“Perfect Blue” ภาพสะท้อนต่อสตอล์กเกอร์ และการพังทลายของความคาดหวัง

Perfect Blue
โปสเตอร์ Perfect Blue (ภาพจาก IMDb)

หากจะกล่าวถึงภาพยนตร์ญี่ปุ่นที่มีความโดดเด่นในด้านจิตวิทยาสักเรื่องหนึ่งแล้ว เชื่อว่าหลายคนคงนึกถึงภาพยนตร์เรื่อง Perfect Blue แอนิเมชันเรื่องเยี่ยมที่ตราตรึงใจใครหลายคน แต่ความโดดเด่นของเรื่องนี้ไม่ได้มีเพียงประเด็นจิตวิทยาเท่านั้น Perfect Blue ยังเป็นภาพยนตร์ที่สะท้อนปัญหาในวงการบันเทิงและสภาพสังคมยุคปัจจุบันได้อย่างแหลมคม โดยเฉพาะประเด็น “สตอล์กเกอร์” (ผู้มีพฤติกรรมสะกดรอยตาม) แม้ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะออกฉายมาตั้งแต่ ค.ศ. 1997 ก็ตาม

“ตัวตน-คาแรกเตอร์”  กุมหัวใจแฟนคลับ

ในปัจจุบันศิลปินที่ต้องออกหน้าสื่อบ่อยๆ จำเป็นจะต้องขาย “ตัวตน” ของตนเอง ไปพร้อมกันกับความสามารถที่ดึงดูดผู้คน เช่น การแสดง การร้องเพลง การเต้น การเล่นดนตรี การพากย์เสียง ฯลฯ ข้อดีของศิลปินประเภทนี้คือสามารถสร้างฐานแฟนคลับได้ง่าย เนื่องจากบางครั้งผู้คนก็มองไปที่ตัวตนก่อนความสามารถ ดังนั้นศิลปินที่มีตัวตนอันโดดเด่น ซึ่งอาจจะมาจากหน้าตา นิสัยที่แสดงออก วิธีการพูด หรือบรรยากาศของตัวศิลปิน ก็จะสามารถเข้าไปกุมเกี่ยวจิตใจของผู้คนได้ง่าย

อย่างไรก็ตาม เป็นที่รู้กันว่าตัวตนของศิลปินโดยมากแล้วเป็นสิ่งที่ถูกเลือกและสร้างขึ้นมา การเลือกคือกระบวนการพื้นฐานที่ขึ้นอยู่กับธรรมชาติทางกายภาพว่าบุคคลจะสามารถเป็นศิลปินได้หรือเปล่า ปกติแล้วขั้นตอนนี้จะใช้กับดาราหรือไอดอลที่เน้นขายหน้าตาหรือขายความเฉพาะตัวของตัวเองเป็นหลัก ส่วนการสร้างคือการกำหนดคาแรกเตอร์ของศิลปินขึ้นมา ว่าจะเป็นบุคคลที่ร่าเริงสดใส มีบรรยากาศลึกลับน่าค้นหา มีทัศนคติด้านบวก หรือใดๆ ก็ตาม ซึ่งการสร้างดังกล่าวอาจจะอิงอยู่กับตัวตนที่เป็นธรรมชาติของศิลปินหรือไม่ก็ได้

การทำเช่นนั้นคือการวางเส้นแบ่งอย่างชัดเจนว่าการเป็นศิลปินคือหน้าที่ ไม่ใช่ตัวตนทั้งหมดของคนคนหนึ่ง ดังนั้นแล้วศิลปินจึงมีอิสระในการใช้ชีวิตของตนได้ตามแต่ที่ต้องการโดยไม่ต้องอิงกับหน้าที่ 

กระนั้นในบางกรณีที่ตัวตนของศิลปินซึ่งถูกสร้างออกมา สามารถกุมเกี่ยวจิตใจของใครบางคนได้ดีเกินไป อาจนำมาซึ่งความคลั่งไคล้อย่างรุนแรงของแฟนคลับต่อศิลปิน 

โดยมากแล้วหากเป็นเช่นนี้ ความสัมพันธ์ของแฟนคลับคนดังกล่าวกับศิลปินก็จะจบอยู่แค่ Parasocial Relationship (การรักคนที่ไม่รู้จักกันจริงๆ อย่างบ้าคลั่ง) เท่านั้น เพราะเส้นแบ่งได้ถูกขีดไว้แล้วอย่างชัดเจน แต่หากแฟนคลับมองไม่เห็นเส้นแบ่งนั้น ความเป็นไปได้ในแง่ร้ายต่างๆ ก็จะเกิดขึ้น 

สิ่งนี้เองคือภาพสะท้อนที่ออกมาจากส่วนหนึ่งของภาพยนตร์แอนิเมชันอย่าง Perfect Blue ผลงานที่จะตั้งคำถามกับผู้ชมว่า เส้นแบ่งระหว่างความจริงกับความฝันอยู่ตรงไหน

Perfect Blue ส่วนหนึ่งของเนื้อหาและความทรมานของมิมะ

Perfect Blue ภาพยนตร์แอนิเมชันแนวจิตวิทยา ระทึกขวัญ ความยาว 81 นาที เนื้อหาดัดแปลงมาจากนวนิยายชื่อเดียวกันของโยชิคาซุ ทาเคอุจิ (Yoshikazu Takeuchi) เขียนบทภาพยนตร์โดย ซาดายูกิ มุราอิ (Sadayuki Murai) ภายใต้การกำกับของ ซาโตชิ คอน (Satoshi Kon) ที่เป็นผู้กำกับคู่บุญของสตูดิโอ Madhouse ผู้ผลิตภาพยนตร์เรื่องนี้รวมถึงภาพยนตร์เรื่องต่อๆ ไปของซาโตชิ คอนด้วย ออกฉายครั้งแรกปี 1997 ในงานเทศกาลภาพยนตร์ Fant-Asia ที่เมืองมอนทรีออล กรุงควิเบค ประเทศแคนาดา และเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่ได้รับการตอบรับดีที่สุดในงาน

เนื้อหาว่าด้วยเรื่องราวของ “มิมะ” ศิลปินสาวในวงไอดอลนามว่า CHAM มีสมาชิก 3 คนรวมมิมะ แม้จะเป็นวงที่มีแฟนคลับติดตามอยู่พอสมควร แต่ก็ไม่ถือว่าเป็นวงที่โด่งดัง ทำให้เมื่อมิมะได้รับการทาบทามให้ไปเป็นนักแสดง แม้จะถูกคัดค้านจาก “รูมิ” ผู้จัดการสาวของเธอ แต่เธอก็เลือกตอบตกลงและจบการศึกษา (ลาออก) จากวงไอดอลนั้นไปเพื่อความก้าวหน้าของตน ถึงจะไม่ได้ชอบการเป็นนักแสดงก็ตาม

หลังจากนั้น มิมะได้รู้จักกับเว็บไซต์ชื่อว่า “ห้องของมิมะ” มาจากแฟนคลับ ซึ่งเนื้อหาในเว็บไซต์ก็คือเรื่องส่วนตัวของมิมะที่ทั้งถูกถ่ายและถูกเขียนเป็นไดอารี่อย่างละเอียดราวกับว่าเธอเขียนเอง สิ่งนั้นทำให้มิมะรู้สึกหวาดวิตก พลางคิดว่าใครกันที่กำลังสอดส่องเรื่องราวส่วนตัวของเธออยู่ แม้จะหวาดวิตกแต่เธอก็ได้เริ่มต้นอาชีพนักแสดงอย่างเต็มตัว และในช่วงเวลาเดียวกันนี้เองที่มิมะได้ถูกขู่ทำร้ายจากใครบางคน

มิมะยังคงเป็นนักแสดงต่อไปเรื่อยๆ และเพื่อความก้าวหน้าแล้วก็จำเป็นต้องรับงานให้มากขึ้น เล่นบทได้หลากหลายมากขึ้น โป๊เปลือยมากขึ้น จุดพลิกผันสำคัญเกิดขึ้นเมื่อมิมะต้องเล่นฉากหนึ่งที่ร่างกายของเธอต้องถูกล่วงละเมิดจากชายนับสิบ เมื่อเล่นฉากแบบนั้นไปแล้วแน่นอนว่าภาพลักษณ์ความเป็นไอดอลของมิมะก็ได้ถูกลบหายไปโดยสมบูรณ์

เมื่อรับแรงกดดันทางจิตใจจากการฝืนทำในสิ่งที่เกลียดไม่ไหวก็เริ่มพังทลาย และเธอก็เริ่มเห็นมิมะอีกคน ตัวตนนั้นคือตัวเธอที่สวมชุดสมัยที่ยังเป็นไอดอลอยู่ พร้อมกับพร่ำบอกว่าการเป็นไอดอลต่างหากคือตัวเธอที่แท้จริง หลังจากนั้นเองที่คนรอบตัวของมิมะก็ค่อยๆ ถูกฆาตกรรมไปทีละคน พร้อมกันกับที่ตัวมิมะได้รับภาระทางจิตใจ จนเธอเริ่มแยกไม่ออกว่าสิ่งไหนคือความจริงหรือความฝัน

ระหว่างที่เนื้อเรื่องทั้งหมดกำลังดำเนินไป ผู้ชมจะได้รู้จักชายคนหนึ่งซึ่งเป็นแฟนคลับเดนตายของมิมะ เขาได้แสดงพฤติกรรมสตอล์กเกอร์ชีวิตส่วนตัวของมิมะมาทั้งเรื่อง ในช่วงท้ายของเรื่องราวจะเห็นได้ว่าที่เป็นเช่นนี้เพราะเขายังยึดติดกับตัวตนของมิมะในฐานะไอดอล ซ้ำยังบอกว่ามิมะที่เป็นนักแสดงคือตัวปลอม แต่ตัวจริงคือคนที่เขียนไดอารี่ลงเว็บ ซึ่งได้บอกกับเขาว่าต้องกำจัดปัจจัยทั้งหมดเพื่อทำให้มิมะตัวจริงกลับคืนมา

จุดที่น่าสนใจของเนื้อหาส่วนนี้คือความยึดติดของสตอล์กเกอร์ เขาไม่อาจมองเห็นถึงตัวตนอื่นของมิมะได้นอกจากตัวตนที่เป็นไอดอลอันสดใส ร่าเริง หรือบริสุทธิ์ และเมื่อเขาเห็นถึงตัวตนของมิมะในฐานะนักแสดงซึ่งละทิ้งความเป็นไอดอลไปหมดแล้ว จึงรู้สึกว่าตนเองถูกทรยศ ดังนั้นเมื่อได้เห็นตัวตนไอดอลของมิมะกลับมาอีกครั้ง แม้จะผ่านตัวหนังสือบนอินเทอร์เน็ตก็ตาม เขาเลยเชื่อสุดใจว่าตนกำลังทำสิ่งที่ถูกต้อง

กลายเป็นว่าตัวตนของมิมะอีกคนที่เป็นไอดอลกลับมีบทบาทต่อใครสักคนนอกจากตัวมิมะเองขึ้นมา และปริศนาเหล่านั้นเองที่นำไปสู่บทสรุปน่าพิศวงของภาพยนตร์ แต่ก่อนหน้านั้น สิ่งหนึ่งที่เห็นได้จากเรื่องราวก็คือ ตัวตนของมิมะในฐานะไอดอลได้กลายเป็นความจริงสำหรับสตอล์กเกอร์ และเป็นมาตั้งแต่ก่อนที่มิมะร่างปริศนาจะมาสวมรอยเป็นมิมะไอดอลเสียอีก 

สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ปรากฏเฉพาะในภาพยนตร์เท่านั้น หากแต่ปรากฏในชีวิตจริงเช่นกัน และนำมาซึ่งปัญหาสุดคลาสสิคที่ไม่ว่าจะเป็นไอดอลหรือศิลปินก็มีโอกาสพบเจอได้ทั้งสิ้น นั่นคือปัญหาสตอล์กเกอร์ หรือคนที่มีพฤติกรรมติดตามและคุกคามผู้อื่น

สตอล์กเกอร์ ภัยร้ายจากแฟนคลับที่แยกความจริงกับความฝันไม่ออก

ในภาพยนตร์จะเห็นว่า แฟนคลับชายคนนั้นทุกข์ทรมานอย่างมากเมื่อมิมะมีงานแสดงมากขึ้นและเริ่มเล่นฉากวาบหวิว เขามองว่ามิมะควรดูบริสุทธิ์และเป็นรอยยิ้มให้กับเขา จากความคาดหวังที่ถูกทำลาย สิ่งนั้นได้ส่งผลให้เขากระทำเรื่องเลวร้ายขึ้นมา โครงสร้างเหล่านี้เองที่สะท้อนถึงความเป็นจริงที่ศิลปินหลายคนเคยได้พบเจอ

เคสที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุดเคสหนึ่งเกิดขึ้นในวันที่ 26 พฤษภาคม ค.ศ. 2016 มายุ โทมิตะ (Mayu Tomita) อดีตไอดอลสาววัย 20 ปี ที่ถูก โทโมฮิโระ อิวาซากิ (Tomohiro Iwazaki) ชายวัย 27 ปี กระหน่ำแทงเนื่องจากเธอปฏิเสธของขวัญที่เขามอบให้จนเธอได้รับบาดเจ็บสาหัส ซึ่งที่ผ่านมาตัวผู้ก่อเหตุมีพฤติกรรมคุกคามอดีตไอดอลผ่านทางโซเชียลมีเดียมาแล้วหลายครั้ง ทั้งการขู่ฆ่า ถามถึงเรื่องส่วนตัว หรือต่อว่าเรื่องที่เธอเลิกเป็นไอดอล คดีนี้เองกลายเป็นปัจจัยสำคัญให้ญี่ปุ่นประกาศใช้กฎหมายเกี่ยวกับพฤติกรรมสตอล์เกอร์ในโซเชียลมีเดียขึ้นมา

ผู้ก่อเหตุในคดีนี้คือแฟนคลับเดนตายของโทมิตะ เขาพยายามอย่างยิ่งที่จะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตเธอ เพราะเขาเชื่อจริงๆ ว่าโทมิตะมีสัมพันธ์บางอย่างกับเขา และเมื่อเธอแสดงตัวตนในแบบที่เขาไม่ได้คิดไว้ จึงเป็นสิ่งที่ทำให้เขารู้สึกเหมือนถูกทรยศหักหลังและเกิดความแค้น

อีกหนึ่งกรณีอันน่าสะพรึงคือกรณีที่เอนะ มัตสึโอกะ (Ena Matsuoka) ศิลปินนักร้องวัย 21 ปี ถูกแฟนคลับผู้คลั่งไคล้ ฮิบิกิ ซาโต้ (Hibiki Sato) แกะรอยที่อยู่ของเธอผ่านภาพสะท้อนจากดวงตาของเธอ ซึ่งซาโต้เอามาจากภาพถ่ายของมัตสึโอกะที่โพสต์ลงโซเชียลมีเดีย จากนั้นเขาจึงแอบตามไปที่บ้าน ก่อนพุ่งเข้าจู่โจมเธอ เคราะห์ดีที่นักร้องสาวไม่ได้รับบาดเจ็บร้ายแรง แต่เหตุการณ์นี้ก็จะทำให้เธอหวาดระแวงไปอีกนานเลยทีเดียว

ปัญหาในลักษณะนี้นอกเหนือจากที่ญี่ปุ่นแล้ว ชาติอื่นก็ปรากฏให้เห็นเช่นกัน อย่างในเกาหลี ศิลปินอย่างนายอน (Nayoen) จากวง Twice โดนชาวเยอรมันคนหนึ่งตามสตอล์กขึ้นมาคุกคามบนเครื่องบินเดียวกัน ซ้ำยังมีการข่มขู่ว่าหากนายอนมีแฟนจะฆ่าทิ้งซะ หรือในกรณีของไทย ก็มีกรณีที่มินตัน เน็ตไอดอลชาวไทย โดนคุกคามจากสตอล์เกอร์ทั้งทางโซเชียลมีเดียและทางชีวิตจริงมาเป็นเวลาหลายปี โดยทำตัวประหนึ่งว่าเป็นแฟนหนุ่มของเธอ

จากตัวอย่างต่างๆ ดังกล่าวจะเห็นได้ว่า เมื่อใดที่แฟนคลับผู้มีแรงขับเคลื่อนด้านลบเกิดมองไม่เห็นเส้นแบ่งระหว่างศิลปินกับผู้ชมขึ้นมา การตั้งความคาดหวังต่อตัวตนที่ถูกสร้างของศิลปินก็จะเกิดขึ้น คาดหวังว่าศิลปินจะต้องมองตัวเอง ตอบรับต่อคำพูดของตน คงภาพลักษณ์แท้จริงแบบที่ตนมองเห็นผ่านหน้าสื่อ 

เหมือนดั่งตัวตนที่เป็นไอดอลของมิมะ ได้ถูกตั้งความคาดหวังซึ่งไม่สามารถตอบรับได้จากแฟนคลับผู้คลั่งไคล้จนเกินไป จนเมื่อความคาดหวังถูกทำลาย ความเลวร้ายก็มาเยือน ภาพสะท้อนจากภาพยนตร์ในลักษณะนี้เองอาจช่วยให้สามารถอธิบายถึงที่มาที่ไป และเข้าใจถึงความคิดของสตอล์กเกอร์ได้มากยิ่งขึ้น

หมายเหตุ : ทั้งหมดเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่สะท้อนออกมาจากภาพยนตร์เรื่อง Perfect Blue เพียงเท่านั้น ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังประกอบไปด้วยประเด็นทางจิตวิทยา ซึ่งจะแสดงให้เห็นถึงความคลุมเครือของเส้นแบ่งระหว่างความจริงและความฝัน ในประเด็นที่มากยิ่งกว่าศิลปินกับสตอล์กเกอร์ รวมถึงความโดดเด่นในด้านการตัดต่อ งานภาพที่สวยงาม หรือปริศนาที่ถูกวางไว้อย่างยอดเยี่ยมและในที่นี้ยังไม่ได้กล่าวถึง ทั้งหมดเป็นสิ่งที่ควรค่าแก่การสัมผัสและเข้าไปหาคำตอบด้วยตัวเอง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ชัยยะ ฤดีนิยมวุฒิ (26 พฤษภาคม 2566). ความสัมพันธ์แบบ Parasocial รักข้างเดียวที่แสนแฮปปี้. Branthink. https://www.brandthink.me/content/parasocial/

วริธฐา แซ่เจีย. (18 กันยายน 2562). แอบตามเธออยู่นะจ๊ะ : อันตรายของการทำให้ ‘สตอล์กเกอร์’ เป็นเรื่อง โรแมนติก. The Matter. https://thematter.co/social/stalking-is-not-romantic/85225

ธันยธร ระงับพิษ. (ม.ป.ป.). Perfect Blue : ไอดอลก็คือคน. Daco Thai. https://www.daco-thai.com/perfect- blue/

Kuchikomi (2016). Attack on singer sheds light on risks of stalkers-in-waiting. Japan Today. https://japantoday.com/category/features/kuchikomi/attack-on-singer-sheds-light-on-risks-of-stalkers-in-waiting

Perfect Blue. (n.d.) Wikipedia. https://en.wikipedia.org/wiki/Perfect_Blue

Yoko Wakatsuki and Julia Hollingsworth (2019). Japanese pop star Mayu Tomita sues government for inaction over stalker who stabbed her. CNN. https://edition.cnn.com/2019/07/12/asia/japan-mayu- tomita-sues-stalking-intl-hnk/index.html


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 31 พฤษภาคม 2566