พระตำหนักใหม่ วังสระปทุม ลักษณะบ้านเพื่ออาศัยมิใช่วังเจ้านาย ที่ประทับราชสกุลมหิดล

พระตำหนักใหญ่ วังสระปทุม ภาพจากหนังสือบางกอก บอกเล่า (เรื่อง) วัง

ภาพจำของย่านปทุมวันของใครหลายคนคงจะเป็นการจราจรคับคั่ง พื้นที่ห้างสรรพสินค้าที่ทันสมัย ย่านการค้าที่เฟื่องฟู หากย้อนกลับไปเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว บริเวณนี้ยังคงเป็นทุ่งว่างเปล่าที่เรียกกันว่า “ทุ่งปทุมวัน”

“ทุ่งปทุมวัน” แต่เดิมเป็นที่อยู่อาศัยของชาวลาวเวียงจันทน์ไม่กี่หลังคาเรือนที่ถูกเทครัวมาสมัยรัชกาลที่ 3

Advertisement

ข้อมูลจากการรวบรวมโดยสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยวกรุงเทพมหานคร บรรยายว่า จุดเริ่มต้นเกิดขึ้นจากสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 มีพระราชดำริจะขยายความเจริญของพระนครไปยังพื้นที่ห่างไกล และแก้ไขปัญหาความแออัดของจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้น พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้สร้างวังขึ้นบริเวณทุ่งปทุมวันพร้อมพระราชทานนามว่า “พระราชวังปทุมวัน” โปรดเกล้าฯ ให้ขุดสระบัวขึ้น แบ่งออกเป็น “สระนอก” ให้ราษฎรทั่วไปได้เล่นแข่งเรือในฤดูน้ำหลาก และ “สระใน” ใช้เป็นที่สำราญพระอิริยาบถส่วนพระองค์

เมื่อสร้างวังและขุดสระเรียบร้อยแล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดขึ้นชื่อว่า “วัดปทุมวนาราม” เพื่อพระราชทานเป็นพระเกียรติแก่สมเด็จพระเทพศิรินทรา บรมราชินี พระอัครมเหสี ตามโบราณราชประเพณีที่มีการสร้างวัดประจำพระราชวัง ทั้งนี้ได้อาศัยแรงงานชาวลาวในการสร้าง จากนั้นพระองค์จึงโปรดเกล้าฯ นิมนต์พระครูกล่ำ ภิกษุชาวลาวจากวัดบวรนิเวศวิหารมาเป็นเจ้าอาวาสพร้อมทั้งโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระพุทธปฏิมาศักดิ์สิทธิ์อันเป็นที่เคารพนับถือของชาวลาวมาประดิษฐานที่วัดปรทุมวนาราม

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ยังได้พระราชทานชื่อบริเวณทุ่งปทุมวันนี้ว่า “ตำบลปทุมวัน” ตามดอกบัวที่ชูก้านออกดอกบานสะพรั่งทั่วทั้งคลอง

ครั้งถึงสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างวังของเจ้านายขึ้นบริเวณทุ่งปทุมวัน เพื่อเป็นศูนย์กลางการตั้งชุมชนของราษฎร วังที่มีพระราชดำริให้สร้างขึ้นนั้น ได้แก่ “วังวินด์เซอร์” หรือ “วังกลางทุ่ง” เพื่อให้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร โดยถ่ายแบบมาจากพระราชวังวินด์เซอร์ของสหราชอาณาจักรแต่ย่อส่วนลงมา

เนื่องด้วยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร สวรรคตก่อนที่จะประทับ ณ วังแห่งนี้ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 วังวินด์เซอร์ได้ถูกรื้อถอนเพื่อสร้างเป็นสนามกีฬาแห่งชาติ หรือสนามศุภชลาศัยในปัจจุบัน

ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระราชทานที่ดินบริเวณทุ่งปทุมวันแปลงหนึ่งในเขตสระบัวด้านเหนือแก่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดชฯ กรมขุนสงขลานครินทร (สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมชนก) พระราชโอรสซึ่งประสูติแต่สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า แต่ยังมิได้สร้างวังเนื่องจากสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดชฯ กรมขุนสงขลานครินทร เสด็จไปทรงศึกษาที่ประเทศสหรัฐอเมริกา

(ซ้าย) สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า (ขวา)สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ภาพจากหอสมุดแห่งชาติ ไม่ระบุปี

ครั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จสวรรคต สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ได้เสด็จออกจากพระบรมมหาราชวัง มาประทับที่ “พระตำหนักเขียว” ในพระราชวังปทุมวันเป็นการชั่วคราวเพื่อรอพระตำหนักใหญ่ที่ยังสร้างไม่เสร็จ

เมื่อพระตำหนักใหญ่สร้างแล้วเสร็จ โปรดให้เรียกวังนี้ว่า “วังสระปทุม” และได้ประทับอยู่ที่พระตำหนักใหญ่แห่งนี้ตลอดพระชนชีพ

พระตำหนักใหญ่ วังสระปทุม ภาพจากหนังสือบางกอก บอกเล่า (เรื่อง) วัง

ข้อมูลจากสำนักวัฒนธรรมฯ ชี้แจงว่า พระตำหนักใหญ่หลังนี้สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงเป็นผู้ออกแบบด้วยพระองค์เองทั้งหมด ทรงร่างแผนผังพระตำหนักและห้องที่ประทับต่างๆ เอกสารบางแห่งอธิบายเรื่องเล่ากันมาว่า ทรงใช้ก้านไม้ขีดเรียงกันเป็นรูปทรงของห้อง จากนั้นให้สถาปนิกออกแบบถวาย ตำหนักนี้จึงวางต้องตามทิศทางลม ทุกห้องรับลมได้เสมอกัน

https://www.youtube.com/watch?v=3bD6d1RWKY0

ลักษณะพระตำหนักใหญ่ก่ออิฐถือปูนรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า 2 ชั้น หลังคาเป็นทรงปั้นหยามุงด้วยกระเบื้องว่าวตามสมัยนิยม มีลายปูนปั้นบนฝาผนังใกล้กับชายคาเป็นรูปต้นไม้และดอกไม้เรียงรายกันไปรอบตำหนัก และตอนบนของซุ้มบานพระแกลเป็นลวดลายแบบตะวันตก

หลังจากที่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดชฯ กรมขุนสงขลานครินทร เสด็จกลับจากการศึกษาที่ประเทศสหรัฐอเมริกาแล้ว ได้เสด็จมาประทับที่วังสระปทุมเป็นการถาวร สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง “พระตำหนักใหม่” เพื่อใช้เป็นที่ประทับของพระราชโอรส และหม่อมสังวาลย์ มหิดล ณ อยุธยา (สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี) พร้อมด้วยพระราชนัดดาทั้ง 3 พระองค์ คือ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์, พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล (รัชกาลที่ 8) และพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) อันเป็นที่ประทับแรกในเมืองไทยของครอบครัวราชสกุลมหิดล

“พระตำหนักใหม่” ออกแบบโดยหม่อมเจ้าอิทธเทพสรร กฤดากร ซึ่งเป็นสถาปนิกไทยรับการศึกษาจากฝรั่งเศส เป็นกำลังสำคัญในการออกแบบก่อสร้าง และยังเป็นผู้ออกแบบพระราชวังไกลกังวลที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ อีกทั้งยังเป็นผู้ดูแลการบูรณปฏิสังขรณ์พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวัง

พระตำหนักใหม่มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่เรียบง่าย เป็นตึกก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น ทาสีครีม วงกบ หลังคา และบานประตูทาสีเขียวเกือบดำ มีลักษณะโด่ดเด่น คือ ทำที่จอดรถไว้ใต้พระตำหนักแทนการยกมุขด้านหน้าแบบสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6

รูปแบบที่แปลกกว่าที่อื่นคือตรงพระแกลตรงอัฒจันทร์ภายในตำหนัก เจาะช่องพระแกลเรียงขึ้นไปเป็นชั้นตามความลาดเอียงของอัฒจันทร์ ลักษณะนี้เป็นอิทธิพลนำมาสู่แบบนิยมในบ้านของคหบดีทั่วไป

เรียกได้ว่า เป็นตำหนักที่ออกแบบโดยสถาปนิกไทยซึ่งเข้าใจความเป็นอยู่ของชาวไทยมากกว่าตำหนักที่ออกแบบโดยชาวต่างชาติ

เอกสารที่จัดทำโดยสำนักวัฒนธรรมฯ กรุงเทพฯ บรรยายว่า สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเพื่อใช้เป็น “บ้านสำหรับคนเราอาศัยจริงๆ” มิใช่แบบ “วังเจ้านาย” พระตำหนักหลังนี้เป็นที่ประทับของทั้ง 2 พระองค์จนกระทั่งสิ้นพระชนม์ และยังเป็นที่พักซึ่งเป็นจุดเจริญพระชันษาของยุวกษัตริย์ถึง 2 พระองค์ คือ รัชกาลที่ 8 และรัชกาลที่ 9

รายงานยังเล่าว่า ทั้ง 2 พระองค์ทรงเคยเล่น “ปลูกป่า” โดยทรงนำกิ่งไม้และใบไม้มาปักลงดิน จากนั้นก็รดน้ำราวกับเป็นการปลูกต้นไม้

นอกจากนี้ “วังสระปทุม” อาจพอกล่าวได้ว่าเป็นวังแห่งความรัก เนื่องจากเคยเป็นสถานที่จัดพิธีอภิเษกสมรสระหว่างสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เมื่อวันที่ 10 กันยายน ปี 2463 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เสด็จพระราชดำเนินมาเป็นองค์ประธาน

ต่อมาวันที่ 28 เมษายน ปี 2493 วังสระปทุมยังถูกใช้เป็นสถานที่จัดพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสระหว่าง พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

ปัจจุบัน พื้นที่วังสระปทุมแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ภายนอกวังเป็นสถานที่ตั้งบรรดาโรงแรมชั้นนำ อาคารห้างร้าน และห้างสรรพสินค้า กล่าวได้ว่าเป็นย่านธุรกิจสำคัญของกรุงเทพฯ ขณะที่ภายในวังเงียบสงบ และร่มรื่นด้วยแมกไม้นานาชนิด พระตำหนักใหม่เป็นที่ประทับของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

ส่วนพระตำหนักใหญ่ในปัจจุบันจัดเป็น “พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า”

อ่านเพิ่มเติม

วังใหม่ที่ปทุมวัน : ประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม “ความทรงจำอันเลือนราง”


อ้างอิง :

สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร. บางกอก บอกเล่า (เรื่อง) วัง. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์แก้วเจ้าจอม, 2555.

แน่งน้อย ศักดิ์ศรี, ศาสตราจารย์. สถาปัตยกรรมกรุงรัตนโกสินทร์. โรงพิมพ์กรุงเทพ, 2537


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 มกราคม 2563