หลักฐานชี้ ชาวอีสานโบราณแห่ง “บ้านเชียง” กินดีอยู่ดี รักสงบ

ภาพถ่าย หลุมสำรวจ ในแหล่งโบราณคดี บ้านเชียง
ภาพถ่ายหลุมสำรวจในแหล่งโบราณคดีบ้านเชียงเมื่อเดือนเมษายน ปี 2009 โดย Steve from Bangkok, Thailand, via Wikimedia Commons

นักโบราณคดีเผยผลงานวิจัยการศึกษาโครงกระดูกและเครื่องมือโลหะแห่ง “บ้านเชียง” แหล่งมรดกโลกซึ่งถือเป็นหนึ่งในพื้นที่ตั้งถิ่นฐานที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในยุคก่อนประวัติศาสตร์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบหลักฐานสำคัญที่แย้งกับความเข้าใจต่อมนุษย์ในอดีตที่ได้จากการศึกษาทางโบราณคดีในพื้นที่อื่นๆ ในตะวันออกกลาง ยุโรป และอเมริกากลาง

“พัฒนาการที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาคือ คุณูปการของบ้านเชียงต่อการเข้าใจในอดีต สิ่งที่นักโบราณคดีคนหนึ่งเห็นว่าสำคัญ แต่คนอื่นอาจจะแย้งได้ว่ามีสิ่งอื่นที่สำคัญกว่า ยิ่งไปกว่านั้นบางแง่มุมเกี่ยวกับสังคมในยุคโบราณจำเป็นที่จะต้องมีการสืบค้น และเผยแพร่งานศึกษาอย่างกว้างขวาง” ดร.จอยซ์ ไวท์ (Dr. Joyce White) ผู้อำนวยการโครงการวิจัยแห่งบ้านเชียง จากมหาวิทยาลัยพิพิธภัณฑ์เพนน์ซิลวาเนีย (University of Pennsylvania Museum) ในฟิลาเดลเฟีย สหรัฐอเมริกา ซึ่งทำการศึกษาการการค้นพบในบ้านเชียงมาตั้งแต่ปี 1976 กล่าวกับ “เดอะอีสานเร็คคอร์ด” (The Isaan Record)

ดร.ไวท์ เป็นหนึ่งในพยานผู้เชี่ยวชาญให้กับกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ในการสอบสวนคดีลักลอบเคลื่อนย้ายโบราณวัตถุซึ่งยังคงอยู่ระหว่างการพิจารณา โดยจากผลของคดีในปี 2014 ทำให้โบราณวัตถุหลายชิ้นที่ถูกลักลอบเคลื่อนย้ายจากบ้านเชียงได้รับการส่งเคลื่อนกลับมายังประเทศไทยแล้ว

สำหรับความพิเศษของบ้านเชียงที่แตกต่างไปจากสังคมโบราณในยุคเดียวกัน ดร.ไวท์ กล่าวว่าหลักฐานจากโครงกระดูกมนุษย์ในบ้านเชียงเผยให้เห็นว่าสังคมเกษตรยุคโลหะในพื้นที่นี้ของไทยมีความโดดเด่นทั้งด้านสุขภาวะ และสันติภาพ ไม่มีหลักฐานของการใช้ความรุนแรงระหว่างกันด้วยการทำสงครามอย่างสม่ำเสมอ เครื่องมือโลหะถูกใช้ในเชิงสัญลักษณ์และเป็นเครื่องมืออำนวยความสะดวก”

ดร.ไวท์เสริมว่า หลักฐานของการทำสงครามเริ่มมีให้เห็นบ้างในช่วงปลายยุคเหล็กในบริเวณโนนอุโลก

“สุขภาวะที่ย่ำแย่อย่างมีนัยสำคัญถูกพบในโครงกระดูกประชากรมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์บางส่วนในแถบชายทะเล (บริเวณโคกพนมดี จังหวัดชลบุรี-เดอะอีสานเร็คคอร์ด) แต่ในอีสาน ชาวบ้านโดยรวมรอดพ้น (จากปัญหาสุขภาพ) ด้วยการกินอาหารที่ดี ผลการศึกษานี้ตรงข้ามกับหลักฐานที่ถูกพบในพื้นที่อื่นๆของโลกที่กล่าวถึงก่อนหน้านี้ (ตะวันออกกลาง ยุโรป และอเมริกากลาง) ซึ่งสุขภาพของประชากรต่างย่ำแย่ลงหลังรับเอาเศรษฐกิจแบบกสิกรรมมาใช้ และการผลิตเครื่องมือโลหะก็เป็นส่วนที่เร่งให้เกิดการทำสงครามต่อกัน” ดร.ไวท์กล่าว

บ้านเชียง เป็นแหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ที่มีการค้นพบเครื่องปั้นดินเผาจำนวนมาก ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี ถูกค้นพบเป็นครั้งแรกในปี 1966 ก่อนได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในปี 1992 มีพื้นที่ราว 420 ไร่ ซึ่งข้อมูลจากองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโกระบุว่าถึงปี 2012 มีการขุดสำรวจแล้ว 0.09 เปอร์เซนต์

“ลำดับต่อไปคือการหาคำตอบให้ได้ว่า สังคมก่อนประวัติศาสตร์ของอีสานแห่งนี้สามารถก่อตั้งและรักษาวิถีชีวิตที่สมบูรณ์ด้วยสุภาพและสันติภาพ และพัฒนาเทคโนโลยีโลหะที่ซับซ้อนแต่ทำขึ้นในระดับที่ไม่ใหญ่โตได้อย่างไร” ดร.ไวท์กล่าว ก่อนเสริมว่า ข้อมูลในส่วนนี้เธอจะใส่ไว้ในบทสรุปของงานวิจัยอีกชิ้นที่ยังอยู่ระหว่างการศึกษา

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ่านบทสัมภาษณ์เต็มได้ที่ The Isaan Record (The legacy of Ban Chiang: Archaeologist Joyce White talks about Thailand’s most famous archaeological site)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 กรกฎาคม 2561