“เจ้าจอมมารดาน้อย” เชื้อสายพระเจ้าตาก ห้าวจน ร.4 ทรงเกือบสั่งยิง-ตัดหัวตามพ่อ

รัชกาลที่ 4 พระราชสวามี เจ้าจอมมารดาน้อย
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงมีพระโอรสและพระธิดามากกว่า 20 พระองค์ ชะตากรรมของหลายพระองค์มีบ้างที่น่าสลดใจ แม้แต่ทายาทที่สืบเชื้อสายต่อมาก็ไม่เว้น เช่นกรณี เจ้าจอมมารดาน้อย ธิดาของพระโอรสของพระเจ้ากรุงธนบุรี ซึ่งเป็นหม่อมคนแรกของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 แต่ก็มีวีรกรรมที่เกือบโดนยิง และเกือบโดนสั่งให้ “กุดหัว”

เจ้าจอมมารดาน้อย เป็นธิดาพระอินทรอภัย (บางท่านเขียน พระอินทร์อภัย) พระอินทรอภัยเป็นพระโอรสองค์หนึ่งของพระเจ้ากรุงธนบุรี กับเจ้าจอมมารดาฉิม (บุตรีเจ้าพระยานครฯ)

ก่อนจะกล่าวถึงวีรกรรมของเจ้าจอมมารดาน้อย ต้องอธิบายความเป็นมาเกี่ยวกับพระอินทรอภัยให้ทราบก่อน

พระอินทรอภัย พระโอรสพระเจ้ากรุงธนบุรี

พระเจ้ากรุงธนบุรี มีราชโอรสกับเจ้าจอมมารดาฉิม 2 องค์ คือ สมเด็จเจ้าฟ้าชายทัศพงษ์ (ภายหลังเป็นพระพงษ์นรินทร์) กับ สมเด็จเจ้าฟ้าชายทัศไพ (ภายหลังเป็นพระอินทรอภัยในรัชสมัยรัชกาลที่ 2)

ในที่นี้จะกล่าวถึง พระอินทรอภัย ผู้เป็นบิดาของเจ้าจอมมารดาน้อย ซึ่งมีตำแหน่งหน้าที่เกี่ยวกับทางการแพทย์ สามารถเข้าออกในเขตพระราชฐานได้ ย่อมทำให้สนิทชิดเชื้อกับคนในจนเกิดกรณีสัมพันธ์กับเจ้าจอม ภายหลังจึงต้องโทษถึงประหารชีวิต อันมีความปรากฏในพระราชพงศาวดาร รัชกาลที่ 2 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ว่า

“ในปีกุนนั้น (พ.ศ. 2358) คุณไพบุตรเจ้ากรุงธนบุรี ครั้นเติบใหญ่ขึ้นก็เรียนวิชาแพทย์ชำนิชำนาญ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้เป็นที่พระอินทร์อำไพอยู่ในกรมหมอ ได้รับราชการเข้าไปรักษาไข้ในพระราชวังเป็นนิตย์ คิดมิชอบมิได้รู้พระเดชพระคุณในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ลักลอบทำชู้ด้วยเจ้าจอมอ่อน จอมอิ่ม จอมไม้เทด กับทนายเรือกคนหนึ่ง โขลนคนหนึ่ง โปรดให้พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ชำระเป็นสัตย์ สั่งให้ลงพระราชอาญาแล้วประหารชีวิตเสียทั้งหญิงทั้งชาย”

เมื่อต้องโทษแล้ว ช่วงเวลานั้นธิดายังเล็กอยู่มาก สุพจน์ แจ้งเร็ว ผู้เขียนบทความ “หม่อมแรกในพระเจ้ากรุงสยาม” อธิบายว่า สมเด็จพระศรีสุริเยนทร์ฯ พระบรมราชชนนีของเจ้าฟ้ามงกุฎ ทรงเป็นผู้อุปการะธิดาของพระอินทรอภัยเป็นข้าหลวงในพระองค์

หลังจากนั้น เจ้าจอมมารดาน้อยได้เป็นหม่อมในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามงกุฎ ทรงมีหม่อมเจ้าชายลูกเธอกับเจ้าจอมมารดาน้อย 2 องค์ คือ หม่อมเจ้านพวงศ์ (ภายหลังได้ทรงกรมเป็นกรมหมื่นมเหศวรศิววิลาศ) ประสูติเมื่อ พ.ศ. 2365 และยังเป็นองค์ต้นราชสกุล นพวงศ์ ณ อยุธยา และหม่อมเจ้าสุประดิษฐ (ภายหลังได้รับสถาปนาเป็นพระองค์เจ้า เป็นกรมหมื่นวิศณุนารถนิภาธร) และเป็นองค์ต้นราชสกุล สุประดิษฐ์ ณ อยุธยา

ต่อมา เมื่อ พ.ศ. 2367 สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามงกุฎ เสด็จออกผนวช ขณะมีพระชันษา 21 ปี ทรงผนวชได้ 15 วัน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย สมเด็จพระบรมชนกนาถเสด็จสวรรคต ซึ่งเป็นที่ทราบกันว่าพระองค์มิได้ทรงมอบราชสมบัติแก่เจ้านายพระองค์ใด ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่และพระบรมวงศานุวงศ์จึงถวายสิริราชสมบัติแด่พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์เป็นรัชกาลที่ 3

ด้วยสถานการณ์ข้างต้น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามงกุฎ จึงต้องทรงครองสมณเพศต่อไปอีก 27 พรรษา

ขณะที่สุพจน์ แจ้งเร็ว อธิบายสถานการณ์เมื่อขึ้นแผ่นดินใหม่ว่า สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี พระพันปีหลวง เสด็จออกมาประทับที่พระราชวังเดิมกับเจ้าฟ้าจุฑามณี (พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว) และทรงเลี้ยงทั้งพระองค์เจ้านพวงศ์ กับพระองค์เจ้าสุประดิษฐ (บุตรของเจ้าจอมมารดาน้อย) ในช่วงที่ทั้งสองพระองค์ยังทรงพระเยาว์

เวลาต่อมา สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี พระพันปีหลวง สวรรคตใน พ.ศ. 2379 หลังจากนั้นเจ้าจอมมารดาน้อยจึงย้ายมาอยู่กับพระพงษ์นรินทร์ผู้เป็นลุง ส่วนพระองค์เจ้านพวงศ์ กับพระองค์เจ้าสุประดิษฐ เวลานั้นพระชันษา 15 และ 13 ตามลำดับ ทั้งสองพระองค์เสด็จมาอยู่วัดบวรนิเวศกับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ พระราชบิดาซึ่งยังเป็นภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎ และทรงเป็นสมภารเจ้าวัด

เส้นทางของเจ้าจอมมารดาน้อยก็ถือว่าน่าเวทนา เมื่อย้อนกลับไปว่าสมเด็จพระอัยกา สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชก็ถูกประหาร พระบิดาคือพระอินทรอภัย ก็ถูกประหารเช่นกัน ส่วนพระสวามีเสด็จทรงผนวชถึง 27 พรรษา

เรื่องราวมาถึงจุดนี้ ข้อมูลเกี่ยวกับเจ้าจอมมารดาน้อยก็หายไป สุพจน์ แจ้งเร็ว บรรยายต่อว่า เรื่องมาปรากฏอีกครั้งและครั้งเดียวภายหลังภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎทรงลาผนวชมาครองราชสมบัติเป็นรัชกาลที่ 4 แล้ว 4 ปี ใน พ.ศ. 2398

วีรกรรม เจ้าจอมมารดาน้อย

ภายหลังจากที่พระสวามีทรงลาผนวชมาครองราชสมบัติแล้ว เล็ก พงษ์สมัครไทย นักเขียนที่ผลิตผลงานหนังสือ “พระญาติ ราชสกุลรัตนโกสินทร์” บรรยายว่า เจ้าจอมมารดาน้อยไม่เป็นที่ทรงโปรด และไม่ได้รับการยกย่องเป็นพิเศษ เชื่อว่า อาจเป็นผลให้เจ้าจอมมารดาน้อยประพฤติแสดงออกประหลาดไปบ้าง ซึ่งก็อาจเป็นการเรียกร้องความสนใจก็เป็นได้

เหตุการณ์ที่ว่านั้นปรากฏในพระราชหัตถเลขา ทรงเขียนในพลับพลาป้อมเพ็ชร กรุงเก่า ถึงเจ้าจอมมารดาพึ่ง (ทรงเรียกว่า “เต่าของข้า”) เนื้อความทรงเล่าถึงการเสด็จพระราชดำเนินมากรุงเก่า มีใจความตอนหนึ่งว่า (เน้นคำเพิ่มเติม – กองบก.ออนไลน์)

“ขึ้นมาถึงวัดเขมาตลาดแก้วเวลาเช้าโมงหนึ่ง กับ 4 บาท มีเรือเก๋งลําหนึ่งพายตามขึ้นมาแข่งเรือที่นั่งของข้า เกินหน้าเรือตํารวจเรือที่นั่งรองทุกลํา แข่งจนเก๋งเคียงกันยาเรือที่นั่ง

แต่แรกข้าสําคัญว่านางหนูลูกรําเพยจะร้องไห้ มารดาจะให้เอาใส่เรือเก๋งขึ้นมาส่งให้ข้ากระมัง ข้าจึงร้องถามไปว่าเรือใคร เรือนั้นมีม่านบังมิด มีผู้หญิงนั่งท้ายหลาย (คน) เรือตํารวจตามไปก็สําคัญว่าเรือข้างในกระบวร จึงไม่มีใครห้าม ปล่อยให้พายขึ้น สรรเพธภักดีร้องถามหลายคําก็ไม่บอก ข้าถามหลายคําว่าอะไร ๆ เรือใคร ก็ไม่บอก บ่าวผู้หญิงข้างท้ายก็หัวร่อเยาะ ด้วยบานเต็มที่ จนคนในเรือที่นั่งโกรธว่าหัวเราะเยาะ

ข้าคิดจะให้เอาปืนยิงตามกฎหมาย ก็กลัวจะถูกคนตาย เขาจะลือไปว่าดุร้ายใจเบา ทําคนตายง่าย ๆ พายแข่งไล่เรือที่นั่งอยู่นาน เหนผิดที่แล้วจึงได้ร้องให้ตํารวจไล่จับ ครั้นเรือไปจับจะฉุดเรือมา จึงพายหนีห่างออกไป ไล่ไปไกลจึงได้ตัวเรือมา

ได้ความว่าเป็นเรือมารดากรมหมื่นมเหศวรศิววิลาศ มาทําหน้าเปนเล่นตัว ล้อข้าต่อหน้าทารกํานัน น่าชังนักหนา ข้าสั่งให้พระอินทรเทพจับคุมเรือมาส่ง ตัวนายเข้ามาให้จําไว้ บ่าวให้จําไว้ข้างหน้า ข้าได้เขียนหนังสือมาให้กรมหมื่นมเหศวรทราบแล้ว ได้มีไปส่งถึงท้าวศรีสัจจา ท้าวโสภานิเวศน์ ให้เอาตัวจําไว้ให้มั่นคงกว่าข้าจะกลับลงไป อยากจะใครให้เอาไปตัดหัวเสียตามสกุลพ่อมัน แซ่นี้มักเปนเช่นนั้น เหมือนคุณสําลี มารดาพระองค์เจ้านัดดา ถึงลูกท่านรักท่านเลี้ยงเป็นหนักหนา มารดาท่านเอาไว้ไม่ได้ เอาไปตัดหัวเสียเป็นอย่างมีมาแล้ว

ข้าได้ยินว่าคนพวกเจ้าตลับ เจ้าครอกหอไปด้วย พวกนั้นเป็นพวกใกล้เคียงกับยายน้อยป้าของเต่า เต่าอย่าไปไถ่ถามว่ากล่าวอะไรวุ่นวาย มันจะด่าให้อายเขา มันไม่เจียมตัวว่าชั่ว มันยังถือตัวเป็นเมียข้า มันจึงตามมาล้อต่อหน้าเมียใหม่ ๆ สาว ๆ เป็นเจ้าเป็นนาย เมื่อจับมันร้องว่าจะไปตามเสด็จกรุงเก่าด้วย”

สำหรับเจ้าจอมมารดาสำลี ในกรมพระราชวังบวรฯ เป็นพระธิดาสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เจ้าจอมมารดาสำลีถูกประหารชีวิตไปในช่วงต้นรัชกาลที่ 2 จากกรณีกาคาบบัตรสนเท่ห์

ส่วน “เจ้าตลับ เจ้าครอกหอ” คือหม่อมเจ้าตลับ และหม่อมเจ้าหอ ธิดาของเจ้าฟ้ากรมขุนกระษัตรานุชิต (เจ้าฟ้าเหม็น ซึ่งถูกสำเร็จโทษในครากาบัตรสนเท่ห์) หากนับโดยศักดิ์แล้ว เจ้าฟ้ากรมขุนกระษัตรานุชิตเป็นพี่ของเจ้าจอมมารดาน้อย

ด้าน เจ้าจอมมารดาน้อย ไม่ปรากฏว่าถูกลงทัณฑ์อย่างไร หลังเจ้าจอมมารดาน้อยถึงแก่กรรม พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดให้พระราชทานเพลิงศพที่สวนท้ายวังของพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นวิศณุนารถฯ ซึ่งสุพจน์ แจ้งเร็ว ยังบรรยายว่า ภายหลังยังสร้างวัดตรีทศเทพขึ้นในบริเวณนั้น และสร้างเจดีย์ตรงจุดที่ปลงศพเจ้าจอมมารดาน้อยด้วย

เกร็ดในการสร้างวัดนั้น เล็ก พงษ์สมัครไทย เล่าไว้ว่า กรมหมื่นวิศณุนารถฯ ทรงโปรยเงินทั่วพื้นที่ที่ทรงกำหนดว่าเป็นจุดสร้างวัด จากนั้นจึงโปรดให้บ่าวไพร่ในพระองค์ถางทาง (เพื่อเก็บเงินที่ทรงโปรยไว้)

ข้อมูลเกี่ยวกับเจ้าจอมมารดาสำลียังปรากฏอยู่ในบทความของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ในสยามรัฐ คอลัมน์ “ซอยสวนพลู” เมื่อวันจันทร์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2536 ซึ่งศิลปวัฒนธรรมนำมาเผยแพร่ลงในฉบับเมษายน พ.ศ. 2536 หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เล่าว่า ได้ทราบเรื่องเจ้าจอมมารดาสำลีจากการบอกเล่าของบรรพบุรุษของท่านเอง เกร็ดเนื้อหาเกี่ยวกับเจ้าจอมมารดาสำลี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช บรรยายโดยอ้างอิงคำบอกเล่ามาอีกทอดว่า

“มีเรื่องเล่ากันมาว่าวันที่เกิดเรื่องนั้น (ช่วงกรณีกาคาบบัตรสนเท่ห์-ฉบับออนไลน์) กรมพระราชวังบวรฯ ประทับอยู่ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อเสร็จราชการแล้วก็เสด็จกลับพระราชวังบวรฯ ทอดพระเนตรเห็นคุณจอมมารดาสำลีนั่งเล่นอยู่กับพระโอรสในกรมพระราชวังบวรฯ กรมพระราชวังบวรฯ จึงตรัสถามว่า เขากล่าวหาว่า เจ้าคิดกบฏจริงอยู่หรือ

คุณจอมมารดาสำลีก็ทูลว่า ถ้าจะว่าเป็นกบฏก็เป็นกบฏละ เพราะพ่อเขาก็เอาไปฆ่าเสียแล้ว พี่เขาก็เอาไปฆ่าอีกคนหนึ่งด้วย ว่าแล้วเจ้าจอมมารดาสำลีก็ผลักที่พระขนองของพระโอรสแล้วกล่าวว่าไปให้พ้นไอ้พวกลูกเสือลูกตะเข้…

คุณจอมมารดาสำลีนี้ เป็นบรรพบุรุษของราชสกุลอิสรเสนา ถ้าหากว่าผมกล่าวเล่าเรื่องนี้ไปในทางใดที่ไม่เหมาะสมไม่ควร หรือไม่ตรงต่อข้อเท็จจริงบางประการ ก็ขออภัยโทษท่านผู้ที่อยู่ในราชสกุลนั้นเสียด้วย เพราะเป็นเรื่องที่ได้ยินมาจากผู้ใหญ่เล่าให้ฟัง มิได้มีเอกสารสิ่งใดที่จะยืนยันได้ แต่เห็นว่าเป็นเรื่องที่คนสมัยนี้ควรจะรู้ก็เล่าไว้ในคอลัมน์นี้”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

คึกฤทธิ์ ปราโมช, หม่อมราชวงศ์. คอลัมน์ ซอยสวนพลู. ใน สยามรัฐ ฉบับวันจันทร์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2536.

สุพจน์ แจ้งเร็ว. “หม่อมแรกในพระเจ้ากรุงสยาม, ” ใน ศิลปวัฒนธรรม กุมภาพันธ์ 2536, น. 56-59.

เล็ก พงษ์สมัครไทย. พระญาติ ราชสกุลกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : ข้าวฟ่าง, 2549


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 กันยายน 2562