“คลื่นยักษ์นอกฝั่งคานากาวะ” แค่รูปคลื่นนอกชายฝั่ง ทำไมถึงดังนักหนา?

The Great Wave off Kanagawa วาดโดย คัทสึชิกะ โฮคุไซ
The Great Wave off Kanagawa หรือ คลื่นยักษ์นอกฝั่งคานากาวะ, ผลงานของ คัทสึชิกะ โฮคุไซ (ภาพจาก Metropolitan Museum of Art) - มีการตกแต่งกราฟิกเพิ่มโดย กอง บก.ศิลปวัฒนธรรม

คลื่นยักษ์นอกฝั่งคานากาวะ ผลงานที่สร้างขึ้นเมื่อราว ๆ 150 ปีที่แล้วโดย คัทสึชิกะ โฮคุไซ ศิลปินชาวญี่ปุ่น อาจเป็นภาพคลื่นซึ่งเป็นที่รู้จักมากที่สุดในโลก และเป็นหนึ่งในภาพที่สร้างแรงสั่นสะเทือนต่อประวัติศาสตร์ศิลปะ ทั้งที่เดิมแล้วภาพประเภทนี้ไม่ได้ราคาแพงหรือหายาก และไม่ได้วาดด้วยมือ แบบเดียวกับภาพทรงอิทธิพลอื่น ๆ ของโลก ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?

กระแสนิยมในโลกที่ล่องลอย

อูคิโยะ เอะ (Ukiyo E-浮世絵) คือชื่อเรียกงานศิลปะประเภทหนึ่งของญี่ปุ่นที่ได้รับความนิยมอย่างมากในยุคเอโดะ อูคิโยะ เอะ มีความหมายว่า “ภาพแห่งโลกที่ล่องลอย” เน้นหนักในการนำเสนอภาพที่มีความเรียบง่าย พบเห็นได้ในชีวิตประจำวัน เช่น สตรี เกอิชา ซามูไร บ้านเรือน หรือทัศนียภาพจากธรรมชาติ ที่เมื่อดูภาพแล้วจะเกิดความบันเทิงใจขึ้นมา

เดิมที อูคิโยะ เอะ ไม่ได้ถูกกำหนดว่าต้องผลิตด้วยวิธีใด แต่ส่วนใหญ่แล้วภาพที่มีชื่อเสียงของงานประเภทนี้จะผลิตโดยใช้แท่นพิมพ์ไม้ วิธีทำเริ่มจากการร่างภาพบนกระดาษ นำภาพไปแปะติดกับแผ่นไม้ด้วยกาวชนิดพิเศษ กดกระดาษลงไปจนให้ภาพที่ร่างไว้ติดกับแผ่นไม้ แล้วจึงลอกกระดาษที่ติดอยู่ออก แกะสลักตามภาพร่างและลงหมึกสีที่แผ่นไม้ ก่อนจะพิมพ์ลงไปบนกระดาษเปล่าตามลำดับสีอ่อนไปสีเข้ม

อูคิโยะ เอะ ถือเป็นงานศิลปะที่ได้รับความนิยมอย่างมากจากชาติตะวันตก หลังจากญี่ปุ่นเปิดประเทศให้ต่างชาติเข้าไปติดต่อได้หลังจากอยู่ในยุคเอโดะมาราวสามศตวรรษ และถูกส่งเสริมเพิ่มเติมผ่านการปฏิรูปเมจิใน ค.ศ. 1868 จนนำมาสู่การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมอย่างจริงจังระหว่างญี่ปุ่นกับชาติตะวันตก

แง่หนึ่งจึงอาจกล่าวได้ว่า อูคิโยะ เอะ คือ ซอฟต์ พาวเวอร์ แรก ๆ ของญี่ปุ่น ที่ทำให้ต่างชาติได้สัมผัสศิลปวัฒนธรรมญี่ปุ่นเลยก็เป็นได้

ศิลปินผู้ขยันขันแข็ง กับทัศนียภาพทั้ง 36 มุมของภูเขาฟูจิ และ “คลื่นยักษ์นอกฝั่งคานากาวะ”

คัทสึชิกะ โฮคุไซ (Katsushika Hokusai-葛飾北斎) คือศิลปินอูคิโยะ เอะ ที่มีชื่อเสียงอย่างมากในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 งานของเขาเป็นที่รู้จักในวงกว้าง อาจเป็นเพราะช่วงเวลาดังกล่าว คัทสึชิกะ โฮคุไซ เผชิญความยากลำบากทางการเงิน จนต้องเร่งผลิตงานศิลปะออกมาเป็นจำนวนมาก

แม้ภาพลักษณ์จะดูเป็นศิลปินไส้แห้ง แต่ความอัจฉริยะและความขยันของโฮคุไซก็ทำให้งานของเขาขายได้เรื่อย ๆ ผลงานอย่าง “โฮคุไซมังงะ” (Hokusai Manga-北斎漫画) งานภาพพิมพ์แบบรวมเล่มที่รวมงานพิมพ์ของโฮคุไซไว้หลายพันภาพก็เกิดขึ้นในช่วงนี้ และทำให้โฮคุไซเริ่มมีชื่อเสียงขึ้นมาอย่างจริงจัง

กระทั่งช่วงทศวรรษที่ 1820 ชื่อเสียงของโฮคุไซก็ดังไปทั่วญี่ปุ่น จากผลงานชุดอมตะของเขาคือ “ทัศนียภาพทั้ง 36 มุมของภูเขาฟูจิ” (Thirty-six Views of Mount Fuji-富嶽三十六景) ที่บอกเล่ามุมมองของภูเขาฟูจิจากทัศนวิสัยและฤดูกาลที่แตกต่างกัน งานชุดนี้โฮคุไซได้เดินทางไปตามที่ต่าง ๆ ที่อยู่รอบภูเขาฟูจิ สังเกตและใช้จินตนาการต่อทิวทัศน์เบื้องหน้า ก่อนจะร่างภาพบนกระดาษแล้วจึงแกะสลักลงไป

โฮคุไซใช้สไตล์ที่เรียกว่า ภาพสีฟ้าคราม (Blue Printed Pictures-藍摺絵) เน้นใช้หมึกที่ทำมาจากปรัสเซียน บลู (Prussian Blue) เป็นหลัก ซึ่งถูกนำเข้ามาในญี่ปุ่นครั้งแรกช่วงปลายทศวรรษ 1820 โดยใช้ร่วมกับครามหรือดอกเดย์ฟลาวเวอร์ ทำให้พื้นที่ภายในภาพส่วนใหญ่จะเป็นสีฟ้า งานชุดนี้ของโฮคุไซล้วนมีชื่อเสียง และถูกนำมาจัดพิมพ์ซ้ำนับครั้งไม่ถ้วนในขณะนั้น

แต่หากจะถามถึงรูปที่มีชื่อเสียงที่สุดในงานชุดนี้ “คลื่นยักษ์นอกฝั่งคานากาวะ” อาจเป็นคำตอบที่ถูกต้องที่สุด

The Great Wave off Kanagawa คลื่นยักษ์นอกฝั่งคานากาวะ
The Great Wave off Kanagawa (ภาพจาก Metropolitan Museum of Art)

“คลื่นยักษ์นอกฝั่งคานากาวะ” คลื่นที่โด่งดังที่สุดของญี่ปุ่น

คลื่นยักษ์นอกฝั่งคานากาวะ (The Great Wave off Kanagawa-神奈川沖浪裏) ผลงานของโฮคุไซวัยชราถูกเผยแพร่ครั้งแรกราว ค.ศ. 1831-1832 หากพิมพ์ลงกระดาษแล้วตัวภาพจะสูง 29 เซนติเมตร ยาว 36 เซนติเมตร ตัวภาพสีฟ้าครามแสดงให้เห็นถึงคลื่นยักษ์ที่ไม่ใช่สึนามิจากมุมมองนอกชายฝั่งคานากาวะทางใต้ของโตเกียว หิมะที่โปรยปราย เรือประมง 3 ลำบนคลื่น กับชาวประมงราว 20 คน ที่ไม่แน่ชัดว่ากำลังดิ้นรนเพื่อเอาชีวิตรอดหรือจำนนต่อโชคชะตา และภูเขาฟูจิ ซึ่งอยู่ห่างไกลและดูมีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับตัวคลื่น

คลื่นยักษ์นอกฝั่งคานากาวะ เป็นหนึ่งในภาพที่โด่งดังที่สุดในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากองค์ประกอบของภาพกับความเหมาะสมของช่วงเวลาที่ภาพนี้โด่งดัง สำหรับชาวยุโรปแล้ว คลื่นขนาดยักษ์ดังปรากฏในรูปอาจเป็นสิ่งที่ดูงดงามและอยู่เหนือจินตนาการ เดน มอร์ลีย์ (Dane Morley) ศิลปินชาวออสเตรเลียกล่าวว่า “มันถ่ายทอดจินตนาการของโลกตะวันตกในรูปแบบที่งานของยุโรปไม่สามารถทำได้”

คลื่นของโฮคุไซหากเทียบกับงานชิ้นอื่นในยุคเดียวกัน ก็อาจกล่าวได้ว่าเป็นคลื่นที่ไม่มีความสมจริงเท่าไหร่นัก ทั้งจากความสูงที่ดูเวอร์วัง และยอดคลื่นที่มีลักษณะแปลกประหลาด แต่ในทางกลับกันก็แสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่และความน่าสะพรึงของคลื่น อย่างที่ไม่มีผลงานชิ้นใดเทียบได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากตัวคลื่นที่ใหญ่ขนาดกินพื้นที่ไปกว่าครึ่งหนึ่งของภาพ เมื่อเทียบกับภูเขาฟูจิที่อยู่ทางขวาแล้วก็ทำให้ตัวคลื่นโดดเด่นเหนือกว่างานชิ้นอื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน

นอกจากนี้ ความเป็นภาพพิมพ์ซึ่งสามารถทำซ้ำได้เรื่อย ๆ ทำให้ช่วงเวลานั้นภาพคลื่นยักษ์นอกฝั่งคานากาวะมีราคาในระดับเดียวกับอาหารหนึ่งมื้อ เท่ากับว่ามีความสวยงามในราคาย่อมเยา ภาพนี้จึงแพร่กระจายไปทั่วญี่ปุ่นอย่างรวดเร็ว

ช่วงเวลาที่ภาพนี้เริ่มโด่งดังในญี่ปุ่นก็คือช่วงก่อนชาติตะวันตกจะเข้ามาไม่กี่สิบปี ดังนั้น เมื่อญี่ปุ่นเปิดประเทศ และยอมให้ตะวันตกเข้ามาสัมผัสกับวัฒนธรรมของตน คลื่นยักษ์จากมุมมองนอกชายฝั่งคานากาวะทางใต้ของโตเกียว จึงเป็นภาพที่ชาวยุโรปสามารถพบเห็นได้ทั่วไปในที่ต่าง ๆ ร่วมกับอูคิโยะ เอะ อื่น ๆ ในยุคเดียวกัน

แม้ช่วงนั้นกระแส “ภาพถ่าย” ในญี่ปุ่นจะเริ่มเติบโต จนอูคิโยะ เอะ เริ่มเสื่อมความนิยม แต่ชาวยุโรปที่ได้สัมผัสกับความเป็นญี่ปุ่นครั้งแรกต่างหลงเสน่ห์อูคิโยะ เอะ เข้าอย่างจัง และผลงานของโฮคุไซที่แสดงถึงจินตนาการซึ่งชาวยุโรปไม่มีชิ้นนี้เอง ก็คือผลงานที่เข้าถึงใจชาวยุโรปได้มากที่สุด

จากญี่ปุ่น สู่อิมเพรสชั่นนิสม์ และศิลปะหลังจากนั้น

คลื่นยักษ์นอกฝั่งคานากาวะ ร่วมกับอูคิโยะ เอะ อื่น ๆ สร้างอิทธิพลอย่างมหาศาลแก่ศิลปินตะวันตกที่ได้รับรู้ถึงความแปลกใหม่และงดงามของภาพพิมพ์ไม้เหล่านี้

เจสัน ฟาราโก (Jason Farago) นักเขียนนักวิจารณ์ของ The New York Times กล่าวว่า “หากปราศจากภาพพิมพ์ของโฮคุไซแล้ว อิมเพรสชั่นนิสม์ก็อาจเกิดขึ้นมาไม่ได้เลย” ซึ่งเป็นคำกล่าวที่อ้างอิงถึงชื่อเสียงงานของโฮคุไซ และผลงานจำนวนมากของเขาที่หลั่งไหลเข้าไปในตะวันตกพร้อมกันกับอูคิโยะ เอะ อื่น ๆ จนส่งผลต่อศิลปะกระแสใหม่

“อิมเพรสชั่นนิสม์” เกิดขึ้นในฝรั่งเศสช่วงทศวรรษที่ 1860 ช่วงนั้นศิลปินชาวฝรั่งเศสหลายคนนำงานมาจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ที่กรุงปารีส ซึ่งประเภทงานที่ได้รับความนิยมขณะนั้น คืองานที่หลุดออกจากขนบการสร้างงานศิลป์แบบเดิม ๆ คือ ไม่เน้นหนักในการเชิดชูศาสนาและประวัติศาสตร์ แต่หันไปหาสิ่งที่ดูเรียบง่ายและน่าประทับใจแทน

จุดพัฒนาสำคัญของอิมเพรสชั่นนิสม์อยู่ใน ค.ศ. 1867 ที่มีการนำอูคิโยะ เอะ ไปจัดแสดงเป็นครั้งแรกในกรุงปารีส ช่วยเปิดมุมมองใหม่ ๆ ให้ศิลปินฝรั่งเศส รวมถึงศิลปินในยุคอิมเพรสชั่นนิสม์ เช่นเดียวกับ เอดูอาร์ มาเนต์ (Édouard Manet) บิดาแห่งอิมเพรสชั่นนิสม์ ที่ได้รับอิทธิพลในการใช้สีโทนเรียบ ๆ และเนื้อหาของภาพ ที่หันไปวาดผู้คนในเมืองหรือสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งเป็นสไตล์แบบอูคิโยะ เอะ

แอดการ์ เดอกา (Edgar Degas) เป็นผู้แสดงออกมาด้วยตัวเองว่าได้รับอิทธิพลจากอูคิโยะ เอะ เห็นได้ชัดจากการจัดคอมโพสิชั่นภาพที่มีสไตล์แบบอูคิโยะ เอะ ในงานของเขา หรือ วินเซนต์ แวน โก๊ะห์ (Vincent van Gogh) ศิลปินชาวดัตช์ ที่อาจไม่ใช่พวกอิมเพรสชั่นนิสม์โดยตรง แต่ก็ระบุชัดว่ารับพื้นฐานอูคิโยะ เอะ ส่วนหนึ่งเข้ามาเป็นของตนเองเช่นกัน และสร้างงานอันมีเอกลักษณ์ ส่งผลให้เขาเป็นศิลปินมากฝีมือที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก แม้จะเป็นตอนที่เขาจากไปแล้วก็ตาม

หนึ่งในงานชิ้นอมตะของแวน โก๊ะห์ อย่าง “ราตรีประดับดาว” (Starry Night) ผลงานที่เกิดจากการมองท้องฟ้ายามค่ำคืน คืองานที่อาจได้รับแรงบันดาลใจจากคลื่นยักษ์นอกฝั่งคานากาวะของโฮคุไซ เช่น กระแสบนท้องฟ้าที่อยู่ตำแหน่งเดียวกับคลื่นยักษ์ หรือลักษณะการหมุนวนของกระแสสีขาวก็มีความใกล้เคียงกับลักษณะของยอดคลื่นยักษ์

มาร์ติน เบลีย์ (Martin Bailey) ผู้เชี่ยวชาญผลงานแวน โก๊ะห์ ซึ่งเป็นผู้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการได้รับแรงบันดาลใจของแวน โก๊ะห์ กล่าวว่า “อิทธิพลของงานอาจเข้าไปในสมองของแวน โก๊ะห์ ทั้งโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว ซึ่งย่อมส่งผลต่อการวาดภาพของเขาอย่างแน่นอน” อีกทั้งแวน โก๊ะห์ ก็เคยกล่าวถึงงานชิ้นนี้ของโฮคุไซในจดหมายที่เขาติดต่อกับครอบครัว จึงเป็นไปได้อย่างยิ่งว่าศิลปินชาวดัตช์คนนี้จะได้รับอิทธิพลจากผลงานคลื่นยักษ์นอกฝั่งคานากาวะในการสร้างราตรีประดับดาวขึ้นมาจริง และนั่นก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะช่วงนั้น อูคิโยะ เอะ ได้รับความนิยมแพร่หลายในหมู่ศิลปินอิมเพรสชั่นนิสม์ไปเรียบร้อยแล้ว

นอกจากแวน โก๊ะห์ ก็ยังมีศิลปินคนอื่น ๆ ที่ได้รับอิทธิพลจากงานของโฮคุไซอยู่เช่นกัน ดังนั้น ในแง่ของอิทธิพลที่แพร่หลายนี้อาจเป็นตัวชี้วัดถึงความโด่งดังของคลื่นยักษ์นอกฝั่งคานากาวะได้เป็นอย่างดี

ความที่เป็นภาพพิมพ์ สามารถผลิตซ้ำได้ ปัจจุบันคลื่นยักษ์นอกฝั่งคานากาวะจึงจัดแสดงอยู่ในหลายพิพิธภัณฑ์ทั่วโลก และแม้จะไม่ต้องไปถึงพิพิธภัณฑ์ก็สามารถเห็นคลื่นลูกนี้ผ่านตาได้อยู่ดี เช่น อิโมจิคลื่นที่ปรากฏในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ของ Apple ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากคลื่นยักษ์ของโฮคุไซ หรือจากสินค้านานาประเภท ทั้ง เสื้อผ้า อุปกรณ์อิเล็กโทรนิกส์จำพวกคอมพิวเตอร์ เมาส์ คีย์บอร์ด แก้ว จาน ถุงผ้า ฯลฯ

สาเหตุที่ภาพนี้ยังคงได้รับความนิยมมาถึงปัจจุบัน อาจเป็นเพราะมีเอกลักษณ์ที่แสดงถึงพลังของธรรมชาติ บวกกับความสวยงามของเทคนิคศิลปะ และความสามารถอันเอกอุของโฮคุไซ ทั้งหมดประกอบกันจนทำให้แม้เวลาจะผ่านไปเกือบ 200 ปี “คลื่นยักษ์นอกฝั่งคานากาวะ” ก็ยังคงเป็นหนึ่งในผลงานชิ้นโปรดของคนทั่วโลกอยู่นั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

นิถิดา ลิ้มถวิล (25 ธันวาคม 2558). ภาพพิมพ์อุคิโยเอะ (Ukiyo-e). Blogspot. https://worldcivil14.blogspot.com/2015/12/ukiyo-e.html

1867 Paris Exposition Universelle – Kiama Art Gallery. (2015, May 7). Kiama Art Gallery. https://kiamaartgallery.wordpress.com/tag/1867-paris-exposition-universelle/

Farago, J. (2022, February 24). Hokusai and the wave that swept the world. BBC Culture. https://www.bbc.com/culture/article/20150409-the-wave-that-swept-the-world

Jamieson, A. (2021). Iconic Hokusai Prints: Thirty-Six Views of Mount Fuji. Japan Objects. https://japanobjects.com/features/hokusai-fuji

Korenberg, C. (n.d.). The making and evolution of Hokusai’s Great Wave. British Museum, 1–28. https://www.britishmuseum.org/sites/default/files/2022-03/korenberg_article- for_hokusai%20_edited_volume_final-2020_accessible.pdf

Lane, R. (1999, July 28). Hokusai | Japanese artist. Encyclopedia Britannica. https://www.britannica.com/biography/Hokusai

Pickford, L. (2021, January 25). Ukiyo-e: the floating world of Japanese art. Go! Go! Nihon. https://gogonihon.com/en/blog/ukiyo-e-japanese-art/

The Editors of Encyclopaedia Britannica. (2023, March 24). Ukiyo-e | Japanese art. Encyclopedia Britannica. https://www.britannica.com/art/ukiyo-e

The Editors of Encyclopaedia Britannica. (2023, April 28). Impressionism | Definition, Artists, Characteristics, & Facts. Encyclopedia Britannica. https://www.britannica.com/art/Impressionism-art

The Great Wave: spot the difference. (n.d.). The British Museum. https://www.britishmuseum.org/blog/great- wave-spot-difference

Wood, P. (2017, July 20). Hokusai’s wave: Is this the most reproduced artwork in history? ABC News. https://www.abc.net.au/news/2017-07-20/hokusai-the-wave:-is-this-the-most-reproduced- artwork/8720070

ปพิชญา บุตรพรม. (2563) อิทธิพลของภาพพิมพ์ญี่ปุ่นที่มีต่อผลงานของวินเซนต์ แวนโก๊ะห์. (สารนิพนธ์อักษรศาสตรบัณฑิต, มหาวิทยาลัยศิลปากร). ระบบฐานข้อมูลวิจัย นักศึกษาสาขาวิชาเอเชียศึกษา. http://isas.arts.su.ac.th/wp-content/uploads/2563/visualarts/05600702.pdf


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 พฤษภาคม 2566