เปิดต้นตอคำว่า “ลุ้น” กิริยาบ่งบอกอาการตื่นเต้นเร้าใจที่คนไทยใช้เป็นประจำ

พิธา ขอบคุณ คะแนนเสียง

คำว่า “ลุ้น” ที่คนไทยใช้กันอย่างกว้างขวางในปัจจุบันนี้ หมายถึง เอาใจช่วย ว่าแต่คำนี้เป็นคำที่มาจากภาษาอะไรกันนะ?

จากบทความ “คำจีนสยาม : ลุ้น” ของวรศักดิ์ มหัทธโนบาล ใน มติชนสุดสัปดาห์ ปีที่ 26 ฉบับที่ 1,333 ได้มีการตั้งข้อสังเกตและอธิบายไว้ว่า

“ลุ้นเป็นคำในเสียงจีนแต้จิ๋ว เสียงจริงออกว่า ‘ลุ้ง’ ส่วนจีนกลางออกว่า ‘หลุน’ (lun) 

กล่าวสำหรับความหมายของคำนั้น คำนี้ เพียงคำเดียวโดด ๆ จะมีไม่มีความหมาย แต่จะใช้คู่กับอีกคำหนึ่ง คือคำว่า ‘หู’ เป็น ‘หูหลุน’ (จีนกลาง) แล้วจะหมายถึง ทั้งหมด ทั้งชิ้น ทั้งอัน

ส่วนการใช้ในแง่ภาษาไทยก็เช่น กลืนเข้าไปทั้งดุ้น ซึ่งดูไปแล้วก็ยังไม่เห็นว่าจะมีตรงไหนที่ใกล้เคียงกับความหมายของคำว่าลุ้นดังที่คนไทยเข้าใจตรง ๆ 

แต่ถ้าหากจะลากเข้าหาความหมายที่คนไทยเข้าใจให้ได้แล้ว ก็พออนุมานได้ว่าน่าจะหมายถึง การทุ่มเทใจ ‘ทั้งหมด’ เข้าช่วย ในทำนองว่าให้ทั้งหมด และถ้าหากการอนุมานนี้ใช้ไม่ได้แล้วก็คงเหลืออยู่ทางเดียว นั่นคือคำว่าลุ้นนี้อาจจะเป็นคำพูดที่ไม่มีตัวเขียน แต่เมื่อจะต้องเขียนเพื่อสื่อสารกัน จึงได้นำเอาคำว่าลุ้นที่ว่ามาเขียนแทน และเข้าใจว่าคงเป็นคำที่ใช้กันเฉพาะในหมู่คนแต้จิ๋ว

สำหรับการใช้ของคนจีน (แต้จิ๋ว) นั้น เท่าที่สังเกตพบว่า มักจะใช้คำว่าลุ้นในกิจกรรมที่มีการแข่งขันในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง ซึ่งในอดีตกิจกรรมที่ว่ามักจะเกี่ยวข้องกับการพนันอยู่กลาย ๆ และในทุกวันนี้เราก็ยังคงพบเห็นการใช้คำว่าลุ้นในกิจกรรมที่ว่านี้

จากข้อสังเกตข้างต้น คงบอกไม่ได้ว่าคำว่าลุ้นเริ่มปรากฏในสังคมไทยเมื่อไหร่ แต่เชื่อว่าคนแต้จิ๋วเป็นผู้นำคำคำนี้มาสู่สยาม และคงปรากฏอยู่ในกิจกรรมดังกล่าวด้วย เพราะคนแต้จิ๋วจำนวนไม่น้อยมีตำแหน่งเป็นนายบ่อน”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 กรกฎาคม 2566