ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
ความโดดเด่นของ “เขาคลังนอก” โบราณสถานสำคัญของเมืองโบราณ “ศรีเทพ” ในฐานะส่วนผสมทางศิลปกรรม ซึ่งมีรากฐานจากอินเดียภาคเหนือและภาคใต้ ถูกพูดถึงอย่างน่าสนใจ จากตอนหนึ่งใน สโมสรศิลปวัฒนธรรมเสวนา “ศรีเทพ มรดกโลกในไทยและในต่างแดน!” โดย รศ. ดร. ประภัสสร์ ชูวิเชียร อาจารย์คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ถือเป็นการฉายภาพให้เห็นว่า เหตุใดเขาคลังนอกจึงยิ่งใหญ่มาก ๆ ในแง่ภูมิปัญญาและคุณค่าทางศิลปกรรม
เขาคลังนอก คือสถูปในศิลปะทวารวดีที่ปรากฏหลักฐานทางศิลปกรรมที่สมบูรณ์ที่สุดของศรีเทพ กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 14-15 แม้ศรีเทพจะอยู่ “ชายขอบ” ของเมืองโบราณในวัฒนธรรมทวารดี ซึ่งดำรงอยู่ราวพุทธศตวรรษที่ 12-16 และส่วนใหญ่กระจุกอยู่บริเวณภาคกลางตอนล่างแถบลุ่มน้ำเจ้าพระยา แต่เขาคลังนอกกลับมีความโดดเด่นกว่าสถูป-เจดีย์ทวารวดีอื่น ๆ ตั้งแต่ขนาดอันใหญ่โต ไปจนถึงภูมิปัญญาในการก่อสร้าง
แนวคิดการสร้างศาสนสถานบนฐานเป็นชั้น เป็นวัฒนธรรมร่วมที่พบในอินเดียสมัยศิลปะแบบปาละ ช่วงพุทธศตวรรษที่ 13 และแพร่กระจายไปทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยศาสนสถานเนื่องในศาสนาพุทธ-พราหมณ์ จะสร้างด้วยคติลักษณะเดียวกันนี้ ซึ่งลักษณะดังกล่าวคือโครงสร้างหลักของเขาคลังนอก
คติดังกล่าวต่อยอดมาจากความเชื่อการ “บูชาภูเขา” ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เมื่อมีศาสนาพราหมณ์หรือพุทธเข้ามา สถาปนิกโบราณจึงผนวกเอาคติเดิมกับคติใหม่มาไว้ด้วยกัน โดยเขาคลังนอกของศรีเทพนั้นเชื่อว่าเป็นการจำลอง “เขาถมอรัตน์” ภูเขาศักดิ์สิทธิ์นอกเมืองมาไว้ในเมืองนั่นเอง
แต่ความโดดเด่นที่ไม่กล่าวถึงไม่ได้ของเขาคลังนอกคือ ร่องรอยทางศิลปกรรมที่ผสมผสานระหว่างอินเดียภาคเหนือกับภาคใต้อย่างเด่นชัด เป็นการผสมผสานที่ไม่พบในอินเดีย แต่มาปรากฏที่ศรีเทพ
ในอินเดียภาคเหนือ พื้นที่ของสถาปัตยกรรมคุปตะ-ปาละ หากเป็นศาสนสถานกลุ่มสถูปหรือเจดีย์ที่เป็นโครงสร้างทึบตัน ช่างจะสร้างงานที่มีลักษณะของ “อาคารซ้อนชั้น” คือสร้างอาคารหลังเล็กหรืออาคารจำลองประดับฐาน ขณะที่อินเดียภาคใต้ พื้นที่ของสถาปัตกรรมแบบโจฬะ จะมีการยกกระเปาะทรงลูกบาศก์โผล่จากผิวระนาบของฐาน แล้วประดับด้วย “วิมาน” หรือปราสาทจำลองขนาดเล็ก และเมื่อพิจารณาลักษณะของเขาคลังนอก จะพบว่ามีรูปแบบข้างต้นปรากฏอยู่เช่นกัน
ประเด็นนี้ อ.ประภัสสร์ ให้ความเห็นว่า “แสดงว่าผู้สร้าง หรือ ‘คนศรีเทพ’ เป็นผู้ที่รู้จักทั้งอินเดียภาคเหนือและอินเดียภาคใต้ จึงเอารูปแบบทั้งสองแบบมาประสานกันได้ สอดคล้องกับความเป็นท้องถิ่นของทวารวดี ที่ผสมผสานระหว่างอินเดียหลายภูมิภาคมาผสมกัน ลักษณะนี้ถ้าเราถอยกลับไปหาที่อินเดียจะไม่เจอ…
ความยิ่งใหญ่ของเขาคลังนอกจึงไม่ได้อยู่แค่ขนาด แต่ยิ่งใหญ่ในเรื่องภูมิปัญญา การก่อสร้าง คติ และหลักฐานในการติดต่อระหว่างรัฐในแถบนี้กับดินแดนภายนอกที่ไกลออกไปด้วย”
ชมย้อนหลัง “ศรีเทพ มรดกโลกในไทยและในต่างแดน!” เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2566 แบบเต็มอิ่มกว่า 1 ชั่วโมงครึ่ง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ได้ที่นี่ :
อ่านเพิ่มเติม :
- “ทวารวดี” อยู่ ลพบุรี-ศรีเทพ ไม่ใช่ “นครปฐม-อู่ทอง”?!
- “ศรีเทพ” รากฐานบรรพชนไทย ศูนย์รวมภูมิปัญญาจากหลากดินแดน
- หลักฐานใหม่ “เขาคลังนอก” แห่ง “เมืองโบราณศรีเทพ” เคยมีเจดีย์บริวารประกอบอยู่ด้วย?!
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 31 ตุลาคม 2566