ขลุ่ย เครื่องดนตรีพื้นเมือง ของชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ขลุ่ยที่มีการทำลวดลายและใช้โลหะประดับหัวท้ายของขลุ่ย (ภาพจาก ห้องสมุดภาพมติชน)

ขลุ่ยเป็นเครื่องดนตรีที่นิยมใช้ในสังคมเกษตรกรรม ภูมิประเทศในเขตร้อนชื้นที่มีไม้ไผ่ขึ้น

ขลุ่ยทำด้วยไม้ไผ่ชนิดหนึ่งที่เรียกกันว่า ไม้รวก อาศัยเทคโนโลยีแบบชาวบ้านในการทำ ดาก ขลุ่ย

การทำดากขลุ่ยให้โค้งเพื่อให้เสียงของขลุ่ยออกมาไพเราะ การเจาะรูเพื่อเปลี่ยนระดับเสียง การทำลายขลุ่ยโดยราดตะกั่วเหลว การทำขลุ่ยด้วยท่อประปาและการทำขลุ่ยด้วยไม้เนื้อแข็ง สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องบ่งชี้พัฒนาการของสังคม

นอกจากนี้แล้วสิ่งสำคัญที่สุดก็คือ สำเนียงขลุ่ย เป็นเครื่องบ่งชี้ชาติพันธุ์ของกลุ่มคน “สังคมขลุ่ย” อีกด้วย

ขลุ่ยไทยมีแต่สมัยใดไม่ปรากฏชัด เท่าที่พบหลักฐานพระเจ้าอยู่หัวบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ. 1991-2031) มีกฎมณเฑียรบาลว่า

“แต่ละประตูแสดงรามถึงสระแก้ว ไอยการหมื่นโทวาริก ผิวผู้ชายผู้หญิงเจรจาด้วยกันก็ดี นั่งในที่สงัดก็ดี อนึ่งทอดแหแลตกเบ็ดสุ่มช้อนชนางแลร้องเรือ เป่าขลุย เป่าปี่ตับทับขับรำโห่ร้องที่นั่น…”

และ

“อนึ่งในท่อน้ำในสระแก้ว ผู้ใดขี่เรือคฤ เรือปทุม เรือกูบและเรือมีศาสตาวุธแลใส่หมวกคลุมนอนมา ชายหญิงนั่งมาด้วยกัน อนึ่งชเลาะตีด่ากัน ร้องเพลงเรือ เป่าปี่ เป่าขลุ่ย สีซอ ดีดจะเข้ กระจับปี่ ตีโทนทับ โห่ร้องที่นั้น…”

ในลิลิตยวนพ่ายได้กล่าวถึง ปี่ห้อ หรือ ปี่อ้อ ไว้

“สรวญศรัพทคฤโฆษฆ้อง   กลองไชย

ทุ่มพ่างแตรสังข์ชาว   ปี่ห้อ

จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์นี้ จะเห็นได้ว่ามีขลุ่ยกันมาช้านานแล้ว

ขลุ่ยเป็นเครื่องดนตรีตระกูลใช้ลมเป่าที่ทำด้วยไม้ อยู่ในตระกูลเดียวกับปี่อ้อ (ปี่ห้อ) ปี่ซอซึ่งทำด้วยไม้รวกเช่นเดียวกัน เพียงแต่ว่าเทคโนโลยีของขลุ่ย ปี่อ้อ และปี่ซอพัฒนาต่างกันเพื่อจะให้ได้เสียงที่ต่างกัน

ปี่อ้อ นั้นใช้ลิ้นทำด้วยไม่บางๆ ประกบกันมัดด้วยเชือกแล้วเป่าให้เสียง

ปี่ซอ นั้นใช้แผ่นโลหะบางๆ ทำลิ้นให้ลมเป่าผ่านเช่นเดียวกับลิ้นแคน

ขลุ่ย นั้นทำด้วยไม้ทั้งหมด ใช้ไม้เนื้อแข็งอุดเข้าไปในรูไม้รวกเรียกว่าดาก เว้นช่องไว้ให้ลมเป่าผ่าน เทคโนโลยีที่สำคัญคือการทำดากขลุ่ยให้รูปโค้งเป็นท้องช้างระหว่างปากขลุ่ยและรูนกแก้ว เพื่อที่จะให้เกิดเสียงงดงาม แตกต่างไปจากขลุ่ยฝรั่ง (Recorder) ซึ่งใช้ระบบเดียวกับนกหวีดคือเป่าลมให้วิ่งทางตรงเพื่อทำให้เกิดเสียง แต่เสียงที่ออกมาดังกระด้าง ดากขลุ่ยที่มีส่วนโค้งภายในทำให้ขลุ่ยมีเสียงนุ่มและลอยไม่ทึบ ขลุ่ยที่นิยมว่าดีนั้นจะต้องมีเสียงลอยกังวานดังกล่าวมาแล้ว

ขลุ่ยเป็นเครืองดนตรีของชาวบ้าน นิยมเป่าในคนกลุ่มใดบ้างนั้น ไม่เป็นที่ปรากฏชัดเท่ากับกลุ่มคนลาว

คำว่า คนลาว นั้นอาจจะกินเนื้อที่ลุ่มแม่น้ำปิง แม่น้ำมูล แม่น้ำชี และลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งน่าจะเป็นคนพื้นเมืองดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กลุ่มคนเหล่านี้มีความสามารถทำขลุ่ยและทำแคน เท่าที่มีหลักฐานเหลืออยู่ในปัจจุบันนั้น กลุ่มคนในลุ่มแม่น้ำดังกล่าวมีศิลปวัฒนธรรมที่เป็น ทำนองเพลง สูงที่สุด

อีกประการหนึ่ง ในเรื่องของภาษาพอดีที่สืบต่อกันมา คนเวียงจันท์ปัจจุบันพูดภาษาเดียวกันกับคนในภาคใต้ของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำเนียงนครศรีธรรมราช

ประการต่อมา ขลุ่ยทำด้วยไม้รวก ซึ่งเป็นไม้ที่ขึ้นในบริเวณเขตร้อนชื้น ขึ้นอยู่ตามธรรมชาติในบริเวณลุ่มน้ำเหล่านี้ ชาวบ้านำเอาไม้ไผ่มาใช้ทำอุปกรณ์ในชีวิตประจำวัน ใช้สร้างที่อยู่อาศัย ทำภาชนะจักสานซึ่งปรากฏในวรรณคดีเรื่องขอมดำดินสมัยพระร่วง และนำไม้รวกมาทำเครื่องดนตรี

เมื่อถูกกวาดต้อนลงเป็นเชลยศึก ชาวลาวเหล่านี้ได้นำเอาความรู้ในการทำขลุ่ย และแคนมาด้วย เมื่อตั้งรกรากที่วัดบางไส้ไก่ ก็เรียกกันติดปากว่า หมู่บ้านลาว

สำหรับไม้ไผ่ที่ตัดมาทำขลุ่ยในปัจจุบันนั้น ตัดมาจากบ้านท้ายพิกุล อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี ไม้ไผ่จะขึ้นอยู่ตามธรรมชาติ ชาวบ้านจะตัดไม้ไผ่ขายให้กับชาวลาววัดบางไส้ไก่ มาชั่วปู่ย่าตายาย

วัดประดิษฐารามหรือที่ชาวบ้านเรียกันว่า วัดบางไส่ได้ เป็นวัดของชาวลาว จะเป็นลาวที่ถูกกวาดต้อนกันมาแต่สมัยธนบุรีหรือกรุงรัตนโกสินทร์ก็ไม่แน่ใจนัก ดูจากใบเสมาของวัดทำด้วยหินทรายแดง เป็นศิลปกรรมปลายกรุงศรีอยุธยา (น. ณ ปากน้ำ : ศิลปกรรมในบางกอก) ที่สำคัญก็คือชาวลาวกลุ่มนี้มีวัดเป็นของตัวเอง มีอาชีพทำขลุ่ยและทำแคน

คุณจรินทร์ กลิ่นบุปผา ทายาทที่สืบทอดการทำขลุ่ยเล่าให้ฟังว่า

“ชาวลาวบริเวณวัดบางไส้ไก่ทุกครัวเรือนก็ว่าได้มีอาชีพทำแคนและขลุ่ยมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย ปัจจุบันเหลือแต่เพียงขลุ่ยเท่านั้น ประมาณ 12-13 ครัวเรือนที่ยังทำขลุ่ยเป็นอาชีพ ปู่นั้น (นายอิ่ม) ทำขลุ่ยและแคนเป็นอาชีพหลัก ส่วนมาถึงรุ่นพ่อ (นายหล่องหรือผัน) มีชื่อเสียงในการทำขลุ่ย”

อาจจะเป็นไปได้ที่ชาวลาววัดบางไส้ไก่ เลิกทำแคนเพราะในรัชกาลที่ 4 มีประกาศห้ามมิให้เล่นแอ่วลาวเป่าแคน ประกาศมา ณ วันศุกร์ เดือน 12 แรม 14 ค่ำ ปีฉลู สัปตศก ตรงกับ พ.ศ. 2408 ความตอนหนึ่งว่า

“…ชาวไทยทั้งปวงละทิ้งการเล่นสำหรับเมืองตัวคือ ปี่พาทย์ มโหรี เสภาครึ่งท่อน ปรบไก่ สักรวา เพลงไก่ป่า เกี่ยวข้าว แลลครร้องเสียหมด พากันเล่นแต่ลาวแคนไปทุกหนแห่ง ทุกตำบล ทั้งผู้ชายผู้หญิง จนท่านที่มีปี่พาทย์มโหรีไม่มีผู้ใดหา ต้องบอกขายเครื่องปี่พาทย์ เครื่องมโหรี ในที่มีงานโกนจุกบวชนาค ก็หาลาวแคนมาเล่นเสียหมดทุกแห่ง ราคาหางานหนึ่งแรงถึงสิบตำลึง สิบสองตำลึง

การเป็นอย่างนี้ ทรงพระราชดำริเห็นว่าไม่สู้งาม ไม่สู้ควรที่การเล่นอย่างลาวจะมาเป็นพื้นเมืองของไทย ลาวแคนเป็นข้าของไทย ไทยไม่เคยเป็นข้าลาว จะเอาอย่างลาวมาเป็นพื้นเมืองไทยไม่สมควร…เพราะฉะนั้นทรงพระราชวิตกอยู่ โปรดให้ขออ้อนวอนแก่ท่านทั้งหลายทั้งปวงที่คิดถึงพระเดชพระคุณจริงๆ ให้งดการเล่นลาวแคนเสีย อย่าหามาดูแลฟังแลอย่าให้เล่นเองเลย…ถ้ามิฟังยังขืนเล่นลาวแคนอยู่ จะให้เรียกภาษีให้แรง…”

จากคำประกาศนี้ เป็นหลักฐานสำคัญที่ชาวลาววัดบางไส้ไก่ ต้องเลิกกิจการทำแคนเพราะไม่มีลูกค้าที่จะซื้อ เมื่อไม่มีความต้องการก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทำ จึงเหลือเพียงการทำขลุ่ยเพียงอย่างเดียวกระทั่งปัจจุบัน

สำหรับหลักฐานของฝั่งนั้นพบว่า เครื่องดนตรีในตระกูลขลุ่ยนั้นมีมาช้านา อย่างไรก็ตาม ลักษณะของขลุ่ยไทย (Vertical Flute) ที่เป่าโดยการผิวทางด้านข้าง ตำราฝรั่งเชื่อกันว่าขลุ่ยในสมัยแรกๆ ทำด้วยกระดูกนกและมีเพียงรูเดียว (Curt Sachs : The History of Musical Instruments)

เหตุผลนี้ไม่น่าจะเป็นไปได้สำหรับขลุ่ยในสังคมโซนร้อน เพราะว่าแถบนี้มีไม้ไผ่เป็นจำนวนมาก ซึ่งขลุ่ยน่าจะทำมาจากไม้ไผ่ก่อน เพราะกระดูกสัตว์เหม็นจากความเน่าเปื่อยของเนื้อสัตว์ ส่วนไม้ไผ่นั้นตัดมาทำรูแล้วเป่าได้เลยโดยไม่ต้องรอคอยให้กลิ่นดับ

ไม้ไผ่ (รวก) สำหรับทำขลุ่ยจะต้องเป็นไม้ที่แก่ เพราะปล้องจะยาวและเนื้อไม้จะแข็งไม่แตกง่าย ถ้าหากว่าไม้ไผ่ยังไม่แก่เท่าที่ควรก็จะมีปล้องที่สั้น เนื้อไม้จะอุ้มความชื้นไว้มาก เมื่อแห้งแล้วจะทำให้ไม้แตกไม่เหมาะที่จะทำขลุ่ย

เมื่อตัดไม้ไผ่ที่แก่ดีแล้วก็จะถูกเรียงตากแดดตากลมไว้แล้วมัดรอการส่งไปทำขลุ่ย ไม้จะถูกตัดเป็นท่อนๆ ตามความยาวของปล้องไม้ไผ่เพื่อทำขลุ่ย เมื่อตัดเป็นท่อนๆ แล้วก็จะตากแดดตากลมไว้ประมาณ 15-20 วัน เพื่อที่จะให้เนื้อไม้แห้งสนิท จึงจะนำไปทำตามวิธีการของขลุ่ยต่อไป

การเจาะรูขลุ่ย อาศัยสำเนียงลาวเป็นหลัก กล่าวคือ เมื่อคนลาวเป็นคนทำขลุ่ยก็ย่อมจะเจาะรูขลุ่ยตามสำเนียงลาว โดยอาศัยเจาะตามเสียงแคนมีตัวโน้ต 1 2 3 5 6 มีเสียง โด เร มี ซอล ลา เป็นหลัก ซึ่งจะเห็นได้ว่าเพลงไทยจะอาศัยกลุ่มเสียงเหล่านี้เป็นส่วนใหญ่ เช่น เพลงลาวดวงเดือน ลาวเจริญศรี สร้อยแสงแดง ลาวสมเด็จ ลาวครวญ ลาวแพน เป็นต้น

หลักฐานที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดในปัจจุบันก็คือ เสียงแคน เสียงซึง โปลงลาง ตั้งเสียงตามหลักดังกล่าว

และที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ เพลงพื้นฐานของคนในลุ่มน้ำปิง ลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำมูล และลุ่มน้ำโขง มีทำนองอาศัยโน้ตเพียง 5 เสียงดังกล่าวข้างต้นเป็นหลัก ซึ่งเรียกกันทั่วไปว่า สำเนียงลาว นอกจากนี้จังหวะที่นำมาใช้กับเพลงก็เรียกว่า หน้าทับลาว

กลุ่มคนเหล่านี้มีศิลปวัฒนธรรมทางด้านดนตรีสูงสุด เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มอื่นๆ ในละแวกเดียวกัน

เครื่องดนตรีอื่นๆ ตั้งเสียงตามขลุ่ย เนื่องจากขลุ่ยเจาะรูตายตัวแน่นอน ดังนั้นสำเนียงเพลงไทยจึงตั้งเสียงตามสำเนียงลาว ตั้งแต่ขลุ่ยเข้าไปในวงดนตรี สำเนียงขลุ่ยเป็นหลักฐานสำคัญที่จะบอกให้รู้ว่า เพลงในแผ่นดินใหญ่เอเชียตะวีนออกเฉียงใต้มีบรรยากาศสำเนียงลาวเป็นส่วนใหญ่

เทคโนโลยที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ก็คือ การทำลายขลุ่ยโดยหลอมตะกั่วให้เหลวแล้วเทราดลงไปบนขลุ่ยที่ทำเสร็จแล้วให้เกิดเป็นลายต่างๆ เช่น ลายดอกพิกุล ลายรดน้ำ ลายหกคะเมน ลายหิน ลายตลก เป็นต้น การเทตะกั่วต้องอาศัยอุณหภูมิและจังหวะที่เหมาะก็จะทำให้เป็นรอยไหม้บนขลุ่ยตามลายที่ต้องการ

สำหรับลายหินนั้นเป็นลายที่ทำกันทั่วไป ใช้ช้อนตักตะกั่วเหลวแล้วเทราดลงบนขลุ่ยเลย ขลุ่ยจะมีลายสวยอย่างไรขึ้นอยู่กับฝีมือและความชำนาญของผู้ทำ

การทำขลุ่ยในปัจจุบันได้พัฒนามากขึ้น เพราะเหตุหลายประการด้วยกัน

ประการแรก ไม้ไผ่ (รวก) ที่แก่ดีมีมาตรฐานหายากขึ้น ประกอบกับความต้องการไม่แน่นอนของรูและปล้องไม้ไผ่ จึงมีการนำเอาท่อน้ำประปา (ท่อพีวีซี) มาทำขลุ่ยแทน เพราะท่อและความยาวแน่นอน

ประการที่สอง ความต้องการขลุ่ยมีสูงขึ้นเนื่องจากระบบการศึกษา โรงเรียนต่างๆ ต้องการขลุ่ยไปสอนนักเรียนเพราะราคาถูก เมื่อมีความต้องการมากการผลิตจำเป็นจะต้องรวดเร็ว จะคอยไม้ไผ่โตเต็มที่อยู่ไม่ได้ ผู้ผลิตจึงหันมาใช้ท่อวิทยาศาสตร์ในการทำขลุ่ยแทนไม้

อย่างไรก็ตาม คุณจรินทร์ กลิ่นบุปผา เป็นผู้หนึ่งที่หันไปทำขลุ่ยด้วยไม้เนื้อแข็งทุกชนิดมาทำขลุ่ย แต่ก่อนนั้นนิยมใช้ไม้ชิงชัน เพราะเครื่องดนตรีชนิดอื่นๆ โดยเฉพาะปี่นิยมใช้ไม้ชิงชัน และที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งก็คือการนำเอาเขาและกระดูกสัตว์ งาช้าง และโลหะต่างๆ มาประดับตามรูและหัวท้ายของขลุ่ย เช่น ทองคำ เงิน สแตนเลส เป็นต้น

ขลุ่ยที่ทำด้วยไม้ได้รับความนิยมมากขึ้น เพราะสามารถควบคุมความยาวของขลุ่ยได้ สามารถเจาะรูขลุ่ยได้ตามความต้องการ และสามารถประดับให้งดงามอีกด้วย ส่วนเสียงนั้นได้รับความนิยมว่าไพเราะไม่แพ้ไม้รวก

ขลุ่ยเป็นเครื่องดนตรีของชาวบ้านเป็นสัญลักษณ์ของชาวชนบท ซึ่งสามารถพบในวรรณกรรมและเพลง เช่น วรรรกรรมของไม้เมืองเดิม “แผลเก่า” ที่ให้พระเอกไอ้ขวัญขี่ควายเป่าขลุ่ย เพลงขวัญเรียม ใช้ขลุ่ยเป็นสื่อความเป็นชาวบ้านชาวทุ่งในเพลง “เสียงขลุ่ยครวญ” ของทูล ทองใจ และในภาพยนตร์ “มนต์รักลูกทุ่ง” ที่ขับร้องโดยไพรวัลย์ ลูกเพชร ล้วนแล้วแต่ใช้ขลุ่ยเป็นสื่อทั้งสิ้น

วงดนตรี “คาราบาว” โดยอาจารย์ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี เป็นผู้หนึ่งที่เป่าขลุ่ยและได้ประตูให้ขลุ่ยเดินเข้าสู่ยุครุ่งเรืองอีกครั้งในชุด Made in Thailand หลังจากนั้นขลุ่ยถูกนำมาใช้ในวงดนตรีสมัยนิยมอย่างแพร่หลาย ยกฐานะจากเครื่องดนตรีพื้นบ้านเป็นเครื่องดนตรีที่ได้รับความนิยมรู้จัก

ขลุ่ยจะเป็นเครื่องดนตรีของใคร เกิดขึ้นเมื่อใดไม่แน่ชัดนัก

แต่ที่แน่ๆ คือคนลาวที่อาศัยอยู่ในบ้านลาวมีอาชีพทำขลุ่ย เสียงขลุ่ยที่เป่ากันนั้นมีสำเนียงเป็นลาว โดยที่ชาวลาวผู้ทำตั้งเสียงตามแคน

หรือว่าลาวทำขลุ่ยให้ไทย แล้วไทยเป่าขลุ่ยไทยสำเนียงลาว

หรือว่าไทยไม่มีอะไรเพียงแต่ตัวใหญ่คอยบังคับลาว

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 กันยายน 2565