บันทึก แม่นมชาวอยุธยา ฮัมเพลงหวนคิดถึงบ้านเกิด สู่การรวบรวมนาฏศิลป์อยุธยาในพม่า

ร้องรำทำเพลง (ละคร) ข้างวัง ในภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถวัดมัชฌิมาวาส (วัดกลาง) อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา

หลังจากสงครามเสียกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. 2310 เชลยสงครามที่ถูกกวาดต้อนไปยังกรุงอังวะมีทั้ง “…พระมเหสี โอรส ธิดา พระราชวงศ์ เหล่าอมาตย์ คหบดี ผู้ชำนาญการแสดง ฟ้อนรำบรรเลง สถาปนิก ช่างไม้ ช่างแกะ ช่างกลึง ช่างเหล็ก ช่างทอง…” นี่ทำให้นาฏศิลป์อยุธยาเดินทางไปยังต่างถิ่นต่างแดน

ในพงศาวดารราชวงศ์คองบองได้กล่าวถึงนักแสดงจากอยุธยาได้เข้าร่วมในการฉลองชัยชนะให้กับกองทัพพม่า ความว่า “…เมื่อกษัตริย์กับทั้งข้าราชบริพารได้ชัยชนะต่อแผ่นดินโยธยาอันกว้างใหญ่อันเป็นรัฐโยนกะ อยุชจยะแล้ว กองทัพอันยกมาแต่ทวายรวมห้าสิบแปดทัพ กองทัพอันยกมาแต่เชียงใหม่รวมเจ็ดสิบเอ็ดทัพ รวมสองทัพได้หนึ่งร้อยยี่สิบเก้า ทั้งหมดล้วนอึงอลไปด้วยการร้องรำของพม่า การร้องรำของมอญ การร้องรำของทวาย การร้องรำของตะนาวศรี การร้องรำของไทใหญ่ การร้องรำของพวกยวน การร้องรำของโยธยา…” 

เชลยสงครามอยุธยาถูกจัดแบ่งไปอยู่ใต้การอุปถัมภ์ของบรรดามูลนายต่าง ๆ บรรดาเชลยทั้งหลายที่มีอาชีพเป็นนักดนตรี นักแสดง ตลอดจนถึงช่างฝีมือต่าง ๆ จากอยุธยากระจัดกระจายตัวออกไปรับใช้มูลนายชั้นนักปกครอง ซึ่งมีทั้งที่เป็นเชื้อพระวงศ์และขุนนางน้อยใหญ่ในราชสำนักพม่า

ในหนังสือ “โลกมหรสพเมียนม่า” พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1967 เขียนโดย อู นุ เจ้ากรมมหรสพ มีเรื่องราวของแม่นมชาวอยุธยาที่สนทนากับเจ้านายพม่าของนาง อันสะท้อนให้เห็นเกี่ยวข้องกับการเปิดรับความนิยมในศิลปะการแสดงดนตรีและนาฏศิลป์แบบอยุธยาขึ้นในสังคมพม่า ความว่า 

“เวลาเย็นวันหนึ่งภายในจวนท่านเจ้าเมือง หญิงมีอายุชาวอยุธยากำลังดูแลเด็กด้วยการอุ้มขึ้นแนบอกพร้อมกับแหงนหน้าขึ้นเหม่อมองท้องฟ้าสีน้ำตาลหม่น อันมืดครึ้มด้วยเมฆฝนที่กำลังรวมตัวกัน ด้วยใบหน้าอันเศร้าสร้อย ในขณะเดียวกันหญิงมีอายุนั้นก็ได้ฮัมเพลงภาษาโยธยาที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า ‘เอ-ชยู่-เย-ไช่ก์’

ขณะที่นางร้องเพลงโยธยาอยู่นั้นท่านเจ้าเมืองก็เห็นเข้าพอดี จึงเรียกแม่นมนั้นเข้ามาถามความว่า เจ้าเป็นอะไรไปหรือ? แม่นมจึงตอบว่า ‘ตั้งแต่จากอยุธยามาก็เป็นเวลาช้านานแล้วเจ้าค่ะ เวลาใดจะได้กลับก็มิอาจทราบได้ โน่นบนท้องฟ้า เมฆฝนก็กำลังจะมา ฝนกำลังจะตกแล้วเจ้าค่ะ เมื่อระลึกนึกถึงอยุธยามันทำให้ข้าฯ อยากกลับไปจึงร้องไห้ออกมาเจ้าค่ะ’

จากนั้นเจ้าเมืองจึงถามต่อไปว่า ‘แม่นมเพลงที่เจ้าร้องนั่นเป็นภาษาอะไรหรือ?’ ‘เพลงภาษาโยธยาเจ้าค่ะ’ แม่นมตอบ ‘แล้วคำอธิบายล่ะว่าอย่างไร?’ ‘เป็นเพลงที่กล่าวว่า การตามติดคิดถึงนั้นเป็นดังไอหมอกที่มีความกระตือรือร้นมาจากทิศตะวันตกเฉียงใต้โน่น เจ้าค่ะ’ แม่นมตอบ ‘แล้วเจ้าน่ะไปได้เพลงนี้มาจากไหน?’ เจ้าเมืองถาม

‘โอ้พระคุณฯ เจ้าคะ การแสดงมหรสพของชาวอยุธยานั้นช่างยิ่งใหญ่เจ้าค่ะ แสดงติดต่อกันไปถึง 45 วันเจ้าค่ะ อย่างเรื่องรามะ ลักขณะ เอย อิเหนา เอย ก็ดีมากเจ้าค่ะ’ ‘อย่างเรื่องอิเหนานั้น เจ้าหญิงบุษบาได้ถูกลมหอบไป เจ้าชายอิเหนาไม่พบเจ้าหญิงบุษบา ก็ออกตามหา เมื่อเจ้าชายมองท้องฟ้าเห็นเมฆ และฝนตกลงมาก็ทำให้หวนคิดถึงเจ้าหญิงบุษบาเจ้าค่ะ’

เจ้าเมืองกล่าวว่า ‘อโห่ เฮ้ย ช่างน่าสนใจจริงเว้ย เออนี่ แล้วพวกนักแสดงน่ะจะพบได้ที่เมืองไหนล่ะ?’ ‘โธ่ พระคุณฯ เจ้าขา ก็ในหมู่คนที่ถูกจับมาตอนนี้ไงเจ้าคะ มีทั้งนักดนตรี นักแสดงตามติดมาทั้งหมดแหละเจ้าค่ะ ตอนนี้คนเหล่านั้นก็ประกอบอาชีพค้าขายอาหารอยู่เจ้าค่ะ’

จากนั้นเจ้าเมืองได้นำคำบอกเล่าทั้งหมดของแม่นมชาวอยุธยาขึ้นกราบทูลต่อเจ้านายชั้นพระราชวงศ์ เจ้านายชั้นพระราชวงศ์ได้ทรงนำเรื่องทั้งหมดเข้าเฝ้ากราบบังคมทูลต่อพระเจ้าช้างเผือก พระองค์จึงทรงมีพระราชโองการดำรัสสั่งให้มีการรวบรวมนักแสดงชาวโยธยาตั้งขึ้นเป็นกรมเพื่อแสดงถวายในพระราชสำนัก นับแต่นั้นมาก็มีการแสดงตามแบบโยธยาทั้งการบรรเลง ท่วงทาง และเนื้อเรื่อง…ซึ่งเรื่องราวทั้งหมดนั้น อูชเวสิ่นซึ่งเป็นบิดาของโกญ่วน (เปียโน) แห่งตลาดเก่าญ่วนปองตะวันออก ได้เคยเล่าให้อูจ่อซันเองม์ ครูระนาดฟัง ซึ่งอูจ่อซันเองม์ก็ได้จดจำแล้วเล่าต่อไว้เมื่อปี 1263 [พ.ศ. 2445]

จากเรื่องราวข้างต้นนี้แสดงให้เห็นว่าสังคมพม่าได้รู้จักและให้ความสนใจต่อนาฏศิลป์อยุธยาผ่านการแสดงเรื่องอิเหนาและรามเกียรติ์ ดังนั้น การแสดงโขนและละครจึงน่าจะเป็นการแสดงนาฏศิลป์ต้นแบบจากอยุธยาที่พม่าได้รู้จักและชื่นชม

 


อ้างอิง :

สิทธิพร เนตรนิยม. (มกราคม, 2561). ความสัมพันธ์ทางนาฏกรรมไทย-พม่า ระหว่างช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 24 ถึงกลางพุทธศตวรรษที่ 25. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 39 : ฉบับที่ 3.


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2564