“นรินทร์กลึง” คนขวางโลก บวชลูกเป็นสามเณรี-ภิกษุณี ให้พระสละเงินประจำ จนถูกหาว่าบ้า

นรินทร์กลึง ในชุดเดินธุดงค์ เมื่อ พ.ศ. 2470 (ภาพจากหนังสือ "ชีวิต, แนวคิด และการต่อสู้ของ “นรินทร์กลึง” หรือ-นรินทร์ ภาษิต")

วันที่ 11 สิงหาคม 2536 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ร่วมกันจัดเสวนาเรื่อง “นรินทร์กลึงขวางโลกทำไม”

ข้อเขียนนี้เป็นข้อเสวนาที่ รศ.ดร. ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์ อาจารย์ผู้สอนวิชาปรัชญา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ตำแหน่งในขณะนั้น) ได้เสนอในวันดังกล่าว เนื้อหาส่วนหนึ่งมีดังนี้ (จัดย่อหน้าใหม่และเพิ่มหัวข้อย่อย-กองบก.ออนไลน์)


…เหตุผลประการหนึ่งที่คุณนรินทร์ต้องการให้ลูกสาวบวชเพราะเป็นวิธีการที่จะพยายามฟื้นฟูภิกษุณีสงฆ์ โดยความเข้าใจว่าสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงประดิษฐานพุทธบริษัท 4 ไว้ในพระพุทธศาสนา พุทธบริษัท 4 นั้นคือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา มีพระอาจารย์บางท่านมักอธิบายว่าเป็น ภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ดิฉันขอถือโอกาสแก้ความเข้าใจผิดไว้ตรงนี้ การอธิบายดังกล่าวเป็นความคลาดเคลื่อนทางวิชาการ

ในเมื่อในประเทศไทยไม่มีภิกษุณีสงฆ์ พระพุทธศาสนาก็มีรากฐานที่ไม่มั่นคง ถึงควรที่จะส่งเสริมสนับสนุนให้มีภิกษุณีสงฆ์ เพื่อให้ตรบพุทธบริษัท 4 เป็นที่น่าสังเกตว่า ก่อนที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานนั้น มารมาทูลเชิญให้พระพุทธองค์เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานเสียเถิด สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงปฏิเสธ โดยทรงให้เหตุผลว่า จะยังไม่เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานจนกว่าจะได้ประดิษฐานพุทธบริษัททั้ง 4 ให้มั่นคงเสียก่อน การประดิษฐานพุทธบริษัท 4 ให้มั่นคง หมายความว่า พุทธบริษัท 4 คือชาวพุทธทั้งที่บวชและที่เป็นฆราวาสทั้งชายและหญิง จะได้ศึกษาและปฏิบัติพระธรรมวินัยได้ถูกต้องชัดเจน

นี่คือการวางรากฐานในพระพุทธศาสนา

คุณนรินทร์ชี้ประเด็นนี้ว่า พุทธบริษัทที่มีอยู่นั้นไม่ครบองค์ เปรียบเสมือนเก้าอี้ 4 ขา แต่ มีขาเหลือเพียง 3 ขา ทําให้พระศาสนาไม่มั่นคง จึงพยายามสนับสนุนให้มีภิกษุณีสงฆ์ขึ้น เริ่มต้นด้วยการแสดงความเชื่อมั่นและเสียสละส่วนตัวโดยให้ลูกสาวทั้งสอง คือ คุณสาระ และจงดีออกบวช ดิฉันให้ความสําคัญตรงนี้ว่าคุณนรินทร์มีความกล้าหาญในการที่จะแสดงความคิดเห็นต่างไปจากสังคมส่วนใหญ่ และเป็นความเห็นที่ชอบธรรม มีเหตุ มีผล ไม่เพียงแต่แสดงความคิดเห็นเท่านั้น แต่ยังมีความกล้าที่จะผูกพันด้วยการกระทํา คือให้ลูกสาวออกบวชพิสูจน์ความเชื่อในความคิดนั้น

สามเณรีและการสนับสนุนสตรี

ที่จริงแล้ว ผู้ที่เห็นด้วยก็มีจํานวนไม่น้อย เพราะปรากฏว่าสามเณรีทั้งสอง มีผู้มาเข้าร่วมบวชด้วยอีก 5 คน สามารถจัดตั้งเป็นคณะสงฆ์ฝ่ายหญิงได้ เวลาพายเรือออกบิณฑบาตก็มีผู้คนใส่บาตรให้ ครั้งหนึ่งที่สามเณรีทั้งสองเดินทางไปต่างจังหวัด ได้เข้าพํานักอยู่ในวัดแห่งหนึ่ง ปรากฏว่าคณะสงฆ์มีคําสั่งลงไปมีให้เจ้าอาวาสให้ที่พักแก่สามเณรีทั้งสอง พระเจ้าอาวาสรูปนั้นตอบกลับไปว่า ตามปกติหากมีภิกษุสงฆ์ผ่านมา หากปฏิบัติอยู่ในพระธรรมวินัยก็มิได้มีความรังเกียจ จัดหาที่พักให้อยู่ในฐานะพระอาคันตุกะ ในเมื่อสามเณรีทั้งสองมิได้ประพฤติผิดแต่ประการใด หากคณะสงฆ์รังเกียจไม่ต้องการให้สามเณรีทั้งสองอยู่ที่วัดก็ขอให้มาออกปากไล่เอง

แรงต้านทั้งกระแสโลกและกระแสธรรมมีอยู่มาก ทําให้สามเณรีทั้งสองซึ่งต่อมาได้บวชเป็นภิกษุณี จําเป็นต้องลาสิกขาบทในที่สุด หลังจากใช้ชีวิตเป็นนักบวชมานานทั้งสิ้น 5 ปี

แรงต้านการบวชผู้หญิงเป็นภิกษุณีในสมัยคุณนรินทร์นั้นมีสาเหตุอื่นที่จะต้องนํามาพิจารณาด้วยว่า ในความเป็นจริงอาจมิใช่การต่อต้านการบวชภิกษุณีนัก แต่เป็นการต่อต้านการกระทําของคุณนรินทร์ทุกรูปแบบ

ในการวิพากษ์สังคมนั้น คุณนรินทร์มุ่งที่คณะสงฆ์เป็นเป้าหลักในการโจมตี การต่อต้านภิกษุณีสงฆ์ที่คุณนรินทร์สนับสนุนจึงอาจเป็นวิธีหนึ่งที่คณะสงฆ์จะเอาชนะคุณนรินทร์ได้ เพราะไม่สามารถปราบคุณนรินทร์ได้ด้วยวิธีอื่น

ชายต้องมีเมียเดียว-ไม่อนุญาตให้ผู้หญิงเป็นโสเภณี

ในเรื่องการสนับสนุนผู้หญิงนั้นคุณนรินทร์ อาจจะนับได้ว่าเป็นนักสตรีนิยมในรุ่นแรกๆ คนหนึ่งได้เหมือนกัน แนวคิดในเรื่องการสนับสนุนผู้หญิงสอดคล้องกันนับตั้งแต่สนับสนุนให้ผู้หญิงบวชเป็นภิกษุณี

คุณนรินทร์เสนอต่อไปว่า ผู้ชายต้องมีเมียเดียว นับเป็นวิวัฒนาการทางความคิดที่ก้าวหน้ามาก เพราะสมัยนั้นยังเป็นสมัยที่ผู้ชายนิยมมีเมียหลายคน สืบเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้ก็ยังมีบ้านใหญ่บ้านเล็กให้ปรากฏ นอกจากนั้นยังเสนอว่าไม่ควรอนุญาตให้ผู้หญิงเป็นโสเภณี ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นความคิดที่สนับสนุนและพยายามที่จะฟื้นฟูฐานะของสตรีทั้งสิ้น

หากรัฐบาลยอมรับฟังความคิดเห็นของคุณนรินทร์บ้างโดยเฉพาะในประเด็นหลังที่ไม่อนุญาตให้ผู้หญิงเป็นโสเภณี ชาวไทยก็คงไม่ต้องไปทะเลาะกับดิกชันนารีลองแมน’ส ในเรื่องที่จะมายกย่องให้กรุงเทพฯ เป็นแหล่งโสเภณีให้ช้ำใจเช่นทุกวันนี้

ในส่วนของพุทธศาสนา ดิฉันมองว่าคุณนรินทร์เป็นคนที่มีความกล้าที่จะวิพากษ์ทุกคนไม่เว้นหน้าอินทร์หน้าพรหม ที่คุณนรินทร์เห็นว่าทําผิด ในลักษณะนี้ดิฉันไม่อยากเรียกว่าคุณนรินทร์ เป็นคนขวางโลก เพราะอาการขวางมันไปในแนวนอน เป็นอาการของเดียรัจฉาน ดิฉันมองว่าคุณนรินทร์มีความคิดที่เป็นแนวตั้งมุ่งสู่ความถูกต้อง และในที่สุดมุ่งสู่พระนิพพาน แต่โลกทั้งโลกดูมันจะขวางไปหมดสําหรับคุณนรินทร์ คุณนรินทร์เดินแนวตั้งอยู่คนเดียวจึงต้องมีพลังอย่างแรงกล้าที่จะหยั่งรากลงให้ลึก รากของคุณนรินทร์ก็คือพุทธศาสนาที่เป็นแรงบันดาลใจให้เห็นว่าความถูกต้องยุติธรรมว่าควรเป็นอย่างนี้

ใครก็ตามที่คุณนรินทร์เห็นว่าทําผิดไปจากทํานองคลองธรรม คุณนรินทร์จะวิพากษ์ทันที ตรงและรุนแรง ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นจอมพล ป. หรือ พระผู้ใหญ่ในคณะสงฆ์ก็ตามที วิธีการเช่นนี้เป็นวิธีการที่คนไทยยอมรับได้ยากและเป็นการสร้างศัตรูโดยตรง

เรื่องสําคัญสําหรับคณะสงฆ์คือเรื่องที่คุณนรินทร์เสนอให้มีการสังคายนาพระศาสนา เพราะเห็นว่าโรคร้ายแรงที่สุดคือ การที่พระสงฆ์ปฏิบัติคลาดเคลื่อนไปจากพระธรรมวินัย พระสงฆ์เบียดเบียนชาวบ้านโดยการหลอกลวงให้ชาวบ้านทําบุญ จนถึงขนาดบางคนสิ้นเนื้อประดาตัว ในขณะที่พระสอนให้ชาวบ้านบริจาคทาน แต่พระสงฆ์เองกลับเป็นคนสะสม “มีแต่นั่งกินนอนกินรวยไปตาม ๆ กัน” (หนังสือ “ชีวิต, แนวคิด และการต่อสู้ ของนรินทร์ ภาษิต หรือ ‘นรินทร์กลึง’ คนขวางโลก” หน้า 128)

ในขณะที่วิพากษ์พระสงฆ์นั้น คุณนรินทร์ก็โจมตีการนับถือศาสนาของชาวไทยที่ทําบุญโดยหวังผลตอบแทน แทนที่จะเป็นการทําบุญเพื่อละวางกิเลส คุณนรินทร์โจมตีคนที่ทําบุญหวังผลในอนาตตกาลว่า ไม่เข้าใจคําสอนของพระพุทธองค์โดยแท้จริง ควรเพ่งพิจารณาการปฏิบัติเพื่อให้เกิดผลในชาตินี้ (หน้า 129)

คุณนรินทร์ถือเป็นภาระหน้าที่ของตนที่ได้รับมอบหมายจากคณะพุทธบริษัทสมาคมให้เป็น “ผู้ประกาศและแนะนําชี้แจงแก่ผู้ที่ไม่รู้เรื่องพุทธศาสนา ให้ตักเตือนผู้ที่ประพฤติไม่ถูกโดยเข้าใจผิด” ใน พ.ศ.2473 ได้ทําหนังสือเพื่อกราบบังคมทูลขอให้สังคายนาไล่พวกอลัชชีเหมือนครั้งพระเจ้าอโศกมหาราช

นรินทร์กลึงโกนหัวครึ่งซีก นุ่งแดง และมีรูปพระเจ้าตากแขวนคอ ถ่ายเมื่อ 28 มีนาคม 2477

ความเสื่อมเสียของคณะสงฆ์ จากสมัยอยุธยา ถึงรัตนโกสินทร์

ในเรื่องความเสื่อมเสียของคณะสงฆ์นั้น มิใช่สิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นเฉพาะในสมัยของคุณนรินทร์ แต่เป็นผลพวงที่นับเนื่องมาตั้งแต่สมัยอยุธยาในช่วง 417 ปี ที่อยุธยาเป็นราชธานีนั้น ชาวไทยต้องต่อสู้กับศึกสงครามทั้งภายในและภายนอกตลอดระยะเวลาอันยาวนาน ทําให้พระพุทธศาสนาเบี่ยงเบน และถูกละเลยไป พระอาจารย์สําคัญๆ หลายองค์หันไปสนใจไสยศาสตร์ เพื่อนํามาทําเครื่องรางของขลังให้เป็นขวัญกําลังใจแก่บรรดาศิษย์ที่ต้องออกศึก ในการกระทําเช่นนี้ทําให้ความเข้าใจในพุทธศาสนาเองย่อหย่อนลงไป

สิ่งที่เป็นอันตรายที่สุดในการเจริญเติบโตของพุทธศาสนาก็คือการไม่แยกแยะระหว่างพุทธและพราหมณ์ เราปฏิบัติควบคู่กันไปโดยแยกไม่ออกว่าตรงไหนเป็นความเชื่อแบบพุทธ ตรงไหนเป็นความเชื่อแบบพราหมณ์ เวลาชาวบ้านไปหาพระสงฆ์ก็จะทึกทักเอาว่าคําสอนหรือคําแนะนําที่ได้รับจากพระภิกษุสงฆ์เป็นคําสอนของพุทธ ทั้งที่ในความเป็นจริงอาจจะเป็นไสยศาสตร์ พุทธกับไสยศาสตร์ผสมผสานกันจนแยกไม่ออก

ในขบวนการดังกล่าวพุทธศาสนาถูกกลืนไปมาก พระภิกษุสงฆ์ก็ย่อหย่อนจากพระธรรมวินัย แม้จะไม่มีพม่ารุกราน คณะสงฆ์ก็อยู่ในสภาพที่อ่อนแอมาก ครั้น อยุธยาล่มสลายในปี พ.ศ. 2310 พระภิกษุสงฆ์ หนีตายกระจัดกระจายบ้านแตกสาแหรกขาด ที่จะคาดหวังว่าให้พระสงฆ์จากอยุธยามีความบริสุทธิ์ ในศีล 227 ข้อนั้นเป็นอันว่าไม่ต้องพูดถึง

ในปีเดียวกันนั้นเมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ทรงกอบกู้เอกราชชาติไทย ทรงห่วงใยพระศาสนาเป็นที่สุด ทรงมุ่งหวังที่จะประดิษฐานพระศาสนาให้มั่นคงโดยการสังคายนาพระธรรมวินัย ในการสังคายนาพระธรรมวินัยนั้น ทรงต้องการความแน่พระทัยว่าพระสงฆ์ที่จะสืบพระศาสนาต่อไป แม้จะเลิกพระวินัยในข้อปลีกย่อยสามารถให้อภัยได้ในยามศึกสงครามเช่นนั้น แต่อย่างน้อยจะต้องมีได้ขาดจากความเป็นพระนั้นคือบริสุทธิ์ในปาราชิก 4

ตรงนี้แสดงให้เห็นชัดเจนว่าพระสงฆ์ในสมัยอยุธยาอ่อนแอไปจากพระวินัยเพียงใด ด้วยเหตุนี้พระสงฆ์ที่ไม่ผ่านการทดสอบจึง ต้องถูกจับสึกไปเป็นจํานวนมาก

ความเสื่อมของคณะสงฆ์ปรากฏชัด แม้ในสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พิจารณาได้จากกฎหมายพระสงฆ์ในกฎหมายตราสามดวง จะเห็นสภาพความย่อหย่อนของพระสงฆ์อย่างชัดเจน สืบเนื่องมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 2 ก็ยังมีกรณีปลดพระสังฆราชเพราะต้องอาบัติปาราชิก

สภาพความเสื่อมโทรมของคณะสงฆ์เช่นนี้ เป็นปัจจัยสําคัญที่ผลักดันให้พระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎฯ ทรงก่อตั้งธรรมยุติกนิกายขึ้น เพราะศรัทธาว่า พระรามัญวงศ์นั้นมีการประพฤติปฏิบัติพระวินัยเคร่งครัตกว่าพระไทย สภาพการณ์เช่นนี้คงมีสืบเนื่องมาจนถึงสมัยคุณนรินทร์ เป็นเหตุสําคัญที่ทําให้คุณนรินทร์ตั้งหน้าตั้งตาวิพากษ์คณะสงฆ์มาโดยตลอด

ข้อเสนอของ “คนขวางโลก”

ในเรื่องการสะสมของพระนั้น คุณนรินทร์ขอให้พระสละนิตยภัต (คือเงินเดือนที่พระผู้ใหญ่ได้รับจากหลวง) เพราะบ้านเมืองกําาลังยากจน อีกทั้งพระภิกษุแปลว่า “ผู้ขอ” ในเมื่อพระภิกษุก็ได้รับการเลี้ยงดูจากชาวบ้านอยู่แล้ว ไม่มีความจําเป็นที่จะต้องรับเงินจากหลวงอีก คุณนรินทร์เสนอให้ยกเลิกการถวายนิตยภัต รวมเลิกถวายสมณศักดิ์แก่พระ เพราะเท่ากับเป็นการน่ากิเลสไปถวายให้แก่พระซึ่งควรเป็นผู้พากเพียรในการลดทอนกิเลสต่างหาก

สําหรับความนิยมที่สร้างวัดวาอารามนั้น คุณนรินทร์ก็เตือนว่า นั้นมิใช่สัญลักษณ์ของความเจริญที่แท้จริง ความเจริญอยู่ที่จิตใจมิใช่ขึ้นอยู่กับวัตถุภายนอก คุณนรินทร์เรียกร้องให้ประชาชนหันมาให้ความสนใจในคําสอนที่แท้จริงของพุทธศาสนาเพื่อนําไปสู่ภาคปฏิบัติ

นอกจากนี้คุณนรินทร์ยังชี้ให้เห็นว่าภารกิจในการเผยแพร่ความและปฏิบัติธรรมตามพุทธศาสนามิควรผูกขาดอยู่กับพระภิกษุสามเณรหรือมหาเถรสมาคมเท่านั้น ทั้งนี้เพราะคุณนรินทร์หาได้มีความศรัทธาในพระภิกษุสงฆ์ไม่ เนื่องจากได้เห็นการปฏิบัติที่คลาดเคลื่อนไปจากพระธรรมวินัยนั้นเอง

ข้อเสนอในประเด็นนี้ของคุณนรินทร์ก็สอดคล้องกับหลักของพุทธศาสนา เพราะพระคัมภีร์ในพระพุทธศาสนามิใช่คัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ในลักษณะแบบคัมภีร์พระเวทที่จะจํากัดสิทธิของผู้อ่าน พุทธศาสนาเป็นศาสนาที่เปิดเผย ใคร ๆ ก็สามารถเข้ามาศึกษาได้ทั้งสิ้น อีกทั้งยังไม่บังคับให้เชื่ออีกด้วย แม้พระพุทธองค์ก็ทรงแนะนําว่า แม้คําสอนของพระองค์เองก็อย่าเชื่อง่าย ๆ แต่ให้นําไปปฏิบัติ และเมื่อเห็นว่าทําให้ละวางความทุกข์ได้จริงจึงสมควรที่จะยอมรับ และน้อมนําไปปฏิบัติ

ในลักษณะนี้จะพิจารณาได้ว่าข้อเสนอและวิธีคิดของคุณนรินทร์ถูกต้องสมเหตุผล และสอดคล้องกับหลักพระพุทธศาสนา แต่เพราะวิธีการพูดและการนําเสนอความเห็นนี้ขัดผลประโยชน์โดยตรงต่อบุคคลที่อยู่ในอํานาจ ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่มีประโยชน์ต่อบ้านเมืองทั้งหลายแหล่นี้จึงไม่ได้รับความสนใจ และส่งผลลบให้แก่ตัวของนรินทร์เอง ทําให้ถูกจองจําหลายครั้ง และถูกกล่าวหาว่าเป็นบ้า การกล่าวหาว่าเป็นบ้าเป็นวิธีการที่ดีที่สุดที่จะทําให้ข้อเสนอแนะขาดน้ำหนัก

การศึกษาถึงเรื่องราวของคุณนรินทร์เป็นการเปิดประตูความคิด และเตือนสติให้คนรุ่นใหม่ได้เห็นถึงความกล้าหาญที่จะยืนหยัดอยู่กับความถูกต้องของคุณนรินทร์อีกครั้ง…

อ่านเพิ่มเติม :


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 เมษายน 2564