Shrek แอนิเมชันสุดเกรียนที่ตั้งใจทำเพื่อล้อเลียนเทพนิยายแฟนตาซี

เชร็ค ดองกี้
(ภาพจาก DreamWorks Animation Official)

“เชร็ค” (Shrek) แอนิเมชันของค่ายดรีมเวิร์กส แอนิเมชัน (DreamWorks Animation) ออกฉายในโรงภาพยนตร์เมื่อปี 2001 ถือเป็นแอนิเมชันที่นำเทพนิยายแฟนตาซีมาล้อเลียนอย่างตลกขบขัน ทำให้ Shrek ประสบความสำเร็จทั้งคำวิจารณ์ และรายได้ 

แต่เชื่อหรือไม่ว่า แอนิเมชันเรื่องนี้เกิดขึ้นด้วยฝีมือคนเหลือ ๆ จากสตูดิโออื่นของดรีมเวิร์กสมารวมตัวกัน นำไปสู่ผลลัพธ์ความเกรียน และความฮาที่ยากจะคาดคิด !

จุดเริ่มต้นของ เชร็ค

Shrek! หนังสือภาพแนวตลกขบขันแฟนตาซีของ วิลเลียม สตีก (William Steig) นักเขียนการ์ตูนชาวอเมริกัน ซึ่งไปสะดุดตาสตีเว่น สปีลเบิร์ก (Steven Spielberg) ผู้กำกับชื่อดัง จนตัดสินใจซื้อลิขสิทธิ์หนังสือเล่มนี้ในปี 1991 โดยวางแผนสร้างเป็นภาพยนตร์แอนิเมชัน 2 มิติ 

แต่เมื่อ จอห์น วิลเลียมส์ (John Williams) ผู้อำนวยการสร้างของดรีมเวิร์กส พิคเจอร์ส (DreamWorks Pictures) มีโอกาสได้อ่านหนังสือเล่มนี้ เขานำโปรเจกต์เรื่อง Shrek ไปเสนอให้ดรีมเวิร์กส ซึ่ง เจฟฟรีย์ แคตเซนเบิร์ก (Jeffrey Katzenberg) ประธานบริหารของดรีมเวิร์กส และ อารอน วอร์เนอร์ (Aron Warner) ผู้อำนวยการสร้างอีกคน รู้สึกสนใจ และตัดสินใจซื้อลิขสิทธิ์ Shrek! จากสปีลเบิร์กมาสร้างเป็นภาพยนตร์ โดยมี วิกกี้ เจนสัน (Vicky Jenson) เป็นผู้กำกับ

งานสร้างสุดบรรเจิด

Shrek ภายใต้ดรีมเวิร์กส แอนิเมชัน (DreamWorks Animation) เป็นเหมือนโปรเจกต์ที่ถูกทอดทิ้งจากบริษัทแม่อย่างดรีมเวิร์กส พิคเจอร์ส เพราะทางดรีมเวิร์กสมุ่งมั่นตั้งใจกับการสร้างแอนิเมชันเรื่องอื่น เช่น The Prince of Egypt หรือ Antz เสียมากกว่า 

อีกทั้ง แอนิเมเตอร์คนใดที่ทำงานได้ไม่ดี ก็จะถูกส่งไปทำงานกับ วิกกี้ เจนสัน เพื่อช่วยสร้าง Shrek ให้เสร็จ

Shrek จึงกลายเป็นแหล่งรวมตัวของคนถูกทิ้ง เปรียบเสมือน “ค่ายกูลัก” คุกหนาวกักกันนักโทษในไซบีเรียของรัสเซียสมัยสหภาพโซเวียต เพื่อลงโทษแอนิเมเตอร์ที่ทำงานไม่ดีพอ

“การถูกส่งไปที่ ‘เชร็ค’ รู้สึกเหมือนถูกส่งไปที่ไซบีเรีย” วิกกี้ เจนสัน กล่าว

แต่การรวมตัวของกลุ่มคนเหล่านี้ที่ “มีดี” กว่าที่ใครคิด กลับทำให้แอนิเมชันเรื่องนี้ดีเกินคาด เพราะทีมงานผู้สร้าง Shrek สามารถระดมความคิดสร้างสรรค์ และสร้างผลงานออกมาโดยการระดมมุกตลกล้อเลียนเทพนิยายแฟนตาซี เพื่อทำให้ Shrek เป็นแอนิเมชันที่สนุกสนาน

ไม่ง้อพล็อตสูตรสำเร็จ

แอนิเมชันเทพนิยายแฟนตาซีของค่ายวอลท์ ดิสนีย์ ไม่ว่าจะเป็น สโนว์ไวท์ ซินเดอเรลลา หรือ เจ้าหญิงนิทรา ซึ่งเป็นเรื่องราวชีวิตนางเอกที่ต้องเผชิญกับปัญหามากมาย แต่มักคลี่คลายด้วยพลังความรัก และมีฉากจบที่สวยงาม ย่อมน่าเบื่อหน่ายสำหรับผู้ชมหลายคน

พอกันเสียทีกับสูตรสำเร็จแบบนี้ ! เพราะทีมงานผู้สร้างเรื่อง Shrek ต้องการตีโจทย์ใหม่ โดยการดัดแปลงนิทานภาพล้อเลียนเทพนิยายแฟนตาซีของ วิลเลียม สตีก 

เริ่มต้น ทีมงานได้เปลี่ยนแปลงพระเอกของเทพนิยาย จากเจ้าชายรูปหล่อบนปราสาทเรือนงาม เป็น “เชร็ค” ยักษ์เขียวรักสันโดษ ซึ่งอาศัยในบ้านริมบึงน้ำเพียงลำพัง และไม่เต็มใจนักที่จะไปช่วย “เจ้าหญิงฟิโอนา” นางเอกของเรื่อง 

ตัวละคร เชร็ค ถูกตั้งใจสร้างขึ้นเพื่อล้อเลียนความสมบูรณ์แบบของเทพนิยายแฟนตาซีโดยเฉพาะ เพราะเชร็คไม่ได้มีภาพตรงกับพระเอกเทพนิยายเลยแม้แต่น้อย แต่มันช่วยทำให้ผู้ชมสนใจว่า เชร็คจะมีพัฒนาการอย่างไร 

ผู้สร้างยังได้ปรับเปลี่ยนสัตว์คู่หูของพระเอก จากม้าเป็นเจ้าลาพูดมากชื่อ “ด็องกี้” ซึ่งเชร็คของเราไม่สามารถควบขี่เจ้าด็องกี้ไปช่วยเจ้าหญิงฟิโอนาได้ และต้องพาด็องกี้ไปด้วย เพราะมันขอติดสอยห้อยตามไปด้วย

แม้ด็องกี้จะพูดมาก แต่มันกลับเป็นตัวละครที่ผู้ชมชื่นชอบ เพราะด็องกี้ได้ช่วยทำให้เราสนุกสนานจากมุกตลกขบขัน และผลักดันให้ เชร็ค พระเอกของเรา ออกเดินทางสู่โลกภายนอก 

อีกทั้ง แอนิเมชันเรื่องนี้ยังนำตัวละครในเทพนิยายแฟนตาซีเรื่องต่าง ๆ เข้ามาสร้างสีสัน ไม่ว่าจะเป็นฉากหลัง หรือส่วนหนึ่งของเรื่องราว ซึ่งช่วยทำให้ผู้ชมสนใจว่า ตัวละครเทพนิยายทั้งหลายจะถูกปู้ยี้ปู้ยำอย่างไร รวมไปถึงมุกตลกต่าง ๆ ในเรื่องก็สามารถนำเสนอได้อย่างเป็นธรรมชาติ

ลอร์ดฟาควาดด์ ตัวร้ายของเรื่องเองก็น่าสนใจไม่น้อย เพราะผู้สร้างได้สร้างให้ตัวร้ายตัวนี้มีภาพลักษณ์น่าหมั่นไส้ เพราะนิสัย และการกระทำที่น่าเอือมระอา ยอมทำเรื่องชั่วร้ายเพียงเพื่อให้ได้ตัวฟิโอนา แต่เขาก็มีฉากฮา ๆ  ให้เราได้เห็น ซึ่งทำให้ลอร์ดฟาควาดด์เป็นตัวร้ายที่โดดเด่น และน่าจดจำ 

รวมไปถึง ฟิโอน่า เจ้าหญิงที่รอคอยผู้กล้าไปช่วยเหลือ ก็ไม่ใช่เจ้าหญิงตามขนบเทพนิยายที่แสนอ่อนแอ แต่เธอกลับเป็นหญิงแกร่งและมีความสามารถ รวมไปถึงพลังพิเศษที่เกินคาดคิด

โลกของ Shrek จึงกลายเป็นโลกเทพนิยายแฟนตาซีแบบตลกขบขัน ! ซึ่งไม่ได้เป็นตามตามสูตรสำเร็จของเทพนิยายแฟนตาซี หากเป็นการกระทำความเกรียนล้อเลียนเทพนิยาย ด้วยฝีมือของแอนิเมเตอร์ที่ถูกเททิ้ง ซึ่งทำให้ผู้ชมถูกอกถูกใจกับความแปลกใหม่ ควบคู่กับความสนุกสนาน

สำเร็จล้นหลาม

Shrek ออกฉายในโรงภาพยนตร์ในปี 2001 และทำรายได้ทั่วโลกไปกว่า 491 ล้านเหรียญสหรัฐ จนกลายเป็นภาพยนตร์ที่ทำรายได้สูงสุดอันดับสี่ของปี 2001 โดยได้รับคำชื่นชมจากนักวิจารณ์เกี่ยวกับแอนิเมชัน การพากย์เสียง และเพลงประกอบ

ไม่เว้นแม้แต่ผู้เขียนต้นฉบับอย่าง วิลเลียม สตีก ยังชื่นชมภาพยนตร์เรื่องนี้ว่า 

มันหยาบคาย น่าขยะแขยง และผมรักมัน!”

Shrek สามารถคว้ารางวัลออสการ์ปี 2002 สาขาภาพยนตร์แอนิเมชันยอดเยี่ยม และช่วยทำให้ดรีมเวิร์กส แอนิเมชัน นำตนเองเข้าสู่การแข่งขันการผลิตภาพยนตร์แอนิเมชันได้อย่างเต็มตัว

ดรีมเวิร์กสได้ต่อยอดความสำเร็จของ Shrek โดยการสร้างภาคต่ออีก 3 ภาค ได้แก่ Shrek 2 (2004), Shrek the Third (2007) และ Shrek Forever After (2010) และภาพยนตร์ภาคแยก 2 เรื่อง ได้แก่ Puss in Boots (2011) และ Puss in Boots: The Last Wish ( 2022) 

การที่ดรีมเวิร์กสให้โอกาสแอนิเมเตอร์ที่ทำงานได้ไม่ดีมีโอกาสแก้ไขความผิดพลาด ช่วยทำให้ค่ายมีทีมงานในการระดมความเกรียนเพื่อล้อเลียนเทพนิยายแฟนตาซี จนกลายเป็นแอนิเมชันเรื่อง “เชร็ค” ผลงานขึ้นหิ้งของค่าย ซึ่งช่วยทำให้ค่ายสามารถตั้งตัวในวงการภาพยนตร์แอนิเมชัน พร้อมกับทำให้ผู้ชมได้มีเสียงหัวเราะและสนุกสนานกับการรับชม

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

www.imdb.com/name/nm0912403/

nypost.com/2010/05/16/ugly-green-montrous/

www.nytimes.com/2021/05/18/movies/shrek-20th-anniversary.html

www.seattletimes.com/entertainment/the-man-behind-shrek/


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 กรกฎาคม 2566