เปิดปม 6 ชาวจีนผู้รอดชีวิตจากไททานิก สู่หนังสารคดี The Six ไฉนพวกเขาไม่ค่อยถูกพูดถึง

ภาพวาด เหตุการณ์ เรือ ไททานิก ขณะจม
ภาพวาดเหตุการณ์เรือไททานิก จมลงในวันที่ 14 เม.ย. 1912 ไม่ปรากฏปีที่วาด (ภาพถ่ายโดย AFP)

ชะตากรรมของเรือ “ไททานิก” ยังคงติดตรึงในความทรงจำของคนจำนวนมาก เหตุการณ์เรืออับปางในครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 1,000 ราย ในขณะเดียวกัน ผู้รอดชีวิตหลักร้อยรายซึ่งหลงเหลือในเวลาต่อมา โดยส่วนใหญ่แล้ว ผู้คนมักจะจดจำได้แต่บุคคลมีชื่อเสียงอย่างเช่น มาร์กาเร็ต “มอลลี” บราวน์ น้อยคนนักจะรับรู้ว่าในบรรดาผู้รอดชีวิตจากเรืออับปางมี “ชาวจีน” จำนวนหนึ่งรวมอยู่ด้วย กระทั่งเกิดภาพยนตร์สารคดีเรื่อง The Six

เหตุการณ์เรือไททานิกอับปางเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 14 เมษายน ค.ศ. 1912 เวลา 23.40 น. เรือชนกับภูเขาน้ำแข็ง และอับปางเวลา 02.20 น. ของวันที่ 15 เมษายน ค.ศ. 1912 ในค่ำคืนเหนือท้องทะเลเวิ้งว้าง บนเรือโดยสารลำยักษ์อันโอ่อ่าหรูหราเป็นประวัติศาสตร์ เรือไททานิกที่ออกเดินทางจากเซาแธมป์ตัน ประเทศอังกฤษ มีจุดหมายปลายทางที่นิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างทางกลับประสบอุบัติเหตุชนภูเขาน้ำแข็งและค่อยๆ จมลง

จากการสอบสวนพบว่ามีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ไม่ต่ำกว่า 1,500 ราย มีผู้รอดชีวิตหลักร้อยราย ข้อมูลจากบางแห่งระบุว่าราว 710 คน เรื่องราวเกี่ยวกับผู้รอดชีวิตถูกหยิบยกมาผลิตเป็นหนังสือ เก็บรวบรวมข้อมูลในทางประวัติศาสตร์ หรือถูกจัดเก็บในสื่อประเภทต่างๆ

ขณะที่เรือกำลังจมลง ผู้โดยสารเพียงหยิบมือเท่านั้นที่สามารถลงเรือชูชีพได้ และน้อยกว่านั้นคือเรือชูชีพที่หันกลับมาในบริเวณจุดที่เรือจม ซึ่งพบกับผู้รอดชีวิตที่ใช้แผ่นไม้กระดานช่วยเอาชีวิตรอดมาได้ ผู้ชายซึ่งได้ใช้แผ่นไม้กระดานรายนี้เองเป็นหนึ่งใน 6 ชาวจีน ซึ่งรอดชีวิตจากเรือไททานิก

ชาวจีน 6 คน ผู้รอดชีวิตจาก “ไททานิก” อับปาง

ข้อมูลเรื่องชาวจีนนี้ถูกขุดค้นโดย อาร์เธอร์ โจนส์ (Arthur Jones) และ สตีเว่น แชวนเคิร์ต (Steven Schwankert) ผู้ร่วมสร้างภาพยนตร์สารคดี The Six ทั้งนี้ แชวนเคิร์ต เป็นผู้ผลิตภาพยนตร์ที่มีพื้นเพจากนิวเจอร์ซีย์ ในสหรัฐฯ แต่ไปพำนักในจีนนานกว่า 22 ปี

แชวนเคิร์ต ให้สัมภาษณ์กับ Washington Post โดยเล่าว่า ช่วงที่เขากำลังค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับ ไททานิก สำหรับมาทำโปรเจกต์ แม้ว่าเขารู้ดีว่า เรื่องราวเกี่ยวกับไททานิกล้วนถูกหยิบยกมาพูดถึงกันเรียบร้อยหมดแล้ว สิ่งที่เขาค้นพบอย่างหนึ่งมีเพียงการเอ่ยถึงผู้รอดชีวิตชาวจีน 6 รายแบบคร่าว ๆ เท่านั้น

เมื่อเขาพยายามค้นคว้าเพิ่มเติมก็ยังไม่พบข้อมูลที่เขาต้องการ ไม่นานนัก เขาจึงเริ่มโน้มน้าวให้โจนส์มาทำโปรเจคต์ชื่อ The Six เกี่ยวกับชาวจีนที่รอดชีวิตจากเรือไททานิกโดยเฉพาะ

อันที่จริงแล้ว หลักฐานในเบื้องต้นที่พวกเขานำมาใช้อ้างอิงคือ รายชื่อของชาวจีนบนตั๋วผู้โดยสารชั้น 3 ที่ขึ้นเรือไททานิกไปด้วย 8 ราย รายชื่อบนตั๋วเขียนชื่อชาวจีนเป็นภาษาอังกฤษเรียงกัน 8 รายติดกัน ได้แก่ Ah Lam, Fang Lang, Len Lam, Cheong Foo, Chang Chip, Ling Hee, Lee Bing และ Lee Ling

จากการค้นคว้าข้อมูลเอกสารอย่างยาวนาน ผู้ร่วมผลิตภาพยนตร์สารคดีต่างมั่นใจว่า กลุ่มชาวจีนนี้รู้จักกันมาก่อนจากการทำงานเป็นลูกเรือด้วยกันหลายลำในบริเทน ขณะที่เกิดการสไตรค์งานด้านถ่านหินทำให้คนกลุ่มนี้ถูกต้นสังกัดเคลื่อนย้ายโดยให้ไปขึ้นเรือชื่อ Annetta ที่ท่าเรือขนส่งสินค้าในนิวยอร์ก ซึ่งเรือลำนี้จะนำพวกเขาไปที่คิวบาต่อไป แชวนเคิร์ตเชื่อว่า สาเหตุที่คนกลุ่มนี้โดยสารเรือไททานิกก็เพื่อไปทำงาน กระทั่งการเดินทางเกิดอุบัติเหตุขึ้น

รายงานข่าวเผยว่า พวกเขาโดยสารบนเรือไททานิกด้วยตั๋วชั้นที่ถูกที่สุด ซึ่งอัตราผู้รอดชีวิตในผู้โดยสารประเภทนี้ในกลุ่มคนที่ไม่ใช่ชาวบริติชอยู่ที่เพียง 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น และน่าเสียดายอีกว่าข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการเอาตัวรอดของกลุ่มชาวจีนนี้ ซึ่งเป็นข้อมูลที่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือยังไม่เคยถูกค้นพบ (ในอดีตมีสื่อกล่าวหาว่าชาวจีนใช้วิธี “ลักลอบ” ขึ้นเรือชูชีพ ซึ่งในที่นี้จะกล่าวถึงข้อกล่าวหาต่อชาวจีนในช่วงท้ายต่อไป) และเชื่อว่าเป็นไปได้ยากมากที่จะรู้ข้อมูลส่วนนี้

เอกสารที่ผู้ผลิตภาพยนตร์สารคดีค้นพบคือข้อมูลที่ระบุว่า ขณะที่เรือชูชีพตัดสินใจหันกลับไปสำรวจจุดที่เกิดเหตุการณ์ เพื่อค้นหาผู้ที่เป็นไปได้ว่าอาจรอดชีวิต เป็นเรือชูชีพลำนี้เองที่พบชายชาวจีนรายหนึ่งเกาะบนชิ้นส่วนไม้กระดานที่ลอยบนผิวน้ำ

ส่วนชาวจีนอีก 5 รายลงเรือชูชีพจึงรอดชีวิต รายงานข่าวเผยว่า มี 4 รายที่อาศัยเรือชูชีพลำที่ 9 ซึ่งเป็นลำสุดท้ายที่ถูกหย่อนลงมาจากเรือไททานิก โดยเรียกเรือชูชีพลำนี้กันว่า “Collapsible C”

จากคำให้การของ โจเซฟ บรูซ อิสเมย์ (Joseph Bruce Ismay) ผู้บริหารกลุ่ม White Star Line ซึ่งเป็นผู้ถือครองเรือ “ไททานิก” และมักถูกจดจำว่าเป็น “ผู้เอาตัวรอด” จากเรือ ทั้งที่เขาเป็นเจ้าของเรือที่ต้องรับผิดชอบชีวิตผู้โดยสารจำนวนมาก เขาให้ข้อมูลว่า บนเรือชูชีพที่เขาโดยสาร “มีชาวจีน 4 รายอยู่บนเรือด้วย” ข้อมูลนี้สอดคล้องกับคำให้การของ จอร์จ ที. โรว์ (George T. Rowe) เจ้าหน้าที่พลาธิการของไททานิก (quartermaster) ซึ่งอยู่บนเรือชูชีพ “Collapsible C” เช่นเดียวกัน

ชาวจีนที่รอดชีวิต กับการถูก “เลือกปฏิบัติ” 

เมื่อเรือ RMS Carpathia ที่รับผู้รอดชีวิตจากไททานิกมาถึงนิวยอร์กเมื่อวันที่ 18 เมษายน 1912 กลุ่มชาวจีนทั้ง 6 รายยังไม่สามารถเดินทางเข้าสหรัฐอเมริกาได้ สืบเนื่องจากกฎหมายกีดกันชาวจีนที่เรียกกันว่า Chinese Exclusion Act ซึ่งบังคับใช้เมื่อปี 1882 พวกเขาถูกบังคับให้ขึ้นเรือ Annetta ซึ่งได้ออกเดินทางในวันต่อมา

ด้วยการปฏิบัติเช่นนี้ ทำให้ผู้ผลิตภาพยนตร์สารคดีตีความภาพกว้างว่า นี่คือสิ่งที่ผู้รอดชีวิตชาวจีนถูกปฏิบัติหลังเพิ่งเอาตัวรอดมาได้ กฎหมาย Chinese Exclusion Act ถือเป็นกฎหมายเดียวในประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ ที่มีเนื้อหากีดกันการอพยพของเพื่อนมนุษย์ โดยชี้วัดการแบ่งแยกจากลักษณะทางเชื้อชาติ

อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้ผลิตภาพยนตร์สารคดียังเน้นย้ำว่า ผู้รอดชีวิตรายอื่นผ่านกระบวนการตรวจสอบที่ Ellis Island หรือได้รับการช่วยเหลือทางการแพทย์ สืบเนื่องจากภาวะที่พวกเขาได้รับ แต่ชาวจีนไม่ได้รับการปฏิบัติดังกล่าวข้างต้น

ผู้ผลิตภาพยนตร์สารคดีให้ความเห็นว่า การปฏิบัติต่อชาวจีนหรือชนกลุ่มน้อยจากเอเชียในสมัยนั้น พวกเขาได้รับการปฏิบัติค่อนข้างไม่เหมาะสม หลักฐานอย่างหนึ่งที่พวกเขาหยิบยกมากล่าวถึงคือการรายงานข่าวในหน้าสื่อสิ่งพิมพ์ยุคนั้น

ตัวอย่างหนึ่งคือเนื้อหาบทความใน Brooklyn Daily Eagle ฉบับวันที่ 19 เมษายน 1912 บทความมีพาดหัวเรื่องว่า “Heroism of Anglo-Saxon Sailors Stands Out in Disaster” หรือ “วีรกรรมของลูกเรือแองโกล-แซ็กซอน โดดเด่นขึ้นมาในห้วงโศกนาฏกรรม”

เนื้อหาในบทความกล่าวถึงผู้โดยสารชาวจีนในโทนแบบแทบไม่ใช่มนุษย์ โดยใช้คำว่า “They were creatures on their way to New York…” หรือ “พวกเขาเป็นกลุ่มสิ่งมีชีวิตที่เดินทางไปนิวยอร์ก”

ที่ผ่านมา ชาวจีนกลุ่มนี้ถูกกล่าวหาว่า พวกเขาแอบขึ้นเรือชูชีพของไททานิก ซ่อนบนเรือชูชีพ หรือแซงคิวด้วยการสวมเสื้อผ้าสตรี เพื่อปลอมแปลงปิดบังตนเอง เมื่อเจ้าหน้าที่เรียกขานเด็กและสตรีให้ลงเรือชูชีพก่อนก็แสดงตัวตอบรับ

อย่างไรก็ตาม แชวนเคิร์ตกล่าวว่า เขาไม่พบหลักฐานว่าคนกลุ่มนี้เบียดแย่งที่นั่งบนเรือชูชีพลำสุดท้ายจากเด็กและสตรี ซึ่งเรือ “Collapsible C” ก็ไม่ได้มีผู้โดยสารเต็มความจุ เมื่อเรือลำอื่นมาพบเรือชูชีพจากไททานิก

ในสารคดี พวกเขายังจำลองเรือชูชีพลำดังกล่าวขึ้นตามขนาดจริง เพื่อพิสูจน์ว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่ชาวจีนที่รอดชีวิตจะ “หลบซ่อน” มาในเรือ ซึ่งการทดลองบ่งชี้ว่า มันแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่ชาย 4 รายจะซ่อนในเรือชูชีพ โดยเฉพาะต้องซ่อนแบบตลอดคืนด้วย

ผู้ร่วมผลิตภาพยนตร์สารคดี The Six และทีมงานที่ช่วยกันสืบค้นข้อมูลอีก 6 รายใช้เวลาร่วม 2 ปีในการค้นหาตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับชาวจีน 6 รายนี้ และพวกเขาสามารถสอบค้นไปพบทายาทจำนวนหนึ่งของชาวจีน 6 ราย โดยในตอนต้นของคลิปตัวอย่างของหนังสารคดี (คลิปตัวอย่างอยู่ด้านบน) ทายาทรุ่นหลังของผู้รอดชีวิตเผยว่า มารดาของเขาไม่เคยรู้เรื่องสามีเป็นผู้รอดชีวิตจากเรือ

สำหรับคนส่วนใหญ่แล้ว เมื่อนึกถึง ไททานิก หลายคนจะนึกถึงภาพยนตร์ในชื่อเดียวกันที่กำกับโดย เจมส์ คาเมรอน (James Cameron) ซึ่งในภาพยนตร์มีทั้งข้อเท็จจริงผสมกับตัวละครที่แต่งเติมสีสันให้เรื่องราว รายงานข่าวเผยว่า อันที่จริงแล้วช่วงถ่ายทำหนัง “ไททานิก” แคเมรอน ถ่ายฉากชาวจีนที่เกาะแผ่นไม้กระดานได้รับการช่วยเหลือจากผิวน้ำไว้ แต่ซีนนี้ถูกตัดจากภาพยนตร์ไป ผู้ที่สนใจสามารถค้นหาคลิปซีนนี้ได้จากเว็บไซต์ YouTube

สำหรับภาพยนตร์สารคดี The Six มีเจมส์ คาเมรอน นั่งแท่น executive producer และเป็น contributor ด้วย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

Amy B Wang. “Why you’ve never heard of the six Chinese men who survived the Titanic”. Washington Post. Online. Published 19 APR 2018. Access 30 MAR 2021. <https://www.washingtonpost.com/news/retropolis/wp/2018/04/19/why-youve-never-heard-of-the-six-chinese-men-who-survived-the-titanic/>

Patrick Frater. “True Story of China’s Titanic Survivors, Executive Produced by James Cameron, Heads to Cinemas”. Variety. Online. 24 MAR 2021. Access 30 MAR 2021. <https://variety.com/2021/film/asia/chinese-titanic-survivors-james-cameron-the-six-1234937031/>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 มีนาคม 2564