เผยแพร่ |
---|
สถาปัตยกรรมสมัยรัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 7 สะท้อนความนิยมในสถาปัตยกรรมตะวันตก ผสมผสานเข้ากับการทำงานในบริบทแบบไทย กลายเป็นเรื่องราวที่น่าศึกษา ซึ่งถือว่าใช้งบประมาณพอสมควร
วันที่ 18 ตุลาคม 2561 นิตยสารศิลปวัฒนธรรมจัดกิจกรรม ศิลปวัฒนธรรมเสวนา ในหัวข้อ “สถาปัตยกรรมฝรั่ง – วังเจ้านายไทย” ณ ห้องโถงมติชนอคาเดมี โดยมีผศ.ดร. พีรศรี โพวาทอง จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นวิทยากร และธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ เป็นผู้ดำเนินการเสวนา
ผศ.ดร. พีรศรี โพวาทอง เล่าว่า จากสภาพแวดล้อมในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ที่เริ่มมีชาวต่างชาติเข้ามามีบทบาทมากขึ้น สถาปัตยกรรมของไทยก็เริ่มเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกัน โดยสรุปแล้วตัวตึกเริ่มมีลักษณะเป็นแบบตะวันตก แต่วัสดุและการก่อสร้างโดยชาวไทยและจีน สวนตกแต่งด้วยเครื่องลายครามแบบจีน และมีข้าราชบริพารแบบไทย
กระทั่งต้นรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระองค์ทรงดำเนินตามแบบแผนข้างต้น ขณะเดียวกันพระองค์เสด็จฯทอดพระเนตรชมความเจริญจากโลกตะวันตกในหมู่ประเทศรอบข้าง อาทิ ชวา อินเดีย สิงคโปร์ พม่า
หลังจากเสด็จประพาสแถบชวา มลายู และสิงค์โปร์ ซึ่งผู้สำเร็จราชการของอังกฤษในสิงคโปร์จัดให้พระองค์ประทับที่ Government House ในสิงคโปร์ หลังจากนั้น จึงเริ่มมีสถาปนิกจากตะวันตกชื่อจอห์น คลูนิส (John Clunis) มาทำงานที่กรุงเทพฯ เพื่อสร้างที่ประทับ เมื่อชมภาพการวางศิลาพระฤกษ์ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทจะเห็นถึงการผสมผสานหลากหลาย โดยในภาพมีนายจอห์น คลูนิส ช่างฝรั่งทีร่วมพระราชพิธีกับเจ้านายไทย และแรงงานจีน
อิทธิพลสถาปัตยกรรมแบบอาณานิคม
เมื่อเอ่ยถึง Government House ในสิงคโปร์ ผศ. ดร. พีรศรี กล่าวว่า แสดงให้เห็นถึงสถาปัตยกรรมแบบอาณานิคมมาสู่ไทย แม้ไทยไม่ได้เป็นอาณานิคมก็ตาม แต่สำหรับพื้นที่ซึ่งอยู่ใต้การปกครองของอาณานิคม เจ้าอาณานิคมมักแสดงความศิวิไลซ์ กรณีนี้คืออังกฤษในดินแดนมลายู สิงคโปร์ แต่ความจริงแล้ว อีกด้านหนึ่งสถาปัตยกรรมเป็นภาษาสากล ในเมืองอื่นรอบไทย สถาปัตยกรรมในเวียดนาม ก็มีสถาปัตยกรรมที่ดูยิ่งใหญ่ด้วยภาษาเชิงสถาปัตยกรรมแบบเดียวกัน
นอกจากนายคลูนิส ที่รับราชการกินเงินเดือนแล้ว สถาปนิกฝรั่งในไทยยังมีช่างอังกฤษอย่างนายชาร์ลส ฮันสลีย์ (Charles Hunsley) และช่างจากอิตาลีอย่างนายสเตฟาโน คาร์ดู (Stefano Cardu) และโยอาคิม แกรซี (Joachim Grassi)
สำหรับนายแกรซี เคยค้าไม้ในแถบเอเชียมาก่อน เชื่อว่าพอมีวิชาช่างติดตัว เป็นสถาปนิกผู้รับเหมาในตัวด้วย อาศัยในไทยประมาณ 20 ปี เป็นเจ้าของกิจการ “แกรซี บราเธอร์ส” เชื่อว่าสถานที่พักอาศัยอยู่ในละแวกคลองสาน เป็นเศรษฐีจากตะวันตกแถวหน้าอีกรายหนึ่งในสยาม
นายแกรซี มีบทบาทในช่วงสถาปนาพระราชวังบางปะอิน พื้นที่จัดการน้ำต่างๆ และวังใหม่ / วังวินเซอร์ ที่ตกแต่งภายในอย่างวิจิตรพิสดารก็เป็นฝีมือของชาวอิตาเลียนรายนี้ โดยทำงานในลักษณะเอกชน แต่สามารถเข้าเฝ้าใกล้ชิดเจ้านาย ผลงานจำนวนมากเป็นวังในสมัยรัชกาลที่ 5 หนึ่งในนั้นคือพระที่นั่งวโรภาษพิมาน พระราชวังบางปะอิน เป็นทั้งท้องพระโรงและห้องบรรทม
“ฝีมือของแกรซี แกสร้าง 2 ชั้นแล้วมันพังถล่มลงมา แกอาจไม่ได้เก่งเท่าไหร่” ผศ.ดร. พีรศรี กล่าว
เมื่อมีช่างฝรั่งเข้ามา ระบบการก่อสร้างที่ต้องเข้ามารับมือกับผู้รับเหมาชาวจีน ประกอบกับระบบประมูลราคาแบบใหม่ที่เพิ่งนำเข้ามาใช้ ผู้ได้รับเหมาคือผู้ที่เสนอราคาถูกที่สุด กระทั่งโครงการที่นายแกรซี ได้รับไปสร้างก็ทรุด และต้องรื้อ เรียกได้ว่าเป็นปัญหาเนื่องมาจากสภาพการแข่งขันของช่างฝรั่ง และปัญหาจากการควบคุมคุณภาพวัสดุซึ่งไม่ได้เป็นไปตามคุณภาพของโลกตะวันตก
กรมโยธาธิการ ถึงกรมศุขาภิบาล
สภาพเหล่านี้เริ่มเปลี่ยนแปลงช่วงกลางรัชสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อพระองค์ทรงตั้งกรมโยธาธิการ พ.ศ. 2432 มาแก้ปัญหาการแข่งขันและควบคุมคุณภาพวัสดุก่อสร้างเหล่านี้ โดยการซื้อตัววิศวกร และสถาปนิกให้เข้ามารับราชการในระบบ
ในช่วงวิกฤติ ร.ศ.112 นอกจากฝรั่งเศสบังคับให้ไทยเสียเงินแล้ว ยังมีส่วนบังคับให้ต้องจ้างวิศวกรฝรั่งเศสให้มาทำงานในราชการด้วย จากที่กลุ่มวิศวกรซึ่งไทยใช้ดันเป็นกลุ่มชาวเยอรมัน, อังกฤษ และอิตาลี นำมาสู่การตั้งกรมศุขาภิบาล รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดให้เจ้าพระยาเทเวศร์วงษ์วิวัฒน์ เป็นเสนาบดี และต้องจ้างนายเดอลามะโฮเดียร์ ชาวฝรั่งเศสมารับตำแหน่งนายช่าง โดยแยกงานทำถนน สะพาน ท่อน้ำ ออกจากกรมโยธาธิการเดิม
หลังรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรป การก่อสร้างพระราชวังดุสิตจึงเริ่มต้นขึ้น ลักษณะการก่อสร้างอยู่บนพื้นฐานของความโปร่ง โล่ง สบาย เหมือนกับบ้านพักผ่อนในชนบท กั้นฝ่ายหน้า-ในด้วยน้ำและสวนโปร่ง
“ในแง่อาคาร พระที่นั่งวิมานเมฆ เป็นเรือนห้องมีเฉลียง 2 ด้าน เจ้านายเสด็จด้านหนึ่ง บ่าวด้านหนึ่ง อาคารเป็นครึ่งตึกครึ่งไม้ ชั้นล่างเป็นปูน ส่วน 2 ชั้นบนเป็นไม้ ห้องบรรทมอยู่ชั้น 3 อีกองค์คือพระที่นั่งอภิเษกดุสิต ก็เป็นงานหลังแรกๆ ของมาริโอ ตามานโญ”
มาริโอ ตามานโญ เป็นช่างจบใหม่ซึ่งรัชกาลที่ 5 โปรดให้จัดหามาทำงานในกรมโยธาธิการ ตามานโญ ตัดสินใจเดินทางมารับราชการในสยาม ซึ่งถือเป็นการเลือกที่เสี่ยงทั้ง 2 ฝ่าย อย่างไรก็ตาม ตามานโญ ทำงานได้ถึง 25 ปี ช่วงแรกผลงานสร้างชื่อคือพระที่นั่งอภิเษกดุสิต
รูปแบบสถาปัตยกรรมเป็นแบบชาวมุสลิมแอฟริกาเหนือที่เข้ามาอยู่ในสเปน (มัวร์) พระที่นั่งองค์นี้มีความคลาสสิกแง่ผัง ลวดลายโค้งคล้ายเกือกม้าเป็นลักษณะของมัวร์ ขณะที่ลวดลายตกแต่งรายละเอียดเป็นอาร์ตนูโว
ชาวต่างชาติที่ทำงานในไทย-วังที่งบสูง
สำหรับรายละเอียดเรื่องการรับราชการของช่างฝรั่ง ผศ.ดร. พีรศรี โพวาทอง เล่าว่า ช่างต่างชาติส่วนใหญ่อยากรับราชการประมาณ 20 ปี เมื่อครบกำหนดจะได้บำนาญ ซึ่งถือว่าแทบเป็นสวรรค์ เพราะเมื่อกลับบ้านเกิดแล้วยังได้เงินที่รัฐบาลส่งไปให้ตลอดชีวิต
ส่วนค่าตอบแทนของช่างเหล่านี้ ผศ.ดร. พีรศรี โพวาทอง เปิดเผยว่า รัฐบาลจ่ายค่าเช่าบ้านให้ เจ้ากรมโยธาธิการเงินเดือน 200 บาท ขณะที่ตามานโญ เงินเดือน 1,200 บาท ซึ่งถือว่าเยอะพอสมควรในบริบทของไทย
การทำงานของชาวต่างชาติยังมาทำงานร่วมกับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ในช่วงรัชกาลที่ 5 ยังมีการสร้างวังพระเจ้าลูกยาเธอ พระราชโอรสรุ่นแรกได้ที่ของเจ้าจอมมารดาหรือที่พระราชทาน เจริญพระชนม์ออกวังก่อน
ผศ.ดร. พีรศรี โพวาทอง เล่าว่า วังที่เชื่อว่างบสูงที่สุดราคา 8 แสนกว่าบาท (ค่าเงินยุคร.5) คือวังจันทรเกษม
สมัยรัชกาลที่ 6 – รัชกาลที่ 7 และจุดจบช่างฝรั่ง
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงประดับที่พระที่นั่งอัมพรสถาน ซึ่งเป็นที่ประดับของในหลวงอีกหลายรัชกาล ในยุคนี้ทีมช่างอิตาเลียนออกแบบผลงานหลายชิ้นซึ่งต้องปรับให้เข้ากับสภาพอากาศร้อนชื้น ผนัง หน้าต่าง เปิดได้ถึงพื้น ทำกันสาดยื่นยาว หลังคาสูง
ขณะเดียวกัน ลักษณะการใช้งานเริ่มเปลี่ยนไป บ้านเป็นหลังเล็กอยู่อาศัย แยกออกจากที่ทำงาน อาคารจึงขนาดเล็กลง นอกจากนั้น เจ้านายเริ่มไม่นิยมมีเมียมาก ครอบครัวขนาดเล็กลง วังเริ่มมีลักษณะผู้มีฐานะมากกว่า
ช่วงต้นรัชกาลที่ 6 ระบบราชการปรับเปลี่ยนหลายประการ ช่างถูกแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ช่างอิตาเลียนกลุ่มหนึ่งไปอยู่กรมศิลปากร เรียกว่าเป็นงานช่างอย่างประณีต อีกกลุ่มอยู่กรมช่างนคราทร
จุดจบของช่างฝรั่งมาพร้อมช่วงที่ส่งคนไทยศึกษาวิศวกรรม สถาปัตยกรรม ที่อังกฤษและฝรั่งเศส เกิดสถาปนิกสยามรุ่นแรก คือ หม่อมเจ้า อิทธิ เทพสรรค์ กฤดากร, หม่อมเจ้า สมัยเฉลิม กฤดากร, พระสาโรชรัตนนิมมานท์ และอาจารย์นารถ โพธิประสาท
หม่อมเจ้า อิทธิเทพสรรค์ ถือเป็นคนแรกที่สำเร็จการศึกษา กลับมาทำงานที่กรมศิลปากร เริ่มมีการทดแทนช่างอิตาเลียน ผลงานสำคัญคือพระตำหนักที่วังไกลกังวล ช่างไทยสามารถทำตึกที่มีโครงสร้างละเอียดแบบฝรั่งได้ รูปแบบเหมาะสม รวมไปถึงการบูรณะพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
ช่วงปลายรัชกาลที่ 6 สภาพเศรษฐกิจเริ่มเข้าสู่ภาวะตกต่ำ สืบเนื่องต่อมาเมื่อขึ้นรัชกาลที่ 7 พระองค์ตั้งราชบัณฑิตยสถาน มีเจ้านายกำกับดูแล ขณะที่ตามานโญ เกษียณปี 2468 ทีมของเขาถูกเลือกให้ทำงานต่อแค่บางคน คนที่สัญญาสั้นถูกเลิกจ้างไปเพื่อประหยัดงบประมาณ
เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 ตุลาคม 2561