นิทาน “นรสิงห์-มนุษย์สิงห์” ในตำนานของพม่า สู่การทำปูนปั้นประดับฐานพระเจดีย์

มนุษย์สิงห์ บริเวณฐานพระเจดีย์ชเวดากอง เมืองย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา (Jewel SAMAD / AFP)

“นรสิงห์” หรือที่พม่าเรียกว่า “มนุษย์สิงห์” นั้น มักทำเป็นรูปปั้นประดับตามฐานพระเจดีย์ทั้ง 4 ด้าน ในดินแดนประเทศเมียนมานิยมปั้น “มนุษย์สิงห์” มาก สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ครั้นเสด็จประพาสเมียนมา เมื่อ พ.ศ. 2478 ทรงกล่าวถึง “นรสิงห์” ไว้ในพระนิพนธ์ “เที่ยวเมืองพม่า” (มติชน, 2545) ดังนี้

“…พม่าเรียกว่า ‘มนุษย์สิงห์’ คือหัวเป็นมนุษย์ใส่ชฎาตัวเป็นสิงห์ ดูประหลาด ลองสืบหาต้นเค้าก็ได้แต่นิทาน ว่าเค้ามูลของรูปสิงห์ซึ่งตั้งปากทางขึ้นบันไดนั้น เดิมราชสีห์ตัวหนึ่งลักราชธิดาของพระยามหากษัตริย์อันมีลูกยังเป็นทารกติดไปด้วย 2 คน เอาไปเลี้ยงไว้ (เป็นเค้าเดียวกับเรื่องสิหพาหุในหนังสือมหาวงศ์พงศาวดารลังกา)

ครั้นลูกชายเติบใหญ่พาแม่กับน้องหญิงหนีกลับมาอยู่ในเมืองมนุษย์ ฝ่ายราชสีห์เที่ยวติดตาม พบผู้คนกีดขวางกัดตายเสียเป็นอันมาก จนร้อนถึงพระยามหากษัตริย์สั่งให้ประกาศหาคนปราบราชสีห์ กุมารนั้นเข้ารับอาสาออกไปรบราชสีห์ ยิงศรไปทีไรก็เผอิญผิดพลาดไม่สามารถฆ่าราชสีห์ ฝ่ายราชสีห์ก็ยังสงสารกุมารไม่แผดเสียงให้หูดับ ต่อสู้กันอยู่จนราชสีห์เกิดโทสะอ้าปากจะแผดเสียง กุมารก็เอาศรยิงกรอกทางช่องปากฆ่าราชสีห์ตาย ได้บำเหน็จมียศศักดิ์จนได้ครองเมืองเมื่อภายหลัง

แต่เมื่อครองเมืองเกิดอาการให้ปวดหัวเป็นกำลัง แก้ไขอย่างไรก็ไม่หายจึงปรึกษาปุโรหิต ๆ ทูลว่าเป็นเพราะบาปกรรมที่ได้ฆ่าราชสีห์ผู้มีคุณมาแต่หนหลัง ต้องทำรูปราชสีห์บูชาล้างบาปจึงจะหายโรค พระยามหากษัตริย์นั้นจะทำรูปสัตว์เดรัจฉานขึ้นบูชาก็นึกละอาย จึงให้สร้างรูปราชสีห์ขึ้น ฝากไว้กับเจดียสถานที่บูชา เลยเป็นประเพณีสืบมา

เจดีย์แบบพม่า วัดศรีรองเมือง จังหวัดลำปาง สังเกตบริเวณมุมจะประดับรูปมนุษย์สิงห์ทั้งสี่ด้าน

นิทานเรื่องสิงห์ที่สร้างล้อมพระเจดีย์นั้นก็ทำนองเดียวกัน เปลี่ยนเป็นนางราชสีห์ได้นางราชธิดาไปเลี้ยงไว้แต่เล็กรักใคร่เหมือนเป็นลูก เมื่อนางราชธิดาเติบใหญ่ขึ้นหนีมา นางราชสีห์ตามมาทันที่ริมแม่น้ำ เมื่อนางราชธิดาข้ามพ้นไปได้แล้ว นางราชสีห์ก็โทมนัสขาดใจตายอยู่ที่ริมแม่น้ำ นางราชธิดานั้นได้เป็นใหญ่เมื่อภายหลัง คิดถึงคุณของนางราชสีห์ที่ได้เลี้ยงดูและที่สุดตายด้วยความรักใคร่ จึงให้สร้างรูปขึ้นไว้กับเจดียสถานที่บูชา

เรื่องนิทานของมนุษย์สิงห์นั้น ว่าเมื่อพระโสณะกับพระอุตตรมหาเถรซึ่งพระเจ้าอโศกมหาราชให้มาสอนพระพุทธศาสนา มาถึงเมืองสะเทิมในรามัญประเทศ สบเวลามีนางยักขินีเที่ยวกินเด็กที่เกิดใหม่ พระราชามหากษัตริย์และราษฎรได้ความเดือดร้อนอยู่ พระมหาเถรทั้งสององค์จำแลงเป็น ‘มนุษย์สิงห์’ อย่างนี้ให้นางยักขินีกลัวเลยหลบหนีสาบสูญไป บ้านเมืองก็ได้ความสุขพ้นภัยอันตราย พระราชามหากษัตริย์จึงให้ทำรูปมนุษย์สิงห์ขึ้นไว้สำหรับป้องกันภยันตรายแก่มหาชน…”

อ่านเพิ่มเติ่ม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 มกราคม 2565