ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
“จาม” คือหนึ่งในชนชาติโบราณของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เคยมีอาณาจักรเป็นของตนเองคือ อาณาจักรจามปา ร่วมสมัยกับรัฐโบราณของไทยตั้งแต่ยุคทวารวดี สุโขทัย อยุธยา มีวัฒนธรรมเป็นของตนเอง รวมถึงรูปแบบทางศิลปะอันเป็นเอกลักษณ์ ดังจะเห็นได้จาก “ปราสาทจาม” ตามพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรจามปาในอดีต
ราวพุทธศตวรรษที่ 12 อาณาจักรจามปาของชาวจามสามารถสถาปนาอำนาจในตอนใต้ของเวียดนาม และแผ่อิทธิพลเข้ามาถึงแผ่นดินตอนในถึงบริเวณลาวใต้และกัมพูชา รูปแบบทางวัฒนธรรมของอาณาจักรจามปาได้รับอิทธิพลจากอินเดียค่อนข้างชัดเจน คือชนชั้นกษัตริย์จะนับถือศาสนาฮินดูลัทธิไศวนิกายเหมือนเขมร แต่มีพุทธศาสนานิกายมหายานสอดแทรกอยู่บ้าง โดยมีกษัตริย์จามปาบางพระองค์หันไปนับถือพุทธศาสนาด้วย
การนับถือศาสนาฮินดูทำให้อาณาจักรจามมีการสร้าง “ปราสาท” เป็นจำนวนมาก เพื่อถวายแด่เทพเจ้า โดยเฉพาะ พระศิวะ รวมถึงเทพองค์อื่น ๆ ในคติฮินดู
ในทางประวัติศาสตร์ศิลปะ นักวิชาการชาวฝรั่งเศสได้แบ่งศิลปะจามออกเป็น 6 สมัย ตามชื่อปราสาทสำคัญ ๆ ในระยะนั้น ระบบเดียวกับที่ใช้แบ่งยุคสมัยทางศิลปะเขมร ได้แก่ 1) มิเซิน E1 2) หัวล่าย 3) ดงเดือง 4) มิเซิน A1 5) บิญดิ่ญ 6) สมัยหลัง (พุทธศตวรรษที่ 19)
อย่างไรก็ตาม การแยก “ปราสาทจาม” กับ “ปราสาทเขมร” (เขมรโบราณ) สร้างปัญหาให้ผู้พบเห็นหรือนักศึกษาประวัติศาสตร์ศิลปะอยู่ไม่น้อย เพราะความใกล้เคียงกันทางศิลปะที่เชื่อมโยงกับคติฮินดูหรือพุทธมหายานทั้งคู่
ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ ดร. เชษฐ์ ติงสัญชลี ผู้เชี่ยวชาญด้านปราสาทในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้อธิบายและแจกแจงลักษณะเฉพาะหลายประการของปราสาทจาม ที่ช่วยให้เราแยกความแตกต่างจาก ปราสาทเขมร ได้มากขึ้น ดังนี้
1. สร้างด้วยอิฐเสมอ ขณะที่ปราสาทเขมรพัฒนาจากปราสาทอิฐสมัยก่อนพระนครและพระนครตอนต้น ไปสู่ “ปราสาทหิน” ในสมัยพระนครตอนปลาย แต่ปราสาทจาม “ไม่เคย” สร้างด้วยวัสดุอื่นนอกจากอิฐ คือมีอิฐเป็นองค์ประกอบหลักเสมอ แต่อาจมีหินเป็นส่วนประกอบเสริม เช่น กรอบประตู หน้าบัน หรือฐานปราสาทบ้าง แต่ไม่พบการใช้หินสร้างปราสาททั้งหลัง
2. มีประตูเดียว ไม่มีฐานเป็นชั้น แม้ปราสาทเขมรจะพัฒนาฐานปราสาทเป็นชั้นตามลัทธิ “เทวราชา” แต่ปราสาทจามไม่เคยถูกสร้างให้มีฐานเป็นชั้นเลย นอกจากนี้ ศิลปะเขมรสมัยพระนครตอนปลายที่ใช้หินเป็นส่วนประกอบหลักทำให้สามารถเจาะประตูได้รอบทิศ แต่ปราสาทจามที่สร้างด้วยอิฐไม่สามารถเจาะประตู 4 ทิศได้ จึงมีเพียงประตูเดียว ส่วนทิศอื่น ๆ เป็นประตูหลอก
3. มีแผนผังกลุ่มเทวาลัย (Temple complex) แบบพิเศษ ศิลปะจามกับศิลปะเขมรสมัยก่อนพระนครมีลักษณะร่วมกันคือ ไม่มีกลุ่มเทวาลัยแบบซับซ้อน แต่ปราสาทจามตั้งแต่สมัยดงเดือง คือพุทธศตวรรษที่ 15 เป็นต้นมามีรูปแบบกลุ่มเทวาลัยที่ซับซ้อนขึ้น โดยประกอบด้วยปราสาทประธาน, อาคารคล้ายบรรณาลัย (ห้องสมุด), โคปุระ (ซุ้มประตูทางเข้า), กำแพง และมณฑป รวมถึงอาคารบริวารอื่น ๆ
แม้ลักษณะดังกล่าวจะพัฒนาพร้อมศิลปะเขมรสมัยพระนคร แต่ปราสาทจามที่เมืองมิเซินมีแผนผังเบี้ยวไปมา ไม่สมมาตรอย่างเห็นได้ชัด และไม่มีการสร้างระเบียงคดเหมือนเขมร มีเพียงกำแพงล้อมปราสาทเท่านั้น
4. สัดส่วนยืดสูงเป็นพิเศษ ตัวเรือนธาตุของปราสาทจามจะยืดสูงกว่าปราสาทในศิลปะสกุลอื่น ๆ ทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ร่วมสมัยกัน นี่คือเอกลักษณ์ที่สังเกตได้ง่ายที่สุดของปราสาทจาม เพราะเรือนธาตุของปราสาทอื่นมักเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าแนวนอน แต่เรือนธาตุศิลปะจามจะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าแนวตั้งทุกสมัย การยืดสูงดังกล่าวทำให้ซุ้มจระนำ (ซุ้มช่องตัน มักประดิษฐานพระพุทธรูป-เทวรูป) ยืดสูงตามไปด้วย ทำให้ซุ้มจระนำของปราสาทจามมักไม่มีภาพหรือประติมากรรมบุคคลประดับอยู่ เพราะไม่สมส่วนกับความสูงของปราสาท
เนื่องจากอาณาจักรจามปาตั้งอยู่ริมทะเล อิทธิพลจากดินแดนโพ้นทะเลอื่น ๆ ตั้งแต่อินเดีย อินโดนีเซีย จึงมาโผล่ในปราสาทจามด้วย ส่วนตอนเหนือที่ติดกับเวียดนามซึ่งรับอิทธิพลจากจีน มีส่วนทำให้พบร่องรอยบางอย่างอยู่ในศิลปะจามสมัยหลังเช่นกัน ส่วนทิศใต้ที่ติดกับอาณาจักรเขมร ได้ผลัดกันกับเวียดนามรุกรานจามปาอยู่บ่อยครั้ง กระทั่งอาณาจักรแห่งนี้ถูกเวียดนามกลืนหายไปในที่สุด
ติดตามเรื่องราวของชนชาติ “จาม” ในฐานะขุมกำลังวงศ์สุพรรณภูมิ เมื่อครั้งยึดอำนาจกรุงศรีอยุธยาจากวงศ์ละโว้ กับบทบาทด้านการค้าทั่วดินแดนอุษาคเนย์ ในวิดีโอนี้ :
อ่านเพิ่มเติม :
- ประติมานวิทยาภาพเล่าเรื่องฤๅษีวาลมีกิ ที่ปราสาทบันทายฉมาร์
- ตามรอยรูปสลัก พระมเหสีของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ณ ปราสาทพระขรรค์
- เขมรยุคพระเจ้ายโศวรมันที่ 1 ผู้ทรงสร้าง “พนมบาแค็ง” ปราสาทหินแห่งเมืองพระนคร
อ้างอิง :
เชษฐ์ ติงสัญชลี. (2565). ปราสาทในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้. กรุงเทพฯ : มติชน.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 ตุลาคม 2566