“เลือดสุพรรณ” ทำไมเป็นสัญลักษณ์ปลุกใจเรื่องความร่วมมือสามัคคี

การแสดง โรงละคร เลือดสุพรรณ
ละครเรื่องเลือดสุพรรณ จัดการแสดงโดยจังหวัดสุพรรณบุรีและกรมศิลปากร ณ โรงละครแห่งชาติภาคตะวันออก จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อปี 2545

“เลือดสุพรรณ” เป็นคำพูดเรียกความร่วมมือสามัคคีที่ใช้กันบ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็น เลือดสุพรรณไปไหนไปกัน, เลือดสุพรรณไม่ทิ้งกัน, และอีกหลากหลายเลือดสุพรรณ… ว่าแต่ทำไมต้องเป็นเลือดสุพรรณ คำพูดนี้กลายมาเป็นเครื่องปลุกใจได้อย่างไร? 

เลือดสุพรรณเป็นละครเพลงเรื่องแรกของหลวงวิจิตรวาทการ ที่ใช้เวลาในการเตรียมการสร้างละครเรื่องนี้ยาวนานถึง 2 ปี ก่อนจะเปิดการแสดงครั้งแรกในปี 2479

หลวงวิจิตรวาทการ กำหนดให้ละครเลือดสุพรรณเป็นสงครามไทยกับพม่า โดยเลือก “พม่า” เป็นผู้ร้าย เพราะในประวัติศาสตร์ไทย เมื่อกล่าวถึงศัตรูและคู่สงคราม มักคิดถึงพม่าก่อน

ส่วนที่เลือก “เมืองสุพรรณ” เป็นสถานที่เกิดเหตุในเรื่อง เพราะมีกลิ่นอายประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง เมื่อพม่าเดินทัพเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์เข้าสู่เมืองกาญจนบุรีแล้ว

โดยทั่วไปจะมุ่งทัพต่อมาทางเมืองสุพรรณ ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ที่สำคัญด้านตะวันตก ก่อนบุกเข้าสู่กรุงศรีอยุธยา นอกจากนี้ ดอนเจดีย์ สุพรรณบุรี ก็ได้รับการกำหนดซากเจดีย์แห่งหนึ่ง ว่านี่คือเจดีย์อนุสรณ์ของการชนช้างกันระหว่างพระนเรศวรกับพระมหาอุปราช ในคราวสงครามประกาศอิสรภาพของอยุธยา

เนื้อหาของเรื่อง ไม่ผูกอยู่กับเรื่องในพงศาวดาร ทำให้ละครเลือดสุพรรณนั้นมีบริบทที่อยู่เหนือกาลเวลา ดังนั้นบทละครเลือดสุพรรณจึงไม่ต้องกล่าวถึงยุคสมัยเฉพาะ ไม่ต้องอ้างอิงถึงการปกครองและพระนามของกษัตริย์ทั้ง 2 ฝ่าย ไม่ต้องใช้ราชาศัพท์

นั่นเป็นเหตุผลว่า ทำไมไม่เป็นเลือดบางระจัน ในเมื่อชาวบางระจัน คือตัวจริงที่ร่วมมือร่วมใจกันสู้กับพม่า หรือเลือดอยุธยา เลือด… 

ส่วนเนื้อหาก็เป็นเรื่องของสงครามและความรักที่สมมุติ เมื่อกองทัพพม่าได้บุกเข้าสู่ดินแดนไทยในอดีต และจับตัวชาวบ้านที่อยู่ในเมืองสุพรรณมาเป็นเชลยทำงาน มีทหารพม่าที่ทารุณ ข่มแหง รังแกเชลยชาวไทย หากพระเอกของเรื่องซึ่งเป็นทหารพม่าเช่นกันทั้งเป็นลูกของแม่ทัพเข้ามายุติการกระทำดังกล่าว

นางเอกเป็นลูกเชลยไทย ขอร้องพระเอกให้ปล่อยเชลยไทย พระเอกที่หลงรักนางเอกก็ปฏิบัติตามคำขอ เมื่อพาเชลยไปหลบซ่อนแล้ว นางเอกก็ย้อนกลับมาเพื่อรับโทษร่วมกับพระเอก แต่พระเอกได้ถูกลงโทษประหารไปเรียบร้อยแล้ว นางเอกจึงกลับมาหาพ่อแม่ แต่ทั้งคู่ก็ถูกพม่ามาแก้แค้นลอบฆ่า สุดท้ายนางเอกจึงรวบรวมผู้คนไปสู้กับพม่า

เนื้อเรื่องตอนนี้ ในเพลงเลือดสุพรรณ ที่เป็นผลงานของหลวงวิจิตรวาทการเช่นกัน เขียนไว้ในท่อนสร้อยที่ร้องซ้ำๆ ว่า “มาด้วยกัน มาด้วยกัน เลือดสุพรรณเอ๋ยเลือดสุพรรณ เข้าประจันอย่าได้พรั่นเลย” ซึ่งกลายเป็นที่จดจำ เพราะสมัยหนึ่งนี่คือเพลงปลุกใจที่ร้องติดปาก

กลับมาที่ละครเลือดสุพรรณอีกครั้ง เมื่อนางเอกลุกขึ้นสู้ด้วยอาวุธเท่าที่มีและทักษะแบบชาวบ้าน ผลการต่อสู้ คือฝ่ายของนางเอกแพ้ทหารพม่า ทุกคนรวมถึงนางเอกตายหมด

ฉะนั้น เวลาใครชวนท่านไปร่วมทำอะไร แล้วบอกว่า “เลือดสุพรรณ…” โปรดระลึกว่า เลือดสุพรรณร่วมมือสามัคคีแค่ไหนก็ตายตอนจบ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : บทความนี้ เขียนเก็บความจาก ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. “เลือดสุพรรณ : ปลูกใจผู้หญิงไทยให้รักชาติและลุกรบ” ใน, ศิลปวัฒนธรรม กันยายน 2559.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 พฤษภาคม 2566