เปิดโลกพิธี “ฮดสรง” ประเพณีเก่าแก่แถบอีสาน จากอิทธิพลของอาณาจักรล้านช้าง

ฮูปแต้ม พิธีฮดสรง ใน สิม วัดป่าเรไรย์ นาดูน มหาสารคาม สงกรานต์อีสาน
ฮูปแต้ม “พิธีฮดสรง” ในสิมวัดป่าเรไรย์ อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม (ภาพจากหนังสือ “ฮูบแต้มในสิมอีสาน งานศิลป์สองฝั่งโขง” โดย อาจารย์สุมาลี เอกชนนิยม)

“ฮดสรง” คือพิธีสรงน้ำหรือรินน้ำแก่พระสงฆ์ ซึ่งเป็นรูปแบบประเพณีที่เก่าแก่ของผู้คนในแถบอีสาน โดยได้รับอิทธิพลมาจากอาณาจักรล้านช้าง การจัดพิธีฮดสรงนั้นจะถูกจัดขึ้นเมื่อชาวบ้านและพระเถระในคณะสงฆ์เห็นว่า มีพระสงฆ์ที่เล่าเรียนจบในบั้นหรือขั้นต่างๆ แล้ว จึงสมควรที่จะจัดพิธีฮดสรงให้ (สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน เล่ม 15, 2542, น. 5362)

อุปกรณ์ประกอบพิธีฮดสรงที่สำคัญคือ “ฮางฮด” หรือ “รางริน” ลักษณะของฮางฮดโดยทั่วไปจะใช้ไม้เนื้อแข็งในการแกะสลักเป็นรูปพญานาคในทางยาวประมาณ 3 เมตร หรือ 3.50 เมตร ส่วนเส้นรอบวงอยู่ระหว่าง 20-25 เซนติเมตร

ทั้งนี้ขนาดของฮางฮดบางวัดอาจมีขนาดที่เล็กหรือใหญ่กว่าขนาดดังกล่าวข้างต้น ไม่ถือเป็นมาตรฐานแน่นอน และการแกะสลักฮางฮดเป็นรูปพญานาคสะท้อนนัยยะการให้ความสำคัญแก่สัตว์ประเภทนี้ ทั้งในฐานะผู้เคยอุปัฏฐากพระพุทธเจ้าในสมัยพุทธกาล และความเชื่อของชาวบ้านในท้องถิ่นเองที่เชื่อว่าพญานาคเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ที่มีอยู่จริง

นอกจากตัวฮางฮดแล้ว ยังมีองค์ประกอบของฮางฮดที่สำคัญไม่แพ้กัน นั่นคือขาตั้งหรือขาค้ำยันสำหรับฮางฮด ซึ่งจะมีทั้งแบบ 2 ขาและ 4 ขา รวมทั้งจะมีการแกะสลักเป็นรูปสัตว์ที่สวยงามด้วยเช่นกัน อาทิ เต่า กระต่าย สุนัข ฯลฯ (ติ๊ก แสนบุญ, 2548, น. 43.)

นอกจากการฮดสรงจะมีฮางฮดเป็นอุปกรณ์ประกอบพิธีที่สำคัญแล้ว ยังมีบริขารเครื่องยศประกอบสมณศักดิ์สำหรับมอบถวายแก่พระสงฆ์ที่ได้รับการฮดสรงด้วย

โดยทั่วไปจะประกอบด้วย 1. อัฐบริขาร (จีวร ผ้าสังฆาฏิ สบง สายประคด มีดโกน กล่องเข็ม ธรรมกรก มีดตัดเล็บ) 2. ผ้าห่ม 3. รองเท้า 4. ไม้เท้า 5. หมวก 6. เตียงนอน 7. ตาลปัตรรูปใบโพธิ์ (ใช้เส้นไหมปัก) 8. หลาบเงินหรือหลาบทอง (คือแผ่นเงินหรือแผ่นทองที่จารึกพุทธพจน์หรือพุทธภาษิต) (พิธีฮดสรงหรือเถราภิเษก. [ม.ป.ป.]. : เว็บไซต์)

การฮดสรงถือเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญสำหรับการเลื่อนสมณศักดิ์ของพระสงฆ์แถบอีสานในอดีต เพราะพระสงฆ์ที่จะมีลำดับชั้นสมณศักดิ์ที่สูงขึ้นได้นั้นต้องผ่านการ “ฮดสรง” หรือ “พิธีเถราภิเษก” โดยชาวบ้านและพระสงฆ์ในชุมชนของตนก่อน สำหรับสมณศักดิ์พระสงฆ์แถบอีสานในอดีตมีลำดับชั้นดังนี้ (ธวัช ปุณโณทก, [ม.ป.ป.] : เว็บไซต์)

1. สำเร็จ คือภิกษุหรือสามเณรที่ผ่านการฮดสรง ครั้งที่ 1
2. ซา คือภิกษุหรือสามเณรที่ผ่านการฮดสรงครั้งที่ 2 (เชื่อกันว่า ซา หมายถึง ปรีชา หรือสามารถ)
3. คู (ครู) คือภิกษุหรือสามเณรที่ผ่านการฮดสรง ครั้งที่ 3
4. คูหลักคำ คือภิกษุหรือสามเณรที่ผ่านการฮดสรงครั้งที่ 4
5. คูลูกแก้ว คือภิกษุหรือสามเณรที่ผ่านการฮดสรงครั้งที่ 5
6. คูยอดแก้ว คือภิกษุหรือสามเณรที่ผ่านการฮดสรงครั้งที่ 6

ส่วนสมณศักดิ์ชั้นสูงสุดคือ “ราชครูหลวง” เป็นตำแหน่งที่กษัตริย์ของอาณาจักรล้านช้างเป็นผู้สถาปนาด้วยพระองค์เองแก่ภิกษุที่มีวัตรปฏิบัติเหมาะสม และเป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้านอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะแล้วต้องเป็นภิกษุที่มีบทบาทสูงในการช่วยกษัตริย์ล้านช้างควบคุมดูแลให้บ้านเมืองมีความสงบสุขเรียบร้อยในทางสังคมร่วมไปด้วย เช่น ราชครูหลวงโพนสะเม็ก หรือหลวงพ่อขี้หอมในคำที่ชาวบ้านในอดีตคุ้นเคย

ทั้งนี้ ภิกษุและสามเณรที่ผ่านการฮดสรงแล้ว จะมีการเรียกสมณศักดิ์ดังกล่าวตามไปด้วย (ในอดีตแถบอีสานเรียกภิกษุว่า “เจ้าหัว” สามเณรเรียกว่า “จัว” เช่น ภิกษุชื่อมา หลังฮดสรงครั้งที่ 1 เรียก เจ้าหัวสำเร็จมา หากฮดสรงจนถึงครั้งที่ 6 จะเรียก เจ้าหัวคูยอดแก้วมา ส่วนสามเณรก็เช่นกัน เช่น สามเณรมี หลังฮดสรงครั้งที่ 1 เรียก สำเร็จจัวมี หากผ่านการฮดสรงครั้งที่ 6 เรียก คูยอดแก้วจัวมี (สังเกตว่าการเรียกจัวหลังฮดสรงจะนำหน้าชื่อด้วยลำดับสมณศักดิ์)

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “ฮดสรงที่หดหาย” โดย เชิดชาย บุตดี ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนพฤษภาคม 2555


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 ธันวาคม 2560