ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกรกฎาคม 2549 |
---|---|
ผู้เขียน | ศิริธาดา กองภา |
เผยแพร่ |
ใน ค.ศ. 1972 Hadashi no Gen การ์ตูนสะท้อนปัญหาสงคราม ผลงานของ เคอิจิ นาคาซาวา ได้สั่นสะเทือนวงการมังงะ (การ์ตูนญี่ปุ่น) ของญี่ปุ่น เมื่อเขานำการ์ตูนชุดนี้ลงตีพิมพ์เป็นตอนๆ ครั้งแรกใน Shukan Shonen Jampu นิตยสารการ์ตูนรายสัปดาห์ที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นในยุคนั้น และมีผู้อ่านมากกว่า 200 ล้านคน
การ์ตูนเรื่องนี้กินใจคนญี่ปุ่นด้วยการปลุกจิตสำนึกเกี่ยวกับความโหดร้ายของสงครามและเนื้อเรื่องที่เต็มเปี่ยมไปด้วยอารมณ์ ภาพการ์ตูนได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางจากคำวิจารณ์ของครูบาอาจารย์ พ่อแม่ ผู้ปกครอง และจากกลุ่มนักอ่านรุ่นเยาว์ของ Shonen Jampu
ด้วยเนื้อหาที่ทรงพลังและภาพประกอบลายเส้นสวยงาม ทำให้หนังสือดังกล่าวได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆ กว่า 10 ภาษาแล้ว
เรื่องนี้เปรียบเสมือนกระจกเงาสะท้อนชีวิตช่วงหนึ่งของเคอิจิ นาคาซาวา ผู้เขียน เขามีอายุเพียง 6 ขวบเท่านั้นในวันที่อเมริกาทิ้งระเบิดปรมาณูที่เมืองฮิโรชิมาและนางาซากิ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เขาเป็นหนึ่งในผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์นั้น แม้จะรู้สึกว่าตนเองโชคดี แต่ก็เทียบไม่ได้กับความน่ากลัวของสงครามที่นำพาหายนะมาสู่ฮิโรชิมาบ้านเกิดของเขา นาคาซาวาได้บอกเล่าเรื่องราวเหล่านี้ผ่านตัวละครที่ชื่อเก็น เด็กชายอายุ 6 ขวบ และครอบครัวของเขาที่ต้องเอาชีวิตรอดหลังจากวันที่อเมริกาประกาศชัยชนะเหนือประเทศเล็กๆ ด้วยระเบิดปรมาณู
เนื้อหาโดยรวมกล่าวถึงวันที่อเมริกาทิ้งระเบิดใส่เมืองฮิโรชิมา บรรยายภาพชีวิตที่ลำเค็ญของชาวญี่ปุ่นในช่วงสงคราม ความอดอยาก หิวโหย ความเจ็บป่วยจากกัมมันตภาพรังสี และการตายอย่างทุกข์ทรมานระบาดไปสู่ประชาชนชาวฮิโรชิมา การพลัดพรากจากครอบครัว และการคลั่งไคล้สงครามชาตินิยมที่ปลูกฝังโดยรัฐบาลทหารในยุคนั้น โลกที่เคยสวยงามของเก็นพลิกผันกลายเป็นโลกที่เต็มไปด้วยความหายนะ…และความมืดมิด
ใน ค.ศ. 2004 นาคาซาวาพูดถึงการ์ตูนเล่มนี้ว่า
“ผมตั้งชื่อตัวละครเอกว่า “เก็น” (ภาษาญี่ปุ่นแปลว่าราก) เพราะหวังว่าเขาจะเป็นเสมือนรากฐานหรือบ่อเกิดแห่งความเข้มแข็งสำหรับคนรุ่นหลัง คนที่สามารถเดินเท้าเปล่าบนผืนดินอันมอดไหม้ของเมืองฮิโรชิมา รู้สึกถึงผืนแผ่นดินที่อยู่ใต้เท้า และมีความเข้มแข็งพอที่จะพูดว่า ‘เราขอปฏิเสธอาวุธนิวเคลียร์’ ตัวผมเองต้องการมีชีวิตอยู่อย่างแข็งแกร่งเหมือนกับเก็น นั่นคือสิ่งที่อยู่ในอุดมคติของผม และผมจะฉายภาพเหล่านี้ผ่านงานของผมต่อไป
“พวกเขาอยากรู้ว่าสงครามและระเบิดปรมาณูเป็นอย่างไร เป็นครั้งแรกที่ผู้คนได้รับทราบความจริง สิ่งที่พวกเขาบอกกับผมทุกๆ ที่ที่ผมไปคือ รัฐบาลไม่ต้องการเสี่ยงที่จะปลุกให้ประชาชนฮึกเหิมและต่อต้านอเมริกัน แต่นั้นแหละ ความจริงก็ย่อมเป็นความจริง คนเหล่านั้นสามารถบอกได้ว่าเกิดอะไรขึ้น ถ้าคุณมีชีวิตอยู่กับระเบิดปรมาณู คุณจะรู้ว่าสงครามเป็นสิ่งที่น่าสยดสยอง ไม่สามารถหลีกเลี่ยงความเสียหายที่ตามมา เป็นการตัดสินโดยปราศจากเหตุผลอันควร”
ต่อมา การ์ตูนนี้ได้รับการสร้างเป็นภาพยนตร์แอนิเมชันใน ค.ศ. 1983 และได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในภาพยนตร์แอนิเมชันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยสร้างมา
เคอิจิ นาคาซาวา เป็นอัจฉริยะในการสร้างสรรค์โดยแท้จริง เขาไม่ได้เขียนประวัติศาสตร์ขึ้นมาใหม่ แต่บอกเล่าเรื่องจริงทั้งหมดที่เกิดขึ้น เขาไม่ได้โทษลัทธิจักรวรรดินิยมของญี่ปุ่น และไม่ได้ตำหนิชาวญี่ปุ่นที่หน้ามืดตามัวสนับสนุนเหล่านักรบและนำมาซึ่งความหายนะ เขาไม่ได้สะท้อนทัศนคติเหล่านี้ลงไปในคาแรกเตอร์ตัวละครของเขาเลย ตรงกันข้าม เขาเขียนการ์ตูนเรื่องนี้ขึ้นมาเพื่อหวังว่าจะเป็นเครื่องเตือนให้ระลึกถึงความโหดร้ายและความทุกข์ทรมานที่สงครามได้หยิบยื่นให้กับผู้บริสุทธิ์ และให้ผู้คนจากทุกมุมโลกได้รับรู้ความน่ากลัวของมหันตภัยนี้ร่วมกัน เพื่อที่จะหาทางป้องกันไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยในอนาคต
Hadashi no Gen เป็นผลงานคลาสสิคที่ทุกคนควรจะมีไว้สะสม และเป็นข้อพิสูจน์ว่า การ์ตูนไม่ได้มีไว้สำหรับเด็กเท่านั้น เรื่องราวที่สะท้อนผ่านลายเส้นออกมาสามารถเข้าถึงผู้อ่านได้ทุกเพศทุกวัย
อ่านเพิ่มเติม :
- “สุสานหิ่งห้อย” จากเรื่องจริง สู่ภาพยนตร์แอนิเมชั่นที่เล่าถึงโศกนาฎกรรมในสงคราม
- น้ำตาเด็กท่ามกลางซากปรักหักพัง หลังสหรัฐฯ ทิ้งระเบิดปรมาณูใส่เมืองฮิโรชิมา
- 9 สิงหาคม 1945 สหรัฐฯ ทิ้งระเบิดปรมาณู “ไอ้อ้วน” ถล่มนางาซากิ
- เปิดชีวิตของ ซึโตมุ ยะมะกุจิ ผู้รอดจากระเบิดปรมาณูทั้งที่ฮิโรชิมา และนางาซากิ
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อ 25 พฤษภาคม 2560