ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
สถานที่เที่ยวเตร่ยามค่ำคืนแบบใหม่ที่เก็บเงินเข้าชมที่อีกแห่งหนึ่งคือ สวนสนุก ในเวลากลางคืน ภูมิหลังของ สวนสนุก พัฒนามาจากงานรื่นเริงหรือเรียกทับศัพท์ว่างาน Fair ตั้งแต่ครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 17 ที่มีลักษณะเป็นงานรื่นเริง มีกิจกรรมบันเทิงริมถนน มีโรงละคร สวน สปา และงานแสดงสินค้า จนมาถึงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 จึงเรียกพื้นที่ความบันเทิงที่รู้จักกันในชื่อ Fair ว่า Park ฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดอันใดที่ สวนสนุก แห่งแรกในกรุงเทพฯ จะถูกเรียกว่า “ป๊าก” เช่นกันนั่นก็คือ ป๊ากสามเสน หรืออีกชื่อหนึ่งคือบ้านหิมพานต์
ป๊ากสามเสนหรือบ้านหิมพานต์เปิดบริการตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2451 ตั้งอยู่ในบริเวณบ้านพักของพระยาสรรพการหิรัญกิจ หนึ่งในผู้บริหารธนาคารไทยพาณิชย์ ในป๊ากมีที่ดินประมาณ 16,000 ตารางวา กลางป๊ากมีตึก 2 หลังทำอย่างประณีตงดงาม
ตอนหน้าของตึกมีโรงละครใหญ่อย่างงาม 1 โรง มีกรงเลี้ยงสัตว์ต่างๆ มีสระน้ำและสนามหญ้า มีเขาที่ก่อด้วยหินขนาดใหญ่พร้อมด้วยถ้ำสำหรับเข้าไปเที่ยวภายในได้ เขาและถ้ำนี้มีน้ำพุกระโจนออกมาไม่ขาดสาย ด้านหน้าน้ำพุเป็นสระประดับประดาด้วยเครื่องทอง ภายในถ้ำมีทางขึ้นบนยอดเขาได้และมีพระพุทธรูปสำหรับบูชาในถ้ำ
ส่วนบริเวณหลังตึกมีเขาดิน ภายในเขามีอุโมงค์กว้างขวาง บนเขามีถนนทำด้วยปูนซีเมนต์ มีที่พักทำด้วยศิลาและปลูกไม้หอม มีสระน้ำข้างๆ เขาก่อด้วยศิลาเป็นหย่อมๆ สำหรับนั่งดูน้ำ มีโรงเครื่องดื่มต่างๆ เช่นโรงกาแฟที่มีหมากพลูบุหรี่ มีเก้าอี้สำหรับนั่งเล่นตามสนาม มีเรือสำหรับพายเล่นในคลองและในสระ มีท่าน้ำและสนามหญ้าขนาดใหญ่และเล็ก และชายป่าที่ล้วนปลูกไม้ดอกและไม้ประดับ สำหรับผู้ที่ต้องการไปเที่ยวชมในป๊ากต้องเสียเงินค่าผ่านประตูคนละหนึ่งบาท เปิดให้เข้าชมได้ตั้งแต่เวลา 7 โมงเช้าจนถึงสองยามหรือเที่ยงคืน ครั้นต่อมาก็มีการนำภาพยนตร์จากยุโรปเข้ามาฉายทุกคืนวันอังคารและวันพฤหัสบดีตั้งแต่เวลา 1 ทุ่มจนถึง 4 ทุ่มครึ่ง
ป๊ากสามเสนมีลักษณะเป็นสวนสนุกที่ยังไม่ถึงกับเป็นสวนสาธารณะและคล้ายคลึงกับสวนสำราญในสังคมจารีตที่เป็นพื้นที่เฉพาะกลุ่มชนชั้นนำ เช่น สวนขวาและสวนสราญรมย์ที่ประกอบด้วยต้นไม้ สระน้ำ สนามหญ้า ภูเขา และเครื่องบันเทิงประเภทต่างๆ
การสร้างสวนสนุกในยามค่ำคืนให้เป็นพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจของคนกรุงเทพฯ จึงทำให้กรอบความคิดเรื่องสวนเพื่อความสำราญไม่ได้เป็นพื้นที่ของชนชั้นนำอย่างในสังคมจารีตอีกต่อไป แต่ได้เริ่มเป็นพื้นที่ใหม่สำหรับสาธารณชนที่ทุกคนสามารถเข้าไปใช้ชีวิตยามค่ำคืนในสวนสนุกได้
การเปิดบริการป๊ากสามเสนได้รับความสนใจจากคนกรุงเทพฯ อยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะเมื่อนำภาพยนตร์เข้ามาฉาย แต่ผู้ที่เข้าไปชมและใช้บริการกิจกรรมยามค่ำคืนต่างๆ ในป๊ากสามเสนกลับพบว่าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชนชั้นนำมากกว่าสามัญชน
ทั้งนี้อาจพิจารณาได้จากอัตราค่าผ่านประตูที่เก็บอยู่ที่ 1 บาทต่อ 1 คน เมื่อเทียบกับรายได้ของสามัญชนส่วนใหญ่แล้วก็ยังนับว่าเป็นราคาที่ค่อนข้างสูง ประกอบกับความไม่สะดวกในการเดินทางกลับบ้านของสามัญชนที่ไม่มียานพาหนะส่วนตัว เพราะเมื่อเวลาหนังเลิกตอน 4 ทุ่มหรือเวลาปิดบริการป๊ากตอนเที่ยงคืนรถรางเที่ยวสุดท้ายได้หมดไปตั้งแต่ 2 ทุ่มแล้ว ในเรื่องการเดินทางจึงเห็นได้ว่ายานพาหนะเป็นสิ่งสำคัญต่อการใช้ชีวิตยามค่ำคืนนอกบ้านของคนกรุงเทพฯ ที่สามารถพาพวกเขาไปสู่พื้นที่กลางคืนของเมืองที่ใดและจะกลับเมื่อใดก็ได้
อย่างไรก็ตาม ป๊ากสามเสนก็เป็นพื้นที่แรกที่แสดงให้เห็นการใช้พื้นที่สวนเพื่อความสำราญในยามค่ำคืนร่วมกันระหว่างชนชั้นสูงกับสามัญชนก่อนที่จะมีสวนสาธารณะเพื่อสาธารณชนในเมืองอย่างแท้จริงที่สวนลุมพินีในปลายทศวรรษที่ 2460
อ่านเพิ่มเติม :
- เปิดชีวิต “พระสรรพการหิรัญกิจ” เจ้าของป๊ากสามเสน บ้านสุดหรูหราราวพระราชวัง
- ทำไม “เจ้านายไทย” สมัยก่อนใช้ชีวิตกลางคืนตื่นบรรทม 6 โมงเย็นแม้ราชการใช้เวลาออฟฟิศแล้ว
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากหนังสือ “กรุงเทพฯ ยามราตรี” เขียนโดย วีระยุทธ ปีสาลี (สำนักพิมพ์มติชน, 2557)
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 ตุลาคม 2560