ทำไมเล่าปี่ไม่ใช้จูล่งทำงานใหญ่? วีรกรรมสงครามใหญ่ในสามก๊กมีไม่กี่ครั้ง

จูล่ง เคาทู สามก๊ก
จูล่ง รบ เคาทู ภาพจิตรกรรมวัดประเสริฐสุทธาวาส จากหนังสือ สามก๊ก ศิลปกรรมจีนวัดไทย ในบางกอก โดย ศานติ-นวรัตน์ ภักดีคำ

ด้วยอิทธิพลของนิยาย สามก๊ก ปัจจุบันคนส่วนมากเห็นว่า จูล่ง รอบรู้ทั้งบุ๋นและบู๊ แต่ในประวัติศาสตร์แม้จูล่งจะกล้าหาญในการศึก แต่ในสงครามใหญ่ไม่ปรากฏความสามารถโดดเด่น ใน พงศาวดารสามก๊กการศึกสำคัญที่สุดสามครั้งของจูล่งได้แก่ ช่วยอาเต๊าที่ทุ่งเตียงปัน ช่วยเล่าปี่ตีเสฉวน และศึกเกเต๋ง

แรกทีเดียวจูล่งไปสมัครอยู่กับ กองซุนจ้าน กองซุนจ้านถามว่า “คนส่วนมากไปสมัครอยู่กับอ้วนเสี้ยว ไยท่านมาหาข้าพเจ้าเพียงผู้เดียว?” จูล่ง ตอบว่า “บ้านเมืองจลาจล ราษฎรมีภัยคับขัน อยู่ไกลถึงชายขอบ ย่อมต้องหาผู้ทรงคุณธรรม จึงไม่ไปอยู่กับนายพลอ้วนเสี้ยว” แสดงถึงอุดมการณ์ทางการเมืองอันสูงส่ง

แต่กองซุนจ้านวิสัยทัศน์ไม่กว้างไกล ในที่สุดจูล่งก็ไปอยู่กับเล่าปี่ ในช่วงที่เล่าปี่พึ่งกองซุนจ้านอยู่นั้นรักใครชอบพอกับจูล่งมาก ประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่าคนทั้งสอง “นอนร่วมเตียง” รักใคร่กันมากยิ่งขึ้น หลังจากกองซุนจ้านตายแล้วจูล่งอยู่กับเล่าปี่ ติดสอยห้อยตามไปจนถึงเมืองเก็งจิ๋ว ประวัติศาสตร์บันทึกว่า “จูล่งเป็นทหารม้าหลักของเล่าปี่” เข้าใจว่าคงจะเป็นหัวหน้ากองทหารองครักษ์เล่าปี่

สมรภูมิที่เป็นเกียรติยศสูงสุดของจูล่งคือเนินเตียงปัน ในศึกครั้งนี้จูล่งแสดงความแกล้วกล้าปรีชาชาญของตนออกมาเต็มเปี่ยม เนื่องจากถูกโจโฉตามโจมตีตลอดคืน เล่าปี่จึงแตกพ่ายยับที่เนินเตียงปัน ทิ้งลูกเมียหนีไปกับลูกน้องไม่กี่คน จูล่งช่วยภรรยาทั้งสองของเล่าปี่ออกมาแล้วฝ่าวงล้อมข้าศึกกลับเข้าไปช่วยอาเต๊าซึ่งยังเป็นทารกใส่อกเสื้อเกราะรบฝ่าออกมาได้โดยสวัสดิภาพ เป็นความดีความชอบยิ่งใหญ่ จึงได้เลื่อนตำแหน่งเป็น “หยาเหมินเจียงจวิน-ขุนพลประจำทำเนียบ” แต่ก็เป็นตำแหน่งไม่สูงนัก

เมื่อเล่าปี่ตีเสฉวน จูล่งคงจะได้เป็นแม่ทัพอย่างเป็นทางการครั้งแรก จูล่งยกทัพออกไปเร็ว แต่บุกยึดด่านรายทางได้ช้ากว่า เตียวหุย มาก เตียวหุยจึงถึงเมืองเซ็งโต๋ (เฉิงตู) ก่อน หลังจากเล่าปี่ยึดมณฑลเอ๊กจิ๋วหรือเสฉวนได้หมดแล้วก็ตั้งตัวเป็นฮันต๋งอ๋อง ได้ปูนบำเหน็จทหาร เลื่อนยศ อุยเอี๋ยน เป็น “เจิ้นหย่วนเจียง-ขุนพลสยบแดนไกล” และเป็นเจ้าเมืองฮันต๋งซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านสำคัญติดชายแดนวุ่ยก๊กของ โจโฉ

กวนอู เป็น “เฉียนเจียงจวิน-ขุนพลหน้า” และเป็นเจ้าเมืองเก็งจิ๋วติดแดนง่อก๊กของซุนกวน เตียวหุยเป็น “อิ้วเจียงจวิน-ขุนพลขวา” เจ้าเมืองปาเส ม้าเฉียว เป็น “จั่วเจียงจวิน-ขุนพลซ้าย” ฮองต๋ง เป็น “โฮ่วเจียงจวิน-ขุนพลหลัง” ส่วน จูล่ง เป็น “อี้เจียงจวิน-ขุนพลผู้ช่วย” หัวหน้ากองทหารองครักษ์เท่านั้น

โอกาสแสดงความสามารถทางด้านการทหารครั้งสุดท้ายของจูล่งคือศึกเกเต๋ง ครั้งนั้น ขงเบ้ง ยกออกจากเขากีสานเข้าตีจ๊กก๊ก ม้าเจ๊ก ใช้ยุทธวิธีผิดเสียตำบลเกเต๋งจุดยุทธศาสตร์สำคัญจึงถูกขงเบ้กสั่งประหาร หนังสือ “หยุนเปี๋ยจ้วน-ประวัติจูล่งฉบับความแปลก” กล่าวว่า เมื่อจ๊กก๊กถอยทัพหนีจูล่งเพียงคนเดียวอยู่ท้ายกองหลัง ไม่สูญเสียสิ่งของและผู้คนเลย ศึกครั้งนี้นายทหารส่วนมากถูกลงโทษแต่จูล่งได้รับคำชมเชย

แต่ประวัติจูล่งใน สามก๊กจี่ (พงศาวดารสามก๊ก) กล่าวว่า ทัพจูล่งและเต็งจี่ไพร่พลน้อยข้าศึกเข้มแข็งจึงเพลี่ยงพล้ำที่กิก๊ก คนทั้งสองรวมพลรักษาค่ายไว้อย่างมั่นคงจึงไม่ถึงพ่ายหนัก เมื่อทัพถอยกลับถูกลดตำแหน่งเป็น “เจิ้นจวินเจียงจวิน-ขุนพลสยบทหาร” จึงเห็นได้ว่าจูล่งถูกลงโทษ แม้ว่าเวลานี้เล่าปี่ล่วงลับไปแล้ว จูล่งก็ยังไม่ได้แสดงปรีชาสามารถอันยิ่งใหญ่ทางการทหาร เป็นประจักษ์พยานถึงข้อด้อยในด้านนี้ของจูล่งอีกครั้งหนึ่ง

เมื่อเล่าปี่ตั้งตัวเป็นกษัตริย์ เหล่าขุนนางเข้าชื่อกันถวายพระพร มีรายชื่อ 50 คนแรกและคนอื่นๆ อีกรวม 180 คน ชื่ออันดับแรกใน 50 คนคือ ม้าเฉียว หวดเจ้ง เป็นอันดับสอง ขงเบ้ง อยู่อันดับแปด ส่วน จูล่งไม่มีชื่ออยู่ใน 180 คนนี้เลย แสดงว่าจูล่งมีตำแหน่งไม่สูงในหมู่ขุนนางจ๊กก๊ก

เล่าปี่ตัวจริงในประวัติศาสตร์มีปรีชาสามารถในการวิเคราะห์คน เข้าใจคน และใช้คนเหนือขงเบ้ง แม้จะไม่เสมอด้วยโจโฉแต่ก็ต่างกันไม่มากนัก แม้ว่าเล่าปี่จะไว้เนื้อเชื่อใจจูล่งมาก แต่ไม่เคยใช้ทำการใหญ่ เหตุผลสำคัญก็คือ ความสามารถทางการทหารและการเมืองของจูล่งจำกัด จึงยากที่จะทำการใหญ่ได้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : เนื้อหานี้คัดจากบทความ “ทำไมเล่าปี่ไม่ใช้จูล่งทำงานใหญ่” โดย หลี่ฉวนจวิน จากหนังสือ 101 คำถามสามก๊ก. หลี่ฉวนจวินและคณะ เขียน, ถาวร สิกขโกศล แปล. กรุงเทพฯ : มติชน, 2556. (เพิ่มการเน้นคำตามความเหมาะสมสำหรับการอ่านบนสื่ออิเล็กทรอนิกส์)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 มีนาคม 2560