กำเนิดเครื่องเป่าตระกูล “ปี่” เคียงคู่อารยธรรมในอุษาคเนย์

พระอภัยมณีเป่า "ปี่" ที่วงเวียนปี่ใหญ่ ต.ท่าประดู่ อ.เมือง จ.ระยอง (ภาพจาก มติชนออนไลน์, วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2566)

ต้นกำเนิดเครื่องเป่าตระกูล “ปี่” มาจากเครื่องเป่ายุคแรก ๆ ที่มีเสียงเดียว ไม่มี “ลิ้น” และ “รูนิ้ว” สำหรับปรับเปลี่ยนเสียง โดยมีร่องรอยเครื่องเป่าเสียงเดียว (ที่ไม่มีลิ้นและรูนิ้ว) เหลืออยู่ในชุมชนตระกูลไทย-ลาวบริเวณสิบสองปันนาและเต๋อหงของจีน เป็นเครื่องเป่าที่ทำจากกอข้าวเรียกว่า “ปี่ฟาง” แต่ชาวจ้วงเรียก “เป่ากอข้าว” ในท้องถิ่นไทยก็นิยมเล่นเป่าปี่กอข้าวหรือซังข้าวและเป่าใบไม้ด้วย

หลักฐานโบราณคดีในประเทศไทยยังพบว่ามนุษย์ยุคแรก ๆ นิยมกินหอย ทั้งหอยน้ำจืดและหอยทะเล บางแห่งพบซากเปลือกหอยจำนวนมาก เช่น ที่บ้านโคกพนมดี อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี โดยไม่อาจพิสูจน์ได้ว่า นอกจากกินเนื้อหอยเป็นอาหารแล้ว มนุษย์ใช้เปลือกหอยทำอะไรอีก แต่ชาวจ้วงในกวางสีของจีนมีการเป่าหอย เรียกว่า “ปี่-ขลุ่ยหอยนา”

เช่นเดียวกับหอย แม้หลักเราจะทราบว่ามนุษย์ยุคแรก ๆ ล่าควาย วัวแดง กระทิง มากินเป็นอาหาร แต่ยังไม่พบหลักฐานว่ามนุษย์เอาเขาวัว-ควายไปทำอะไรบ้าง กระทั่งมีการค้นพบประเพณีของเผ่าลัวะเอาเขาวัวเขาควายไปเซ่นไหว้ผี ปัจจุบันยังพบการถวายเขาวัว-ควายอุทิศแด่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในวัดท้องถิ่นล้านนา ชุมชนอีสานใต้บางแห่งยังใช้เขาควายเรียกว่า “เสนง” เป่าบอกสัญญาณระหว่างคล้องช้างหรือล่าสัตว์ ส่วนในจารึกสมัยสุโขทัยระบุว่า มีการถวายเครื่องดนตรีทำด้วยเขาควายแก่ “พระเจ้า”  อันหมายถึงพระพุทธเจ้า รวมถึงขุดพบเขาควายบริเวณหน้าวัดมหาธาตุในเมืองเก่าสุโขทัยด้วย

มีการใช้เขาสัตว์เป่าบอกสัญญาณในกระบวนแห่พระราชาและในพระราชพิธีของอินเดียใต้เรียกว่า “กัมพุ” ซึ่งแปลตรงตัวว่าเขาสัตว์ ภายหลังใช้โลหะทำเครื่องเป่าชนิดนี้แต่ยังเลียนแบบรูปลักษณ์หรือรูปทรงของเขาสัตว์อยู่ คือลำแตรโค้งงอนแล้วบานปลาย เรียกว่า “แตรงอน” โบราณคดีของไทยเรียกเครื่องมือชนิดเดียวกันนี้ว่า “กาหล” ดังปรากฏใน สมุทรโฆษคำฉันท์ ว่า “กึกก้องด้วยกาหลและสัง- ขบนังทั้งเภรี” ส่วน บุณโณวาทคำฉันท์ บอกว่า “เสด็จดลฉนวน พระอรณพขนานน่าวาสุกรี แตรสังข์ประโคมดุริยดนตรี มหรธึกและพระกาหฬ” คือใช้กาหลประโคมร่วมกับเครื่องมืออื่น ๆ ในขบวนเสด็จราชดำเนิน เช่น พยุหยาตราชลมารค และสถลมารค หรือในกระบวนพระราชอิสริยยศต่าง ๆ

กลุ่มชนตระกูลไทย-ลาวทางตอนใต้ของจีนทุกวันนี้ มีเครื่องเป่าชนิดหนึ่งทำจากไม้ไผ่สองปล้อง ตัดให้ข้ออยู่ตรงกลางพอดีแล้วเจาะรูตรงข้อต่อ นิยมเป่าในช่วงที่พระภิกษุหยุดพักระหว่างสวดมนต์ในพิธีกรรมต่าง ๆ

เครื่องดนตรีตระกูลปี่-ขลุ่ยมีร่องรอยดั้งเดิมของ ปี่ ไม้อ้อ และกอข้าว ที่เป่ากันมาแต่ยุคดึกดำบรรพ์ นั่นคือเครื่องเป่าที่เรียก “เรไร” เป็นเค้ามูลเริ่มแรกที่เด่นชัด เพราะทำจาก ไม้ซาง เสียบต่อเข้ากับ เต้า หรือลูกน้ำเต้า แต่เรไรจะเป่าได้เสียงเดียว อาจเป็นต้นธารการพัฒนาของ แคน และปี่น้ำเต้า (เป่าน้ำเต้า) ดังมีเอกสารจีนระบุว่า บ้านเมืองและแว่นเคว้นบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและใกล้เคียงในสมัยทวารวดี มีการเป่าลูกน้ำเต้าและตีกลอง

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มีพระนิพนธ์ว่า เคยใช้เรไรเป็นเครื่องประโคมเมื่อพระภิกษุสงฆ์ลงพระอุโบสถที่วัดบวรนิเวศ และรัชกาลที่ 4 โปรดให้บันลือเรไรประโคมที่วัดราชประดิษฐ์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงมีลายพระหัตถ์เมื่อ พ.ศ. 2480 เล่าว่า ทรงพบชาวสุรินทร์เล่นปี่ โดยตัวปี่ทำด้วยไม้แก่น แต่ลิ้นปี่ทำจากไม้อ้อที่เสียบสวมเข้ากับตัวปี่แล้วเป่าทางที่บีบแบน

สำหรับ ปี่อ้อ ในล้านนา แม้ตัวปี่จะเปลี่ยนเป็นไม้ไผ่รวก แต่วิเคราะห์ได้ว่าเคยใช้ไม้อ้อ เพราะลิ้นปี่อ้อจะทำด้วยไม้อ้อลำเล็ก ๆ เหลาให้บาง ปลายข้างหนึ่งกลมพันด้วยด้ายเพื่อเสียบเข้าไปในเลาปี่ ส่วนปลายอีกข้างตัดบีบให้แบนแนบประกบกันเพื่อเป่า ตัวปี่ที่ทำจากไม้อ้อหรือกอข้าวยังมีปรากฏอยู่ในชนเผ่าต่าง ๆ ทางตอนใต้ของจีนแถบยูนนาน เมื่อเกี่ยวข้าวเสร็จแล้วหนุ่ม-สาว มักตัดกอข้าวมาเป่าร้องรำทำเพลงกัน เช่นเดียวกับคนตระกูลไทย-ลาว และชาวสยามแทบทุกพื้นที่ในสมัยก่อน

สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงเชื่อว่า ปี่ ยุคแรกเริ่มจึงทำจากไม้อ้อหรือกอข้าวทั้งลำทั้งเลาหรือทั้งเล่ม หลังจากนั้นจึงพัฒนาการต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่น ไม้อ้อหรือกอข้าวไม่คงทนถาวร จึงทำตัวปี่ด้วยไม้ไผ่รวกแล้วยังคงใช้ไม้อ้อหรือกอข้าวทำลิ้น เชื่อถือว่าผลจากการเปลี่ยนเป็นไม้ไผ่รวกทำให้เกิด “ขลุ่ย” ที่ภายหลังเรียกชื่อขลุ่ยชนิดนี้ว่า พงออ หรือเพียงออ เพราะมีพื้นฐานมาจากไม้อ้อ

รูปหล่อพระอภัยมณี ตั้งอยู่หน้าอนุสาวรีย์สุนทรภู่ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง

พัฒนาการของ ปี่ อีกทางหนึ่งคือ เอาไม้ซางเสียบเข้ากับลูกน้ำเต้าแล้วเป่าเป็นเสียงเดียว เรียกภายหลังว่าเรไร ต่อมากลุ่มชนที่ราบลุ่มใกล้ทะเลซึ่งก้าวหน้าทางสังคมและวัฒนธรรมมากขึ้นได้ดัดแปลงตัวปี่ให้เป็นไม้แก่น เช่น ไม้ชิงชัง ไม้พะยูง ฯลฯ แล้วกลึงให้บานหัวบานท้ายป่องตรงกลาง เจาะภายในกลวงตลอดเลา เหลือเป็นร่องรอยการทำลิ้นด้วยไม้อ้อหรือใบตาลสวมเข้าไปพร้อมเจาะรูนิ้วเพื่อปรับเปลี่ยนเสียงตามประเพณีที่เคยมีมาแล้ว จะสังเกตเห็นว่ารูนิ้วปี่ไทยแตกต่างจากปี่ที่อื่น ๆ เช่น ปี่ไฉนของอาหรับ-อินเดีย

ส่วนสาเหตุที่ต้องกลึงตัวปี่ให้กลมแล้วป่องกลาง น่าจะมีเหตุมาจากระบบความเชื่อเพื่อรักษาแบบแผนประเพณีลักษณะรูปร่างของปี่ยุคดั้งเดิมเหมือนเรไรที่หุ้มไม้ซางด้วยลูกน้ำเต้านั่นเอง… โดยปี่ชนิดนี้มีแบบเดียว ใช้เป่าด้นนำเพลงพร้อมเครื่องตีชนิดอื่น ๆ มาแต่ยุคแรก ๆ จึงมีชื่อเรียกมาช้านานก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยาว่า “ปี่พาทย์”

เมื่อมีการใช้ปี่พาทย์บรรเลงประกอบการเล่นต่าง ๆ ในราชสำนัก เช่น หนังใหญ่ โขน-ละคร (เสภา) ฯลฯ ที่มีเสียงขับลำร้องของหญิง-ชาย ซึ่งใช้ระดับเสียงต่างกัน ทำให้ต้องพัฒนาดัดแปลงเพิ่มปี่เป็น 3 ขนาด ให้สอดคล้องและสะดวกเมื่อจะใช้บรรเลง เกิดเป็น ปี่นอก (ที่พระอภัยมณีเป่า) ปี่กลาง และปี่ใน สืบมาจนถึงทุกวันนี้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : เนื้อหานี้เรียบเรียงขึ้นจาก ‘แคน-ฟ้อน-เต้น’ ในหนังสือ “ พลังลาว ชาวอีสาน มาจากไหน?” เขียนโดย สุจิตต์ วงษ์เทศ (มติชน, 2549)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2566