ที่มา | ภาพถ่ายและสิ่งพิมพ์ |
---|---|
ผู้เขียน | เอนก นาวิกมูล |
เผยแพร่ |
เวลาไปร้านศึกษาภัณฑ์พาณิชย์ ถนนราชดำเนิน เดินขึ้นไปชั้น 2 ตรงที่ขายซองเมล็ดผัก ผู้เขียนชอบหยุดดูซองเหล่านั้น เพราะวาดไว้สวย ๆ งาม ๆ ชวนให้อยากปลูกผักมาก ได้เคยซื้อซองเก็บไว้ดูเล่นเป็นของสะสมจำนวนหนึ่ง แต่ก็ไม่รู้จะเขียนถึงซองเหล่านี้ได้อย่างไร เพราะขาดข้อมูล ในหนังสือฝรั่งเท่าที่มีในบ้าน เห็นมีการสะสมซองผักซองพืชเหมือนกัน แต่ก็ไม่มีรายละเอียดให้ค้นคว้าต่อ
พ.ศ. 2542 ระหว่างทำหนังสือ สิ่งพิมพ์สยาม ไปเห็นซองพืชซองผักอีกจำนวนหนึ่งในบ้านอาจารย์ทวีไทย บริบูรณ์ แห่งพิพิธภัณฑ์ “บ้านจักรยาน” รู้สึกดีใจว่ามีคนเก็บซองแบบนี้เหมือนเราอีก แต่ก็ยังเขียนอะไรได้ไม่มากอยู่ดี
เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2543 ผู้เขียนมีรายการขึ้นไปบรรยายที่มหาวิทยาลัยพายัพ ก่อนเดินทางได้ตั้งใจไว้แล้วว่าจะต้องไปหาคุณโอภาส นาคบัลลังก์ ให้ได้ เพราะเคยได้ยินอาจารย์สงัด ปุยอ๊อก แห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้ชอบวาดภาพบรรยากาศล้านนาบอกว่าท่านผู้นี้คือนักวาดอาวุโส นอกจากจะวาดภาพสีน้ำสวย ๆ และวาดภาพปกหนังสือสมัยก่อนแล้ว ยังเคยเขียนฉลากสินค้า ออกแบบกล่องขนม และซองเมล็ดผักด้วย
ผู้เขียนสนใจเรื่องนักวาดภาพปก นักวาดโฆษณา และนักออกแบบบรรจุภัณฑ์มาก ดังพยายามเขียนประวัติของนักวาดเหล่านี้ลงในนิตยสารเนชันสุดสัปดาห์ทุก ๆ วันจันทร์ จึงไม่อาจลืมชื่อ โอภาส นาคบัลลังก์ ได้เลย

โชคดีที่ได้พบจริง ๆ นอกจากโอภาสหรือพ่อโอภาส หรือลุงโอภาส ฯลฯ ของชาวเชียงใหม่จะเล่าเรื่องนักวาดเก่า ๆ ให้ฟังอย่างสนุกสนาน และให้ชมภาพวาดสีน้ำอันยิ่งใหญ่งดงามหลายภาพแล้ว ยังมีอัลบั้มเก็บผลงานออกแบบกล่องขนมและซองเมล็ดผักให้ดูด้วย ทำให้ผู้เขียนรู้สึกตื่นเต้นดีใจมาก เพราะเท่าที่ทราบ นักวาดหลายคนไม่ค่อยได้เก็บงานเล็ก ๆ น้อย ๆ ไว้เป็นหลักฐานนัก พอส่งงานแล้วก็ปล่อยทิ้งกันเลย ที่พยายามตามงานกลับมาเก็บ หาค่อนข้างยากเต็มที่
ท่านเคยเห็นฉลากนมตรามะลิ ฉลากนมตราเด็กอนามัย ฉลากผักดองตรานกพิราบไหม เหล่านั้นคือฝีมือการวาดการออกแบบของโอภาส นาคบัลลังก์ ทั้งสิ้น เพียงแต่งานแบบนี้ไม่มีการเซ็นชื่อลงในภาพ หากไม่พบเจ้าตัว หรือไม่มีใครบอกก็ยากที่จะรู้ว่างานชิ้นไหน เป็นฝีมือของใคร
ผู้เขียนจะยังไม่เขียนถึงฉลากนม กล่องขนม หรือบรรจุภัณฑ์ใด ๆ จะเขียนแต่เรื่องซองเมล็ดผักก่อน เพราะติดใจมานาน และบัดนี้ได้ทราบว่าซองเมล็ดผักตราเรือบิน (ของบริษัทเจียไต่ส่งเสริมเกษตรกรรม จำกัด) และซองตราเจดีย์จีน ที่เคยเห็น เป็นฝีมือโอภาส นาคบัลลังก์
จากการสนทนา ทราบว่าซองเมล็ดผักแต่ก่อนนิยมใช้ภาพวาดซึ่งต้องวาดแบบให้ใหญ่กว่าซองจริงเล็กน้อย เวลาไปถ่ายย่อตอนพิมพ์จึงจะได้ภาพคมชัดสวยงาม

การวาดซองสมัยก่อน ผู้วาดวาดจากของจริง คือ เอาต้นหรือใบหรือผลมาวางเป็นแบบเลย ไม่ใช่ถ่ายรูปมาวาด เพราะรูปถ่ายไม่สามารถให้สีสันหรือตำแหน่งที่ถูกใจได้หมดทุกด้าน หรือบางทีพืชผักนั้น ๆ อาจยังงามไม่ได้จังหวะพอ การวาดจึงช่วยเพิ่มสีสันได้ดีกว่า
โอภาสวาดซองผักในราว ๆ ใกล้ พ.ศ. 2498 โดยคิดค่าทำงานค่อนข้างสูงตามระดับฝีมือที่มีอยู่พอตัว มีอยู่บางชุดที่เจ้าของบริษัทบอกว่าแพงเกินไป เกิดปัญหา…
“ไม่มีช่างเขียนคนไหนที่มาคิดอย่างนี้ เขาโมโหผม เขาไปญี่ปุ่นเขาก็เอาต้นฉบับที่ผมเขียนไป แล้วไปให้โรงพิมพ์ที่ญี่ปุ่นดู บอกว่าให้เขียนตามนี้แหละ ญี่ปุ่นบอกว่าเอากลับไปให้คนนี้เขียนนะ ญี่ปุ่นไม่รับทำ…”
ที่สุดเจ้าของงานก็ต้องยอมแพ้เพราะฝีมือของจิตรกรผู้นี้ดีจริง ๆ

น่าเสียดายที่ปัจจุบันซองเมล็ดผักทั้งหลายเลิกใช้รูปวาดตีพิมพ์เสียแล้ว เปลี่ยนไปใช้รูปถ่ายเชย ๆ แทน ทำให้ซองเมล็ดผักหมดเสน่ห์ไปในทันที ปัญหาอีกอย่างหนึ่งคือ ขณะนี้เรายังไม่รู้ว่าซองเมล็ดพืชเก่าสุดในเมืองไทยหน้าตาอย่างไร…
โอภาส นาคบัลลังก์ เกิดที่ท่าอุเทน จังหวัดนครพนม เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2465…พ่อชื่อเพชร เป็นชาวเพชรบุรี อาชีพครู แม่ชื่อเต๊าะ เป็นชาวหนองคาย โอภาสชอบวาดรูปมาตั้งแต่เล็ก ๆ เมื่อโตขึ้นได้ไปเข้าเรียนที่โรงเรียนเพาะช่าง รุ่นเดียวกับพนม สุวรรณบุณย์ นักวาดภาพปกนิยาย และไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์ ช่างปั้น ตกเย็นเมื่อเลิกเรียนแล้ว โอภาสชอบไปขลุกอยู่กับนักวาดภาพโฆษณา วาดปกหนังสือ เขียนฉลากยา ออกแบบบรรจุภัณฑ์ ฯลฯ ซึ่งอยู่ตามร้านทำบล็อค ไปช่วยเขาทำงานบ้าง คุยกับเขาบ้าง ทำให้มีความรู้มีประสบการณ์ค่อนข้างมาก

หลังจากที่เป็นนักวาดอิสระในกรุงเทพฯ เป็นเวลานานหลายสิบปี เมื่อราวใกล้ พ.ศ. 2520 จึงย้ายขึ้นมาตั้งหลักที่เชียงใหม่เพราะเห็นว่าเชียงใหม่น่าอยู่กว่า ที่บ้านอันร่มรื่นในหมู่บ้านเชียงใหม่แลนด์ มีคนหลายรุ่นหลายวัยแวะไปขอความรู้เสมอ
โอภาสมีความสามารถในการวาดสีน้ำซึ่งใช้ในงานวาดฉลาก วาด ส.ค.ส. ออกแบบกล่องขนม และวาดภาพขนาดเล็กใหญ่ทั้งหลาย สิ่งที่น่าสนใจ คือ ท่านผู้นี้ติดตามความรู้ใหม่ ๆ เกี่ยวกับเครื่องมือเครื่องใช้ในการวาดมาตั้งแต่หนุ่ม จึงสามารถให้คำแนะนำเรื่องเทคนิคต่าง ๆ แก่นักวาดรุ่นหลังได้ดี ที่น่านับถือคือท่านไม่ปิดบังหวงแหนความรู้ และยังคงง่วนอยู่กับการวาดภาพกระทั่งถึงปัจจุบัน
…โอภาสถึงแก่กรรมเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2546
หมายเหตุ : คัดเนื้อหาบางส่วนจากหนังสือ “ภาพถ่ายและสิ่งพิมพ์” เขียนโดย เอนก นาวิกมูล (สำนักพิมพ์มติชน, 2549)
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 ตุลาคม 2564