ที่มาของอนุสาวรีย์พระเจ้าตากฯ วงเวียนใหญ่ กับศรัทธาของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม

พระบรมราชานุสาวรีย์ พระเจ้าตาก พระเจ้ากรุงธนบุรี วงเวียนใหญ่ อนุสาวรีย์พระเจ้าตาก สมเด็จพระเจ้าตากสิน
พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสิน ณ วงเวียนใหญ่ ธนบุรี

ที่มาของ อนุสาวรีย์พระเจ้าตาก วงเวียนใหญ่ กับศรัทธาของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม

ใน พ.ศ. 2477 ผู้แทนราษฎรจังหวัดธนบุรี นายทองอยู่ พุฒพัฒน์ เสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีในการสร้างอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสิน ต่อมาใน พ.ศ. 2478 รัฐบาลรับเรื่องมาดำเนินการ โดยกำหนดให้ตั้งอนุสาวรีย์ที่วงเวียนใหญ่ ธนบุรี หลวงวิจิตรวาทการ อธิบดีกรมศิลปากรได้สั่งการให้ออกแบบมาด้วยกัน 7 แบบ ตั้งแสดงในงานรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2480 เพื่อขอมติมหาชนร่วมบริจาคทรัพย์เป็นคะแนนเสียงใส่ในตู้ซึ่งตั้งอยู่หน้าภาพแบบนั้นๆ การนับคะแนนเสียงนับหนึ่งชิ้นเป็นหนึ่งเสียง โดยไม่คำนึงถึงค่าของเงิน

ผลของประชามติเลือกแบบที่ 1 ทำเป็น “เสาสี่เหลี่ยมรี โคนมีกระดานหนีบข้างละสามแผ่น ปลายตั้งรูปพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงม้า สองข้างกระดานหนีบตั้งรูปทหารมีฐานสองชั้น ชั้นบนไม่มีพนัก ชั้นล่างมีพนักสามด้าน ด้านหน้าเป็นกะได” ได้คะแนนถึง 3,932 คะแนน

แต่การดำเนินงานต้องชะงักลงเพราะได้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 และการเมืองภายในประเทศไทย กว่าจะกลับมาดำเนินการใหม่ก็เมื่อ พ.ศ. 2491 โดยมีนายทองอยู่ พุฒพัฒน์ และนายเพทาย โชตินุชิต สมาชิกเทศบาลธนบุรี ได้ทำการรื้อฟื้นเรื่องขึ้นมาใหม่อีกครั้ง

และหลังเหตุการณ์ “กบฏแมนฮัตตัน” พ.ศ. 2494 จอมพล ป. ได้อนุมัติเงินงบประมาณในการสร้างอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสิน ซึ่งแบบอนุสาวรีย์ที่ปรากฏถึงปัจจุบันมิใช่แบบตามที่ลงคะแนน เป็นพระบรมรูปขนาดหนึ่งเท่าครึ่งของคนจริงที่ออกแบบปั้นโดยศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี

ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี ขณะปั้นแบบจำลองอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสิน
ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี ขณะปั้นแบบจำลองอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสิน

มีเรื่องลับแบบไม่ลับว่าทำไม จอมพล ป. เมื่อกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหลังจากยุติสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงสนับสนุนการสร้างอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินเต็มที่ให้เสร็จโดยเร็วไว หลังผ่านเหตุการณ์ “กบฏแมนฮัตตัน”

หนังสือ “ย่ำอดีต เล่ม 2 พระราชประวัติสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช กับงานกู้อิสรภาพของชาติไทย” โดย เชาวน์ รูปเทวินทร์ พิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2528 มีกล่าวถึงดังนี้

เหตุเกิดเพราะ ‘แมนฮัตตัน’ ใครที่มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกับผม หรืออ่อนแก่กว่ากันเล็กน้อยคงจะพอจดจำกันได้นะครับว่า พระบรมราชาสาวรีย์ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ที่ประดิษฐานอยู่ ณ กลางวงเวียนใหญ่ฝั่งธนบุรี ขณะนี้นั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดเมื่อ ณ วันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2497 โดยรัฐบาลของท่าน จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีของเมืองไทยในขณะนั้น เป็นผู้เริ่มดำเนินก่อสร้างขึ้น แล้วนำถวายขึ้นกราบบังคมทูลพระราชทานอัญเชิญเสด็จฯไปทรงเปิดในวันดังกล่าว

มีคำถามว่า ได้มีเหตุข้อมูลจูงใจอันใดหรือ ที่ทำให้ท่านจอมพลคนหัวปี ‘พ่อขุนแปลก’ คิดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระเจ้าตากสินขึ้นในปี พ.ศ. นั้น! น่าจะมีกรณีพิเศษอะไรซักอย่างซีน่า!

มีเรื่องเล่ากันมาว่า เพราะเมื่อกลางปี 2494 ‘พ่อขุนแปลก’ เกิดประสบภัยทางการเมืองอย่างรุนแรงจากกรณี ‘กบฏแมนฮัตตัน’ จนท่านต้องหนีเข้าไปหลบภัยอยู่ในท้องพระโรงพระราชวังเดิม ฝั่งธนบุรี ที่มีพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระเจ้ากรุงธนบุรีตั้งประดิษฐานอยู่

ณ ท้องพระโรงแห่งนั้น ท่านจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ก้มลงกราบถวายบังคมพระบรมรูปของพระมหาราชเจ้าพระองค์นี้ ขอพระบารมีของท่านเป็นที่พึ่งให้ช่วยคุ้มครองความปลอดภัย และเมื่อท่านจอมพลรอดพ้นจากวิกฤติการณ์ทางการเมืองในคราวนั้นมาได้โดยสวัสดิภาพ กลับมานั่งเอ้เตอยู่ ณ ทำเนียบรัฐบาลได้อย่างเก่าแล้ว ท่านจึงลงมือดำเนินการก่อสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีขึ้นจนสำเร็จเรียบร้อยในปีถัดมา

กบฏแมนฮัตตันนั้น เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2494 จะเกิดขึ้นเพราะสาเหตุอะไรบ้าง ผมจะไม่เล่านะครับ เพราะเรื่องมันยาว จะสรุปสั้นๆ เพียงแค่ว่า ท่านถูก นาวาตรี มนัส จารุภา จี้ท่านเอาลงเรือเล็กขึ้นไปกักบริเวณท่านไว้บนเรือรบหลวงศรีอยุธยา ซึ่งเป็นเรือปืนลำใหญ่ที่สุดของกองทัพเรือไทยในขณะนั้น

ต่อมาฝ่ายรัฐบาลได้ยื่นคำขาดให้ฝ่ายกบฏยอมแพ้แล้วใช้กำลังทหารบก ทหารอากาศ เข้าปราบกบฏกลุ่มนี้อย่างรุนแรง มีเครื่องบินทิ้งระเบิดเรือศรีอยุธยาจนจมลงกลางแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ จอมพล ป. ท่านรอดชีวิตมาได้อย่างปาฏิหาริย์ เพราะมีนายทหารเรือ 2 คน (ผมจำชื่อไม่ได้เสียแล้ว) พาท่านโดดลงน้ำหนีขึ้นไปอาศัยอยู่ในท้องพระโรงพระราชวังเดิม อันเป็นที่ตั้งของกองบัญชาการกองทัพเรือขณะนั้น

และเมื่อท่านย่างเท้าก้าวเข้าไปในท้องพระโรงพระราชวังหลวงเก่าดังกล่าว ทั้งๆ ที่อยู่ในสภาพเปียกม่อลอกม่อแลกชุ่มโชกไปทั้งตัว ท่านพ่อขุนแปลกก็ทรุดร่างก้มกราบถวายบังคมต่อเบื้องหน้าพระบรมสาทิสลักษณ์อันตั้งเป็นประธานอยู่ ณ ที่นั้น อ้อนวอนขอพระบารมีของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนเป็นที่พึ่ง แล้วท่านก็รอดปลอดภัยชัยโยกลับมานั่งแป้นเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ได้อีกครั้งดังกล่าวมาข้างต้นนั้นแหละครับ

ไม่ทราบว่า ข้อความที่ผมได้ยินเขาเล่ากันมาข้างต้นนั้นจะจริงเท็จประการใด แต่ท่านผู้เล่าก็มีตำแหน่งแห่งที่ในขณะนั้นใหญ่โตน่าเชื่อถือจริงๆ เพราะท่านยังได้เล่าต่ออีกว่า ต่อมา พลโท ม.ล. ขาบ กุญชร เลขาธิการนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ก็ได้รับบัญชาจากท่านจอมพล ป. ให้ติดต่อประสานงานกับกรมศิลปากร โดยเจาะจงให้ท่านศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี คณบดีคณะจิตรกรรมและประติมากรรมของมหาวิทยาลัยศิลปากรในขณะนั้น เป็นผู้อำนวยการก่อสร้างและปั้นพระบรมรูปของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทั้งหมดด้วย

กำเนิดของพระบรมราชานุสาวรีย์ของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี จึงมีที่มาด้วยประการฉะนี้ ความจริงความดำริเรื่องนี้ดูเหมือนจะคิดริเริ่มกันมานานแล้ว ตั้งแต่สมัยรัฐบาล จอมพล ป. ยุคแรก แต่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้น แล้วจอมพล ป. ท่านสิ้นอำนาจไปเสียก่อน”  

ทั้งหมดนี้คือคำตอบแบบไม่ลับ! ที่ว่าอยู่ๆ ทำไมท่าน จอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงศรัทธาในพระบารมีของสมเด็จพระเจ้าตากสิน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

เอกสารประกอบ สโมสรศิลปวัฒนธรรมเสวนา “อิทธิฤทธิ์ ปาฏิหาริย์ และพระบารมีของพระเจ้าตาก” วันที่ 30 ตุลาคม พุทธศักราช 2557


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 มีนาคม 2562