ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
ตามหาเรืออาร์คของโนอาห์ ในตำนานน้ำท่วมโลก ด้วยหลักวิทยาศาสตร์
เมื่อกล่าวถึง “ตำนานน้ำท่วมโลก” เรื่องราวเหล่านี้มักพบได้บ่อยครั้งจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก ทั้งในยุโรป อเมริกา และเอเชีย หากวิเคราะห์รายละเอียดในตำนานเหล่านี้ด้วยวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์ ผลที่ออกมาน่าสนใจทีเดียว
ตำนานน้ำท่วมโลก ปรากฏอยู่หลายแห่ง หนังสือ ทิเมอุส (Timaeus) ของเพลโต ได้เล่าถึงตำนานน้ำท่วมโลกว่า ซีอุส หรือซุส (Zeus) เทพราชาทรงพิโรธที่มนุษย์ทำสงครามฆ่าฟันกันไม่เลิก จึงอยากลงโทษให้สิ้นซากด้วยน้ำ หนึ่งในเทพไททันนามว่า โพรมีธีอุส (Prometheus) ทราบความก่อน จึงได้นำข่าวไปบอก ดิวคาเลียน (Deucalion) ลูกชายกึ่งเทพของตน ทำให้เขาสามารถเอาตัวรอดจากน้ำท่วมในครั้งนั้นได้
ส่วนฟากตะวันออกก็มีเรื่องที่เกี่ยวกับน้ำท่วมโลกด้วยเช่นกัน อาทิ เรื่องการอวตารของพระวิษณุมาเป็นปลาชื่อ “ศผริ” เพื่อช่วยเหลือมนุษย์คนแรก คือ “พระมนู” ให้รอดพ้นจากน้ำท่วมโลกในช่วงพรหมราตรี จนกระทั่งได้ก่อตั้งวงศ์มนุษย์ขึ้นมา และตอนหลังยังไปสังหารอสูรชื่อ หัยครีวะ ซึ่งลักเอาพระเวทไปจากพระพรหม ดังปรากฏในคัมภีร์มัตสยะปุราณะ
เรืออาร์คของโนอาห์
แต่ปริศนาน้ำท่วมโลกที่โด่งดัง และถูกกล่าวถึงมากที่สุด หนีไม่พ้น “ตำนานน้ำท่วมโลกในพระคัมภีร์ไบเบิล” ซึ่งกล่าวถึงพระผู้เป็นเจ้าส่งน้ำมาล้างโลก เพราะเห็นว่าโลกมีแต่ความเสื่อมทราม และมนุษย์ในยุคนั้นทำเรื่องไม่ดีไม่งามกันมาก
ในเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนั้น พระผู้เป็นเจ้าเลือก “ผู้รอด” นามว่า “โนอาห์” กับครอบครัว รวมถึงสัตว์ต่างๆ โดยอาศัย “อาร์ค” (Ark) เรือหรือยานแบบหนึ่งที่ออกแบบเพื่อรองรับสถานการณ์ โดยพระองค์ต้องการให้ โนอาห์ นำสิ่งมีชีวิตบนโลกขึ้นเรือด้วยอย่างละคู่ เพื่อให้รอดพ้นจากการถูกน้ำท่วมโลกในครั้งนั้น
เรืออาร์คของโนอาห์สร้างจากไม้โกเฟอร์ ทากันรั่วภายในและภายนอกด้วยยางไม้หรือยางมะตอย ประตูเข้าออกอยู่ด้านข้าง ตัวเรือมี 3 ชั้น พื้นที่ถูกแบ่งเป็นห้อง ซึ่งขนาดของเรืออาร์คที่แปลงมาจากหน่วยคิวบิตแล้ว คือ กว้าง 22.86 เมตร ยาว 137.16 เมตร สูง 13.716 เมตร แต่ถ้าเป็นหน่วยคิวบิตหลวงของอียิปต์ เรือก็อาจใหญ่ขึ้นมาอีก คือ กว้าง 26.45 เมตร ยาว 158.7 เมตร สูง 15.87 เมตร
หากนำมาเปรียบเทียบกับเรือไททานิก ความยาวกับความสูงของเรือไททานิกนั้นสูงกว่าเรืออาร์คมาก โดยเรือไททานิกกว้าง 28.0 เมตร ยาว 269.0 เมตร สูง 53.3 เมตร และมีถึง 9 ชั้น มากกว่าเรืออาร์คถึง 6 ชั้น ไททานิกรองรับผู้โดยสารกับลูกเรือได้รวม 3,327 คน
จากขนาดของเรืออาร์คในมุมมองวิทยาศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์นำข้อมูลมาวิเคราะห์ว่า อาร์คจะรับน้ำหนักได้มากพอบรรจุสัตว์และอาหารของพวกมันทั้งหมด ระหว่างที่รอนแรมนานนับครึ่งปีได้หรือไม่ อย่างไร?
วิเคราห์เรืออาร์คตามหลักวิทยาศาสตร์
ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์ ผู้เขียนหนังสือ “อยากชวนเธอไปอำผี” ยกข้อมูลการวิเคราะห์ของ ดร. แม็กซ์ เยาซ์ (Max Younce) ที่ได้คำนวณพื้นที่ในอาร์คว่า มีความจุเท่ากับรถขนส่งขนาดมาตรฐานราว 552 คัน หรือตู้ขนส่งของรถไฟที่มี 65 ตู้ ราว 8 คัน ซึ่งต่อมาเว็บไซต์ skeptic.com อ้างการคำนวณของ จอน เรนิช (Jon Renish) ที่อิงจากตัวเลขของ ดร. แม็กซ์ เยาซ์ (Max Younce) อีกทีว่า อาร์คลอยอยู่ราวครึ่งหนึ่งของความสูง ก็น่าจะแทนที่ปริมาตรน้ำทะเลราว 76,000 ลูกบาศก์ฟุต เท่ากับ 2,152 ลูกบาศก์เมตร
หากความหนาแน่นของน้ำหลังจากฝนตกต่อเนื่อง 6-7 เดือน ยังคงหนาแน่นใกล้เคียงกับน้ำทะเล อาร์คน่าจะรับน้ำหนักบรรทุกรวมไม่เกิน 2,430 ตัน ซึ่งหักน้ำหนักไม้จากตัวเรือ และอาหารทั้งหมดแล้ว อาร์คมีแนวโน้มเหลือน้ำหนักบรรทุก ประมาณ 1,600-2,000 ตัน ตัวเลขนี้ถือว่าน้อยมาก เมื่อเทียบกับไททานิก ที่มีระวางประมาณ 52,310 ตัน
ถ้าอิงจากงานวิจัยปริมาณชนิดสัตว์โลกในปี 2011 ที่ระบุว่า โลกมีสัตว์บกราว 6.5 ล้านสปีชีส์ สัตว์น้ำ 2.2 ล้านสปีซีส์ ตามการวิเคราะห์น้ำหนักสัตว์ของ ดร.นำชัย ที่สมมติขั้นต่ำให้มีสัตว์เล็กมากกว่า และนับเฉพาะสัตว์บกให้มีน้ำหนักเฉลี่ยที่ 10 กิโลกรัม
หากนำขึ้นเรืออาร์คสปีชีส์ละคู่ น้ำหนักรวมจะอยู่ที่ 130,000 ตัน ต่อให้ลดน้ำหนักเฉลี่ยมาอยู่ที่ตัวละ 1 กิโลกรัม หากนำมาอย่างละ 1 คู่ก็ยังหนักมากถึง 65,000 ตัน เมื่อเทียบกับปริมาณน้ำหนักที่คาดว่าเรืออาร์คจะบรรทุกได้ 2,000 ตัน
จะเห็นได้ว่า เรืออาร์คไม่สามารถที่จะบรรทุกสัตว์ทั้งหมดขึ้นเรือได้ตามหลักการวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ (ไททานิกก็รับไม่ไหว)
ดร.นำชัย แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า เมื่อเทียบข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ และมองความเป็นไปได้ในการอาศัยอยู่บนเรือนาน 7 เดือน 17 วัน คาดว่าสัตว์บนเรือนั้น โดยรวมแล้วต้องใช้อาหารที่ให้พลังงานราว 20-30 ล้านกิโลแคลลอรีต่อวัน รวมระยะเวลากว่า 6 เดือน ต้องใช้เนื้อคิดเป็นน้ำหนักนับร้อยตัน ยังไม่ได้เอ่ยถึงเรื่องการเก็บเนื้อหรืออาหารสดอื่นๆ อีก ในสมัยที่ยังไม่มีตู้ทำความเย็น
ข้อมูลเหล่านี้ ทำให้เห็นว่า โอกาสที่จะมี “เรืออาร์ค” ซึ่งสามารถพาคนและสัตว์ในโลกรอดน้ำท่วมได้ตามพระคัมภีร์ ถือว่ามีน้อยมาก อย่างไรก็ตาม หลายปีที่ผ่านมามีข้อมูลเรื่องการค้นหา และข้อกล่าวอ้างเรื่องการค้นพบวัตถุที่เชื่อว่าใกล้เคียงกับอาร์คเกิดขึ้นหลายประเทศ (น่าสังเกตว่าทำไมข่าวกระจายตัวไปหลายแห่ง) แต่จนถึงวันนี้ก็ยังไม่พบหลักฐานที่ชัดเจน และเชื่อว่าในอนาคตจะยังมีผู้สนใจค้นหาอีกเรื่อยๆ (อ่านข้อมูลการค้นหา และข้อกล่าวอ้างการค้นพบเพิ่มเติมจากหนังสือ “อยากชวนเธอไปอำผี”)
อ่านเพิ่มเติม :
- อาร์เอ็มเอส โอลิมปิค เรือแฝด “ไททานิค” สุดหนังเหนียว
- เปิดปม 6 ชาวจีนผู้รอดชีวิตจากไททานิก สู่หนังสารคดี The Six ไฉนพวกเขาไม่ค่อยถูกพูดถึง
- “มาร์กาเร็ต บราวน์” ตำนานสตรีผู้รอดจากไททานิก เผยวิถีชีวิตที่ดิ้นรนจนกลายเป็นเศรษฐีนี
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
นำชัย ชีววิวรรธน์. อยากชวนเธอไปอำผี. กรุงเทพฯ : มติชน, 2560.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 มกราคม 2562