ผู้เขียน | วิภา จิรภาไพศาล |
---|---|
เผยแพร่ |
“ตาอินกะตานา” เป็นบทเพลงที่รู้จักกันแพร่หลาย เป็นนิทานเพื่อสอนเด็ก เป็นข้อคิดเตือนผู้ใหญ่ ที่ใช้กันอยู่เสมอๆ ว่าอย่าทะเลาะหรือระแวงกันเองระหว่างเพื่อน พี่น้อง องค์กร ฯลฯ ในเรื่องผลประโยชน์ จนกลายเป็น “ชักศึกเข้าบ้าน” หรือทำให้เกิด “มือที่ 3” มาชุบมือเปิบไปแทน
ในเว็บไซต์ “บ้านคนรักสุนทราภรณ์” (www.websuntaraporn.com) ให้ข้อมูลไว้ว่า เพลง ตาอินกะตานา แต่งคำร้องโดย ศรีสวัสดิ์ พิจิตราวรการ ทำนองโดย เอื้อ สุนทรสนาน แม้ไม่ได้ระบุปีที่แต่ง แต่คาดว่าบทเพลงนี้มีอายุไม่น้อยกว่า 50 ปี หากก็ยังเป็นอมตะ เพราะเนื้อหากินใจและมีความไพเราะ ดังนี้
“ตาอินกะตานา หาปลาเอามากินกัน ได้ปลาทุกวัน รักกันก็ปันกันไป หาปลามานมนาน หาปลามาบานตะไท จนแม้ใครใครรู้น้ำใจไมตรีปรีดา แต่แล้ววันหนึ่ง เคราะห์มองขึงขมึงทึงมา สองคนถึงคราแย่งหัวปลาหางปลากันเกรียว ตาอินกะตานา โศกาอาวรณ์จริงเจียวตาอยู่มา เดี๋ยวเดียวคว้าพุงเพรียวเพรียวไปกิน”
ย้อนหลังกลับไปราว 130 ปีเศษ “ตาอินกะตานา” คือ “แบบเรียนเร็ว สำหรับเรียนหนังสือไทย เล่ม 1” พระนิพนธ์ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (ครั้งดำรงพระยศ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ) ตีพิมพ์ครั้งแรก ร.ศ. 108 และมีการพิมพ์เผยแพร่อีกหลายครั้ง มีเนื้อหาดังนี้ (จากฉบับพิมพ์ครั้งที่ 9 ร.ศ. 118 โดยโรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ)
“สอนอ่านบทที่ 143
ตานากับตาอิน, บ้านแกอยู่ริมทะเล; แกเป็นเพื่อนกัน, แกเคยไปหาปลาตามชายทะเลด้วยกันเสมอ แต่หาปลาได้น้อยไม่พอกิน, ถ้าวันไรใครหาได้มาก คนนั้นก็ได้กินอิ่ม, ถ้าได้น้อยก็กินไม่อิ่ม.
อยู่มาวันหนึ่งเมื่อถึงเวลาจะไปหาปลา, ตานาจึงพูดกับตาอินว่า ‘เพื่อนเอ๋ยเพื่อน, ธรรมเนียมที่เคยนั้นเราเลิกเสียเถิด; เรามาสัญญากันเสียใหม่จะดีกว่า, คือถึงเวลาจะไปหาปลาเมื่อไรก็ให้กะแยกทางกันเสีย, ว่าใครชอบจะไปทางเหนือทางใต้ หรือทางน้ำลึกน้ำตื้นอย่างไรก็ตามใจ, แล้วแต่จะตกลงกันเมื่อเวลาที่จะไป, ถ้าได้ปลามาแล้วก็มาแบ่งปันกัน.’
ตาอินก็เห็นชอบด้วยจึงว่า ‘ดีแล้วที่แกว่านี้เป็นอย่างชอบใจเราที่สุด.’
เมื่อตานากับตาอินพูดกันตกลงแล้ว, ตาอินชอบไปหาทางน้ำตื้นแกก็ไปหาตามชายหาดทรายแลในคลอง. ตานาแกก็ไปเที่ยวหาที่ทะเลน้ำลึกๆ; หาไปๆ แกก็เอาสวิงช้อนได้ปลาฉลามใหญ่ตัวหนึ่ง แล้วแกก็พามาบ้าน.
ฝ่ายตาอินไปหาวันยังค่ำไม่ได้ปลาเลยสักตัวเดียว, พอเวลาเย็นก็กลับมาบ้าน.
ตานานั่งคอยอยู่พอเห็นตาอินกลับมามือเปล่า; จึงแกล้งถามว่า ‘เพื่อนได้ปลากี่ตัว?’ ตาอินจึงว่า ‘เราไปวันนี้ไม่ได้ปลาเลย;’ ตานาหัวเราะแล้วจึงว่า ‘แกเต็มทีนัก, ไปทั้งวันจะเอาปลาสักตัวเดียวก็ไม่ได้, เราไปครู่เดียวได้ปลาฉลามมาตัวหนึ่งใหญ่สะนัด. ปลาตัวนี้เราจะให้แกครึ่งหนึ่ง; แต่เราจะเอาข้างหัว, แกต้องเอาข้างหาง.’
พอตานาว่าเท่านั้น ตาอินก็โกรธจึงว่า ‘เราจะเอาข้างหัว แกจะเอาข้างหางบ้างเป็นไร?’
ตานาจึงว่า ‘เราเป็นผู้หามาได้ เราจึงจะเอาข้างหัว, แกหาไม่ได้ เราจะให้ข้างหาง, ว่าอย่างนี้จะถูกหรือผิด?’
ตาอินจึงว่า ‘แกว่าอย่างนั้นก็จริงอยู่, แต่เดิมทำไมแกจึงไม่พูดอย่างนี้, เป็นแต่สัญญากันว่าหามาได้แล้วก็กินด้วยกันเท่านั้น, ทีเมื่อได้ปลามาแล้วจะมาว่าคนนั้นได้ข้างหัว, คนนี้ได้ข้างหาง อย่างนั้นอย่างนี้ ไม่ยอม’ ตานากับตาอินโต้เถียงกันไปมาก็ไม่ตกลงกัน.
ฝ่ายตาอยู่แขนคอกไปซื้อกระดาดมาจะปิดว่าวขาย; แกเดินมาทางนั้น. ตานากับตาอินกำลังเถียงกันวุ่นวาย, พอเห็นตาอยู่ถือกระดาดเดินมา; นึกว่าเป็นตระลาการก็ดีใจ, เชิญตาอยู่ขึ้นมาบนเรือนแล้ว, ก็บอกเรื่องที่โต้เถียงกันนั้นให้ตาอยู่ช่วยตัดสิน
ตาอยู่ก็ทำอุบายว่า ‘อืออือ! เหนื่อยจริงๆ เขาเชิญเราไปชำระความพึ่งกลับมาเดี๋ยวนี้, ดูดู๋ กระดาดเขียนเรื่องราวเป็นหอบสองหอบชำระเสียออกแย่แล้ว. เราว่าจะกลับไปบ้านอาบน้ำเสียให้สบายสักหน่อย, ความเล็กน้อยเท่านี้ก็ต้องมากวนเราด้วย.’
ตานากับตาอินก็อ้อนวอนไปอ้อนวอนมา. ตาอยู่ทำทีเป็นเสียไม่ได้จึงว่า ‘ถ้าจะให้เราชำระจริงๆ แล้ว ต้องเชื่อฟังคำเราทุกอย่างจึงจะชำระให้ได้’ ตานากับตาอินดีใจก็รับว่าจะเชื่อฟังคำทุกอย่าง. ตาอยู่เห็นสมคะเนก็เอามีดตัดปลานั้นออก 3 ท่อน, แล้วแกจึงบอกว่า ‘ปลา 3 ท่อนนี้; ให้ตานาได้ข้างหัว, เพราะเขาเป็นผู้หามาได้. ส่วนตาอินนั้นให้แกได้ข้างหาง, เราเป็นผู้ตัดสินได้ข้างกลาง,’
พอตาอยู่ว่าอย่างนั้น, ตานากับตาอินจะไม่ยอมก็ไม่ได้, เพราะได้พูดไว้เสียแล้วว่าจะเชื่อฟังคำของตาอยู่ทุกอย่าง, ก็จะเป็นต้องให้ตาอยู่ได้ข้างกลาง, แล้วจึงคิดเห็นว่า ‘เราไม่พอที่เลย, เมื่อก่อนจะแบ่งปันให้กันกินเสียแต่ดีๆ ก็จะแล้วกัน, นี่ตาอยู่มาเอาไปกินเสียเปล่าๆ; แล้วเอาที่ตรงพุงมันไปกินด้วย, ไม่เป็นเรื่อง, การอะไรเราตกลงกันเสียแต่ลำพัง, คงดีกว่าหาผู้มาตัดสินเป็นแน่’
ตั้งแต่นั้นมา ตานากับตาอินไปหาปลามาได้ก็แบ่งสู่กันกินเป็นปรกติ, ไม่โต้เถียงกันอย่างแต่ก่อนอีกเลย.” (จัดย่อหน้าใหม่และสั่งเน้นคำโดยผู้เขียน)
แม้แบบเรียนนี้เลิกใช้ไปนานแล้ว แต่เรื่อง “ตาอินกะตานา” รวมถึง “ตาอยู่” นั้นต้องบอกว่า “อดีตเคยมี ปัจจุบันยังมี และอนาคตก็จะยังมี” ส่วนเหตุผลไม่ต้องอธิบาย พูดมากไปจะเจ็บคอ
อ่านเพิ่มเติม :
- สำนวนสุภาษิต “ขุนนางใช่พ่อแม่…” ที่เตือนให้อย่าด่วนวางใจใคร
- พระยาเมธาธิบดี ผู้นำ “นิทานอีสป” มาเผยแพร่ในไทย ยอดพิมพ์กว่าล้านเล่ม
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 กรกฎาคม 2565