เบื้องหลัง เพลงปลุกใจ-เพลงรัฐนิยม ครั้ง “กรมโฆษณาการ” สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม

วงดนตรีของกรมโฆษณาการรุ่นแรก ถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2482

ก่อนที่จะมาเป็นกรมประชาสัมพันธ์อย่างในทุกวันนี้ หน่วยงานแห่งนี้ก่อร่างมาจาก “กรมโฆษณาการ” ที่ก่อตั้งขึ้นในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม

กรมโฆษณาการเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการประชาสัมพันธ์นโยบายของรัฐในสมัยนั้นอย่างมาก

Advertisement

ในงานสโมสรศิลปวัฒนธรรมเสวนา “เพลงแห่งความหลัง ครั้งกรมโฆษณาการ” วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤษภาคม 2565 ร่วมเสวนาโดย คุณนิตยา อรุณวงศ์ (โฉมฉาย อรุณฉาน) และคุณบูรพา อารัมภีร พูดคุยเบื้องหลังการทำเพลงและวงดนตรีของกรมโฆษณาการในยุคแรกเริ่ม

คุณนิตยา อรุณวงศ์ อธิบายว่า วงดนตรีของกรมประชาสัมพันธ์นั้น แต่เดิมต้นเค้าเริ่มจากดนตรีไทยก่อน ในยุคนั้นยังไม่มีดนตรีสากล จนกระทั่งถึงยุคของหลวงสุขุมนัยประดิษฐ์ หรือประดิษฐ์ สุขุม อดีตอธิบดีกรมโฆษณาการ ไปเชิญนักดนตรีจากกรมศิลปากรทั้งหมด 7 ท่าน ที่สำคัญคือ ครูเอื้อ สุนทรสนาน มาทำวงดนตรีของกรม และหลวงสุขุมนัยประดิษฐ์ยังได้นำโน้ตดนตรีสากลมาจากต่างประเทศ เพื่อให้เกิดเพลงแจ๊ส ดังนั้น วงดนตรีของกรมโฆษณาการในยุคแรกจึงเป็นแนวเพลงแจ๊ส เช่น เพลงคนึงครวญ

ต่อมาเพลงของวงดนตรีกรมโฆษณาการก็ได้รับการพัฒนาขึ้นมาเรื่อย ๆ ตามลำดับ โดยมีครูเอื้อเป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญที่ช่วยแต่งเพลงขึ้นมามากมาย และเริ่มมีเพลงที่เป็นของวงดนตรีเอง โดยเฉพาะแนวเพลงปลุกใจ คุณนิตยา อรุณวงศ์ กล่าวว่า “ดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ทำหน้าที่นำนโยบายจากรัฐสู่ประชาชน โดยใช้บทเพลงเป็นสื่อ”

ภายในงาน คุณนิตยา อรุณวงศ์ และวงดนตรีของกรมประชาสัมพันธ์ นำเสนอบทเพลงที่เรียกได้ว่าเป็นเพลงรัฐนิยม กล่าวคือ เป็นเพลงที่แต่งขึ้นเพื่อประชาสัมพันธ์และส่งเสริมให้ประชาชนปฏิบัติตามรัฐนิยมหรือข้อควรปฏิบัติที่รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม กำลังสร้างประดิษฐกรรมของ “ความเป็นไทย” ขึ้นในสังคม เช่น การส่งเสริมการกินก๋วยเตี๋ยว การเชิญชวนให้คนไทยสวมหมวก หรือการสร้างอุปนิสัยให้คนไทยมีระเบียบ

เพลงสร้างระเบียบ

สร้างระเบียบ คือวาง ทางสร้างชาติ

ให้มุ่งมาตร เจริญเทียบ ทัดเทียมเขา

ไทยยุคใหม่ สร้างไทย ไว้เพริศเพรา

สมไทยเนา อารยะ ประเสริฐเอย

เพลงสวมหมวก

เชิญซิคะเชิญร่วมกันสวมหมวก

แสนสะดวกสบายด้วยทั้งสวยหรู

ปรุงใบหน้าให้อร่ามงามหน้าดู

อีกจะชูอนามัยให้มั่นคง

เพลงก๋วยเตี๋ยว

ก๋วยเตี๋ยว ก๋วยเตี๋ยว ก๋วยเตี๋ยว ของไทยใช้ พืชผลที่เกิดในไทยรัฐทั้งสิ้น

ทรัพย์ในดินหาได้ทั่วไป ช่วยซื้อขายให้มั่งมี เพราะไทยเรานี้ช่วยกันตลอดไป

สำหรับเกร็ดเกี่ยวกับ “เพลงสวมหมวก” ที่ มัณฑนา โมรากุล ซึ่งเป็นผู้ขับร้องเพลงนี้ เล่าความหลังให้กับคุณนิตยา อรุณวงศ์ ถึงความขบขันในยุคสมัยของรัฐนิยม ที่แม้ มัณฑนา โมรากุล เป็นผู้ขับร้องเพลงนี้แต่ก็ลืมสวมหมวกเสียเอง จนโดนจอมพล ป. พิบูลสงครามตำหนิ ดังที่ คุณนิตยา อรุณวงศ์ เล่าไว้ความว่า

“พี่มัณฑนาเขาเล่าให้ฟัง ยุคนั้นเป็นยุคที่เชิญชวนสวมหมวกใช่ไหมคะ เป็นข้าราชการก็ต้องสวมหมวก พี่มัณฑนาก็บอกว่า ไอ้เราก็เผลอนั่งรถป๊อกป๊อกไป แล้วก็ไม่ได้ใส่หมวก ก็พอดีสวนกับรถท่านผู้นำพอดี ก็โดนเรียกเข้าไปสอบ พี่มัณฑนาบอก พี่นะกลัวมาก กลัวตัวสั่นเลยว่า จะโดนทำโทษอะไร ที่จริงท่านก็เหมือนดุ พยายามให้จำว่าคนใส่หมวก แต่ไม่ได้ทำโทษอะไรหรอก…ให้ตอกย้ำว่าคุณเป็นคนร้องเพลงสวมหมวก คุณเชิญชวนเขาแล้วคุณก็ต้องทำอย่างนั้นด้วย อันนี้เป็นเรื่องตอนนั้นเรื่องจริงนะ เพราะพี่มัณฑนาเล่าเอง…”

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า เพลงของกรมโฆษณาการในยุคแรกจึงเป็นเพลงในลักษณะที่มีการรับใช้รัฐเพื่อนำเสนอนโยบายของรัฐลงสู่ประชาชน ซึ่งกรมโฆษณาการก็อยู่ภายใต้การดูแลกวดขัดจากรัฐอย่างเข้มข้น ไม่เว้นแม้แต่เพลงรักทั่วไปอย่าง เพลงดำเนินทราย ที่ถูกขอให้เปลี่ยนเนื้อร้องเพราะท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม เห็นว่ามีคำวาบหวิว ดังที่ คุณนิตยา อรุณวงศ์ อธิบายว่า

“เนื้อเดิม ‘จะกอดจะจูบทั้งคืนได้ไหม จะกอดจะจูบทำไม เสียใจเอย’ ท่านผู้หญิงละเอียดบอกว่า มันหยาบ มันเป็นคำไม่สุภาพ ช่วยเปลี่ยนหน่่อย ก็เปลี่ยนเป็น ‘จะอยู่กับพี่ทั้งคืนได้ไหม จะอยู่ก็ได้เป็นไร ขวัญใจเอย'”

ซึ่งทั้ง คุณนิตยา อรุณวงศ์ และคุณบูรพา อารัมภีร เห็นพ้องว่า เนื้อเพลงแบบใหม่ก็วาบหวิวไม่แพ้เนื้อเดิม และอาจจะดู “โป๊” กว่าเสียอีก เพราะ “จะกอดจะจูบทั้งคืนได้ไหม” มีเพียงกอดและจูบ แต่ “จะอยู่กับพี่ทั้งคืนได้ไหม” มีอะไรแอบแฝงมากกว่านั้น

นอกจากเพลงที่ส่งเสริมรัฐนิยมอย่างเพลงสวมหวก และเพลงรักอย่างเพลงดำเนินทราย ดังกล่าวแล้ว เพลงแนวปลุกใจอย่าง เพลงถิ่นไทยงาม ก็มีเกร็ดเบื้องหลังอยู่ด้วย โดย คุณนิตยา อรุณวงศ์ เล่าว่า ในสมัยนั้นกรุงเทพฯ แออัด รัฐพยายามส่งเสริมภาพลักษณ์ของภาคเหนือของประเทศไทย เพื่อให้คนย้ายออกไปยังต่างจังหวัดมากยิ่งขึ้น

เนื้อเพลงนี้ร้องว่า “เห็นแดนแผ่นดินท้องถิ่นไทยงาม ดูอยู่ด้วยความเพลินใจนิยม อากาศก็ดี น่าสบาย พระพายรื่นรมย์ ใครได้มาชมคงชื่นในใจ…หมายถึงแผ่นดินท้องถิ่นทางเหนือ ประเสริฐเลิศเหลือจะพรรณนา ทั่วบ้านทั่วเรือนครอบครัวสวนครัวเกลื่อนตา มีผักมีปลานาไร่น่าชม”

ซึ่งเพลงถิ่นไทยงามก็เป็นหนึ่งในเพลงปลุกใจแห่งยุคของการปลุกสร้างประดิษฐกรรมของ “ความเป็นไทย”

นอกจากเพลงข้างต้นแล้ว กรมโฆษณาการยังทำเพลงอื่น ๆ อีกจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นเพลงปลุกใจ เพลงสถาบัน เพลงรำวง เพลงลีลาศ ฯลฯ ที่ล้วนมีบุคคลมากฝีมือขึ้นชื่อหลายคน อยู่เบื้องหลังวงดนตรีของกรมโฆษณาการ

ไม่ว่าจะเป็น เอื้อ สุนทรสนาน, ล้วน ควันธรรม, มัณฑนา โมรากุล, รุจี อุทัยกร, สุปาณี พุกสมบูรณ์, เลิศ ประสมทรัพย์, สุภาพ รัศมิทัต, ชวลี ช่วงวิทย์, วินัย จุลละบุษปะ, เพ็ญศรี พุ่มชูศรี, จันทนา โอบายวาทย์

นี่คือเรื่องราวเพียงบางส่วนของกรมโฆษณาการ ยุคแรกเริ่มแห่งกรมประชาสัมพันธ์

รับชมเสวนาช่วงที่ 1 :

รับชมเสวนาช่วงที่ 2 :


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 พฤษภาคม 2565