“นรินทร์กลึง” อดีตขุนนางโดนคดีขบถ “ภัยต่อความสงบ” ติดคุกยังร่อนจดหมายไปทั่ว

นรินทร์กลึง ในชุดเดินธุดงค์ เมื่อ พ.ศ. 2470 (ภาพจากหนังสือ "ชีวิต, แนวคิด และการต่อสู้ของ “นรินทร์กลึง” หรือ-นรินทร์ ภาษิต")

กฎหมายว่าด้วยความสงบเรียบร้อยในประเทศมีมาหลายยุคสมัยแล้ว หากถามว่าจะมีใครที่ถูกแจ้งข้อหาใกล้เคียงกับข้อหานี้มากที่สุดในรอบ 100 ปีที่ผ่านมา คงต้องนึกถึงชื่อ “นรินทร์กลึง” หรือนรินทร์ ภาษิต อดีตขุนนางที่ต้องโทษจำคุกหลายครั้ง โดยเฉพาะจากข้อหา “กบถภายในและเขียนข้อความเป็นปติปักต่อความสงบเรียบร้อยของประเทศ” (สะกดตามต้นฉบับ) เมื่อ พ.ศ. 2486

หากยังจำกันได้ ก่อนหน้านี้เคยเผยแพร่เรื่องนรินทร์กลึง เขียนจดหมายด่าจอมพล ป. พิบูลสงคราม มาแล้ว แต่เชื่อว่ายังมีผู้อ่านที่ยังไม่คุ้นเคยเรื่องราวภูมิหลังของนรินทร์กลึง ในที่นี้จึงขอย้อนเล่าข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับท่านสักเล็กน้อยก่อนกล่าวถึงวีรกรรมการร่อนจดหมายแม้กระทั่งวันที่ถูกจองจำก็ยังไม่หยุดต่อสู้ดิ้นรน

คลิกอ่านเพิ่มเติม : “นรินทร์กลึง” อดีตขุนนางชั้นเจ้าเมือง ผู้กล้าส่งจดหมายด่าจอมพล ป. “มึงต้องลาออกเดี๋ยวนี้”

ชายที่ชื่อนรินทร์ หรือเรียกกันในวัยเด็กว่า เด็กชายกลึง เกิดเมื่อ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2417 ที่จังหวัดนนทบุรี ก่อนจะกลายเป็นชายที่ขึ้นชื่อเรื่องขวางโลกมาตลอดอายุขัย ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา ผู้เขียนหนังสือ “ชีวิต, แนวคิด และการต่อสู้ของ “นรินทร์กลึง” หรือ-นรินทร์ ภาษิต” บรรยายว่า นรินทร์ไม่เคยยอมจำนน และยังต่อสู้เพื่อแสดงความคิดเห็นของตัวเอง สิ่งใดที่เห็นว่า “ไม่สมควรจะทักท้วงทันที” จึงเป็นเหตุให้นรินทร์กลึง ถูกทางการแจ้งข้อกล่าวหาจนต้องโทษจำคุกหลายต่อหลายครั้ง

เหตุการณ์ครั้งที่เป็นตัวอย่างได้ชัดเจนที่สุดย่อมเป็นเรื่องข้อหาขบถในราชอาณาจักรจากการคัดค้านการยืดบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เรื่องราวลงเอยที่ศาลตัดสินจำคุกนรินทร์กลุง 2 ปี และออกมาก็กลับไปติดคุกอีกครั้งเนื่องจากเขียนจดหมายด่าจอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยใช้ถ้อยคำอย่างรุนแรง เมื่อพ.ศ. 2486

เป็นที่รู้กันดีว่า นรินทร์กลึง เป็นนักเคลื่อนไหววิพากษ์วิจารณ์ที่ไม่ไว้หน้า แนวคิดของเขาเห็นว่า คนอื่นทำงานเพื่อเลี้ยงชีพ ตั้งแต่ข้าราชการรัฐ รัฐมนตรี หรือนายกรัฐมนตรี จากพฤติกรรมของนรินทร์แล้ว ทำให้เห็นว่า เขาเห็นว่าคนพวกนี้กินเงินภาษีแต่ไม่ได้มีสำนึกในการทำงานเพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ แม้ว่านรินทร์จะถูกดูถูก และต้องโทษจำคุก แต่ก็ไม่เคยท้อ ดังที่เห็นได้จากการเขียนจดหมายไปถึงบุคคลสำคัญต่างๆ ทั้งที่ยังถูกจองจำ

จดหมายฉบับหนึ่งที่น่าสนใจคือฉบับที่เขียนไปถึงเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศร์ เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ถ้าเห็นตัวเลขแล้วอาจคุ้นกันว่า เป็นวันก่อนเกิดเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เพียงวันเดียว โดยช่วงเวลานั้น ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา ผู้ศึกษาผลงานของนรินทร์บรรยายว่า เป็นช่วงที่นรินทร์ ถูกจองจำอยู่ด้วย

เนื้อหาส่วนหนึ่งในจดหมายมีใจความว่า

“…เกล้าฯ เป็นไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วยผู้หนึ่ง แต่ซึ่งในล้านคนก็มีโดยขาดไม่ได้ เพราะคนโดยมากเขามักทำการทำงานเพื่ออาชีพ ไม่ใช่เพื่อชาติ เมื่อเกล้าฯ รู้และเห็นมีช่องทางใดๆ ที่อาจพอปัดเป่าบันเทาความเดือดร้อน หรืออำนวยผลให้แก่เพื่อนราษฎรด้วยกัน หรือแก่ประเทศบ้านเกิดเมืองบิดรก็ดี เกล้าฯ ก็ได้มีความอุตสาหะพะยายามที่สุด ที่จะพึงร้องเรียนแล ความทูลเสนอความเห็นของเกล้าฯ นั้นๆ ขึ้นมายังท่านผู้มีอำนาจเหนือเพื่อขอความดำริ หรือช่วยด้วยประการต่างๆ แต่ก็เป็นที่น่าอนาถ ที่เกล้าฯ มิได้รับตอบแต่อย่างใดเลย คล้ายกับเกล้าฯ เพ้อพูดอยู่กับจ้าวพ่อตามศาล ๆ ก็ไม่น่าผิดนัก…”

สิ่งที่พิสูจน์เจตนารมย์ต่อสู้เรียกร้องเพื่อมนุษย์ด้วยกันของนรินทร์ อาจต้องเอ่ยถึงช่วงเวลาที่แม้แต่ตัวเองยังตกทุกข์ได้ยาก ถูกจองจำในคุกแล้ว ก็ยังยื่นเรื่องเรียกร้องให้เพื่อนนักโทษที่ตกทุกข์ได้ยากยิ่งกว่าเมื่อ วันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ว่าด้วยการร้องขอให้รัฐบาลลดหย่อนโทษ ยังไม่นับการทำฎีกาขึ้นทูลเกล้าฯถวายในหลวงในประเด็นต่างๆ หลายครั้งหลายคราด้วยกัน

หลังจากต่อสู้ยาวนาน นรินทร์ มีโอกาสลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นครั้งแรก ใน พ.ศ. 2492 ครั้งนี้นรินทร์ สมัครเป็นผู้แทนชาวกรุงเทพฯ แต่แพ้ให้พลตรีขุนปลดปรปักษ์ และนายประพัฒน์ วรรธนะสาร คนของจอมพล ป. พิบูลสงคราม หลังการเลือกตั้งครั้งนั้น สื่อสิ่งพิมพ์ประโคมข่าวเรื่อง “การโกงเลือกตั้ง” โดยเฉพาะในเขตทหารอย่างที่เขตวัดจันทร์สโมสร

เมื่อผิดหวังจากการเลือกตั้ง เขามาตั้ง “สำนักงานปฤกษาการราษฎร์” ซึ่งอธิบายภารกิจสำนักงานว่า “รับปฤกษาช่วยเหลือความทุกข์ยากของผู้คนไม่เลือกขั้นวรรณะ…ข้าพเจ้ายินดีจะช่วยเหลือท่านแม้ว่างานนั้นจะนำไปสู่คุกตาราง เป็นต้น และความตายเป็นปริโยสาน เพราะข้าพเจ้าถือว่า อันคนเรานั้นเขาจะทำอะไรเราได้อย่างมากก็เพียงเอาไปฆ่าเราเสียเท่านั้น”

ช่วงปลายของชีวิต นรินทร์จัดทำหนังสือพิมพ์ “เสียงนรินทร์” และ “ชวนฉลาด” น่าเสียดายที่เส้นทางการต่อสู้ของนรินทร์ ยุติลงเมื่อถึงแก่กรรมในวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2493 คงเหลือเพียงเรื่องราวและวีรกรรมขบถ เขาอาจเป็น “คนบ้า” ในสายตาบางคน แต่สำหรับบางคนก็อาจมองว่าเขาเป็น “นักต่อสู้”

 


อ้างอิง:

ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา. ชีวิต, แนวคิด และการต่อสู้ของ “นรินทร์กลึง” หรือ-นรินทร์ ภาษิต. กรุงเทพฯ : งานดี, 2536


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 เมษายน 2562