รัชกาลที่ 3 รับสั่ง เจ้าเวียงจันทน์กบฏเพราะ “ท่านผู้ใหญ่” พูดหมิ่นลาว จะตัดหัวเจ้าอนุวงศ์

หอพระแก้ว เวียงจันทน์ ที่ ทรุดโทรม เมื่อคราว สงครามเจ้าอนุวงศ์ รัชกาลที่ 3
หอพระแก้ว เวียงจันทน์ ที่ทรุดโทรมลงเมื่อคราวศึกเจ้าอนุวงศ์ ภาพลายเส้นวาดโดย เดอ ลาปอร์ท เมื่อปี ค.ศ. ๑๘๖๖ (พ.ศ. ๒๔๐๙) (ภาพจาก A Pictorial Journal on the Old Mekong Cambodia, Laos and Yunnan, 1998.)

“สงครามเจ้าอนุวงศ์” เกิดขึ้นในช่วง พ.ศ. 2369-2371 ต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 สาเหตุเนื่องมาจากความสุกงอมของปัจจัยหลายประการ ทั้งการเพิ่มพูนอำนาจของเจ้าอนุวงศ์ในเขตแดนลาว สภาวะการเมืองในภูมิภาค และความคับข้องใจของพวกลาวที่ถูกพวกไทยกดขี่ ฯลฯ

ความคับข้องใจของพวกลาวเรื่องหนึ่งที่มีบันทึกไว้โดย พระยากสาปนกิจโกศล (โหมด อมาตยกุล) เล่าไว้ในหนังสือ “331 ปี สกุลอมาตย์ และ 73 ปี แห่งการพระราชทานนามสกุลอมาตยกุล” ว่า ในสมัย รัชกาลที่ 3 ได้เกณฑ์พวกลาวมาใช้แรงงานแต่ได้จำนวนคนไม่มากตามกำหนด ทำให้ขุนนางผู้ใหญ่ไม่พอใจ และกล่าวดูหมิ่นพวกลาวจนทำให้เกิดความคับข้องใจ

“…เมื่อก่อนทัพเวียงจันทน์ หรือทัพเวียงจันทน์แล้วข้าฯ จำไม่ได้แน่ แต่เห็นจะเป็นก่อนทัพเวียงจันทน์ ด้วยทำป้อมปากน้ำ เกณฑ์พวกลาวมาทำด้วย ความนี้ได้ฟังพระนั่งเกล้าฯ รับสั่งว่า เจ้าเวียงจันทน์จะคิดกบฏก็เพราะท่านผู้ใหญ่

ท่านผู้ใหญ่ที่ท่านเรียก ท่านผู้ใหญ่นั้นคือ เจ้าพระยาอภัยภูธร ว่าท่านผู้ใหญ่นั่งอยู่ที่แท่นช้างริมพระที่นั่งเย็น หาเห็นด้วยราชวงศ์ [เจ้าราชวงศ์ โอรสเจ้าอนุวงศ์ – ผู้เขียน] เข้ามานั่งอยู่ไม่ เขาเอาบาญชีเข้ามาอ่านให้ฟัง ว่าลาวลงมาไม่ได้ครบจำนวนเกณฑ์ขาดมาก ท่านผู้ใหญ่ว่าอ้ายเจ้าเวียงจันทน์โกงนัก ตัดหัวเสียดีทีเดียว

อ้ายราชวงศ์อยู่นั่นมันได้ยิน ครั้นมันกลับขึ้นไปมันก็บอกกับพ่อมัน [เจ้าอนุวงศ์ – ผู้เขียน] พ่อมันโกรธจึงได้คิดกบฏ ความนี้ข้าฯ จึงเห็นว่าทำป้อมทำทุ่นก่อนทัพเวียงจันทน์….”

“ท่านผู้ใหญ่” ผู้นี้คือ เจ้าพระยาอภัยภูธร (น้อย) เป็นบุตรของเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช (บุญรอด) ซึ่งเป็นน้องชายของเจ้าจอมมารดาศรี เจ้าจอมมารดาท่านแรกในรัชกาลที่ 2 เจ้าพระยาอภัยภูธรเป็นคนที่รับราชการมานาน ได้เป็นถึงเจ้าพระยาที่สมุหนายก ขุนนางผู้ใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ 3 และเคยมีประวัติวิวาทกับเจ้าพระยามหาเสนา (สมุหพระกลาโหม) เป็นเรื่องราวใหญ่โตโจษจันไปทั่วในสมัยรัชกาลที่ 2

ตามบันทึกของพระยากสาปนกิจโกศลนั้น เจ้าพระยาอภัยภูธรได้พลั้งปากพูดดูหมิ่นเจ้าอนุวงศ์ออกไป โดยหารู้ไม่ว่า เจ้าราชวงศ์ พระโอรสของเจ้าอนุวงศ์ก็อยู่ที่นั่นด้วย เหตุการณ์นี้น่าจะเป็นเหตุการณ์สืบเนื่องมาจากการเกณฑ์แรงงานลาวไปตัดต้นตาลที่เมืองสุพรรณบุรี

โบสถ์หรือสิมหลวง วัดสีสะเกด สร้างโดยเจ้าอนุวงศ์ เป็นวัดเดียวที่ไม่ถูกทำลายคราวกองทัพสยามทำลายกรุงเวียงจันทน์

พงศาวดาร รัชกาลที่ 2 ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ระบุว่า ในช่วงที่เจ้าอนุวงศ์เดินทางลงมาจากเวียงจันทน์ ในการพระบรมศพรัชกาลที่ 2 ได้พาพวกลาวมาด้วยจำนวนมาก รัชกาลที่ 3 ทรงมีพระราชดำริขอแรงพวกลาวที่มาด้วยให้ไปตัดต้นตาลที่เมืองสุพรรณบุรีเพื่อจะนำไปใช้ที่เมืองสมุทรปราการ (ปากน้ำ) เจ้าอนุวงศ์จึงให้เจ้าราชวงศ์เป็นผู้ควบคุมคนไปทำการนั้น

เมื่อเจ้าอนุวงศ์จะกลับเวียงจันทน์ จึงกราบทูลขอพวกละครผู้หญิงฝ่ายในและพวกลาวที่ถูกเทครัวมากลับไปด้วย แต่รัชกาลที่ 3 ไม่โปรดพระราชทาน เจ้าอนุวงศ์จึงเกิดความไม่พอใจ ขณะที่เจ้าราชวงศ์ก็ได้ยินเจ้าพระยาอภัยภูธรพูดหมิ่นพระบิดา เหตุการณ์เหล่านี้จึงเกิดความคับข้องใจ นำไปสู่การก่อกบฏในเวลาต่อมา

ในช่วง สงครามเจ้าอนุวงศ์ เจ้าพระยาอภัยภูธรเป็นแม่ทัพคุมทหารราว 5,000 คน ขึ้นไปทางเมืองเพชรบูรณ์ บุกโจมตีกองทัพลาว ที่มีเจ้าราชวงศ์เป็นแม่ทัพ ณ เมืองหล่มศักดิ์ ร่วมตีกระหนาบกับกองทัพไทยของพระยาเพ็ชรพิชัยและพระยาไกรโกษา มีทหารราว 3,000 คน ที่เดินทางขึ้นมาจากเมืองพิษณุโลก และเมืองนครไทย จนสามารถตีกองทัพเจ้าราชวงศ์แตกพ่ายไป แล้วเดินทัพไปยังค่ายหลวงที่เมืองพันพร้าว (อำเภอศรีเชียงใหม่ หนองคาย)

เมื่อเจ้าพระยาอภัยภูธรเดินทางถึงเมืองพันพร้าวแล้ว พงศาวดารระบุว่า “…ครั้งนั้นเจ้าพระยาอภัยภูธรที่สมุหนายก คุมกองทัพหัวเมืองขึ้นไปถึงเมืองพันพร้าวป่วยถึงอนิจจกรรม จึ่งรับสั่งให้บุตรหลานญาติพี่น้องนำศพลงมา ณ กรุงเทพมหานคร…”

ครั้นจับเจ้าอนุวงศ์ลงมายังกรุงเทพฯ พระยากสาปนกิจโกศล บันทึกถึงสภาพการคุมขังเจ้าอนุวงศ์ไว้ในกรงว่า “…เมือจับเจ้าเวียงจันทน์ ได้ใส่กรงแห่ลงมาจอดที่ท่าช้าง ข้าฯ ลงเรือพันม้าไปดูกับอ้ายมีครั้ง 1 เห็นเจ้าเวียงจันทน์ใส่โซ่คอใส่ตรวน กับสาวคำบวงเมียใส่แต่ตรวน

ครั้งหนึ่งข้าฯ ไปดูกับคุณน้าพระกลิ่น ที่หน้าพระที่นั่งสุทไธยสวรรย์ ก็เห็นเจ้าเวียงจันทน์กับเมียจำไว้ในกรงเหมือนดังก่อน แต่กรงนั้นเปลี่ยนใหม่ใหญ่กว่าเก่า ตั้งบนม้าสูงสัก 3 ศอก เมียนั้นนั่งหมอบผัวอยู่ ที่นอกกรงนั้นมีครกสากใหญ่ทาดำไว้ให้ดูเหมือนเหล็ก กรงนั้นก็ทาดำ มีกระทะใหญ่ตั้งอยู่บนก้อนเส้าใบ 1 ทำทีจะต้มฟืนกองไว้สักร้อยหนึ่งทำเหมือนฟืนเผาผี อีกครั้งหนึ่งข้าฯ ไปดูกับคุณป้าบนพระที่นั่งสุทไธยสวรรย์ พระนั่งเกล้าฯ เสด็จทอดพระเนตรกับข้างใน…” 

นักประวัติศาสตร์ลาววิเคราะห์สาเหตุของสงครามเจ้าอนุวงศ์ไว้ประการหนึ่งว่า เจ้าอนุวงศ์ถูกขุนนางผู้ใหญ่ฝ่ายไทยหลายคนพูดจาทำกิริยาดูหมิ่นดูถูกเจ้าราชวงศ์โอรสองค์รองของเจ้าอนุวงศ์ และเป็นผู้ควบคุมคนลาวไปตัดต้นตาลที่สุพรรณบุรีขนไปปากน้ำไม่พอใจเรื่องที่คนไทยดูหมิ่น และกดขี่คนลาวดังกล่าวมาก ถึงกับไปทูลเจ้าอนุวงศ์ว่า 

“ข้าพเจ้าไม่ขอเป็นขี้ข้าพวกไทยแล้ว”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 สิงหาคม 2563