“นรินทร์กลึง” อดีตขุนนางชั้นเจ้าเมือง ผู้กล้าส่งจดหมายด่าจอมพล ป. “มึงต้องลาออกเดี๋ยวนี้”

ภาพถ่าย นรินทร์กลึง เมื่ออายุ 58 และ ไปรษณียบัตร ที่ เขา เขียน
(ซ้าย) ภาพถ่ายนรินทร์กลึง เมื่ออายุ 58 พ.ศ. 2475 (ขวา) ไปรษณียบัตรบางส่วนที่นรินทร์เขียนถึงบุคคลต่างๆ เมื่อถูกกักกันตัวที่นครศรีธรรมราช [ภาพจากหนังสือ ชีวิต, แนวคิด และการต่อสู้ของ "นรินทร์กลึง" หรือ-นรินทร์ ภาษิต]

“นรินทร์กลึง” อดีตขุนนางชั้นเจ้าเมือง ผู้กล้าส่งจดหมายด่า จอมพล ป. “มึงต้องลาออกเดี๋ยวนี้”

ในยุคที่เทคโนโลยีด้านการสื่อสารยังไม่พัฒนาเป็นระบบดิจิทัล คลิปตัดต่อหรือการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ออกอากาศสดทางโทรทัศน์ยังไม่แพร่หลาย การสื่อสารทางการเมืองเมื่อเกือบ 80 ปีก่อนยังต้องใช้จดหมายโต้ตอบกันอยู่ และน่าจะมีเพียงไม่กี่คนที่กล้าสื่อสารไปถึงนายกรัฐมนตรี (ทหาร) ด้วยถ้อยคำหยาบคาย ขั้นใช้คำว่า “มึงต้องลาออกจากนายกรัฐมนตรีเดี๋ยวนี้…”

เจ้าของวีรกรรมครั้งนี้เป็นใครอื่นไม่ได้นอกจาก “นรินทร์กลึง” หรือ “นรินทร์ ภาษิต” จอมขบถ (หรือบางคนอาจจดจำหรือรับรู้ในสถานะ “คนบ้า”) ที่เขียนจดหมายไปด่า จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี สมัย พ.ศ. 2486 ด้วยถ้อยคำรุนแรงและหยาบคาย แต่เดี๋ยวก่อน! “ความหยาบคาย” ของนรินทร์กลึง ไม่ได้เป็นแค่การระบายอารมณ์แบบครั้งคราวเท่านั้น แต่เป็นตัวตนของเขาเองที่มีคำอธิบายและที่มาที่ไปซึ่งทำให้ต้องใช้คำหยาบในการสื่อสารในหลายด้านด้วย

นรินทร์ ภาษิต เป็นจอมขบถที่มีชื่อเสียงเมื่อกว่า 80 ปีก่อน แต่ใครจะเชื่อว่านรินทร์กลึง (ชื่อที่ให้ผู้อื่นเรียก) จะเป็นอดีตขุนนางบรรดาศักดิ์ชั้นคุณพระเจ้าเมือง แต่ก็ต้องถูกตะเพิดออกจากราชการก่อนอายุ 40 ปี เพราะขบถต่อคำสั่งเจ้านาย

ชายที่ชื่อนรินทร์ หรือเรียกกันในวัยเด็กว่า เด็กชายกลึง เกิดเมื่อ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2417 ที่จังหวัดนนทบุรี ก่อนจะกลายเป็นชายที่ขึ้นชื่อเรื่องขวางโลกมาตลอดอายุขัย

เอกสารคำให้การของนรินทร์เมื่อคราวต้องข้อหา “กบถภายในและเขียนข้อความเป็นปติปักต่อความสงบเรียบร้อยของประเทศ” เมื่อ พ.ศ. 2486 ขณะอายุ 70 ปี บอกเล่าประวัติของเขาเองว่า เมื่ออายุได้ 16 ปี เริ่มเข้ารับราชการเป็นเสมียนเสนากระทรวงเกษตร และเสมียนกรมศุลกากร ต่อมาไปเป็นเสมียนกระทรวงศึกษาธิการ และเปลี่ยนสังกัดมาอยู่ที่กรุงเก่า จนกระทั่งมาทำงานเป็นสรรพกรมณฑล มีบรรดาศักดิ์เป็น “หลวงสุภมาตรา” รับราชการตำแหน่งเกษตรมณฑล

หลังจาก พ.ศ. 2442 ที่รัฐบาลตั้งโรงเรียนสอนการปกครอง นายนรินทร์มีโอกาสเล่าเรียนในโรงเรียนที่กรุงเก่า และอ้างว่าสอบได้ที่ 1 ได้รับแต่งตั้งเป็นนายอำเภอที่ลพบุรี ได้รับบรรดาศักดิ์เป็นหลวงรามบุรานุกิจ ย้ายจากลพบุรีไปเป็นปลัดเมือง (ปลัดจังหวัด) ที่ชลบุรี และไต่เต้าทางตำแหน่งขึ้นมาต่อเนื่องจนได้เป็นพระพนมสาระนรินทร์ ย้ายไปเป็นผู้ว่าราชการประจำจังหวัดนครนายก อยู่ในตำแหน่งได้ 1 เดือนก็ลาออกจากราชการ เนื่องจากช่วยเหลือราษฎรเดินเรือรับจ้างแข่งกับบริษัทผูกขาดของฝรั่ง เนื้อหาในคำให้การอ้างว่าหลังจากนั้นทางราชการไม่ได้จ่ายบำเหน็จบำนาญให้

เมื่อ พ.ศ. 2458 หรือ 2459 นรินทร์ เล่าว่า เขาเริ่มวีรกรรมด้วยการทำใบปลิวแจกราษฎรเพื่อปฏิสังขรณ์โบสถ์วัดลานวัว ความทราบถึงราชการ ทำให้ราชการไม่ไว้ใจพฤติกรรม เพราะก่อนหน้านี้ก็ได้รับกระแสข่าวว่านรินทร์ที่เคยเป็นหัวแรงในการออกหนังสือ “สารธรรม” และ “โลกกับธรรม” ที่เป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและทัศนะทางพุทธศาสนาที่สำคัญในช่วงเวลานั้น กำลังจะออกหนังสือ “ช่วยบำรุงชาติ” อันมีเนื้อหาแตกต่างจากสารธรรม โดยคำปรารภในหนังสือแจ้งว่าจะเป็นเชิง “ดัดทิฏฐิ ผู้ที่ถือลัทธิผิดๆ แลมักจะเป็นเรื่องที่ขวางใจคนโดยมาก” ข่าวคราวเข้าถึงราชการ และมีกระทรวงยื่นเรื่องถอดบรรดาศักดิ์

หลังจากถูกถอดแล้ว ครอบครัวก็เริ่มประกอบอาชีพปั้นหม้อดินขาย ส่วนนายนรินทร์มาตั้งโรงพิมพ์ออกหนังสือพิมพ์รายวันและรายสัปดาห์ โดยช่วงเวลานั้นจัดตั้งกลุ่มที่เรียกว่า “คณะยินดีการคัดค้าน” มีหนังสือพิมพ์ “เหมาะสมัย” เป็นกระบอกเสียง คณะฯ แถลงจุดประสงค์ของกลุ่มในหนังสือพิมพ์ฉบับแรกว่า “รับจะช่วยระงับความเดือดร้อนอันบังเกิดแก่ประชาชน…เช่น ถูกบีบคั้น กดขี่ บังคับ…”

นรินทร์กลึงโกนหัวครึ่งซีก นุ่งแดง และมีรูปพระเจ้าตากแขวนคอ ถ่ายเมื่อ 28 มีนาคม 2477

นายนรินทร์ เคยต้องโทษจำคุกหลายครั้ง ครั้งหนึ่งคือจำคุกจากการแจกใบปลิวที่เรียกว่า “สงบไม่ได้” สาระสำคัญคือประณามข้าราชการฝ่ายปกครองว่าไร้ความสามารถ ไม่สามารถดูแลราษฎรได้ หลังเกิดการปล้นจี้อย่างอุกอาจหลายพื้นที่ แม้ว่าหลังจากนั้นจะโจมตีหนังสือพิมพ์ในเมืองไทยว่า วางตัวไม่เป็นกลางในการเสนอข่าวสงคราม เสนอข่าวเข้าข้างฝ่ายสัมพันธมิตร พร้อมกับโจมตีฝ่ายที่เสนอให้สยามเข้าร่วมสงครามเป็นฝ่ายสัมพันธมิตร โดยช่วงเวลานั้นเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ใกล้ปะทุขึ้น แต่สยามยังไม่ได้ประกาศเข้ากับฝ่ายใด ใบปลิวโจมตี นสพ. ในไทยไม่ได้อยู่ในคำฟ้องที่ทำให้นรินทร์ถูกจับ แต่กลับเป็นใบปลิวเรื่อง “สงบไม่ได้” ที่แจกในเวลาไล่เลี่ยกันและทำให้ต้องโทษจำคุก 2 ปี

หลังจากนั้นมาก็ต้องโทษอีกหลายครั้งด้วยข้อหาขบถในราชพระราชอาณาจักร และถูกจับอีกครั้งเมื่อ พ.ศ. 2483 ด้วยข้อหาขบถ เนื่องจากพิมพ์ข้อความในใบปลิวคัดค้านการยืดบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ถูกจำคุก 2 ปี พ้นโทษออกมาในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2485 แต่ก็เป็นอิสระไม่นาน มาเจอคดีอีกรอบ คราวนี้เป็นการส่งจดหมายส่วนตัวแล้ว

นรินทร์กลึง ส่งจดหมายส่วนตัวไปด่าจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2486 ใช้ถ้อยคำรุนแรง หยาบคายขั้นที่อาจไม่มีชาวไทยกล้าด่าบุคคลที่ดำรงตำแหน่งผู้บริหารประเทศระดับสูงโดยเปิดเผยตัวขนาดนี้ ข้อความส่วนใหญ่หยาบคายจนไม่อาจเผยแพร่ได้ แต่บางส่วนยังพอยกเป็นตัวอย่างได้ ข้อความส่วนหนึ่งมีใจความว่า

“…ถ้ามึงมีสติ หรือมีไหวดีๆ โดยรู้สึกตัวว่าการที่กูด่าสอนมึงมาแล้วนั้น และทั้งนี้ก็เพื่อให้มึงดี ชาติไทยจะได้พลอยดีไปด้วย เมื่อมึงไม่อาฆาตพยาบาทเกลียดโกรธกูด้วยแล้ว มึงก็ต้องทำตามกูว่า ดังมีต่อไปนี้…มึงต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเดี๋ยวนี้… เมื่อมึงยินดีลาออกตามที่กูว่าแล้ว ก็ควรบอกเสนอ ค.ร.ม. ว่าขอให้กูเป็นแทนมึงทันทีดีกว่า แล้วมึงก็ยังจะมีท่าได้เป็นคนดีต่อไป เพราะกูยังจะเลี้ยงสอนมึงไป พอเห็นได้ว่ามึงดีแล้ว กูก็จะได้มอบหมายให้มึงทำการแทนกูต่อไป”

จดหมายนี้ไม่เพียงทำให้เดือดร้อนอีกครั้งเท่านั้น ครั้งนี้นรินทร์เล่าว่าเคยเกือบถูกสั่งฆ่า อย่างไรก็ตาม จดหมายฉบับนี้ทำให้เขาถูกจับ และถูกส่งไปกักตัวที่โรงเรียนอบรมจิตใจ ที่กองทหารปืนใหญ่ โคกกระเทียม ลพบุรี และสถานกักกันที่อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นเวลา 2 ปี 21 วัน

ส่วนสาเหตุของการสื่อสารที่ต้องใช้คำหยาบนั้น นรินทร์ให้เหตุผลทำนองว่า “คำหวานมักเป็นลม” ตามคำอธิบายของนรินทร์ คือ นับตั้งแต่เกิดโลกใบนี้ขึ้น มนุษย์ใช้แต่คำอ่อนหวาน ข้อนี้เองเป็นส่วนที่ทำให้สัตว์โลก “ฉิบหาย” เนื่องจาก

“ไอ้คนใหญ่! คนโต!! … มันทำอะไรผิดๆ แล้วก็ไม่มีใครกล้าสามารถพูดจาว่ากล่าวคัดค้านหรือท้วงโดยรุนแรงกับมันได้ เพราะเกรงกลัวอำนาจของมัน แล้วไอ้ผู้ใหญ่! ที่ประพฤติผิดๆ นั้นๆ มันก็หารู้สึกผิดได้ไม่ เพราะมันไม่รู้สึกเจ็บแสบ… ฉะนั้น น.ร. จึงต้องใช้เพลงดื้อดันเอาน้ำร้อนสาดมันเข้าไป ก็เพื่อจะได้ให้มันโดด! และสดุ้งเสทือนแล้วมันจะได้รู้สึกผิดได้บ้างเท่านั้นฯ…” (ชวนฉลาด, ปีที่ 1 ฉบับที่ 3 กันยายน 2491 หน้า 2-4)

ภาพหนึ่งที่คนทั่วไปจดจำนรินทร์กลึงได้คือการโกนหัว คิ้ว และหนวดเคราครึ่งซีก นุ่งแดงท่อนล่าง และห้อยรูปพระเจ้าตากแขวนคอ ด้วยเหตุผลว่า “ไม่มีใครเชื่อคำที่พูดจึงน่าแค้นหัวคิดตัวเอง”

นายนรินทร์ ภาษิต ถึงแก่กรรมเมื่อ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2493 ขณะอายุ 77 ปี เขาสั่งลูกหลานให้เก็บศพเขาไว้เพื่อให้รุ่นหลังรู้ว่าเคยมีมนุษย์ที่กล้าต่อสู้ผู้หนึ่งอยู่ และยังหลงเหลือร่างไว้รอให้คนไปศึกษาเรื่องราวของเขา

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา. ชีวิต, แนวคิด และการต่อสู้ของ “นรินทร์กลึง” หรือ-นรินทร์ ภาษิต. กรุงเทพฯ : งานดี, 2536


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 มีนาคม 2562