรดาสตรีของอิเหนา โดย นิพัทธ์ แย้มเดช ผู้เขียนบทความ “ภาพชีวิตนางจินตะหรา : ตัวละครหญิงผู้ตกเป็นทาสรักอิเหนา” (ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2566) ได้วิเคราะห์บทเรียกน้ำตาสงสารของนางจินตะหรานี้อย่างละเอียด ลึกซึ้ง เผยอารมณ์และพฤติกรรมด้านลึกของตัวละครจนเห็นภาพชัดเจน ดังนี้ [จัดย่อหน้าใหม่และเน้นคำเพิ่มเติมโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม]

 


 

เสียงครวญ นางจินตะหรา : “แล้วว่าอนิจจาความรัก พึ่งประจักษ์ดั่งสายน้ำไหล”

ตอนที่อิเหนาลาจากนางจินตะหราเพื่อเดินทางไปเมืองดาหา เราจะเข้าใจหัวอกนางจินตะหราได้ชัดเจน หากเราพินิจคำพูด ปฏิกิริยา และอารมณ์นางจินตะหราจะพบว่า นางไม่อาจวิงวอนให้อิเหนาอยู่เคียงข้างได้ ปัจจัยและเงื่อนไขที่อิเหนาต้องจากนางไปเป็นปัญหาใหญ่หลวงกว่าความสัมพันธ์ระหว่างตัวของนางเองกับสามี เพราะการที่อิเหนาลาจากนางจินตะหราเกี่ยวข้องกับเครือญาติ การรักษาหน้าตาวงศ์เทวา รวมถึงการรักษาความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับรัฐ ซึ่งความเป็นไปทั้งหมดนี้นางจินตะหราไม่สามารถหน่วงเหนี่ยวอิเหนาให้ประทับ ณ เมืองหมันหยาได้อีกต่อไป 

เมื่ออิเหนาแจ้งเหตุราชการแก่นางจินตะหรา “เป็นเหตุด้วยดาหาเวียงไชย   เกิดการศึกใหญ่ไพรี” ข้างนางจินตะหราก็ตอบโต้ด้วยวาทศิลป์แยบคาย โดยพาดพิงไปถึงนางบุษบาคู่ตุนาหงันอิเหนา แล้วนางตัดพ้อในคำมั่นสัญญาของอิเหนาที่ดูกลับกลอก “พระจะไปดาหาปราบข้าศึก ฤๅรำลึกถึงคู่ตุนาหงัน ด้วยสงครามในจิตยังติดพัน จึงบิดผันพจนาไม่อาลัย ไหนพระผ่านฟ้าสัญญาน้อง จะปกป้องครองความพิสมัย ไม่นิราศแรมร้างห่างไกล จนบรรลัยมอดม้วยไปด้วยกัน”

คำว่า “สงครามในจิต” เป็นสิ่งที่น่าคิด หากเราพินิจแก่นของสงครามจะพบว่าทุกสงครามล้วนเกิดจากความขัดแย้งแล้วขยายเป็นวงกว้าง นัยนี้ สงครามในจิตสะท้อนภาวะสับสนขัดแย้งในอารมณ์ความคิดอิเหนา กล่าวคือ อิเหนาคิดฉงนอยู่ไม่วายว่านางบุษบาจะงามสู้หญิงคนรักของตนได้หรือไม่ ความคิดสับสนจนกลายเป็น “สงครามในจิต” ก่อกวนจิตใจอิเหนาทวีขึ้น ทำให้ใจหนึ่งอิเหนาตอบตนเองว่านางบุษบาไม่คู่ควรกับตนเท่านางจินตะหรา แต่ใจหนึ่งอิเหนาก็คิดสงสัยว่านางบุษบาจะงดงามสักปานใด 

ความสงสัยก่อกวนใจอิเหนาจนเริ่มเป็นความสับสน ก็ดูจะเป็นคำตอบอยู่ในทีแล้วว่าถ้านางบุษบามีเสน่ห์ดึงดูดใจแรงกว่านางจินตะหรา อิเหนาจะเปลี่ยนใจหันเหจากนางจินตะหราไปสู่นางบุษบาหรือไม่ ดูเหมือนว่านางจินตะหรากล่าววาทะอันเป็นลางกลาย ๆ ว่าอีกนานเพียงใดกว่าอิเหนาจะยกทัพกลับมาหานาง “มิรู้มาอาภัพกลับกลาย จะหลีกเลี่ยงเบี่ยงบ่ายหน่ายหนี ยังสมคำสัญญาที่พาที กี่ร้อยปีพระจะกลับคืนมา”

การที่นางจินตะหรากล่าวถึงเวลายาวนานถึงร้อยปีกว่าอิเหนาจะกลับคืนมา แม้ดูเหมือนประชดประชัน แต่ก็ชี้ให้เห็นความไม่แน่นอนของความรัก วันนี้มีพบ พรุ่งนี้มีจาก อันเป็นไปตามสัจธรรมของโลกที่มนุษย์ล้วนพานพบ

ฝ่ายอิเหนาพูดทำนองบัวไม่ให้ช้ำน้ำไม่ให้ขุ่น โดยอ้างคำมั่นสัญญาที่ให้แก่นางจินตะหรา “จะคงครองไมตรีไม่หนีหน่าย” แล้วย้ำให้นางมั่นใจ “อย่าสงกาว่าจะวายคลายรัก” การเดินทางจากนางไป ถือเป็นความ  “จำเป็น” และ “จำใจ” “เพราะเกรงเดชบิตุรงค์ทรงศักดิ์” เมื่อเกิดศึกประชิดเมืองดาหา อิเหนาจึงไม่อาจขัดพระบัญชาของพระบิดาได้

อิเหนายื่นหลักฐานให้นางจินตะหราแจ้งประจักษ์ เพื่อคลายจากความกินแหนง แคลงใจ “สารามีมาเป็นพยาน พระยื่นสารให้นางทัศนา” ข้างนางจินตะหรา “ค้อนให้ไม่แลดูสารา กัลยาคั่งแค้นแน่นใจ” แล้วนางตัดพ้อด้วยวาทศิลป์ที่กลั่นอารมณ์น้อยเนื้อต่ำใจ ดังความว่า

แล้วว่าอนิจจาความรัก

พึ่งประจักษ์ดั่งสายน้ำไหล

ตั้งแต่จะเชี่ยวเป็นเกลียวไป

ที่ไหนเลยจะไหลคืนมา

สตรีใดในพิภพจบแดน

ไม่มีใครได้แค้นเหมือนอกข้า

ด้วยใฝ่รักให้เกินพักตรา

จะมีแต่เวทนาเป็นเนืองนิตย์

โอ้ว่าน่าเสียดายตัวนัก

เพราะเชื่อลิ้นหลงรักจึงช้ำจิต

จะออกชื่อลือชั่วไปทั่วทิศ

เมื่อพลั้งคิดผิดแล้วจะโทษใคร [1]

คำพูดนางจินตะหราข้างต้น เป็นวาทะอันไพเราะคมคายอย่างยิ่งในวรรณคดีไทย อาจารย์เปลื้อง ณ นคร ยกย่องว่าเป็น “กวีวัจนะยอดเยี่ยม และเป็นเอกบทหนึ่งในเรื่องอิเหนา น่าจะจำไว้ท่องเล่นยามว่างทั้งชายหญิง ด้วยว่าไพเราะจับใจ ปนด้วยอารมณ์รักอารมณ์ร้าง ถ้าเป็นหญิงก็เจียนสะอื้นไปด้วยกับจินตะหรา” [2] 

ผู้เขียนใคร่ขอเสริมและขยายความว่าคำประพันธ์ที่ยกมานำเสนอภาพนางจินตะหราได้อย่างมีชีวิตชีวา แสดงอารมณ์ผิดหวัง เจ็บใจ และเศร้าตรมระคนกัน เพราะจะมีสตรีแดนดินใด “ได้แค้น” เหมือนกับนางจินตะหรา

กวีนิพนธ์ชี้ให้เห็นว่านางจินตะหรามี “อารมณ์ตัดพ้อ” และ “หวาดระแวง” อย่างที่หญิงผู้รักและหวงแหนสามีมีกันทุกคน แต่ที่มีมิติอารมณ์ลึกซึ้งก็คือ คำพูดของนางจินตะหราเป็นอารมณ์ตัดพ้อชวนเห็นใจ ในสถานการณ์ที่นางเผชิญภาวะความทุกข์เพราะต้องพรากจากชายคนรัก นางจะต้องอยู่อย่างโดดเดียวเปลี่ยวเหงา นางประจักษ์แก่ใจว่าความรักเปลี่ยนแปลงไปไม่ต่างจากสายน้ำที่ไม่ไหลย้อนกลับคืนมา สัจธรรมดังกล่าวเป็นสิ่งที่นางยอมรับ แต่นางก็ยกความแตกต่างของศักดิ์สถานะอันต่ำต้อยไม่สมวงศ์เทวามาตอกย้ำอิเหนาให้เห็นถึงความทุกข์ของนาง

ทุกข์ที่ว่านาง “ใฝ่รัก” ทุกข์เพราะนาง “เสียดายตัวนัก” ทุกข์จากการ “เชื่อลิ้นหลงรัก” กระนั้นก็ตามนางยังไม่โยนความผิดบาปนี้ให้แก่อิเหนา แต่เป็นเพราะ “ตัวของนาง” ทำเอง ซึ่งโทษใครไม่ได้ ถ้อยคำที่นางจินตะหราพรั่งพรูต่อว่าอิเหนา “พระจะมีเมตตาก็หาไม่” และการที่อิเหนาต้องจากนางไป “ก็รู้เท่าเข้าใจในทำนอง” ทั้งนี้ เพราะในความเข้าใจของนางจินตะหรา นางบุษบา “ควรคู่ภิรมย์สมสอง” กับอิเหนายิ่งกว่านาง

นางจินตะหรากล่าวถึงความต่ำต้อยของตนเมื่อเทียบกับนางบุษบา “ไม่ต่ำศักดิ์รูปชั่วเหมือนตัวน้อง ทั้งพวกพ้องสุริย์วงศ์พงศ์พันธุ์” ความแตกต่างทางชนชั้นระหว่างนางกับคู่ตุนาหงันของอิเหนา ตอกย้ำปมฝังใจจนถึงเวลาสุดท้ายที่อิเหนากำลังลาจากนางไป ดังนั้น ในช่วงเวลาที่นางต้องอยู่ตัวคนเดียวปราศจากสามี ชาวดาหาย่อมนินทานาง คงมีแต่ความอับอายที่นางต้องแบกหน้ารับไว้ชั่วกาลนาน “โอ้แต่นี้สืบไปภายหน้า จะอายชาวดาหาเป็นแม่นมั่น เขาจะค่อนนินทาทุกสิ่งอัน นางรำพันว่าพลางทางโศกา”

กว่านางจินตะหราจะสงบอารมณ์โศกลงได้ ก็ต่อเมื่ออิเหนายืนยันคำมั่นสัญญารักที่จะมอบความรักให้แก่นางคนเดียว “จงสร่างสิ้นกินแหนงแคลงใจ ที่ในบุษบามารศรี พี่สลัดตัดใจไม่ไยดี มิได้มีปรารถนาอาลัย” และ “อันลือข่าวบุษบาว่างามนัก จะดีกว่าน้องรักนั้นหาไม่” นางจินตะหราเห็นคล้อยตามอิเหนาในแง่ที่ว่าหากเมืองดาหาถูกข้าศึกพิชิต “เจ้ากับพี่ก็จะมีแต่นินทา แก้วตาจงดำริตริตรอง” คำพูดที่เอ่ยจากปากอิเหนาต่อมาก็คือ “ถึงไปก็ไม่อยู่นาน เยาวมาลย์อย่าโศกเศร้าหมอง”  

ขณะที่นางจินตะหราอยู่กับอิเหนา นางมีธรรมชาติวิสัยเป็นผู้ตาม มิใช่ผู้นำ เชื่อฟังและสนับสนุนสิ่งที่ดีงามเมื่อสามีเห็นว่าดี นางจินตะหราได้ฟังอิเหนาแถลงว่าการเดินทางไปเมืองดาหาเพราะเหตุผลทางการเมือง นางก็เห็นด้วยกับหตุผลข้อนี้ “ซึ่งพระจะเสด็จไปชิงชัย ก็ตามใจไม่ขัดอัธยา แม้นสำเร็จราชการงานศึก แล้วรำลึกอย่าลืมหมันหยา”

อิเหนา นางจินตะหรา
ฉากอิเหนาลานางจินตะหรา ภาพโดย จักรพันธุ์ โปษยะกฤต จากหนังสือ อิเหนา ลักษณวงศ์ สมุทรโฆษ โดยนายตำรา ณ เมืองใต้

ถ้าเราพินิจคำพูดของนางจินตะหรา จะพบว่านางจินตะหราให้ความสำคัญอยู่ 2 สิ่ง สิ่งแรก คือ เงื่อนไขของเวลาที่อิเหนาต้องกลับมาเมื่อเสร็จกิจ “จงเร่งรีบยกทัพกลับมา น้องจะนับวันท่าภูวไนย” สิ่งที่ 2 คือ คำมั่นสัญญาที่อิเหนารับปากว่าจะไม่ทอดทิ้งนางให้เดียวดาย “แม้นเสร็จศึกนึกกลับมาหมันหยา ให้สมซึ่งสัญญาได้ว่าขาน อย่าลืมคำลืมเคยที่โปดปราน เยาวมาลย์ทูลพลางทางโศกี”

ช่วงเวลาสุดท้ายก่อนที่อิเหนาจะพรากจากนางจินตะหรา อิเหนารับรองคำมั่นสัญญาว่ารักมั่นต่อนางไม่เปลี่ยนแปลง “ถึงตัวพี่จะไปรณรงค์ แต่ใจจงพุ่มพวงดวงยิหวา แต่พอเสร็จพันตูไม่อยู่ช้า จะเร่งรีบกลับมาหาน้อง” ถามว่าอิเหนาคิดรอบคอบแล้วหรือถึงให้คำมั่นสัญญาจนกลายเป็นห่วงโซ่คล้องใจนางจินตะหราในเวลาต่อมา เราก็คงตอบว่าสถานการณ์ขณะนั้นส่งเสริมให้อิเหนาต้องพูดเช่นนั้น เพียงแต่นางจินตะหราจดจำฝังใจกับคำพูด เมื่อสิ่งที่นางรอคอยมิได้เป็นอย่างที่คาดหวัง อิเหนาเสร็จศึกสังหารท้าวกะหมังกุหนิงแล้วแต่ยังไม่กลับมาเมืองหมันหยา นางจินตะหราจึงฝันสลายและจิตใจบอบช้ำ 

เบื้องหลังที่นางจินตะหราต้องรอเก้อ นั่นเพราะอิเหนาประจักษ์พลังความงามของนางบุษบาแทนที่นางจินตะหรา อิเหนาซึ้งแก่ใจตนเองว่านางบุษบา “งามจริงยิ่งเทพนิมิต ให้คิดเสียดายเป็นหนักหนา” ความหลงใหลในกามคุณโดยเฉพาะจักษุสัมผัส ทำให้อิเหนายอมรับว่านางบุษบา “ดังหยาดฟ้ามาแต่กระยาหงัน” ความงามของนางบุษบาเลิศล้ำเกินมนุษย์เหมือน “เทพสร้าง” หยดย้อยมาจาก “สวรรค์” เช่นนี้ เป็นการบอกโดยนัยว่านางบุษบางามที่สุดในสายตาอิเหนา 

ธรรมชาติอารมณ์ของอิเหนามีจุดอ่อนเด่นชัด คือ ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ปรารถนาทางเพศได้เมื่อเจอหญิงงามบาดใจ อารมณ์หลงใหลเช่นนี้สร้างความทุกข์มหันต์ให้แก่อิเหนาต่อมาด้วย ดังที่อิเหนาคิดคะนึงอยู่ไม่วายว่า “จะคิดไฉนดีนะอกเอ๋ย จะได้เชยชมชิดพิสมัย” เราจะเห็นได้ว่าปฏิกิริยาของอิเหนาที่หวังชมเชยสตรีเพศโฉมงามเคยเกิดขึ้นแล้วเมื่ออิเหนาต้องการจะได้เสียกับนางจินตะหรา แต่บัดนี้อาการไข้ใจเพราะพิษรัก กำลังเล่นงานอิเหนา “ดังเพลิงกาลผลาญไหม้ทั้งกายา” อย่างหนักหน่วงรุนแรง 

ความน่าสลดใจในเส้นทางชีวิตของอิเหนากับนางจินตะหราอยู่ตรงที่ว่า อิเหนาผู้ขลาดเขลาต่อรสโลกีย์กำลังหลงเพ้อถึงสาวงามคนใหม่จนควบคุมตนเองบนครรลองคำมั่นสัญญารักไว้ไม่ได้ คำสัตย์ว่ารักจริงที่อิเหนาเอ่ยต่อนางจินตะหราแท้จริงเป็นเพียงคำลวง และเป็นจริงดังนางจินตะหราตัดพ้อว่าสวามีจะไปหลงพัวพันกับคู่ตุนาหงัน อีกกว่าร้อยปีจะกลับคืนมา เพราะฉะนั้น นางงามคนเก่าเช่นนางจินตะหรา รวมถึงนางมาหยารัศมีและนางสการะวาตี จึงกลายเป็นของตาย ถ้าเปรียบเป็นเพชรก็หมองหม่นหมดค่าหมดความสนใจไปโดยปริยาย 

ถึงเวลานี้เราจะเห็นได้ว่าอิเหนาเปลี่ยนไปเป็นคนละคน อิเหนาไม่ได้รักนางจินตะหราอย่างสุดใจแล้ว อิเหนายอมรับเจ็บปวดรวดร้าวใจที่ไม่ได้ไขว่คว้า  “ดวงแก้ว” คือนางบุษบาเอาไว้ตั้งแต่แรก ดวงแก้วที่อิเหนาควรจะทะนุถนอมในวินาทีนี้คือ “นางบุษบา” ไม่ใช่นางจินตะหราที่เคยเทิดทูนหลงเพ้อ

เมื่ออิเหนารู้ว่าหญิงงามนามบุษบากำลังจะพรากไปสู่มือของระตูเมืองอื่น จึงทำให้อิเหนาประสบความวิปโยคราวกับจะขาดใจตาย ตัวบทพรรณนาภาพอิเหนาถูกพลังความงามของนางบุษบาครอบงำ โดยแทรกภาพชายาคนเก่าผู้น่าสงสารไว้ว่า “แน่นอนถอนฤทัยใหลหลง ถึงองค์บุษบายาหยี ลืมสามสุดานารี ภูมีสร้อยเศร้าโศกาลัย” …

ภาพชีวิตของนางจินตหราในเรื่อง “อิเหนา” นั้น นางเป็นดังศรีภรรยาที่ยอมเป็นทาสรักสามี ขณะเดียวกันก็เป็นเมียหลวงจิตใจงาม ในแง่วรรณกรรม นางจินตะหรามีส่วนเติมเต็มการรับรู้ตัวตนและอารมณ์ด้านลึกของอิเหนาและนางบุษบาอย่างยิ่ง ทำให้ตัวละครเอกทั้งสามแยกจากกันไม่ได้ เพราะมีนางจินตะหราเป็นรักแรก อิเหนากับนางบุษบาจึงเรียนรู้ความหมายของรักแท้ที่ต้องติดตามหากัน (จนเจอ)

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] องค์การค้าของคุรุสภา. บทละครเรื่องอิเหนา พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เล่ม ๒. พิมพ์ครั้งที่ 16. (กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, 2547), น. 86.

[2] นายตำรา ณ เมืองใต้. อิเหนา ลักษณวงศ์ สมุทรโฆษ. พิมพ์ครั้งที่ 2. น. 111.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 กรกฎาคม 2566