“ปลาทรงเครื่อง” ไม่ใช่อาหาร แต่เป็นปลาสวยงามสัญชาติไทย

ปลา ปลาทรงเครื่อง
ปลาทรงเครื่อง โดยหลวงมัศยจิตรการ (ภาพจาก อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ หลวงมัศยจิตรการฯ)

ถ้าพูดถึงอะไรที่ต่อท้ายด้วย “ทรงเครื่อง” ถ้าสิ่งนั้นไม่ใช่ของกิน ก็ต้องประดิดประดอยเป็นพิเศษจนสวยงาม เช่น พระทรงเครื่อง แต่ถ้าเป็นของที่กินได้ ก็ต้องมีเครื่องปรุงพิเศษกว่าปกติ เช่น กระท้อนทรงเครื่อง, ปลาร้าทรงเครื่อง ฯลฯ ส่วน “ปลาทรงเครื่อง” ที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ไม่ใช่ อาหาร จึงไม่มีเครื่องปรุงพิเศษ และไม่ต้องประดิดประดอยเป็นพิเศษให้สวย เพราะเป็นประเภทสวยมาโดยกำเนิด

เรื่องราวของ ปลาทรงเครื่อง เป็นการทำงานของ 2 นักวิชาการประมงคนสำคัญ  หนึ่งคือ หลวงมัศยจิตรการ (ประสพ ตีระนันท์) หนึ่งคือ ดร. ฮิวจ์ แมคคอร์มิค สมิธ (Hugh McCormick Smith หรือ H.M. Smith)

หลวงมัศยจิตรการ (พ.ศ. 2439-?) เป็นบุตรของหลวงวิจิตรเจียรไน และนางเปี๊ยก ภูมิลำเนาเป็นจังหวัดจันทบุรี หลวงมัศยจิตรศึกษาด้านจิตรกรรมโรงเรียน Washington School of Art, และโรงเรียน The Art Student League of New York ประเทศสหรัฐอเมริกา

หลวงมัศยจิตรการมีความรู้และความสามารถในการวาดภาพปลาที่ดีเยี่ยม ทั้งในด้านวิชาการและศิลปะ มีความประณีตเป็นพิเศษ ทั้งในเรื่องจำนวนเกล็ด สัดส่วนลำตัว จำนวนก้านครีบ และสีสัน ตลอดจนความสวยงาม เป็นนักวาดภาพปลาและสัตว์น้ำ เพื่อการศึกษาในเชิงวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงในอดีต จนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “หลวงมัศยจิตรการ”

ดร. ฮิวจ์ แมคคอร์มิค สมิธ  (พ.ศ.2408-84) เป็นนักวิชาการประมงชาวอเมริกัน ระหว่างปี พ.ศ. 2450-53 ได้เดินทางพร้อมคณะนักสำรวจมาที่ฟิลิปปินส์ เพื่อสำรวจความหลากหลายของธรรมชาติ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียใต้ รวมทั้งประเทศไทยเพื่อต้องการศึกษาปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง ที่มีความสามารถพิเศษ นั่นคือปลาเสือพ่นน้ำ (Toxotes spp.) และอยู่รับราชการในไทย และเป็นอธิบดีกรมประมงคนแรก

ในปี พ.ศ.2466 หลวงมัศยจิตรการเริ่มเข้ารับราชการในตำแหน่งช่างเขียน และเป็นผู้ช่วย ดร. สมิธ  ติดตามออกสำรวจปลาร่วมกับ ดร. สมิธ อยู่เสมอ โดยเป็นผู้วาดภาพเก็บสีสันของปลาในขณะที่ยังสดหรือมีชีวิตอยู่ ด้วยสีน้ำที่มีความสวยงามและมีความถูกต้องเหมือนจริงทั้งสัดส่วนและสีสัน เนื่องจากสมัยนั้นไม่มีกล้องถ่ายภาพ

การทำงานร่วมกันของทั้งสองท่านทำให้มีข้อมูลวิชาการเกี่ยวกับปลาชนิดต่างๆ หนึ่งในจำนวนนั้นก็คือ “ปลาทรงเครื่อง”

ปลาทรงเครื่อง
ปลาทรงเครื่อง

หนังสืออนุสรณ์งานพระราชทาน หลวงมัศยจิตรการ (ประสพ ตีระนันท์) มีข้อมูลที่ ดร.สมิธ (อธิบาย) และหลวงมัศยจิตรการ (เขียนภาพ) ถึง “ปลาทรงเครื่อง” บันทึกว่า

“ทรงเครื่อง, หางแดง Labeo bicolor (H.M.Smith)

รูปร่างเหมือน ปลากา มีสีดำตลอดตัว เว้นแต่ครีบอกและครีบหางเป็นสีส้มหรือบางทีก็เป็นสีแดง ที่บึงบอระเพ็ดเรียกชื่อว่า ปลาหางแดง แต่บางท้องที่แถบแม่น้ำเจ้าพระยาตอนบนเรียกว่า ปลาทรงเครื่อง

เป็นปลาขนาดเล็ก ยาวประมาณ 7-12 ซม. เหมาะสำหรับเลี้ยงไว้ดูเล่น แต่ค่อนข้างเก็บตัว ซุกซ่อนอยู่ในที่กำบัง อีกประการหนึ่ง หากได้รับแสงสว่างมาก สีปลาจะซีดไปจากเดิม

ปรากฏว่ามีในภาคกลางและมีชุกชุมในลำน้ำเจ้าพระยาแถบปากน้ำโพ กับที่บึงบอระเพ็ด”

เรื่องราวของปลาทรงเครื่องยังมีผู้ใช้นามปากกาว่า “นายปลากัด” เขียนไว้ในบทความชื่อ “ทรงเครื่อง ปลางามระดับโลก” กล่าวถึงปลาทรงเครื่องว่า

“ปลาทรงเครื่องอาจไม่มีความสำคัญอะไรเลยหากไม่ใช่ปลางามระดับโลกที่มีถิ่นกำเนิดเฉพาะในไทย”

เสน่ห์ของปลาชนิดนี้อยู่ที่ “สีสันตลอดลำตัวทั่วไปจะเป็นสีดำหรือสีน้ำเงินเข้มปนดำ แต่เฉพาะครีบหางที่มีขนาดใหญ่เว้าลึกเป็นแฉกจะมีสีแดงปนส้มเช่นเดียวกับครีบหู ส่วนบริเวณเหนือครีบหูมีจุดดำเข้มแต้มอยู่ข้างละจุด”

ต่างชาติรู้จักปลาทรงเครื่องในชื่อ Red-tailed black shark  ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Epalzeorhynchos bicolor เป็นปลาวงศ์เดียวกับปลาตะเพียน ปลาทรงเครื่องลำตัวเพรียวยาว ว่ายน้ำไวมาก จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า ฉลามหางแดง หรือฉลามน้ำจืด ชาวบ้านเรียกว่า “ปลากาสี”

ปลาทรงเครื่องเครือญาติเป็นปลา 2 ชนิด คือ “ปลากา” (Greater black shark) ชาวบ้านในอีสานเรียกว่า “ปลาเพี้ย” อีกหนึ่งคือ “ปลากาแดง” หรือ “ปลาสร้อยหลอด” ฝรั่งเรียก “ฉลามดำครีบแดง” (Red-finned black shark)

รู้จักปลาทรงเครื่องกันพอสมควร แล้วเนื้อปลาทรงเครื่องเป็นอย่างไร ชื่อว่า “ทรงเครื่อง” ก็น่าจะไปทางอร่อย อันนี้ก็ตอบไม่ได้จริงๆ แต่ปลากาที่เป็นเครือญาติกับปลาทรงเครื่องนั้น “เป็นปลาเนื้ออร่อย” ที่สำคัญปลาทรงเครื่องตามธรรมชาติแทบจะไม่มีแล้ว ให้พบเห็นปัจจุบันเป็นการเพาะเลี้ยงจากฟาร์มปลา ที่เหลือเป็นจิตนาการของแต่ละท่าน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

เว็บไซต์พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาประมง คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  สืบค้นเมื่อ 15 เมษายน 2563

หลวงมัศยจิตรการ. ภาพปลา อนุสรณ์ งานพระราชทานเพลิงศพ หลวงมัศยจิตรการ (ประสพ ตีระนันทน์) ณ เมรุวัดเพทศิรินนทราวาส 17 เมษายน 2508.

นายปลากัด.“ทรงเครื่อง ปลางามระดับโลก” ใน, ศิลปวัฒนธรรม, มกราคม 2540


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 เมษายน 2563