ทำไม “เจ้านายไทย” สมัยก่อนใช้ชีวิตกลางคืนตื่นบรรทม 6 โมงเย็นแม้ราชการใช้เวลาออฟฟิศแล้ว

เจ้านายไทย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงฉาย กับ สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงฉายกับสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ

ราชการไทยเริ่มทำงานแบบเต็มเวลาในระบบแบบ “ออฟฟิศ” ตามตะวันตกตั้งแต่สมัย รัชกาลที่ 5 แต่เมื่อบุคลากรจากต่างแดนเข้ามาประสบตารางเวลาทำงานของ เจ้านายไทย ในราชวงศ์จักรีแล้วก็ยังแปลกใจกับการทำงานที่เจ้านายหลายพระองค์ทรงใช้ชีวิต (ทั้งทรงงานและการส่วนพระองค์) ในเวลากลางคืน

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เป็นช่วงที่เริ่มนำระบบทำงานแบบเต็มเวลาในออฟฟิศมาใช้ในระบบราชการเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2418 และถูกนำมาใช้เต็มรูปแบบในทุกกระทรวงใน พ.ศ. 2435 (กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, 2545)

วีระยุทธ ปีสาลี ผู้ทำวิทยานิพนธ์เรื่อง “ชีวิตยามค่ำคืนในกรุงเทพฯ พ.ศ.2427-2488” ตั้งข้อสังเกตว่า การปฏิรูประบบการทำงานในสยาม เป็นผลมาจากความจำเป็นที่ต้องปรับปรุงประเทศให้ทันสมัยในยุคอาณานิคม แต่สำหรับการทำงานแบบเต็มเวลาในโลกตะวันตกนั้น มาจากแนวคิดในระบบทุนนิยมที่ต้องทำงานเพื่อสร้างผลผลิตที่มีมูลค่าสูงในโรงงานเอกชน

สำหรับการทำงานของ เจ้านายไทย นายแพทย์มัลคอล์ม สมิธ (Malcolm Smith) แพทย์ประจำพระองค์ในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง แสดงความคิดเห็นเมื่อพบเห็นการทำงานในช่วงเวลากลางคืนเสมือนกับว่าทำกลางคืนให้กลายเป็นกลางวัน กลางวันกลายเป็นกลางคืนว่า เป็นเรื่องแปลกไปจากที่คุ้นเคย

สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ (สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง)

ข้อมูลที่อ้างอิง มัลคอล์ม สมิธ เผยในเอกสาร “ราชสำนักสยามในทรรศนะของหมอสมิธ” เล่าว่า สมเด็จพระพันปีหลวงทรงเป็นเจ้านายพระองค์สำคัญที่ทรงตื่นบรรทมเวลาประมาณ 6 โมงเย็นถึง 2 ทุ่ม บางคราวเลยไปถึง 4 ทุ่มก็มี หลังจากนั้นจึงสรงน้ำ เปลี่ยนฉลองพระองค์ แล้วจึงเริ่มปฏิบัติภารกิจประจำวันไปจนถึงรุ่งเช้าจนเข้าบรรทมประมาณ 7 โมงเช้า

ส่วนผู้ที่เข้าเฝ้าจะมาในเวลากลางคืน แน่นอนว่าฝั่งนายแพทย์มัลคอล์ม สมิธ ก็เช่นกัน โดยนายแพทย์ฝรั่งเล่าว่า มักได้เข้าเฝ้าเกือบเที่ยงคืน ขณะที่เจ้านายหลายพระองค์ต่างผลัดกันเสด็จมาเข้าเฝ้าในแต่ละคืนด้วย

ผู้เขียนหนังสือยังอ้างอิงข้อมูลจากเอกสารที่เล่าประสบการณ์ของหมอสมิธว่า เจ้านายไทย องค์อื่นก็โปรดใช้ชีวิตทำงานในช่วงราตรีเช่นกัน อาทิ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า สมเด็จฯ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ สมเด็จฯ กรมพระสวัสดิวัตนวิศิษฎ์ และ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

รัชกาลที่ 6 ทรงใช้เวลาทรงพระอักษร ทรงพระบิลเลียด ทรงไพ่บริดจ์ และซ้อมละครหรือโขนร่วมกับข้าราชการสำนักชายของพระองค์ ซึ่งเหตุผลการใช้ชีวิตยามค่ำคืนมีว่า (จมื่นอมรดรุณารักษ์, 2517)

“…เวลาดังกล่าวนี้ถ้าจะสืบดูจากประวัติศาสตร์โดยทั่วไปแล้วจะเห็นว่าภัยของประเทศที่จะมีขึ้นเพื่อโค่นล้มรัฐบาลนั้น จะถือเอาเวลาตอนดึกนี้ทำการปฏิวัติ เพราะฉะนั้นพระองค์ผู้มีหน้าที่รักษาความสุขของประชาชนก็จะต้องเป็นยามคอยระแวดระวังภัยให้ชาติบ้านเมืองได้รับความสงบสุขอยู่ตลอดเวลา”

จากข้อมูลข้างต้นอาจพอทำให้เห็นภาพการใช้ชีวิตยามค่ำคืนของเจ้านายหลายพระองค์ และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นหน้าที่ที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา และหากอ้างอิงตามข้อมูลที่มี พอจะบอกได้ว่าเป็นเรื่องที่เชื่อมโยงกับเหตุผลทางการเมืองมากกว่าความพึงพอพระราชหฤทัยส่วนพระองค์ (วีระยุทธ ปีสาลี, 2557)

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง : 

จมื่นอมรดรุณารักษ์ (แจ่ม สุนทรเวช). มหาดเล็กในทำเนียบสุนัขปริศนา นามแฝงของมหาบุรุษ. กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, 2517, หน้า 28

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. เทศาภิบาล. กรุงเทพฯ : มติชน, 2545, หน้า 35-36.

วีระยุทธ ปีสาลี. กรุงเทพฯ ยามราตรี. กรุงเทพฯ : มติชน, 2557, หน้า 60


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 ธันวาคม 2561