ผู้เขียน | ปดิวลดา บวรศักดิ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
“พริกกะเหรี่ยง” ถือได้ว่าเป็นพริกเผ็ดอันดับต้น ๆ ของไทย ด้วยความเผ็ดร้อนที่ขึ้นชื่อ คนส่วนมากจึงมักนำพืชพันธุ์สีส้มแดงนี้มาเป็นตัวชูโรงให้อาหารมีรสชาติจัดจ้านขึ้น อย่างที่เราคุ้นตากันจาก “ก๋วยเตี๋ยวพริกกะเหรี่ยง” ที่เปิดร้านขายกันแทบจะทั่วประเทศ
พริกกะเหรี่ยง ยังมีสรรพคุณด้านสุขภาพ เช่น ช่วยละลายเสมหะ ช่วยให้ระบบไหลเวียนเลือดดีขึ้น ประโยชน์เหล่านี้จึงเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้พริกกะเหรี่ยงถึงเป็นวัตถุดิบคู่ครัวคนไทยมาเป็นระยะเวลานาน แต่ทุกวันนี้มีพริกอีกแบบเพิ่มเข้ามา และเรียกว่าพริกกะเหรี่ยงเหมือนกัน แล้วพริกชนิดใหม่จัดเป็นพริกกะเหรี่ยงด้วยหรือเปล่า?
พริกกะเหรี่ยง หรือชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Capsicum frutescens Linn. เป็นพริกในวงศ์เดียวกับพริกขี้หนูอย่าง Solanaceae พริกที่อาจเรียกได้ว่าเผ็ดที่สุดของไทย ความร้อนแรงของมันถูกจัดอันดับไว้ถึง 100,000 สโควิลล์ ระดับเดียวกับพริกขี้หนู ส่วนรูปร่างแบ่งได้ 2 ประเภท คือ เม็ดเรียวยาวกับเม็ดสั้น ผิวขรุขระเล็กน้อย
พื้นที่ปลูกพริกกะเหรี่ยงมักอยู่บริเวณที่ราบสูงเป็นหลัก ถึงแม้ว่าจะปลูกในพื้นที่ลุ่มได้ก็ตาม แต่เนื่องจากพื้นที่สูงจะทำให้เติบโตได้อย่างเต็มที่มากกว่า จึงมักปลูกในที่ราบชัน อย่างที่ กฤช เหลือลมัย คอลัมนิสต์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องอาหารของนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ได้อธิบายต้นกำเนิดของพริกสีแดงส้มนี้ไว้ว่า
“พริกกะเหรี่ยงนั้นมักปลูกอยู่บริเวณภูมิประเทศที่เป็นที่สูง หรือที่ราบชัน…ด้านตะวันตกแถบเทือกเขาตะนาวศรี ตั้งแต่ เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ขึ้นไปจนกระทั่งถึงอุทัยธานี สุพรรณบุรี จนกระทั่งถึงตาก…พืชนี่จะโตเต็มที่หรือมีประสิทธิภาพอย่างเต็มตัวได้ จะต้องอยู่ในภูมิประเทศที่เหมาะสมกับมัน อย่างพริกกะเหรี่ยงก็เหมาะกับพื้นที่สูง”
อีกทั้งบริเวณแถบนั้นมีกะเหรี่ยงอาศัยอยู่จำนวนมาก และพวกเขามักปลูกพืชพันธุ์เหล่านี้เพื่อเลี้ยงชีพ จึงทำให้เราเรียกพริกชนิดนี้ว่า “พริกกะเหรี่ยง” ซึ่งอ้างอิงจากผู้ปลูกนั่นเอง โดยปัจจุบันมีแหล่งเพาะปลูกพริกกะเหรี่ยงในไทยหลายแห่ง เช่น อำเภอหนองหญ้าปล้อง จังหวัดเพชรบุรี, อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี, อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี เป็นต้น
นอกจากนี้ วิธีเพาะปลูก “พริกกะเหรี่ยง” ซึ่งมักจะหว่านผลกันตั้งแต่เดือนมิถุนายน-กรกฎาคม ของทุกปี ก็เรียกได้ว่าแตกต่างจากพริกอื่นเป็นไหน ๆ เพราะปกติชาวไร่ชาวสวนที่ปลูกพริกจะไถพรวนดิน แล้วยกร่องให้มีความสูงประมาณ 20 เซนติเมตร และทำสันดินห่างกันพอประมาณ เพื่อหวังผลผลิตให้ออกดอกผลจำนวนมากในวันข้างหน้า
ทว่าพริกกะเหรี่ยงเกิดจากการนำเมล็ดพริกไปหว่านแซมไว้กับข้าว หรือพืชพันธุ์อื่น ๆ เนื่องจากไม่ต้องการให้เปลือกพริกโดนกับแดด และชาวกะเหรี่ยงจะไม่ใช้สารเคมีสำหรับการปลูกพริกดังกล่าวอีกด้วย
เมื่อวันเวลาผันผ่านไป ฤดูเก็บเกี่ยวมาถึงในช่วงตุลาคม-มกราคม พริกกะเหรี่ยงรูปร่างคล้ายพริกขี้หนู ลักษณะผิวไม่เรียบสม่ำเสมอ มีรสเผ็ดจัด ทั้งเม็ดเรียวยาวและเม็ดสั้น ก็พร้อมอวดโฉมในตลาด รอให้ทุกคนนำกลับไปปรุงเป็นอาหาร เป็นวัตถุดิบชั้นยอดที่ต้องมีไว้ติดครัว
อย่างไรก็ตาม ช่วง 20 ปีมานี้ คนรุ่นใหม่เริ่มไม่รู้จักพริกกะเหรี่ยงแบบดั้งเดิม และคิดไปว่าพริกรูปร่างอ้วนป้อม มีสีขาวและเขียวอ่อน รสชาติเผ็ดเร็วปรูดปราด คือ “พริกกะเหรี่ยง” ทั้งที่ผ่านมาพริกกะเหรี่ยงมีลักษณะเรียวยาว และเผ็ดนาน
อย่างที่นักเขียนด้านอาหารกล่าวไว้ว่า…
“40 ปีที่แล้ว ถ้าพูดถึงพริกกะเหรี่ยงก็จะนึกออกได้อย่างเดียว ก็คือพริกที่เป็นพริกขี้หนู ที่เม็ดยาวนิดนึง ขรุขระหน่อย แล้วก็มีรสเผ็ดจัดมาก กลิ่นหอมมาก ๆ ด้วยเช่นกัน แล้วก็จะมีขายแค่บางช่วงของปี ขายราคาค่อนข้างแพง คือเรียกได้ว่าเป็นพริกขี้หนูพื้นเมืองที่มีคุณภาพสูง”
กฤชบอกอีกว่า…
“พอสัก 20 ปีที่แล้วคนก็เริ่มมาเรียกพริกสีขาว ๆ เหลือง ๆ เม็ดอ้วน ๆ หน่อย สีส้ม ว่าพริกกะเหรี่ยง อย่างในร้านค้าก็พากันเรียกแบบนี้ไปด้วย ทำให้พริกกะเหรี่ยงมันมีลักษณะเพิ่มขึ้นมา กลายมาเป็นพริกหน้าตาแบบนี้ก็ได้”
ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เกิดขึ้นมาโดยไม่รู้สาเหตุ แต่จากคำสัมภาษณ์ของ ลัดดาวัลย์ ปัญญา ผู้ทำงานสาธารณะเกี่ยวกับปัญหาการขึ้นทะเบียนพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ในบทความ “พริกกะเหรี่ยงและความหมายที่ไม่หยุดนิ่ง” กล่าวไว้ว่า
“แต่มันจะมีพริกป้อมสีขาวสีเขียวอ่อน ที่สุกเป็นสีเหลืองส้ม ขึ้นรวม ๆ อยู่ตลอดนะ เราไม่ได้ปลูก ไม่เคยคัดเมล็ดมาเพาะต่อเลย แต่มันจะเกิดแทรกปนมาทุกครั้ง ไม่รู้มันมาจากไหน”
นอกจากนี้ สุดา กองแก เจ้าของไร่แห่งหนึ่งในจังหวัดสุพรรณบุรี ได้อธิบายถึงพริกลักษณะใหม่ ซึ่งกลายมาเป็นพริกกะเหรี่ยงด้วยเช่นกัน ไว้ในบทความเดิมว่า
“พริกกะเหรี่ยงทั่ว ๆ ไปนั้นเรียกว่า ‘ชิเกะโผล่ว’ ส่วนพริกแบบนี้เรียก ‘ชิเกะส่าหว่า’ หมายถึงพริกที่กลายพันธุ์ กลายรูปร่างและรสชาติไปจากเดิม”
นี่จึงอาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เกิดพริกกะเหรี่ยง (เพิ่มขึ้นมา) ตามคำนิยามแบบใหม่ คือรูปร่างป้อม มีสีขาวหรือเขียว แบบที่เราเห็นกันในปัจจุบันก็เป็นได้
อ่านเพิ่มเติม :
- “แกงขาว” ที่สามเรือน อยุธยา ทำจากเนื้อวัวงานบุญ พริกแกงไม่ใส่พริก “อร่อยมาก”
- แกงพริก (ไทย) กระดูกหมู หรือจะเป็นแกงเผ็ดร้อน โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์กว่าแกงใต้หม้ออื่น?
- ไทย-เอเชียได้กินพริกเพราะ “ปีเตอร์ มาร์ทิล” บุคคลปริศนาในประวัติศาสตร์
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
กฤช เหลือลมัย. “พริกกะเหรี่ยงและความหมายที่ไม่หยุดนิ่ง”, ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนมีนาคม 2566.
องค์กรความรู้เพื่อพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน. “พริกกะเหรี่ยงพริกชนเผ่า จิ๋วแต่แจ๋ว.” สืบค้นเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2566. https://hkm.hrdi.or.th/Knowledge/detail/613.
สลิลา มหันต์เชิดสลิลา. “วิชานี้ว่าด้วยความ ‘เผ็ช’.” สืบค้นเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2566. https://www.greenery.org/chilli/.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 มีนาคม 2566