เปิดชีวิต “พระสรรพการหิรัญกิจ” เจ้าของป๊ากสามเสน บ้านสุดหรูหราราวพระราชวัง

บ้านหิมพานต์ ป๊ากสามเสน ปาร์คสามเสน บ้านสไตล์ตะวันตก ของ พระสรรพการหิรัญกิจ
บ้านหิมพานต์ หรือป๊ากสามเสน (ปาร์คสามเสน) (ภาพจาก หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

หลายปีมาแล้วผู้เขียนได้อ่านหนังสือเล่มไหนหรือได้ยินจากใครไม่ทราบ บอกเป็นทำนองว่า บริเวณ “วชิรพยาบาล” หรือที่ชาวบ้านเรียกโรงพยาบาลวชิระถนนสามเสนนั้น เดิมเป็นสวนสาธารณะอันกว้างใหญ่ของพระสรรพการหิรัญกิจ

ต่อมาสวนดังกล่าวถูกขายแล้วเปลี่ยนแปลงเป็นโรงพยาบาลไปอย่างที่เห็น เมื่อได้ฟังแล้วให้รู้สึกเสียดายเป็นกำลัง เพราะเคยเห็นภาพสวนพระสรรพการในหนังสือ Twentieth Century Impressions of Siam มานาน ทราบคร่าว ๆ ว่า สร้างตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 มีตึกมีโรงละครโอ่อ่าหรูหราสวยงามมาก เมื่อเปลี่ยนรูปเป็นโรงพยาบาลไปเสียแล้ว ตึกเก่าและสวนสวยก็สูญหายไปเกือบหมด แม้จะเอ่ยชื่อสวนพระสรรพการขึ้นมาก็คงหาคนยุคนี้รู้จักน้อยเต็มที

Advertisement

แต่จะทําอย่างไรได้…นอกเหนือจากข้อมูลในทเวนตี เซนจูรีฯ แล้ว ผู้เขียนหาเรื่องราวของ สวนพระสรรพการเพิ่มเติมไม่ได้สักเท่าใดเลย แม้วชิรพยาบาลก็ไม่ได้เข้าไปเดินสำรวจ ไม่ทราบว่าตึกเก่ายังเหลือสักกี่ตึก ข้าวของเก่า ๆ เหลือสักแค่ไหน จึงถือเป็นเรื่องค้างใจไม่รู้จะยกขึ้นมาบอกกล่าวแก่ท่านได้อย่างไร

กระทั่งเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2543 นี้ ได้หาเวลาไปอ่านไมโครฟิล์มในหอสมุดแห่งชาติหนึ่งวันเต็ม ๆ ลองสุ่มขอหนังสือพิมพ์รายวันชื่อ “ไทย” ม้วนที่ 1 พิมพ์เมื่อ ร.ศ. 127 หรือ พ.ศ. 2451 มาอ่านไปเรื่อย ๆ ทันใดนั้น ผู้เขียนก็เห็นคำว่า สรรพการหิรัญกิจ ผ่านตาไปแวบ ๆ (คำว่าแวบไม่ต้องใส่ไม้เอก)

ผู้เขียนรีบชะลอความเร็วของฟิล์มและย้อนกลับไปดูใหม่ทันที แล้วก็ได้พบว่า “ไทย” เมื่อช่วงกันยาฯ-ตุลาฯ ปีนั้น กำลังเสนอข่าวการเปิดสวนของพระสรรพการพอดี!

ในช่วงเวลาอันมีอยู่จำกัด ทุก ๆ นาทีมีค่าเหลือประมาณ ผู้เขียนรีบหมุนหาข่าวพระสรรพการ และรีบกดคำสั่ง print อย่างเร่งด่วน จากนั้นก็นำกลับมาอ่านอย่างตั้งอกตั้งใจ

บ้านหิมพานต์-ป๊ากสามเสน สวนสาธารณะเอกชนสวนแรก

โดยสรุป ตามความคิดของผู้เขียน-สวนพระสรรพการ หรือที่ในข่าวเรียกว่า “บ้านหิมพานต์” หรือ “ป๊ากสามเสน น่าจะเป็นสวนสาธารณะของเอกชนแห่งแรกในกรุงเทพฯ หรือในเมืองไทยที่เปิดให้สุภาพชนเข้าไปพักผ่อนดูหนังดูละครเพื่อหย่อนอารมณ์ โดยทุกคนต้องเสียค่าผ่านประตูเสียก่อน ไม่ใช่เดินเข้าไปฟรี ๆ เข้าใจว่าแต่ไหนแต่ไรเมืองไทยไม่เคยมีใครทำแบบนี้มาก่อนเลย

เป็นสวนที่สร้างตั้งแต่ พ.ศ. 2451 และสร้างก่อนปาร์คนายเลิศตั้งเกือบ 20 ปี (เพราะปาร์คนายเลิศที่คุ้น ๆ หูนั้น สร้างเมื่อ พ.ศ. 2470) เป็นสวนอันงดงามและมีตึกอันโอ่อ่าอย่างยิ่ง ชนิดที่ไม่ควรสูญหายไปจากความทรงจำของคนกรุงเทพฯ เลย

สิ่งที่สมควรจะรู้จึงได้แก่ 1. หน้าตาของบ้านหิมพานต์ 2. ประวัติของผู้สร้าง และ 3. ความเป็นไปของบ้านหิมพานต์

ทั้งสามข้อนี้ใช่ว่าผู้เขียนจะรู้ไปหมด เปล่าเลย…สิ่งที่ค้นคว้ามาได้นั้นยังไม่เรียกว่ามาก ยังเป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้นเอง ผู้เขียนรู้และไม่รู้อย่างไรบ้าง จะเล่าให้ท่านฟัง

ภาพจาก Twentieth Century

แรกสุดต้องเอาหนังสือทเวนตี เซนจูรีฯ มากางดูกันเสียก่อน หนังสือทเวนตี เซนจูรีฯ นี้เป็นหนังสือที่ยิ่งใหญ่มาก พิมพ์ที่อังกฤษเมื่อ พ.ศ. 2451 เล่มหนาหุ้มปกหนังอย่างดี มีภาพประกอบที่สวยงามคมชัดจำนวนมาก หลายภาพถ่ายโดยร้านโรเบิร์ตเลนซ์ ร้านถ่ายรูปชั้นนำ ปัจจุบันถือเป็นหนังสือหายาก โชคยังดีอยู่บ้างที่สำนักพิมพ์ไวท์ โลตัส กรุงเทพฯ นำมาพิมพ์ใหม่ แต่ลดขนาดลง และตัดเนื้อความพิเศษเกี่ยวกับมลายูซึ่งของเดิมพิมพ์ไว้ข้างหลังออกไป อีกข้อหนึ่งการพิมพ์ภาพไม่สู้ดีเหมือนเก่า แต่กระนั้นก็ยังดีกว่าต้องกระเสือกกระสนหาเล่มดั้งเดิมมาดู

นับจากหน้า 254-255 ให้สังเกตว่า ผู้จัดทำได้อุตส่าห์ลงภาพบ้านและสวนพระสรรพการต่อกันถึง 3 หน้า แสดงว่าให้ความสำคัญค่อนข้างมาก

หน้า 254 เป็นภาพบ้านและสวนพระสรรพการถ่ายจากด้านนอกหรือถ่ายระยะไกล แลเห็นกำแพงก่ออิฐทึบ มีหัวเสารูปสี่เหลี่ยมโผล่ขึ้นมาเป็นระยะ ๆ ข้างในมีตึกสูง ๆ ซึ่งก็คือตึกหลังใหญ่ กับตึกหลังเล็กปรากฏไม่ชัดนัก ภาพต่อมาคือภาพโรงละครสูง 2 ชั้น ยังมีนั่งร้านผูกรายรอบอยู่ แสดงว่าถ่ายขณะยังสร้างไม่เสร็จดี

หน้า 255 เป็นภาพตึกสองชั้นหลังเล็กซึ่งมีหอสูงยอดแหลมโดดเด่นอยู่ข้างบน ลายปูนปั้นรอบหน้าต่างประตูออกแบบอย่างวิจิตร ตึกเล็กหลังนี้ถูกรื้อไปแล้วเมื่อหลัง พ.ศ. 2497

อีกภาพเป็นภาพตึกขนาดใหญ่ แบ่งพื้นที่อาคารเป็น 5 ช่วง ถ้ามองจากด้านหน้าจะเห็นว่า 4 ช่วงทางขวาสูง 2 ชั้น ส่วน 2 ช่วงทางซ้ายสร้างให้สูงเป็นพิเศษ กลายเป็น 3 ชั้น หน้าตึกมีสระน้ำเล็ก ๆ รูปวงกลม…

อีกภาพเป็นภาพห้องรับแขกภายใน มีโคมไฟ มีเฟอร์นิเจอร์ และเครื่องประดับอย่างยุโรป ตกแต่งอย่าง หรูหราราวพระราชวัง

บริเวณบ้านพักของพระยาสรรพการหิรัญกิจซึ่งเป็นที่ตั้งของ ป๊ากสามเสน (ภาพจากหนังสือ Twentieth Century Impressions of Siam. 1994)

หน้า 256 เป็นภาพพระสรรพการหิรัญกิจ ซึ่งภาษาอังกฤษเขียนว่า H.E.Phra Sanpakarn Hiranjakitch เป็นการช่วยบอกให้เราทราบว่า สรรพการ อ่านว่า สัน-พะ-กาน พระสรรพการในภาพยังเป็นหนุ่มมาก เป็นคนค่อนข้างท้วม หวีผมแสกกลาง ไว้หนวดตามสมัยนิยม

ต่อไปเป็นภาพพระพรหมาภิบาล ผู้บิดา ภาพหมู่ พระสรรพการถ่ายกับบิดากับอา? (uncle) และน้องชายอีก 2 คน ปิดท้ายด้วยภาพคุณทรัพย์ ภรรยาพระสรรพการ ไว้ผมตัดแบบทรงดอกกระทุ่ม

พระสรรพาการ (ขวาสุด) ถ่ายกับบิดา อา และน้องชาย (ภาพจากหนังสือ Twentieth Century Impressions of Siam. 1994)

เนื้อหาจาก Twentieth Century

ต่อไปเป็นข้อความที่เขียนถึงพระสรรพการในฐานะบุคคลชั้นสูงของสยามรวดเดียวจบ แปลและเพิ่มย่อหน้าใหม่ให้อ่านง่ายได้ดังนี้

“พระสรรพการหิรัญกิจ เป็นบุตรชายคนที่ 3 ของพระพรหมาภิบาล และเป็นราชองครักษ์ผู้ได้รับความนับหน้าถือตาอย่างสูงในสยาม หลังจากสำเร็จการศึกษาแล้ว ก็ได้เข้ารับราชการอยู่ราว 10 ปี ส่วนใหญ่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของกรมหมื่นมหิศร (ในที่นี้เขียนผิดเป็น Makisra-เอนก) เสนาบดีกระทรวงคลัง

อย่างไรก็ตาม การตั้งธนาคารสยามกัมมาจล (ธนาคารไทยพาณิชย์ในสมัยต่อมา-เอนก) และการแต่งตั้งเขาให้เป็นผู้จัดการของธนาคารแห่งนี้ทำให้เขาต้องเกษียณจากราชการ นับแต่นั้นมาเขาก็ได้อุทิศเวลาทั้งหมดในการประกอบกิจการของเขา และความสำเร็จตลอดจนความมั่นคงของธนาคารเป็นเครื่องแสดงถึงความสามารถในการจัดการและการได้รับการฝึกฝนทางการเงินมาเป็นอย่างดีของเขา

พระสรรพการซึ่งเป็นนักสะสมของเก่าตัวยงได้เดินทางไปยังที่ต่าง ๆ หลายแห่งในสหพันธรัฐมลายาและหมู่เกาะอินเดียตะวันออก และที่พักส่วนตัวของพระสรรพ การซึ่งมีชื่อเสียงว่างดงามที่สุดในกรุงเทพฯ นอกเหนือจากพระบรมมหาราชวัง และเป็นที่มีของที่ระลึก จากการเดินทางอันน่าสนใจเป็นที่สุดของเขาประดับตกแต่งอยู่

สวนที่รายล้อมคฤหาสน์ทั้ง 2 หลัง ของเขาเอาไว้ เปิดให้ประชาชนเข้าได้ตลอดเวลา มีโรงละครเล็ก ๆ อันแสนวิเศษอยู่ด้วยหลังหนึ่ง พรักพร้อมสะดวกสบายสำหรับการแสดงละครสมัยใหม่บนเวที

น้องชายคนที่ 2 ของพระสรรพการได้เดินทางไปยุโรป 2 ครั้ง และครั้งล่าสุดมีน้องชายคนสุดท้องติดตามไปด้วย น้องชายคนนี้ตกลงใจที่จะเข้าทำงานการธนาคารเช่นกัน ขณะนี้เขากำลังศึกษาภาษาอังกฤษเป็นอย่างดีอยู่ที่กรุงลอนดอน

พระสรรพการสมรสกับคุณทรัพย์ บุตรสาวของข้าราชการคนสำคัญคนหนึ่งของสยาม”

จากข้อความที่ยกมานี้แสดงให้เห็นว่า พระสรรพการเป็นทั้งนักธุรกิจที่เก่งกาจ เป็นนักสะสม เป็นคนรวย และเป็นคนมีความรู้ความสามารถมาก

พระสรรพการเกิดเมื่อไร เรียนหนังสือจากที่ไหน ถึงแก่กรรมเมื่อไร ยังค้นหาหลักฐานไม่ได้

สกุลของพระสรรพการ หรือพระอรรถวสิษฐสุธี

พระสรรพการชื่อจริงชื่ออะไร อยู่ในสายสกุลใด หนังสือทเวนตีฯ ไม่ได้ระบุ ลองไปเปิดหนังสือของธนาคารไทยพาณิชย์ฉบับครบ 60 ปี พ.ศ. 2510 และฉบับหลัง ๆ ดูก็พบแต่บรรดาศักดิ์และราชทินนาม ไม่วงเล็บชื่อสกุลไว้เลย ความรู้อื่น ๆ ที่ได้คือ แบงก์สยามกัมมาจลทุนจำกัด เริ่มจัดตั้งเป็นบริษัทเมื่อ พ.ศ. 2449 พระสรรพการถือหุ้นมากเป็นอันดับ 2 รองจากกรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย เวลาถ่ายรูปพระสรรพการจะอยู่ในตำแหน่งตรงกลางเสมอ แสดงว่าเป็นคนสำคัญจริง

เมื่อไม่พบชื่อพระสรรพการในหนังสือของไทยพาณิชย์แล้วจะทำอย่างไร ผู้เขียนนึกได้ว่าเพิ่งพบภาพตึกพระสรรพการในหอจดหมายเหตุแห่งชาติเมื่อไม่นาน และเพิ่งไปลอกคำบรรยายมา ลองเอาคำบรรยายมาดู มีคนใจบุญช่วยเขียนบอกไว้ว่า พระสรรพการชื่อเดิมว่า เชย อยู่ในสกุล อิศรภักดี

นามสกุล อิศรภักดีไม่ค่อยคุ้น ไม่แน่ใจว่าในห้องสมุดส่วนตัว จะมีหนังสือให้ค้นหรือไม่ ลองรื้อชั้นหนังสือ หมวดสายสกุลดู ปรากฏว่าโชคดีมาก พบหนังสือเล่มบาง ๆ ชื่อ “มรรยาทสังคม และงานฉลองวันครบรอบสองร้อยปีแห่งการนำพิธีอุปสมบทจากกรุงศรีอยุธยาไปลังกาทวีป” พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพและฌาปนกิจศพ “พระอรรถวสิษฐสุธี (เชย อิศรภักดี) และนางช้อย อรรถวสิษฐ อิศรภักดี” ณ วัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันจันทร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2513

เป็นอันว่าเจอหนังสืองานศพพระสรรพการ ซึ่งภายหลังไปทำงานด้านกฎหมาย อยู่กรมอัยการจนได้เป็น พระอรรถวสิษฐสุธี แต่เพื่อไม่ให้สับสนวุ่นวาย จะขอยึดชื่อพระสรรพการเป็นเกณฑ์ต่อไป

ป้ายชื่อบริษัทแบงก์สยามกัมมาจลทุนจำกัด เริ่มใช้ในยุคก่อตั้งบริษัทแบงก์สยามกัมมาจลทุนจำกัด พ.ศ. 2449 (ภาพจาก พิพิธภัณฑ์ธนาคารไทย)

รสนิยมพระสรรพการ

หนังสืองานศพพระสรรพการที่ผู้เขียนมีนั้นแปลก ไม่ลงรูปและบอกปีเกิดปีตายของพระสรรพการไว้เลย หรือจะมีเล่มอื่นพิมพ์บอกต่างหากอีกก็ไม่ทราบ น่าสงสัยมาก จะไปตรวจสอบจากใครก็ไม่ได้ เพราะประเทศไทยยังไม่ทำห้องสมุดหนังสืองานศพให้เป็นแก้วเป็นการ การค้นคว้าเรื่องบุคคลจึงมักติดขัดเรื่อยมา

เฉพาะเล่มที่หาได้นี้ บุตร 1 ใน 20 คนของพระสรรพการ คือ คุณวัฒนา อิศรภักดี อดีตอุปทูตรักษาราชการสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเดลี ประเทศอินเดีย เป็นผู้พิมพ์แจก ปกขาวดำ หนาเพียง 50 หน้า

จากหนังสือแจกทำให้ทราบว่า พระสรรพการถึงแก่กรรมมานานแล้วหลายปี แต่ลูก ๆ ไม่พร้อมที่จะจัดงานใหญ่สักที จนที่สุดเมื่อรอกันนานกว่านั้นไม่ได้แล้ว จึงได้ตกลงใจจัดกันใน พ.ศ. 2513

วัฒนาเล่าเกร็ดเล็ก ๆ น้อย ๆ ของ “คุณพ่อ” ไว้ว่า ท่านไม่เคยไปยุโรปหรืออเมริกาเลย แต่รสนิยมของท่านกลับสูงยิ่งกว่าคนธรรมดาทั่วไป เช่นเครื่องถ้วยชาม แก้ว เหล้า แก้วน้ำของท่านมีตราประจำตัว มีลวดลายอย่างผู้ดีประทับทุกใบ และสั่งทำจากอังกฤษทั้งสิ้น ช้อนส้อม มีด เครื่องน้ำชากาแฟ ก็ล้วนเป็นเครื่องเงินอังกฤษ

การแต่งกายของลูก ๆ ห้ามไม่ให้นุ่งกางเกงจีน หรือใส่เกี๊ยะมาตั้งแต่ก่อนยุครัฐนิยมของจอมพล ป. พิบูลสงคราม แล้ว อาคารที่จัดสร้าง รั้วกั้นบริเวณ ของสะสมทั้งหลาย ล้วนเป็นของล้ำค่าและมีศิลปะ

อัจฉริยะในการเรียน

ได้ทราบมาแต่ต้นแล้วว่า พระสรรพการเคยเป็นราชองครักษ์ในรัชกาลที่ 5 ต่อมาก็มาเป็นผู้จัดการแบงก์ สยามกัมมาจล (คำว่ากัมมาจลไม่มีความหมายในภาษาไทย เป็นคำล้อเสียงจากคำว่า commercial อันแปลว่าการค้าหรือพาณิชย์) ใน พ.ศ. 2449 ได้เป็นอยู่กี่ปีไม่ทราบ ภายหลังกลับเข้าทำราชการอีกแต่ไปเอาดีทางด้านกฎหมาย ไปศึกษากฎหมายเอาเมื่อมีอายุมากแล้ว

“เล่ากันว่าท่านดูหนังสือหามรุ่งหามค่ำ จนการเรียนที่ควรจะใช้เวลา 2 ปี ท่านสามารถสอบไล่ได้ภายในปีเดียว ผู้บอกเล่าผู้หนึ่งถึงกับเชื่อว่า ท่านอ่านหนังสือเที่ยวเดียวก็จำความสำคัญได้หมด”

เมื่อวัฒนาเรียนกฎหมาย เคยถามกฎหมายอาญาจากพ่อ พระสรรพการก็สามารถตอบได้หมดโดยไม่ต้องเปิดหนังสือเลยว่าเรื่องนั้น ๆ อยู่ในมาตราไหน ประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยเรื่องอะไร เวลาไปว่าความก็กลับมาพิมพ์รายงาน การซักพยานเสนออธิบดีกรมอัยการอย่างละเอียด แสดงว่า เป็นคนมีความจำดีมาก

ในสมัยที่กลับมาทำงานทางด้านกฎหมายนี้เองที่พระสรรพการได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์และราชทินนามว่า พระอรรถวสิษฐสุธี

พระอรรถวสิษฐสุธีรับราชการจนปลดเกษียณอายุ แล้วจึงประกอบอาชีพทนายความ โดยไม่ได้ตั้งใจหาเงิน หรือหาลูกความเป็นสำคัญ กับมิได้เปิดสำนักงานที่ไหน ได้แต่อยู่ที่บ้านและเมื่อมีคนรู้จักมาขอให้ว่าความให้ ก็รับเท่าที่เห็นสมควรเท่านั้น

พระสรรพการเรียนหนังสือเบื้องต้นที่ไหนไม่ทราบ แต่เรื่องภาษาอังกฤษวัฒนากล่าวว่า พระสรรพการเรียนด้วยตนเองเป็นส่วนใหญ่ หนังสือแบบเรียนที่มีอยู่ในห้องสมุดของท่าน มีรอยขีดเส้นใต้ และเขียนคำแปลภาษาไทยไว้แทบทุกเล่ม ท่านเคยเล่าให้ลูกฟังว่า เรียนภาษาอังกฤษเองจนกระทั่งพูดกับฝรั่งที่มาทำงานแบงก์สยามกัมมาจลด้วยรู้เรื่อง

นักสะสม

พระสรรพการเป็นนักสะสมตัวยง ห้องสมุดของท่านมีหนังสือนานาชนิด ตั้งแต่หนังสือพระราชนิพนธ์ ตลอดจนหนังสือเกี่ยวกับภาพยนตร์

เวลาสังคมชั้นสูงเล่นอะไร ท่านก็เล่นกับเขาด้วย ไม่ว่าพระพุทธรูป นกพิราบ ไม้ดัด ไม้ถือ หรือต้นหน้าวัว ในสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่ (พ.ศ. 2475) ท่านก็สนใจเรื่องการเมืองและเทศบาล แต่สิ่งที่ท่านไม่เล่นด้วยคือการพนันขันต่อจำพวกชนไก่ กัดปลา และยิงนกตกปลา

การจัดบ้านช่อง ปลูกต้นไม้ เป็นสิ่งที่พระสรรพการทำมาตลอดชีวิต เมื่อคุณวัฒนายังเล็ก รับประทานส้มแล้วคายชานทิ้งบนสนาม ท่านเรียกให้เก็บไปทิ้งที่อื่นโดยไม่ดูไม่ว่ากระไร เพราะไม่ใช่คนดุหรือขี้บ่น แต่เป็นการแสดงให้เห็นว่า ท่านรักความสะอาดและความเป็นระเบียบ

การโต้วาที พระสรรพการก็สนใจเหมือนกัน แสดงว่า เป็นคนเชาวน์ไว วัฒนาเล่าว่า ฝรั่งเคยชมว่าพระสรรพการซักค้านพยานเก่งที่สุดในประเทศไทย

ผู้สูงอายุคนหนึ่งเล่าว่า ทนายอาวุโสคนหนึ่งตำหนิวิธีบางอย่างของพระสรรพการเวลาต่อสู้คดีกันในศาล เมื่อท่านผู้อาวุโสกล่าวด้วยความรำคาญว่า

“เล่ห์เหลี่ยมเช่นนี้ใช้ไม่ได้ ไม่ทราบว่าท่านได้มาจากไหน”

พระสรรพการก็ตอบกลับไปทันทีทันควันว่า “กระผมก็ได้มาจากใต้เท้าซึ่งเป็นบรมครูของกระผมนั่นเอง”

ตากอากาศ

พระสรรพการเป็นคนใจคอกว้างขวาง มีความเยือกเย็นสุขุมคัมภีรภาพ มีความคิดก้าวหน้า และแม้ไม่เคยไปเรียนต่างประเทศ ก็เห็นประโยชน์ของการพักผ่อนประจำปีอย่างชาวตะวันตก

ทุก ๆ หน้าร้อนพระสรรพการจะพาครอบครัวไปตากอากาศโดยเสียเงินปีละไม่ใช่น้อย เพราะต้องเตรียมอาหารดี ๆ เช่น หมูแฮม เนยแข็ง เหล้า บรั่นดี ชา กาแฟ ไปหัวหิน

อย่างไรก็ตาม วัฒนากล่าวว่า ในตอนบั้นปลายของชีวิต พระสรรพการกลายเป็นคนสมถะและมีความสันโดษ รักษาเกียรติของตนไว้จนอวสาน แม้จะมีรถยนต์ให้ลูก ๆ ใช้ แต่ตัวท่านเองกลับไม่ชอบนั่งรถยนต์ไปไหนมาไหน ละครและภาพยนตร์ก็ไม่ไปดู อ้างว่าการไปเที่ยวเตร่หรือไปเห็นอะไรสวย ๆ หรู ๆ อาจทำให้เกิดความทะเยอทะยานอยากได้นั่นได้นี่

ท่านเชื่อว่าท่านเคยมีเกือบทุกสิ่งที่ต้องการมาแล้ว และ “คงตระหนักแก่ตนมาแล้วว่าความทะเยอทะยานอาจนำมาซึ่งความทุกข์” คงคิดแต่จะให้บุตรภรรยามีความสุขความเจริญมากกว่าคิดถึงตัวท่านเอง

วัฒนาเล่าเรื่องพระสรรพการไว้ 5-6 หน้าดังผู้เขียนพยายามเก็บความมาแสดง อ่านแล้วรู้สึกถึงและชื่นชมในตัวพระสรรพการ แต่น่าแปลกใจและน่าเสียดายที่วัฒนาไม่กล่าวถึงบ้านหิมพานต์หรือป๊ากสามเสนเลยแม้แต่คำเดียว

บ้านหิมพานต์ ป๊ากสามเสนเกิดขึ้นได้อย่างไร และแปรเปลี่ยนไปอย่างไร?

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความ “ตามหา พระสรรพการ” เขียนโดย เอนก นาวิกมูล ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2543


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 31 สิงหาคม 2563