
ผู้เขียน | ปดิวลดา บวรศักดิ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
“ระเบียงคด” คือ ระเบียงทางเดินที่มีหลังคาหลุม สร้างล้อมรอบสิ่งก่อสร้างประธาน จึงทำให้มักสร้างขึ้นพร้อมกับวัดที่มีการสร้างประธาน และส่วนใหญ่เป็นแผนผังรูปสี่เหลี่ยม หลายคนอาจเข้าใจว่า ในสมัยอยุธยา สถาปัตยกรรมลักษณะนี้มักปรากฏอยู่แค่วัดหลักของเมือง แต่ที่จริงแล้วยังมีวัดนอกเขตเมืองที่ปรากฏระเบียงคด สถาปัตยกรรมเช่นนี้อยู่ด้วย
ระเบียงคด สถาปัตยกรรมนี้มีมาเมื่อไหร่?

ระเบียงคด เป็นสถาปัตยกรรมที่ปรากฏเด่นชัดในศาสนสถานของวัฒนธรรมแถบทะเลสาบเขมร ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมา ถือว่าเป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่แถบนี้เลยก็ว่าได้ เพราะไม่ปรากฏในศาสนสถานวัฒนธรรมจามปา ลุ่มน้ำอิรวดี บนเกาะชวา หรือในชมพูทวีป
แม้จะเป็นเอกลักษณ์ แต่ทุกศาสนสถานในแถบทะเลสาบเขมร ช่วงพุทธศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมา ก็ไม่ได้ปรากฏสถาปัตยกรรมแบบนี้ เช่น ปราสาทธมมานนท์ หรือ ปราสาทเจ้าสายเทวดา
ส่วนการประดิษฐานรูปเคารพในระเบียงคดคาดว่าเริ่มปรากฏช่วงพุทธศตวรรษที่ 17 และมากขึ้นสมัยบายน
ทว่าปัจจุบันก็ยังไม่พบหลักฐานศาสนสถานในวัฒนธรรมทะเลสาบเขมรที่ประดิษฐานรูปเคารพเรียงรายในระเบียงคด อาจเพราะระเบียงคดของที่นี่ไม่กว้างมากและแม้จะกว้างก็จะพบเพียงภาพสลักเล่าเรื่องที่ผนัง ซึ่งภาพเหล่านั้นก็คือการประดิษฐานรูปเคารพ
อยุธยาได้รับอิทธิพลจากงานสถาปัตยกรรมดังกล่าว โดยวัดใดที่มีการสร้างพระปรางค์เป็นสิ่งก่อสร้างประธานของวัด ก็จะต้องมีระเบียงคดล้อมรอบอยู่เสมอ เนื่องจากพระปรางค์ในศิลปะอยุธยาสืบทอดมาจากปราสาทในวัฒนธรรมทะเลสาบเขมร จึงต้องนำระเบียงดังกล่าวเข้ามาสร้างควบคู่ด้วย
ถึงแม้ว่าจะรับอิทธิพลมา แต่อยุธยาจะประดิษฐานรูปเคารพเป็นองค์ แตกต่างจากวัฒนธรรมแถบทะเลสาบเขมร ที่แกะสลักลงในอิฐ เนื่องจากปัญหาการแกะสลัก
โดยการประดิษฐานพระพุทธรูปที่ตั้งเรียงรายในระเบียงคดของศาสนสถานในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาน่าจะสื่อความหมายถึงพระอดีตพุทธเจ้า เหมือนกับงานจิตรกรรมฝาผนังที่เขียนพระพุทธรูปเรียงแถวสมัยอยุธยาตอนต้น
แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกวัดในสมัยอยุธยาจะมีระเบียงคด
มีข้อสันนิษฐานว่าวัดที่จะมีระเบียงคดสมัยอยุธยา มักจะเป็นวัดหลักของเมือง แต่ความจริงแล้วก็มีวัดนอกเครือข่ายเมืองที่ปรากฏสถาปัตยกรรมเช่นนี้เหมือนกัน

วัดแรกคือ “วัดใหญ่ชัยมงคล” พระนครศรีอยุธยา แม้ไม่ปรากฏปีที่สถาปนาวัดแห่งนี้แน่นอน แต่ก็พอทราบได้ว่าพระประธานที่นี่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น วัดแห่งนี้ปรากฏระเบียงคด แต่ก็ไม่ทราบว่ามาต่อเติมทีหลังหรือไม่ แต่ในหลักฐาน “พรรณาภูมิสถานพระนครศรีอยุธยา” ระบุว่า “เจดีย์วัดใหญ่ไชยมงคลก็เป็นสิ่งก่อสร้างที่อยู่ในข่ายของพระมหาธาตุหลักพระนคร”
ต่อมาคือ “ปราสาทนครหลวง” ที่ริมแม่น้ำป่าสัก พระนครศรีอยุธยา หลักฐานในพระราชพงศาวดารกล่าวถึงที่นี่ว่า สถาปนาขึ้นสมัยพระเจ้าปราสาททอง และที่มีระเบียงคดก็เพราะว่าได้ถ่ายแบบปราสาทฐานเป็นชั้น ในวัฒนธรรมทะเลสาบเขมรเข้ามา
แห่งที่ 3 คือ “วัดอรัญญิกาวาส” ราชบุรี สมัยอยุธยาตอนกลาง วัดแห่งนี้ถ่ายแบบมาจากพระปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ราชบุรี ทุกประการ และตั้งอยู่ไกลจากพระนครมาก ทำให้ไม่ทราบถึงขนบการสร้างระเบียงคดหรือตัววัด
อย่างไรก็ตาม คนในเมืองราชบุรีเชื่อว่าพระธาตุองค์นี้สำคัญ
นอกจาก 3 วัดที่กล่าวไปแล้ว ยังมี “วัดไชยวัฒนาราม” ที่สถาปนาขึ้นสมัยพระเจ้าปราสาททอง เป็นศาสนสถานนอกเขตเมืองที่มีระเบียงคดอีกด้วย
อ่านเพิ่มเติม :
- “เจดีย์ประธาน” วัดใหญ่ชัยมงคล ไม่ได้สร้างสมัยสมเด็จพระนเรศวร!?
- วางระเบียงคดล้อมพระอุโบสถ-พระวิหาร คติผังเขตพุทธาวาสแบบใหม่สมัยรัชกาลที่ 1
- รู้จัก “คด” เครื่องรางธรรมชาติสร้าง ไม่ต้องใช้พระเกจิ ไม่ต้องปลุกเสก แล้วมี “คุณ” ด้านใด?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2567